Skip to main content

หน้าหลัก

ผลการเลือกตั้งสมาชิกคณะประศาสน์การ วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗

ผลการเลือกตั้งสมาชิกคณะประศาสน์การ วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗

 

ข้อมูลเบื้องต้น

                   คณะประศาสน์การ (Government Body: GB) เป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) มีองค์ประกอบดังนี้

๑. สมาชิกประจำ (Regular Member) ของ GB ประกอบด้วย ผู้แทนจาก   ฝ่ายนายจ้าง ๑๔ คน ฝ่ายลูกจ้าง ๑๔ คน และฝ่ายรัฐบาล ๒๘ คน รวมเป็น ๕๖ คน โดยในฝ่ายรัฐบาลเป็นสมาชิกถาวรจากประเทศอุตสาหกรรมสำคัญจำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ประเทศบราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

๒. สมาชิกสำรอง (Deputy Member) ของ GB ประกอบด้วย ผู้แทนจากฝ่ายนายจ้าง ๑๙ คน ฝ่ายลูกจ้าง ๑๙ คน และฝ่ายรัฐบาล ๒๘ คน รวมเป็น ๖๖ คน

                   สมาชิกประจำและสมาชิกสำรองของ GB อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และให้มีสมาชิกใหม่จากการเลือกตั้ง ยกเว้นสมาชิกถาวรฝ่ายรัฐบาล ๑๐ ประเทศข้างต้น ทั้งนี้ สมาชิกฝ่ายรัฐบาลได้รับการจัดสรรโควตาการเป็นสมาชิก GB เพื่อให้ทั่วถึงทุกกลุ่มภูมิภาค ดังนี้

ภูมิภาค

สมาชิกประจำ

สมาชิกสำรอง

รวมสมาชิกจาก

การเลือกตั้ง

รวม

สมาชิกถาวร

สมาชิกจากการเลือกตั้ง

แอฟริกา

๖*

๑๓

๑๓

อเมริกา

๕*

๑๑

๑๓

เอเชียและแปซิฟิก

๑๒

๑๕

ยุโรป

๑๐

๑๕

รวม

๑๐

๑๘

๒๘

๔๖

๕๖

                   * ทั้งนี้ อนุภูมิภาคแอฟริกาและอเมริกาจะสลับจำนวนโควตาสมาชิกประจำจากการเลือกตั้งในแต่ละรอบการดำรงตำแหน่ง โดยในวาระ พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗ อนุภูมิภาคแอฟริกาได้รับโควตาจำนวน ๖ ที่นั่ง

การเลือกตั้ง GB เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔

                   GB วาระ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ซึ่งมีประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกประจำ มีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔[1] ดังนั้น ILO จึงได้จัดการเลือกตั้งสมาชิก GB คณะใหม่ขึ้นในระหว่างการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๙ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔)  

                   ในการเลือกตั้งสมาชิก GB ใน พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ มีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกประจำและสมาชิกสำรองเท่ากับจำนวนที่นั่งการเป็นสมาชิก GB ที่ได้รับจัดสรรสำหรับแต่ละภูมิภาค จึงไม่เกิดภาวะแข่งขันระหว่างผู้สมัคร แต่ผู้สมัครต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะถือว่าผ่านการเลือกตั้ง        

                   อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ดังนี้

(ก) การเป็นสมาชิกประจำ ๑ ตำแหน่ง โดยได้เสนอชื่อ อินโดนีเซีย เข้ารับการเลือกตั้ง และ

(ข) การเป็นสมาชิกสำรอง ๓ ตำแหน่ง โดยได้เสนอชื่อ บรูไน เมียนมา และลาว เข้ารับการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงหมุนเวียนการเป็นสมาชิก GB ของอาเซียน

                   ผลการเลือกตั้งสมาชิก GB ฝ่ายรัฐบาลในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ปรากฏว่า มีเมียนมาเพียงประเทศเดียวที่ได้รับคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่ผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสำรองของ GB    โดยอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้รับการจัดสรรที่นั่งต้องเสนอชื่อผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสำรองอีกครั้ง ดังนั้น ประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนในกรอบแรงงาน จึงนำเรื่องเข้าหารือกับคณะผู้แทนถาวรประเทศอาเซียนประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในการประชุม The 2nd Meeting of ASEAN Committee in Geneva of 2021 เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ซึ่งเมียนมาได้แจ้งขอถอนตัวไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสำรองของ GB และที่ประชุมมีฉันทามติให้มาเลเซียสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสำรองของ GB อันเป็นไปตามลำดับประเทศในข้อตกลงหมุนเวียนการเป็นสมาชิก GB ของอาเซียน จากนั้น ประเทศไทยจึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอชื่อมาเลเซียเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสำรองของ GB ในตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ต่อไป

                   ILO ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสำรองของ GB เป็นครั้งที่ ๒ สำหรับตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ซึ่งมาเลเซียได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนจำนวน ๑๔๕ เสียง จากทั้งสิ้น ๑๔๗ เสียง

                   ทั้งนี้ ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้ประกาศให้สมาชิก GB ชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ GB วาระ พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗ ดังนี้

(ก)  Ms. Anna Jardfelt เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรสวีเดนประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นประธาน GB

(ข)  Ms. Renate Hornung-Draus (ประเทศเยอรมนี) เป็นรองประธาน GB ฝ่ายนายจ้าง

(ค) Ms. Catelene Passchier (ประเทศเนเธอร์แลนด์) เป็นรองประธาน GB ฝ่ายลูกจ้าง

                   รายชื่อสมาชิก GB ทั้ง ๓ ฝ่าย ปรากฏตามลิงค์

https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/@ed_norm/@relconf/@reloff/documents/meetingdocument/wcms_083528.pdf

 

——————————-

ฝ่ายแรงงาน

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

[1] เนื่องจากวิกฤติโควิด-๑๙ ใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ทำให้ ILO ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งสมาชิก GB ชุดใหม่เพื่อทำหน้าที่ต่อจาก GB วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๓ ได้ ส่งผลให้ GB คณะนี้ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปอีก ๑ ปี จนกระทั้งมีการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔

 


9816
TOP