สรุปผลการประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body – GB) สมัยที่ 331 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ วันที่ 30 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 2560 ณ นครเจนีวา
องค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ประกอบด้วย
1. คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา นำโดย นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ พร้อมด้วยนายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรฯ นายผ่านพบ ปลั่งประยูร อัครราชทูต ที่ปรึกษา นางสาวชุลีรัตน์ ทองทิพย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) นายปรินทร อภิญญานันท์ ที่ปรึกษา
2. กระทรวงแรงงาน นำโดย นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมศักดิ์ อภิวันทนากุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวกรรณิกา แก้วศรีสังข์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ และนางสาววรลักษณ์ ธีรนันทากุล นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับการประชุม GB สมัยที่ 331 ประธานและรองประธาน GB วาระระหว่างเดือนมิถุนายน 2560 – มิถุนายน 2561 ได้แก่
– Mr. Luc Cortebeeck ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจากประเทศเบลเยียมเป็นประธาน GB
– รองประธานจาก 3 ฝ่าย ดังนี้
– ฝ่ายรัฐบาล คือ H.E. Mr. Claudio Julio de la Puente Ribeyro เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรเปรู ณ นครเจนีวา
– ฝ่ายนายจ้าง คือ Mr. Mthunzi Mdwaba ผู้แทนนายจ้างจากประเทศแอฟริกาใต้
– ฝ่ายลูกจ้าง คือ Ms. Catelene Passchier ผู้แทนลูกจ้างจากประเทศเนเธอร์แลนด์
ผลการประชุม
1. หัวข้อความร่วมมือของ ILO กับอุตสาหกรรมยาสูบในการดำเนินการเพื่อบรรลุอาณัติด้านสังคมขององค์กร สืบเนื่องจากคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council of the United Nations – ECOSOC) ได้รับรอง Model Policy และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้รับรอง WHO Framework Convention on Tobacco Control (FCTC) ที่ระบุว่ายาสูบเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่ออันเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและชีวิตของประชากรโลก จึงขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติร่วมกันควบคุมและต่อต้านยาสูบโดยไม่ร่วมทำกิจกรรมใดๆกับอุตสาหกรรมยาสูบ และที่ผ่านมามีข้อครหาว่า ILO ถูกแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบและยังคงมีความร่วมมือด้านแรงงานกับอุตสาหกรรมยาสูบอันเป็นการขัดขวางพยายามของสหประชาชาติในการรณรงค์ต่อต่านยาสูบ จึงเรียกร้องให้ ILO ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยดำเนินการตามข้อกำหนดของ Model Policy และ WHO FCTC ที่ประชุม GB มีท่าทีที่แตกต่างกันจนไม่สามารถหาข้อยุติได้จึงมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุม GB สมัยต่อไป
2. การปรับลดเงินค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ ILO สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการข้าราชการพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Service Commission : ICSC) มีมติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ให้ปรับลดเงินเดือนในส่วนของเงินเพิ่มพิเศษตามอัตราค่าครองชีพในประเทศประจำการ (Post adjustment) ลงร้อยละ 3 โดยเจ้าหน้าที่ ILO ระดับชำนาญการ (Professional) ขึ้นไป ที่ประจำการที่นครเจนีวาจะถูกปรับลดลงร้อยละ 4.7 ซึ่งทาง ILO จะเสนอขอให้สมาชิก GB สนับสนุนให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในสมัยประชุมถัดไปคือ GB สมัยที่ 332 ในเดือนมีนาคม 2561 เพื่อให้ ILO มีเวลาในการศึกษาระเบียบวิธีการอย่างรอบคอบ ซึ่งในการประชุม กลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลแอฟริกาเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ILO แต่กลุ่มรัฐบาลประเทศเอเชียแปซิฟิก อเมริกา สหภาพยุโรป ยุโรปเหนือ (Nordic Countries) และประเทศเศรษฐกิจการตลาดอุตสาหกรรม (Industrialized Market Economy Countries – IMEC) เห็นว่าควรดำเนินการตามข้อเสนอของ ICSC ได้เลย ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุม GB สมัยต่อไป
3.การประชุมหัวข้อ “การประเมินผลขั้นสูงด้านกลยุทธ์และแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า” ที่ประชุมได้นำเสนอสรุปผลและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลขั้นสูงของ ILO สำนักงานใหญ่ต่อการดำเนินงานของสำนักงานภูมิภาคของ ILO ในปี 2560 ใน 3 ด้าน ได้แก่
1) กลยุทธ์และการดำเนินงานในการสร้างและการขยายความคุ้มครองทางสังคม ปี 2555 – 2560 ซึ่งหน่วยงานผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อการขยายความ
คุ้มครองทางสังคม รวมถึงการบริหารจัดการความรู้ภายในองค์กร และการตรวจสอบประเมินผลต่างๆ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศมากขึ้น
2) โครงสร้างและการดำเนินงานของ ILO ปี 2553 – 2559 ซึ่งหน่วยงานผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะในการให้อำนาจในการตัดสินใจแก่หน่วยปฏิบัติเพื่อสร้างความคล่องตัว การสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดและส่งเสริมบุคลากรที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานกับองค์กร และการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และ
3) แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า กลยุทธ์ และการดำเนินงานใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปี 2555 – 2560 ซึ่งหน่วยงานผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนในระยะยาว การเพิ่มสมรรถนะของระบบการตรวจสอบและติดตามผล การหาแนวทางเพื่อพัฒนาการบูรณาการระหว่างโครงการ และหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิผลโดยรวม และการเพิ่มสมรรถนะในการดำเนินงานผ่านการพัฒนาบุคลการและการแสวงหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งผลการประเมินทั้ง 3 ด้านอยู่ในระดับเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจ
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทย โดยสรุปสาระสำคัญว่ารัฐบาลไทยขอขอบคุณสำนักงาน ILO ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว รวมถึงทีมงานสนับสนุนด้านวิชาการของ ILO ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการต่างๆ ของไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมเรื่องแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน การต่อต้านรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก การต่อต้านการทำงานในรูปแบบที่ไม่สามารถยอมรับได้ในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านประกันสังคมในประเทศไทย ซึ่งการให้การสนับสนุนของ ILO ทำให้การออกกฎหมายและการวางนโยบายด้านแรงงานของไทยมีความก้าวหน้าและตอบสนองต่อสภาพปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ประเทศไทยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก ILO ต่อไป และเชื่อว่าความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจะทำให้เกิดความก้าวหน้าในการบริหารจัดการด้านแรงงานของไทยต่อไปในอนาคต
4. การประชุมหัวข้อ “การให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ” ที่ประชุมได้นำเสนอเรื่องการดำเนินงานในเรื่องการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ของโครงการและงบประมาณปี 2559 – 2560 ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ 3 ประการ คือ การมีส่วนร่วมของไตรภาคี การปฏิบัติตามข้อสังเกตของหน่วยงานกำกับดูแล และการเพิ่มความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่ง ILO จะนำประสบการณ์จากการดำเนินโครงการในสองปีที่ผ่านมาไปใช้ในการดำเนินงานในปี 2561 – 2562 โดยจะให้การสนับสนุนทางวิชาการ และความร่วมมือในการพัฒนากับประเทศสมาชิก ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกให้มากขึ้น
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทย โดยสรุปสาระสำคัญว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ อนุสัญญาว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และอนุสัญญาฉบับที่ 187 ว่าด้วยแรงงานทางทะเล ซึ่งการให้สัตยาบันดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมสิทธิและโอกาสในการทำงาน รวมถึงความยุติธรรมทางสังคมตามแนวทางของ ILO และด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานภูมิภาคของ ILO ใน
ด้านวิชาการและการส่งเสริมให้มีการปรึกษาหารือไตรภาคีตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการให้สัตยาบัน ทำให้กรอบกฎหมาย นโยบาย และกฎระเบียบของไทยมีความเข้มแข็งขึ้น และยังช่วยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ดีในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ประเทศไทยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานภูมิภาคของ ILO ในการทำงานและการดำเนินการตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศที่ไทยให้สัตยาบันต่อไป
5. การประชุมหัวข้อ “การคุ้มครองแรงงานจากงานในรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้” ที่ประชุมได้นำเสนอภาพรวมกลยุทธ์เรื่องการคุ้มครองแรงงานจากงานในรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้ของโครงการและงบประมาณปี 2559 – 2560 ซึ่งยึดหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานเป็นสำคัญ โดยใช้กลยุทธ์ในการดำเนินงาน เช่น การส่งเสริมการให้สัตยาบันและปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ การเสนอแนวทางลดความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอก ILO เป็นต้น ซึ่ง ILO มีโครงการความร่วมมือกับหลายประเทศในการคุ้มครองแรงงานจากรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้ที่ประสบความสำเร็จหลายโครงการ เช่น โครงการต่อต้านการทำงานในรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้ในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย โครงการความร่วมมือด้านอาชีวอนามัยในประเทศอินโดนีเซีย โครงการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในแถบประเทศแอฟริกา โครงการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในสตรีในประเทศโบลิเวีย เป็นต้น ซึ่ง ILO จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาไป ปรับใช้กับการวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทย โดยสรุปสาระสำคัญว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายและการดำเนินงานที่ชัดเจนที่ให้หลักประกันว่าแรงงานต่างชาติ จะได้สิทธิที่เท่าเทียมกับแรงงานไทย และขอขอบคุณ ILO ที่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดในการต่อต้านรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้ในการทำงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายสำหรับปี 2561 ที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์เพื่อการยุติ” (Vision Ends) เพื่อขจัดปัญหาความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของแรงงาน 3 ประการ ได้แก่ การยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติความไม่มีประสิทธิภาพ และ ยุติการจ้างงานในรูปแบบที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม
6. การประชุมหัวข้อ “การทบทวนกลไกด้านมาตรฐานแรงงาน (Standard Review Mechanism)” ในการประชุม GB สมัยที่ 329 เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ได้เห็นชอบแผนการทำงานเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในระบบการตรวจสอบ (Supervisory System) โดยนำเสนอที่ประชุม GB สมัยที่ 331 พิจารณาดังนี้
1. กิจกรรมที่จัดลำดับความสำคัญระดับต้น ได้แก่
1.1 กระบวนการฟ้องแทน (Representation) ตามมาตรา 24 (Representation) ของธรรมนูญ ILO โดยการเสนอให้ผู้ฟ้องแสดงถึงขั้นตอนการปรึกษาหารือหรือเจรจาแก้ไขปัญหาในระดับชาติก่อนดำเนินการฟ้องร้องต่อ ILO
1.2 การผนวกรวมการรายงาน โดยการจัดหมวดหมู่กลุ่มเรี่องของอนุสัญญาที่มีเนื้อหาคล้ายกันเพื่อให้ประเทศสมาชิกจัดทำรายงานตามรอบระยะการจัดทำรายงาน และ
1.3 การดำเนินการตามมาตรา 19 วรรค 5 (อี) 6 (ดี) ของธรรมนูญ ILO สำหรับมาตรฐานแรงงานที่ไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยการออกแบบรูปแบบการรายงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพและไม่สร้างภาระเพิ่มแก่ประเทศสมาชิก โดยการผนวกกระบวนการรายงานและเนื้อหาให้เชื่อมโยงและนำมาใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ เช่น การอภิปรายทั่วไปในการประชุมไตรภาคีในคณะกรรมการการอนุวัติมาตรฐานแรงงานแห่งที่ประชุมใหญ่ การอภิปรายหมุนเวียนตามยุทธศาสตร์ต่างๆ การกำหนดวาระการประชุมใหญ่ โดยการสร้างความสัมพันธ์ของเนื้อหาของการประชุม
2. การดำเนินการที่นำเสนอเพื่อการทำงานขั้นต่อไป 3 ประการ ได้แก่
2.1 การประชุมหารือปีละ 1 ครั้ง ระหว่างองค์กรตรวจสอบเพื่อเพิ่มความโปร่งใส สอดคล้อง และยั่งยืนของระบบตรวจสอบ ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติอนุสัญญาและข้อแนะ
2.2 การปรับปรุงกลไกการร้องเรียน (Complaint) ตามมาตรา ๒๖ ของธรรมนูญ ILO เพื่อเพิ่มกระบวนการที่เข้าถึงได้ โปร่งใส ชัดเจน และเหมาะสม โดยพิจารณากฎเกณฑ์แนวปฏิบัติ และความ เชื่อมโยงกับกระบวนการอื่น และ 3) การจัดประชุมหารือไตรภาคีเกี่ยวกับประเด็นความเชื่อมั่นทางกฎหมาย (Legal certainty) ตามที่กำหนดในมาตรา 37 ของธรรมนูญ ILO เกี่ยวกับการตีความธรรมนูญและอนุสัญญา
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวถ้อยแถลงในนามภาคีอาเซียน (ไทยยกร่างโดยความเห็นชอบของอาเซียน) โดยสรุปว่า การจัดกลุ่มอนุสัญญาในกระบวนการจัดทำรายงานจะเอื้ออำนวยให้ประเทศสมาชิกดำเนินการตามพันธกรณีในการจัดทำรายงานได้มากขึ้นและส่งเสริมประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการตรวจสอบของ ILO และเนื่องจากมีการให้สัตยาบันอนุสัญญามากขึ้น จึงเสนอให้ขยายระยะเวลาในรอบการรายงานสำหรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานเป็น 4 ปี/ครั้ง และอนุสัญญาทางวิชาการเป็น 6 ปี/ครั้ง นอกจากนี้ขอสนับสนุนรูปแบบการเสนอเรื่องการฟ้องแทนตามมาตรา 24 ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และการใช้ความพยายามในการเจรจาแก้ไขปัญหาในประเทศก่อนที่จะยื่นฟ้องต่อ ILO เพื่อส่งเสริมกระบวนการหารือและ ความไว้วางใจต่อกันของไตรภาคีและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง