คณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๐ (การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ)
ระหว่างวันที่ ๒-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
๑. ประธานและรองประธานคณะประศาสน์การ (Governing Body: GB)
ประธาน
Mr. Apurva Chandra ปลัดกระทรวงแรงงานและการจัดหางาน ประเทศอินเดีย
รองประธาน
– ฝ่ายนายจ้าง คือ Mr. Mthunzi MDWABA จากประเทศแอฟริกาใต้
– ฝ่ายลูกจ้าง คือ Ms. Catelene PASSCHIER จากประเทศเนเธอร์แลนด์
๒. คณะผู้แทนรัฐบาลไทย
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้าคณะ
นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
นางสาวภัทรพร สมันตรัฐ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน
นางสาวชุลีรัตน์ ทองทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์
นายวรวุฒิ สมุทรกลิน อัครราชทูตที่ปรึกษา
นายวรวิทย์ ภัทรนิตย์ นักการทูตชำนาญการ
นางสาวชโลทร เลี่ยวชวลิต นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
นางฉัตรเทวี อรืน นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
นางสาวพรนิชา หว่างอากาศ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
๓. ถ้อยแถลงของคณะผู้แทนไทย
๓.๑ วาระการต่ออายุพันธกิจเกี่ยวกับการจ้างงานเยาวชน โดยการรับรองแผนติดตามการปฏิบัติด้านการจ้างงานเยาวชน ค.ศ. ๒๐๒๐-๒๐๓๐ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน โดยมีใจความสำคัญว่า อาเซียนพึงพอใจต่อองค์ประกอบที่เสนอในแผน ซึ่งอาเซียนจัดการกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ เกี่ยวกับการมีงานทำของเยาวชนโดยการรับรอง Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work ภายใต้ปฏิญญาฉบับนี้ อาเซียนตกลงร่วมกันที่จะริเริ่มและส่งเสริมนโยบายต่าง ๆ ด้านการศึกษาและการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาอาชีพให้กับเยาวชนและเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน อาเซียนยังได้ประกาศ การริเริ่มที่จะจัดทำ ASEAN Comprehensive Recovery Framework อันจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการบรรจุเรื่อง ทักษะฝีมือและความรู้ทางดิจิทัล และทักษะฝีมือสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ เข้าไว้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ตลอดจน แผนงานสร้างขีดความสามารถของเยาวชน นอกจากนี้ อาเซียนก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการคุ้มครองสิทธิในการทำงานของเยาวชน สมาชิกอาเซียนทุกประเทศจึงได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาพื้นฐานฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ และฉบับที่ ๑๘๒ ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก แล้ว
๓.๒ วาระรายงานเสริมฉบับที่ ๗ เรื่องการรับมือของ ILO ต่อการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนใน เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ โดยมีใจความสำคัญว่า อาเซียนขอชื่นชมที่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้จัดทำ “ILO monitor on COVID-19 and the World of Work” และ “ILO Brief” ซึ่งให้ข้อมูลที่สำคัญแก่ประเทศสมาชิก และการจัดงาน Global Summit on COVID-19 and the World of Work ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ซึ่งกระตุ้นให้ประเทศสมาชิก ILO หันมาทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกับสมาชิกอาเซียนทุกประเทศต่างมุ่งมั่นที่จะเอาชนะวิกฤติโควิด-๑๙ ให้ได้ ดังนั้น ผู้นำอาเซียนจึงได้รับรอง Declaration of the Special ASEAN Summit on Coronavirus Disease 2019 ขึ้นวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาเซียนยังได้จัดการประชุมพิเศษระดับรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน เพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อแรงงานและการมีงานทำ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ ๓๗ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๓-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ที่จะถึงนี้ อาเซียนก็จะพิจารณาเกี่ยวกับ Implementation Plan of ASEAN Comprehensive Recovery Framework โดยมุ่งหมายให้คนงานและภาคธุรกิจทั้งปวงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกเกิดการฟื้นตัวและสามารถปรับตัวเผชิญสถานการณ์ได้
๓.๓ วาระโควิด-๑๙ และโลกแห่งการทำงาน เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญว่า รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้มีการสั่งการที่เป็นเอกภาพและบูรณาการ ตอบสนองอย่างรวดเร็วและทันการณ์ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึง การให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงาน การพักชำระภาษี การอุดหนุนค่าน้ำค่าไฟ และ อื่น ๆ กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินมาตรการสำคัญหลายประการ เพื่อช่วยคนงานที่ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูตลาดแรงงาน มีการจัด Job Expo Thailand 2020 มีการส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ และมีการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างครอบคลุมแก่ลูกจ้างทั้งชาวไทยและต่างด้าว ในส่วนของแรงงานต่างด้าวนั้น รัฐบาลได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตหมดอายุสามารถพำนักต่อไปในประเทศได้ นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานยังได้ลดอัตราการจ่ายเงินสบทบกองทุนประกันสังคม ขยายเวลาส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และขยายความคุ้มครองค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยจากโควิด–๑๙ รวมถึง การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ได้แก่ กรณีลาออก กรณีถูกเลิกจ้าง และกรณีนายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว ทั้งนี้ รัฐบาลไทยขอขอบคุณ ILO ที่ให้ความร่วมมือจัดทำแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๔ จนประสบความสำเร็จ และยินดีที่จะได้ร่วมทำงานกับ ILO เพื่อก้าวข้ามวิกฤตและนำสิ่งต่าง ๆ กลับคืนมาให้ดีกว่าเดิมหลังวิกฤตโควิด-๑๙
๓.๔ วาระรายงานความคืบหน้าการติดตามผลข้อมติเกี่ยวกับมาตรการที่เหลือในเมียนมา เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยมีใจความสำคัญว่า อาเซียน ญี่ปุ่น และออสเตรเลียตระหนักถึงความพยายามและความคืบหน้าในการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลเมียนมาด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ การที่เลขาธิการสหประชาชาติถอดเมียนมาออกจากบัญชีรายงานชื่อประเทศที่มีการเกณฑ์เด็กเพื่อเป็นทหาร การเริ่มใช้กลไกการรับเรื่องร้องเรียนระดับประเทศด้านแรงงานบังคับ การจัดทำความร่วมมือทางวิชาการกับ ILO และหุ้นส่วนทางสังคมเพื่อปฏิบัติตามแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ด้วยเหตุนี้ อาเซียน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จึงหวังว่า ILO และประชาคมโลกจะยังคงให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลเมียนมา เพื่อให้มีความคืบหน้าด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการขจัดแรงงานบังคับ จนไม่มีความจำเป็นที่เมียนมาจะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ตามรอบวาระเสนอต่อ GB อีกต่อไป
————————————————-
ฝ่ายแรงงาน
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา