Skip to main content

หน้าหลัก

รายงานแนวโน้มการจ้างงานปี 2557

                     องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ แนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกในปี 2557 รับผลกระทบปัญหาการชะลอตัวของการจ้างงานในปี 2556  รวมทั้งปัญหาจำนวนผู้ทำงานรายได้น้อย  (ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวัน) ที่ลดลงอย่างน่าพอใจตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 600 ล้านคนในปี 2543 เหลือ 375 ล้านคนในปี 2556 เฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 ต่อปี กลับชะลอตัวเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ในปี 2556 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานที่มีความอ่อนไหว ดังนั้น โลกต้องเร่งการสร้างงานที่มีความมั่นคง ในขณะเดียวกัน ต้องนำพากลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงในการทำงานออกจากสภาพที่เป็นอยู่ และให้มีรายได้เพียงพอที่จะหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งจะเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ

 

                    จากรายงาน Global Employment Trend 2014 ของ ILO ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ว่างงานในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ว่างงานทั่วโลกมีประมาณ 202 ล้านคน แสดงถึงเศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้อัตราการจ้างงานขยายตัวไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงาน รายงานคาดว่าจากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีตำแหน่งงานใหม่รองรับประมาณ 40 ล้านตำแหน่งต่อปีซึ่งน้อยกว่าความต้องการทำงานของผู้หางานจำนวน 42.6 ล้านคนต่อปี  ผู้หางานต้องใช้เวลานานกว่าปกติก่อนได้งานหรือกลายเป็นกลุ่มว่างงานระยะยาว ผู้หางานประมาณ 23 ล้านคนกลายเป็นกลุ่มหมดหวังและเลิกหางาน (discourage jobseekers) และประมาณ 7 ล้านคนกลายเป็นกลุ่มที่เลิกทำงานและออกจากตลาดแรงงาน ซึ่งคาดว่าในปี 2561 อัตราผู้ว่างงานทั่วโลกอาจถึง 215 ล้านคน และการว่างงานในกลุ่มเยาวชนจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศต่อไปเนื่องจากรายงานพบว่า ในปี 2556 มีแรงงานกลุ่มนี้ที่อายุระหว่าง 15 – 24 ปี ว่างงานถึง 74.5 ล้านคน โดยสูงกว่าการว่างงานในผู้ใหญ่ถึงสามเท่า   ซึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ตลาดแรงงานไม่พัฒนาเทียบเท่าก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 คือ 1) ปริมาณการเข้าสู่ตลาดแรงงานของแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ไม่สมดุลย์ในแต่ละภูมิภาคทำให้มีปัญหาด้านอุปสงค์และอุปทาน   2) แรงงานกลุ่มไม่มีความมั่นคงในการทำงานขยายตัวโดยมีจำนวนถึงร้อยละ 48 ของการจ้างงานรวม 3) ผู้ทำงานรายได้น้อย ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างมากจากปี 2543 มีการชะลอตัวอย่างรุนแรงในปี 2556  และ 4) จำนวนแรงงานในภาคนอกระบบที่มีถึงร้อยละ 20 ของการจ้างงานรวมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

 
                    รายงานดังกล่าวให้ความเห็นว่า นโยบายด้านงบประมาณที่เข้มแข็งของภาครัฐจะช่วยสร้างงานแทนภาคธุรกิจจำนวนมากที่ยังไม่พร้อม นโยบายด้านการเงินที่สนับสนุนแก่ภาคเอกชนต้องมั่นใจว่าส่งผลต่อการลงทุนในภาคเศรษฐกิจอย่างแท้จริงมิใช่ถูกนำไปใช้ในด้านที่ไม่ก่อให้เกิดการฟื้นตัวด้านการจ้างงานที่ยั่งยืน นโยบายด้านสังคมและนโยบายด้านตลาดแรงงานต้องให้ความสำคัญต่อผู้ที่ยังมีศักยภาพที่จะเป็นกำลังแรงงานแต่สิ้นหวังจากการหางานหรือยุติการทำงานซึ่งในระยะยาวความสามารถและทักษะของบุคคลเหล่านี้จะยิ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการรวบรวมข้อมูลพบว่า หลายประเทศจัดสรรงบประมาณสนับสนุนนโยบายด้านการพัฒนาตลาดแรงงานน้อยมาก ต่างจากบางประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาที่ให้ความสำคัญเรื่องตลาดแรงงานและส่งผลถึงความสำเร็จในการสร้างตำแหน่งงานได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านตำแหน่ง
  
                   รายได้ของผู้ทำงานเป็นอีกองค์ประกอบที่เป็นโจทย์ของนโยบายการจ้างงานในปี 2557 ซึ่งรายงานให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงในการทำงานและกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการว่างงานในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวแรงงานกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในเรื่องรายได้ที่ไม่เหมาะสมรวมไปถึงการไม่ได้รับสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ดังนั้น การสร้างงานที่มั่นคง (decent jobs) เพิ่มขึ้นจะลดจำนวนผู้ทำงานรายได้น้อยและแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการลดปัญหาความยากจนในแนวทางที่ยั่งยืน
 
 หมายเหตุ : สามารถศึกษา Global Employment Trend 2014 โดยละเอียดได้ที่ www.ilo.org
              
     ————————- 
 
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวร ฯ ณ นครเจนีวากุมภาพันธ์ 2557

8881
TOP