วันที่ 18 ธันวาคม 2533 มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานเคลื่อนย้ายและสมาชิกในครอบครัว (International Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Members of Their Families) พร้อมประกาศให้วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็นวัน International Migrants Day เพื่อให้ทั่วโลกร่วมตระหนักถึงสิทธิและตัวตนของผู้โยกย้ายถิ่นที่มีการขยายตัวของจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ปี 2556 ผู้โยกย้ายถิ่นระหว่างประเทศทั่วโลกมีจำนวน 232 ล้านคน คิดเป็น 3.2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ว่าจะอพยพโยกย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ในต่างถิ่นต่างประเทศด้วยเหตุผลด้านการหางานทำ หาถิ่นพำนักที่ดีกว่า หนีภัยความไม่สงบ หนีภัยธรรมชาติ ย้ายตามครอบครัวหรือเหตุอื่นใดก็ตาม จำนวนไม่น้อยต้องประสบกับปัญหาการไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านสวัสดิการ ที่พักอาศัย สภาพการทำงาน การคุ้มครองทางสังคม การคุ้มครองทางกฎหมาย รวมทั้งปัญหาการถูกกีดกันรังเกียจ การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกกดขี่หลอกลวง บังคับขืนใจ และที่เลวร้ายที่สุดคือการเสียชีวิต
นาย William Lacy Swing ผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) กล่าวเรียกร้องเนื่องในวัน International Migrants Day ปี 2556 ให้ทั่วโลกตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและการเสี่ยงชีวิตของผู้โยกย้ายถิ่นที่จากประเทศบ้านเกิดเพราะแรงผลักดันจากความหมดหวัง ท้อแท้กับสภาพชีวิต และตั้งความหวัง ความฝันของตนเองในอันที่จะได้มีชีวิตที่ดีกว่า มีรายได้มากกว่าเพื่อความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ดีขึ้น โดยยอมเสี่ยงเป็นหนี้ เสี่ยงต่อการถูกหลอกทรัพย์สินเงินทองจากบริการและนายหน้าเถื่อน เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งท้ายที่สุด หลายรายต้องจบชีวิตในทะเล มหาสมุทร กลางป่า หรือประสบอุบัติเหตุ ถูกข่มขืน ถูกฆาตกรรมระหว่างเดินทางข้ามแดน ซึ่งการเก็บสถิติของ IOM พบว่า ในปี 2556 มีผู้ย้ายถิ่นต้องเสียชีวิตจำนวน 2,360 คน โดยจำนวนนี้ไม่รวมผู้สูญหายหรือเสียชีวิตที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้อีกจำนวนมาก
ด้วยสภาพความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม ถิ่นที่อยู่ อากาศ ภัยธรรมชาติของประชากรโลกทำให้ยุคปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายของมนุษยชาติมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น ทุกประเทศ ทุกชุมชนทั่วโลกควรเข้าใจร่วมกันและร่วมมือกันที่จะทำให้สิทธิของผู้ย้ายถิ่นได้รับการคุ้มครอง ลดความไม่เท่าเทียม การกีดกันทั้งทางนโยบาย กฎหมายและสังคมเพื่อให้ผู้ย้ายถิ่นไม่ถูกผลักดันให้ตกเป็นเหยื่อของการถูกหาประโยชน์ ซึ่ง IOM ประมาณว่าธุรกิจการหลอกลวงผู้โยกย้ายถิ่นเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม (organized crime) และเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ผู้อำนวยการใหญ่ IOM ยอมรับว่า การบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นมีความยากและซับซ้อน ต้องการมาตรการผสมผสาน อาทิ วีซ่าระยะสั้น วีซ่าตามฤดูกาล การใช้ระบบสวัสดิการสังคมย้ายตามตัว ซึ่ง แต่ละประเทศมีแนวทางการดำเนินงานแตกต่างกัน โดย IOM พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานประสานเพื่อผลักดัน เชิงนโยบายให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อรองรับการประชุมสุดยอด World Humanitarian Summit ที่จะมีขึ้นในปี 2559
————————-
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวร ฯ ณ นครเจนีวา
มกราคม 2557