สหภาพยุโรป (European Union: EU) เป็นการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรป โดยการรวมกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 1950 มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) รวบรวมระบบเศรษฐกิจ ความร่วมมือในการพัฒนาสังคม และการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศสมาชิกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว
(2) ยกระดับการดำรงชีวิตของประชากรชาวยุโรปให้ดีขึ้น และ
(3) จัดตั้งสหภาพศุลกากรโดยการขจัดอุปสรรคต่างๆ ทางการค้าระหว่างประเทศ
สหภาพยุโรปขับเคลื่อนองค์กรผ่านระบบผสมระหว่างการเป็นอยู่ภายใต้สหภาพเดียวกันและความร่วมมือระหว่างรัฐบาล โดยประเทศสมาชิกยังคงมีอำนาจอธิปไตยและสามารถออกกฎหมายภายในประเทศของตน เพื่อให้เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายบุคคล สินค้า บริการ และทุนอย่างเสรี ภายในสหภาพยุโรป แต่ต้องไม่ขัดกับกฎระเบียบหรือมติขององค์กรหลักด้านการตัดสินใจแห่งสหภาพยุโรป ขณะนี้สหภาพยุโรปมีสมาชิกจำนวน 27 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวะเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย
จากข้อมูลของกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าสหภาพยุโรปจำนวน 2,207.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก อัญมณี และเครื่องประดับ สินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรป คือ เครื่องจักรกล เครื่องบิน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรม
การเคลื่อนย้ายเสรีเพื่อการมีงานทำภายในสหภาพยุโรป
ตามมาตรา 45 ของ the Treaty on the Functioning of the European Union นั้น พลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเคลื่อนย้ายภายในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี (freedom of movement) เพื่อหางานทำและสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานจากรัฐบาลประเทศปลายทาง รวมถึง สามารถพำนักอยู่ในประเทศปลายทางเพื่อทำงานได้และพำนักต่อไปได้หลังสิ้นสุดสัญญาจ้างงานแล้ว นอกจากนั้น ยังรับรองการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันด้านโอกาศในการมีงานทำ สภาพการทำงาน และสิทธิประโยชน์ทางสังคม ของพลเมืองสหภาพยุโรปทุกประเทศ พลเมืองสหภาพยุโรปสามารถโอนย้ายสิทธิทางการประกันสังคมและประกันสุขภาพบางประการข้ามระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันได้ สหภาพยุโรปยังให้สิทธิเคลื่อนย้ายเสรีเพื่อการทำงานแก่พลเมืองของกลุ่มเขตเศรษฐกิจยุโรป (ประเทศไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และนอร์เวย์) และสวิตเซอร์แลนด์
การเคลื่อนย้ายเสรีภายในสหภาพยุโรปช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งมีฝีมือในประเทศสมาชิกฝั่งตะวันตกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานให้กับพลเมืองของประเทศสมาชิกฝั่งตะวันออก
จากสถิติในปี พ.ศ. 2563 พบว่า พลเมืองสหภาพยุโรปในวัยทำงาน (อายุ 20-64 ปี) ร้อยละ 3.3 เคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอื่นที่ไม่ใช่ประเทศสัญชาติของตน โดยประเทศที่มีพลเมืองเคลื่อนย้ายไปทำงานประเทศสมาชิกอื่นน้อยที่สุด คือ เยอรมนี และสวีเดน ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนย้ายของพลเมืองน้อยกว่าร้อยละ 1 ส่วนประเทศที่มีพลเมืองเคลื่อนย้ายไปทำงานประเทศสมาชิกอื่นมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ โรมาเนีย (ร้อยละ 18.6) โครเอเชีย (ร้อยละ 17.6) โปรตุเกส (ร้อยละ 10.6) และบัลแกเรีย (ร้อยละ 10.3) โดยพลเมืองยุโรปในวัยทำงานที่ย้ายถิ่นฐานไปประเทศสมาชิกอื่นสามารถหางานทำได้ถึงร้อยละ 73.1 พลเมืองสหภาพยุโรปที่เคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอื่นเป็นผู้มีทักษะสูงจากสวีเดนมากที่สุด คือ ร้อยละ 89.9 และจากบัลแกเรียน้อยที่สุด คือ ร้อยละ 69.7 ในส่วนของแรงงานทักษะต่ำนั้น มาจากฮังการีมากที่สุด คือ ร้อยละ 81.6
การทำความตกลงด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานกับประเทศนอกสหภาพยุโรป
ถึงแม้สหภาพยุโรปไม่เปิดให้พลเมืองนอกสหภาพและนอกกลุ่มเขตเศรษฐกิจยุโรปมีสิทธิเคลื่อนย้ายโดยเสรีเพื่อเข้ามาทำงาน แต่สหภาพยุโรปก็ได้จัดทำความตกลงกับประเทศนอกสหภาพเพื่อให้มีการจัดส่งแรงงานที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน โดยไม่ให้เกิดการล้นทะลักของแรงงานต่างด้าว อันจะส่งผลต่อความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรปและต่อภาระรับผิดชอบด้านความมั่นคงทางสังคมของรัฐบาลประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบประกันสังคมและการคุ้มครองสุขภาพ ประเทศที่ได้รับการอำนวยความสะดวกให้จัดส่งแรงงานมาทำงานในสหภาพยุโรปได้ความตกลงระหว่างกัน คือ อัลจีเรีย โมร็อคโค ตูนีเซีย รัสเซีย อัลบาเนีย มอนเตเนโกร มาซีโดเนียเหนือ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โคโซโว เซอร์เบีย ยูเครน อันโดร์รา ซานมาริโน และอีก 79 ประเทศในกลุ่มแอฟริกาและกลุ่มแคริบเบียนและแฟซิฟิก
โอกาสในการมีงานทำของพลเมืองประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ไม่ได้ทำความตกลงกันไว้
พลเมืองของประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ไม่ได้ทำความตกลงกันไว้จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ในกรณีที่เป็น
- นักวิจัย
- ผู้มีทักษะวิชาชีพระดับสูง
- ผู้ที่ถูกโอนย้ายมาทำงานในสถานประกอบกิจการที่มีสาขาในสหภาพยุโรป (framework of an intra-corporate transfer)
- ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเป็นคนงานตามฤดูกาล
สหภาพยุโรปให้อำนาจรัฐสมาชิกตั้งเงื่อนไขการออกใบอนุญาตทำงานให้กับพลเมืองนอกสหภาพยุโรปเพื่อเข้ามาทำงานในสาขาที่ขาดแคลนแรงงานภายในประเทศได้ โดยต้องให้สิทธิเป็นอันดับต้นกับพลเมืองของประเทศต่าง ๆ ที่มีความตกลงกับสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานของพลเมืองประเทศอื่นนอกสหภาพเพื่อให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพในสาขาที่ขาดแคลน ดังนี้
การออก EU Blue Card
สมาชิกสหภาพยุโรป (ยกเว้น เดนมาร์ก และไอร์แลนด์) มีนโยบายออก EU Blue Card ให้กับผู้มีความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงในตำแหน่งที่เกิดการขาดแคลนแรงงาน เช่น นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แพทย์ เป็นต้น โดยผู้ถือ EU Blue Card ไม่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าออก (re-entry) ประเทศที่ออก EU Blue Card ให้ และสามารถนำสมาชิกครอบครัวเข้ามาพำนักในประเทศที่ออกบัตรได้ ผู้ที่ถือบัตร EU Blue Card เกิน 18 เดือนสามารถย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้นอกเหนือจากประเทศที่ออกบัตร นอกจากผู้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงแล้ว สหภาพยุโรปยังพิจารณาออก EU Blue Card ให้กับเจ้าของกิจการและผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่มีประวัติผลประกอบการดีและมีจำนวนเงินลงทุนจำนวนที่พอเพียง
การออกระเบียบสหภาพยุโรปเรื่อง คนงานตามฤดูกาล (Seasonal Workers Directive)
สหภาพยุโรปอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถออกใบอนุญาตทำงานให้แก่พลเมืองของประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ไม่ได้ทำความตกลงกันไว้เข้ามาทำงานตามฤดูกาลได้ในสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน โดยสมาชิกแต่ละประเทศต้องส่งรายชื่อสาขาอาชีพที่ประสงค์จะให้พลเมืองของประเทศนอกสหภาพยุโรปทำต่อสภาสหภาพยุโรปเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานเก็บพืชผลทางการเกษตรและงานบริการในสถานที่ท่องเที่ยวและโรงแรมช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ พลเมืองของประเทศนอกสหภาพยุโรปต้องตกลงทำสัญญาจ้างงานกับนายจ้างให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงานได้ และจะได้รับอนุญาตให้ทำงานตามฤดูกาลได้ปีละไม่เกิน 9 เดือน
การออกระเบียบเรื่อง การโอนย้ายบุคลากรภายในเครือธุรกิจ (Intra-corporate Transfer Directive)
สหภาพยุโรปอนุญาตให้บรรษัทข้ามชาติที่มีสาขาหรือบริษัทในเครือเดียวกันซึ่งมีที่ตั้งนอกสหภาพยุโรปสามารถโอนย้ายบุคลากรของตนเข้ามาทำงานในสาขาหรือบริษัทในเครือเดียวกันที่ตั้งอยู่ในสหภาพยุโรปได้ โดยต้องเป็นบุคลากรในระดับผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งนี้ บุคลากรในตำแหน่งทั่วไปสามารถโอนย้ายได้ในฐานะผู้ฝึกงานชั่วคราวที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาการฝึกงานที่แน่นอน
การอนุญาตให้ผู้มีถิ่นพำพักสามารถทำงานได้ (Single Permit for Work)
สหภาพยุโรปอนุญาตให้พลเมืองของประเทศนอกสหภาพยุโรปที่มีใบอนุญาตทำงานมีสิทธิพำนักในประเทศที่ออกใบอนุญาตทำงานได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตเพิ่มเติม และให้ผู้มีถิ่นพำนักภายในประเทศสมาชิก (เช่น การมีถิ่นพำนักเนื่องจากติดตามญาติที่สมรสกับพลเมืองสหภาพยุโรป การมีถิ่นพำนักเนื่องจากมีวีซ่านักเรียน/นักศึกษา เป็นต้น) สามารถทำงานในประเทศสมาชิกที่พำนักอยู่ได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานก่อน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปให้อำนาจประเทศสมาชิกในการกำหนดประเภทงานหรือสาขาอาชีพที่อนุญาตให้ผู้มีถิ่นพำนักสามารถทำได้
ทิศทางของนโยบายด้านตลาดแรงงานของสหภาพยุโรป
ในขณะที่สหภาพยุโรปมีแรงงานไร้ฝีมืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศยุโรปตะวันออก แต่พลเมืองสหภาพยุโรปที่เป็นแรงงานทักษะสูงและผู้อยู่ในสายวิชาการเฉพาะด้านจำนวนมากเลือกไปทำงานในกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย ส่งผลให้สหภาพยุโรปมีความกังวลว่า จะเกิดความขาดแคลนแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือต้องมีทักษะฝีมือระดับสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์แรงงานในอนาคต สหภาพยุโรปจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่มีความรู้ความสามารถซึ่งพำนักอยู่ในสหภาพยุโรปได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมกับมีนโยบายเปิดรับพลเมืองนอกสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนแรงงานให้เข้ามาทำงานในสหภาพยุโรปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรับลดขั้นตอนการขอใบตรวจลงตราเข้าประเทศหรือใบอนุญาตทำงานให้เรียบง่ายขึ้น และมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาอนุญาตมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกหลายประเทศก็ได้ยื่นคำร้องต่อสภาสหภาพยุโรปขอให้พิจารณาผ่อนคลายระเบียบ เพื่อให้แรงงานซึ่งเป็นพลเมืองนอกสหภาพยุโรปที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานแล้วสามารถเคลื่อนย้ายภายในประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังคงไม่มีนโยบายเปิดรับแรงงานทักษะปานกลางและแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศนอกกลุ่มสหภาพ
โอกาสของแรงงานไทยในตลาดแรงงานยุโรป
กรมการจัดหางานได้วิเคราะห์ไว้ในเอกสารยุทธศาสตร์การบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ (พ.ศ. 2560-2564) ว่า การส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในสหภาพยุโรปเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาการว่างงานภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงไม่มีนโยบายรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน และกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่มีลักษณะกีดกันแรงงานต่างชาตินอกสหภาพยุโรป โดยจะรับแรงงานต่างชาติเฉพาะสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูงและขาดแคลนเท่านั้น แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ เช่น พ่อครัว/ แม่ครัวอาหารไทย พนักงานนวดแผนไทย เป็นต้น และวิชาชีพเฉพาะ เช่น นักธุรกิจ สถาปนิก วิศวกร ช่างเทคนิค เป็นต้น โดยจะติดต่อกับนายจ้างโดยตรง หรือจากการแนะนำของญาติหรือคนรู้จัก ทั้งนี้ ยังมีแรงงานไทยส่วนหนึ่งที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ตามฤดูกาลในระยะสั้นประมาณ 3-4 เดือน
จากข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่า ในปี พ.ศ. 2564 (เดือนมกราคม-พฤศจิกายน) มีคนไทยเดินทางไปทำงานในสหภาพยุโรปจำนวน 9,517 คน ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยตัวเองจำนวน 3,810 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานจำนวน 5,337 คน บริษัทจัดส่งจำนวน 344 คน และนายจ้างพาลูกจ้างไปฝึกงานจำนวน 26 คน ทั้งนี้ ไม่มีการเดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่ง ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีข้อมูลว่า คนไทยไปทำงานมากที่สุด 5 ดันดับแรก คือ (1) สวีเดน มีจำนวน 5,287 คน (2) ฟินแลนด์ มีจำนวน 3,364 คน (3) โปรตุเกส มีจำนวน 211 คน (4) โปแลนด์ มีจำนวน 63 คน และ (5) เยอรมนี มีจำนวน 53 คน ในขณะที่หลายประเทศไม่มีข้อมูลคนไทยไปทำงานเลยในช่วง พ.ศ. 2564 เช่น ไอร์แลนด์ ฮังการี ลักเซมเบิร์ก เป็นต้น
——————————————
ฝ่ายแรงงาน
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
62