(ต่อ ) สรุปผลการประชุมคณะประศาสน์การ (GB) สมัยที่ 331 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
7. การติดตามกรณีปัญหาการละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ที่ให้สัตยาบันของประเทศเมียนมา
รัฐบาลเมียนมาถูกร้องเรียนโดยผู้แทนลูกจ้างประเทศต่างๆ และถูกติดตามในเวที ILO นานเกือบ 20 ปี ว่าละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 โดยปล่อยให้มีการบังคับใช้แรงงานในประเทศ และขณะนี้เมียนมากำลังร่วมมือกับ ILO ในการแก้ไขปัญหา
ที่ประชุมอภิปรายโดยผู้แทนรัฐบาลบังคลาเทศกล่าวตำหนิรัฐบาลเมียนมาและพาดพิงปัญหาผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจากการสู้รบในรัฐยะไข่ ท่าทีในที่ประชุมขอให้รัฐบาลเมียนมาร่วมมือกับ ILO ในการแก้ไขปัญหาต่อไปและเร่งรัดการต่อสัญญาความร่วมมือกับ ILO ในรูปบันทึกความเข้าใจและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับในประเทศที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี 2560 และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสนอให้ ILO ชะลอการดำเนินงานแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าในเมียนมาออกไปจนกว่าจะมีการลงนามต่อสัญญาบันทึกความเข้าใจและแผนปฏิบัติการกับ ILO
ที่ประชุมมีมติดังนี้
– เรียกร้องให้มีความร่วมมือต่อไประหว่างรัฐบาลเมียนมากับ ILO เพื่อขจัดแรงงานบังคับโดยการต่อบันทึกความเข้าใจเสริมออกไปหลังเดือนธันวาคม 2560
– แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความล้มเหลวของรัฐบาลเมียนมาในการต่อบันทึกความเข้าใจและแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดแรงงานบังคับและขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยทันที
– เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการสมาคมโดยใช้กลไกการเจรจาไตรภาคีอย่างแท้จริงโดยสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
– รับทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการตามกรอบงานภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของ ILO อันมีการขจัดแรงงานบังคับเป็นประเด็นหลัก
– ร้องขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO รายงานกรณีเกี่ยวกับแรงงานบังคับที่ ILO ได้รับในอนาคตต่อ GB เพื่อรับทราบสถานะล่าสุดในการประชุม GB สมัยที่ 332 ในเดือนมีนาคม 2561
– ชะลอการดำเนินการตามแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าไปจนกว่าจะมีการต่อบันทึกความเข้าใจและแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดแรงงานบังคับ รวมทั้งบันทึกความเข้าใจเสริม
นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา กล่าวในนามอาเซียนและรัฐบาลออสเตรเลียว่า อาเซียนและออสเตรเลียเห็นพัฒนาการทางบวกในการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับในเมียนมา โดยสนับสนุนให้รัฐบาลเมียนมาร่วมมือกับ ILO ต่อไป รวมทั้งขอให้ ILO และประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนับสนุนเมียนมาในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงาน และงานที่มีคุณค่าต่อไป
8. การวิเคราะห์การประชุมใหญ่ประจำปีสมัยที่ 106 เดือนมิถุนายน 2560 เพื่อปรับปรุงการจัดประชุมใหญ่ประจำปีครั้งต่อไป
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานนำเสนอในนามอาเซียนว่าควรจัดสรรที่นั่งให้เพียงพอสำหรับการประชุมคณะกรรมการการอนุวัติอนุสัญญาแห่งการประชุมใหญ่เพื่อให้ผู้เข้าประชุมสามารถมีปฏิสัมพันธ์ในการประชุมได้ การจัดที่นั่งในห้องประชุมสมัชชาใหญ่ให้คำนึงถึงการมองเห็นเวทีการปะชุมใหญ่ของคณะผู้แทนด้วยโดยหลีกเลี่ยงการจัดที่นั่งมุมในสุดที่มองไม่เห็นเวทีการประชุม และขอให้เผยแพร่รายงานผู้อำนวยการใหญ่ล่วงหน้าได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือนก่อนเปิดการประชุมเพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาเพียงพอในการเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายรายงานดังกล่าว
9. การติดตามกรณีปัญหาการละเมิดอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันของประเทศเวเนซุเอลา
รัฐบาลเวเนซุเอลาถูกผู้แทนนายจ้างหลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปี ILO สมัยที่ 104 ปี 2558 ยื่นฟ้องร้องว่าละเมิดอนุสัญญาที่ให้สัตยาบัน 3 ฉบับเนื่องจากไม่ยอมรับบทบาทขององค์การนายจ้างในประเทศ ได้แก่ ฉบับที่ 26 ว่าด้วยกลไกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค.ศ. 1928 เนื่องจากกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยรัฐบาลและไม่มีการจัดปรึกษาหารือไตรภาคี ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ลักพาตัว ผู้นำและสมาชิกองค์การนายจ้าง และฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. 1976 เนื่องจากกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยไม่ปรึกษาหารือไตรภาคี
ที่ประชุม GB มีความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลเวเนซุเอลายังแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีพอ โดยฝ่ายนายจ้างเสนอให้ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวน (Commission of Inquiry) เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์และแนะนำรัฐบาลในการแก่ไขปัญหา สำหรับฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าควรเลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุม GB สมัยต่อไป
ที่ประชุม GB มีมติให้ตั้งคณะทำงานไตรภาคีระดับสูงเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล และรายงานให้ที่ประชุม GB สมัยที่ 332 ในเดือนมีนาคม 2561 พิจารณาประเมินว่าสมควรตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนเข้าไปในประเทศหรือไม่
10. การติดตามกรณีการละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 ที่ให้สัตยาบันของประเทศกัวเตมาลา
รัฐบาลกัวเตมาลาถูกร้องเรียนโดยผู้แทนลูกต่างประเทศต่างๆ เมื่อปี 2555 ว่ามีการข่มขู่ คุกคาม ฆ่าผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงาน และ ILO มีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายและแก้ไขปัญหาและคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่สหภาพแรงงานในประเทศโดยร่วมมือกับ ILO และองค์การนายจ้างและลูกจ้างในประเทศในการดำเนินการตาม Roadmap ซึ่งหากรัฐบาลกัวเตมาลายังคงดำเนินการได้ไม่คืบหน้าพอ อาจพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวน (Commission of Inquiry) เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหาในประเทศ
ที่ประชุมมีมติดังนี้
– เรียกร้องรัฐบาลกัวเตมาลา หุ้นส่วนสังคม และเจ้าหน้าที่ ILO ใช้ความพยายามทั้งหมดในการดำเนินการตามข้อตกลงไตรภาคีระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาตาม Roadmap ที่ยังค้างอยู่
– ขอให้ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงานตามข้อตกลงไตรภาคีระดับชาติ
– เลื่อนการพิจารณาตัดสินใจในการตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนไปในการประชุม GB สมัยต่อไป
11. การติดตามกรณีการละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 และฉบับที่ 81 ว่าด้วยการตรวจแรงงาน ค.ศ. 1947 ที่ให้สัตยาบันของประเทศกาตาร์
รัฐบาลกาตาร์ถูกร้องเรียนเมื่อปี 2557 โดยลูกจ้างประเทศต่างๆ ว่ามีการบังคับใช้แรงงานต่างชาติในประเทศ มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ “kafala” ทำให้คนงานต่างด้าวไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างทำให้ต้องตกอยู่ในสภาพการทำงานที่ถูกกดขี่ ไม่ได้รับค่าจ้าง และสภาพการทำงานที่เลวร้าย ต่อมารัฐบาลกาตาร์พยายามแก้ไขปัญหาโดยร่วมมือกับ ILO โดยยกเลิกระบบ “kafala” ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานรับใช้ในบ้าน มีกลไกรับการ ร้องทุกข์ การคุ้มครองค่าจ้าง และปรับปรุงกลไกการตรวจแรงงาน
ที่ประชุมเห็นถึงความก้าวหน้าและผลที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา จึงมีมติสนับสนุนแผนงานความร่วมมือทางวิชาการและรูปแบบการดำเนินงานระหว่างรัฐบาลกาตาร์และ ILO และให้ปิดการพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวต่อไป
12. คณะผู้แทนที่ไม่ครบองค์ประกอบไตรภาคีในการประชุมใหญ่ประจำปี ILO และการประชุมระดับภูมิภาค
มาตรา 3 ของธรรมนูญ ILO กำหนดองค์ประกอบคณะผู้แทนและกระบวนการแต่งตั้งผู้แทนและที่ปรึกษาสำหรับการเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO และมาตรา 1 ของข้อบังคับการประชุมระดับภูมิภาคได้กำหนดไว้เช่นเดียวกัน และการประชุมใหญ่ ILO สมัยที่ 56 ปี 2514 มีข้อมติว่า ถือเป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกที่ต้องส่งคณะผู้แทนไตรภาคีเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีและการประชุมระดับภูมิภาค และมาตรา 4 วรรค 2 ของธรรมนูญ ILO กำหนดถึงความจำเป็นในการแต่งตั้งผู้แทนให้ครบองค์ประกอบไตรภาคี โดยระบุว่า หากประเทศสมาชิกใดไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนที่มิใช่รัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง (Vote) และที่ประชุม GB สมัยที่ 183 และสมัยที่ 205 มีมติให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO สอบสวนถึงกรณีการส่งคณะผู้แทนไม่ครบองค์ประกอบไตรภาคี และกรณีการไม่ส่งคณะผู้แทนไตรภาคีเลย โดยขอให้รายงานผลให้ทราบด้วย
ที่ประชุมได้พิจารณาการรายงานเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะผู้แทนไม่ครบองค์ประกอบไตรภาคี โดยสำนักงาน ILO นำเสนอว่า
– การประชุมใหญ่ประจำปี ช่วงเดือนมิถุนายน 2557-มิถุนายน 2560 ในการประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO สมัยที่ 103-106 มีประเทศสมาชิกส่งคณะผู้แทนครบองค์ประกอบไตรภาคีเข้าร่วม ร้อยละ 87 โดยเมื่อพิจารณาจากจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด 187 ประเทศ เป็นเฉลี่ย 24 ประเทศที่ส่งคณะผู้แทนไม่ครบองค์ประกอบไตรภาคีหรือไม่ส่งคณะผู้แทนเลย โดยประเทศที่ส่งคณะผู้แทนไม่ครบองค์ประกอบไตรภาคี ได้แก่ อัฟกานิสถาน เอกวาดอร์ นิการากัว ติมอร์เลสเต ตองกา เป็นต้น และประเทศที่ไม่ส่งคณะผู้แทนไตรภาคี ได้แก่ เบลิซ โดมินิกัน แกมเบีย ตรินิแดดโตแบโก เป็นต้น โดยเหตุผลหลักคือไม่มีงบประมาณในการจัดส่งคณะผู้แทน
– การประชุมระดับภูมิภาค จากสถิติของภูมิภาคอเมริกาครั้งที่ 18 ปี 2557 ภูมิภาคแอฟริกาครั้งที่ 13 ปี 2558 และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 16 ปี 2559 มีการส่งคณะผู้แทนครบองค์ประกอบไตรภาคี ดังนี้ อเมริการ้อยละ 71 แอฟริการ้อยละ 82 เอเชียแปซิฟิกร้อยละ 67 โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้ ประเทศที่ส่งคณะผู้แทนไม่คบองค์ประกอบไตรภาคี ได้แก่ อัฟกานิสถาน จอร์แดน เลบานอน เมียนมา ปากีสถาน เป็นต้น และประเทศที่ไม่ส่งคณะผู้แทนไตรภาคี ได้แก่ อิรัก มัลดีฟ ซีเรีย เยเมน เป็นต้น
ที่ประชุมมีมติดังนี้
– เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีตามธรรมนูญ ILO ในการแต่งตั้งคณะผู้แทนที่ครบองค์ประกอบไตรภาคีเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีและการประชุมระดับภูมิภาค
– ขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ดำเนินการตรวจสอบต่อไปถึงสถานการณ์ที่ประเทศสมาชิกไม่แต่งตั้งคณะผู้แทนที่ครบองค์ประกอบไตรภาคี เพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
13. การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ ILO
ที่ประชุมมีมติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยดังนี้
1. การแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติอนุสัญญาและข้อแนะสืบต่ออีกวาระหนึ่ง (วาระ 3 ปี) รวม 9 คน โดยในจำนวนนี้มีจากประเทศไทย 1 คน คือ ศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติอนุสัญญาและข้อแนะตั้งแต่ปี 2552 มีความรับผิดชอบพิเศษเกี่ยวกับอนุสัญญาฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายในการใช้แรงงานเด็ก ค.ศ. 1999 และอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 และยังร่วมในคณะทำงานพิจารณารายงานการสำรวจทั่วไป
2. การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ILO
– นางปนัดดา บุญผลา สัญชาติไทย ระดับ D1 ในตำแหน่ง Deputy Regional Director, ILO Regional Office for Asia and the Pacific (RO-Asia and the Pacific) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561
– Mr. Graeme Buckley สัญชาติอังกฤษ ระดับ D1 ในตำแหน่ง Director, ILO Decent Work Technical Support Team for East and South-East Asia and the Pacific and the ILO Country Office for Thailand, Cambodia and Lao People’s Democratic Republic (DWT/CO-Bangkok) Regional Office for Asia and the Pacific มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560