Skip to main content

หน้าหลัก

การประชุม Retreat of the ASEAN ILO Group ที่เมือง Montreaux

คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวาอนุมัติให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เข้าร่วมประชุม Retreat of the ASEAN ILO Group ที่เมือง Montreaux ในระหว่างวันที่ ๔ – ๕ เมษายน ๒๕๕๔ โดยมีคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ มีผลการประชุมสรุปดังนี้

 

๑. การเตรียมการสำหรับการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำปี ๒๕๕๔ (ครั้งที่ ๑๐๐) มีประเด็นที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีส่วนเกี่ยวข้องและให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่ 
     ๑.๑ การประชุมพิจารณาอนุสัญญาว่าด้วยคนทำงานบ้าน (Domestic Workers Convention) โดยประเทศฟิลิปปินส์ได้เสนอชื่อผู้แทนเป็นประธานคณะกรรมการแทนคนเดิมซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้ส่งออกแรงงานทำงานบ้านไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากทั้งในภูมิภาคเอเซีย และตะวันออกกลาง และประสบปัญหาด้านการคุ้มครองแรงงานมากเช่นกัน
     ๑.๒ การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ (Committee on Application of Standards) ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวคือประเทศพม่า ซึ่งถูกร้องเรียนว่าละเมิดสิทธิแรงงานตามอนุสัญญา ฉบับที่ ๒๙ (ว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับ) ฉบับที่ ๘๗ (ว่าด้วยเสรีภาพในการเข้าร่วมสมาคม) และฉบับที่ ๙๘ (ว่าด้วยสิทธิในการเจรจาต่อรอง) 
     ๑.๓ การเตรียมการในเรื่อง logistics สำหรับการประชุม ILC วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้และเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการเดินทาง การจองโรงแรมที่พัก และการดำเนินการอำนวยความสะดวกระหว่างการประชุม ให้กับเจ้าหน้าที่แรงงานที่มาประจำการใหม่ในปีนี้ได้ทราบ เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น

 

๒. สมาชิกภาพของกลุ่มประเทศอาเซียนในคณะประศาสน์การ (GB) ในปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๕ ซึ่งประเทศเวียดนามจะเลื่อนขึ้นมาเป็น regular member แทนประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศกัมพูชาและไทยยังคงเป็น deputy member ลำดับที่ ๑ และ ๒ และประเทศอินโดนีเซียจะเลื่อนขึ้นมาเป็น deputy member ลำดับ ๓

 

๓. การจัดทำแถลงการณ์ร่วม (joint statement) ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งโดยปกติผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกลุ่มประเทศอาเซียนจะจัดทำแถลงการณ์ร่วมในการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่อยู่ในความสนใจ นอกเหนือจากแถลงการณ์ร่วมของกลุ่มประเทศเอเซียและแปซิฟิก – ASPAG  (ซึ่งอาเซียนทุกประเทศเป็นสมาชิก) โดยเฉพาะในประเด็นที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีความสนใจร่วมกัน แต่พยายามระมัดระวังให้สอดคล้อง/ไม่ขัดแย้งกับแถลงการณ์ร่วมกับ ASPAG สำหรับในสมัยประชุมที่ GB ๓๑๑ เป็นต้นไป จะให้มีแถลงการณ์ร่วมในการประชุมทุกคณะกรรมการ โดยจะแจ้งให้คณะผู้แทนถาวรฯและเมืองหลวงทราบก่อน 

 

๔. ประเทศอินโดนีเซียแจ้งว่าประธานาธิบดีอินโดนีเซียรับคำเชิญที่จะมาร่วมประชุมประจำปี ครั้งที่ ๑๐๐ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ นี้ หากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆจะขอพบหารือ ขอให้แจ้งให้ผู้ประสานงานทราบ

 

๕. การจัดทำคู่มือการดำเนินงานของกลุ่มอาเซียน (knowledge sharing) เพื่อช่วยให้ผู้ที่จะมาประจำการใหม่ในเจนีวาสามารถใช้เป็นแนวทางดำเนินการได้สะดวกและราบรื่น ตั้งแต่ในส่วนของการค้นหาเอกสาร การติดต่อเจ้าหน้าที่ ILO ในแผนกต่างๆ การติดตามและเอกสารการประชุมที่เกี่ยวข้อง บทบาทของผู้ประสานงานอาเซียน ไปจนถึงการจองโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร การเดินทาง ฯลฯ ทั้งนี้จะรวบรวมจากประสบการณ์ของผู้ที่ประจำการอยู่ในเจนีวานานพอสมควรเป็นหลัก เช่น ผู้แทนฟิลิปปินส์ ( ๖ ปี) พม่า (๒ รอบ รวม ๗ ปี) สิงคโปร์ ( ๓ ปี) และผู้แทนประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมประสบการณ์ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ไฟล์แนบ:

ชื่อไฟล์DSC01235.jpg

ขนาด : 828.88 kb
วันที่สร้าง : April 26, 2554

ชื่อไฟล์DSC01238_Medium.jpg

ขนาด : 114.53 kb
วันที่สร้าง : April 26, 2554

8930
TOP