สถานการณ์ที่ผ่านมาในครึ่งปีแรก
ภาพรวม
คนทำงานร้อยละ ๙๓ จากทั่วโลกได้รับความเสียหายในวงกว้างและต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการใช้มาตรการหยุดสถานประกอบกิจการเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ความเสียหายมีการทรงตัวในกลางเดือนมีนาคม เนื่องจากหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ตาม ทวีปอเมริกายังคงใช้มาตรการที่เข้มงวดด้านการหยุดสถานประกอบการ
การสูญเสียชั่วโมงการทำงานเลวร้ายกว่าที่ ILO ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในไตรมาสแรกของปี มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกไปประมาณร้อยละ ๕.๔ หรือเทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา (full-time equivalent job: FTE) ๑๕๕ ล้านตำแหน่งในไตรมาสที่สอง มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกไปประมาณร้อยละ ๑๔ หรือ FTE ๔๐๐ ล้านตำแหน่ง โดยทวีปอเมริกามีการสูญเสียมากที่สุด การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในบางประเทศเกิดจากการลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง ในขณะที่บางประเทศเกิดจากการเลิกจ้างหรือการปิดกิจการ
วิกฤตจากโควิด-๑๙ ส่งผลร้ายแรงยิ่งกว่าต่อแรงงานหญิง โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่าแรงงานชาย ทั้งยังเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสายอาชีพด้านสุขภาพอนามัยและการสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นอาชีพแนวหน้าที่เผชิญกับโควิด-๑๙
การปิดกิจการ
มาตรการ lockdown รวมถึง การปิดสถานประกอบการ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรค เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ร้อยละ ๓๒ ของคนทำงานทั่วโลก (ลดลงจากเดือนมีนาคมที่มีถึงร้อยละ ๗๐) อยู่ในประเทศที่ใช้มาตรการสั่งปิดสถานประกอบการที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อีกร้อยละ ๔๒ อยู่ในประเทศที่ใช้มาตรการสั่งปิดสถานประกอบการเป็นบางประเภท และอีกร้อยละ ๑๙ อยู่ในประเทศที่ใช้มาตรการเชิญชวนให้นายจ้างหยุดสถานประกอบการ
ทวีปอเมริกามีประเทศที่ใช้มาตรการสั่งปิดสถานประกอบการอย่างเข้มงวดมากที่สุด กลุ่มประเทศอาหรับ ยุโรป และเอเชียกลาง ใช้มาตรการให้หยุดสถานประกอบการที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ส่วนกลุ่มประเทศแอฟริกามีคนทำงานเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นที่อยู่ในประเทศซึ่งใช้มาตรการให้หยุดสถานประกอบการอย่างเข้มงวด ถึงแม้หลายประเทศได้ยกเลิกมาตรการให้หยุดสถานประกอบการอย่างเข้มงวดไปแล้ว แต่สถานประกอบหลายแห่งก็ไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่สามารถกลับมาได้อย่างเต็มรูปแบบเช่นเดิม
การสูญเสียชั่วโมงการทำงาน
ในไตรมาสแรก กลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิกมีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุด คือ ร้อยละ ๗.๑ หรือ FTE ๑๒๕ ล้านตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของ FTE ทั่วโลกขณะนั้น) รองลงมา คือ กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชียกลางมีการสูญเสียร้อยละ ๓.๔ หรือ FTE ๑๑ ล้านตำแหน่ง ส่วนกลุ่มทวีปอเมริกามีการสูญเสียร้อยละ ๓ หรือ FTE ๑๑ ล้านตำแหน่ง ในขณะที่กลุ่มประเทศแอฟริกา มีการสูญเสียร้อยละ ๒.๔ หรือ FTE ๙ ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิกนั้น อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกอัตราการสูญเสียมากที่สุด คือ ร้อยละ ๑๑.๖ หรือ FTE ๙๕ ล้านตำแหน่ง โดยที่อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการสูญเสีย คือ ร้อยละ ๒.๑ หรือ FTE ๖ ล้านตำแหน่ง
เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง กลุ่มประเทศกลุ่มทวีปอเมริกามีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุด คือ ร้อยละ ๑๘.๓ หรือ FTE ๗๐ ล้านตำแหน่ง รองลงมา คือ กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชียกลางมีอัตราการสูญเสียร้อยละ ๑๓.๙ หรือ FTE ๔๕ ล้านตำแหน่ง กลุ่มเอเชียและแปซิฟิกมีอัตราการสูญเสียเดิม ร้อยละ ๑๓.๕ หรือ FTE ๒๓๕ ล้านตำแหน่ง และกลุ่มประเทศแอฟริกามีอัตราการสูญเสียร้อยละ ๑๒.๑ หรือ FTE ๔๕ ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิกนั้น อนุภูมิภาคเอเชียใต้มีอัตราการสูญเสียมากที่สุด คือ ร้อยละ ๑๗.๙ หรือ FTE ๑๑๐ ล้านตำแหน่ง โดยที่อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการสูญเสีย คือ ร้อยละ ๑๒.๗ หรือ FTE ๓๕ ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้ การสูญเสียชั่วโมงการทำงานเกิดขึ้นจาก (๑) การลดชั่วโมงการทำงาน (๒) การให้หยุดงานโดยยังไม่เลิกจ้าง (๓) การถูกเลิกจ้าง โดยพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และ (๔) การยุติกิจกรรมและออกจากกำลังแรงงาน
ผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง
คนทำงานทุกกลุ่มต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-๑๙ แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบและคนงานผู้เยาว์ โดยประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำมีการจ้างงานแบบนอกระบบถึงร้อยละ ๙๐ ซึ่งคนงานในภาคนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองทางสังคม นอกจากนั้นแล้ว ค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชายในทั่วโลกนี้ยังมีช่องว่างเฉลี่ยแล้วถึงร้อยละ ๒๐
แรงงานหญิงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-๑๙ ในลักษณะดังต่อไปนี้
- ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-๑๙ ล้วนมีผู้หญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่ สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-๑๙ มีดังนี้ กลุ่มประเทศอเมริกากลางมีร้อยละ ๕๘.๙ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร้อยละ ๔๘.๕ ยุโรปใต้มีร้อยละ ๔๕.๘ และอเมริกาใต้มีร้อยละ ๔๕.๕ ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักโดยมีผู้หญิงทำงานเป็น ส่วนใหญ่ ได้แก่ ภาคศิลปะและการบันเทิง และบริการอื่น ๆ มีผู้หญิงทำงานร้อยละ ๖๑ ภาคบริการอาหารและเครื่องดื่มมีร้อยละ ๕๔ และค้าปลีกและค้าส่งมีร้อยละ ๔๒.๑ ยิ่งไปกว่านั้น ในภาคการผลิตอื่น ๆ แรงงานหญิงก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่าแรงงานชาย
- มาตรการกักตัวในพี่พักอาศัยของตนเองเพื่อควบคุมการระบาดของโลกส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนงานทำงานบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงโดยส่วนใหญ่ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน คนงานทำงานบ้านร้อยละ ๗๒.๓ หรือประมาณ ๕๕ ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการว่างงานหรือสูญเสียรายได้จากมาตรการ lockdown ของรัฐบาล ประกอบกับ คนงานทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมจากประเทศปลายทาง และบางส่วนไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้เนื่องจากมาตรการ lockdown และมาตรการห้ามการเดินทางข้ามประเทศ
- คนทำงานในสายอาชีพด้านสุขภาพอนามัยและสังคมสงเคราะห์เป็นเพศผู้หญิงมากกว่าร้อยละ ๗๐ โดยทำงานที่มีทักษะต่ำกว่าและค่าตอบแทนน้อยกว่าคนทำงานเพศชาย ช่องว่างด้านค่าตอบแทนระหว่างชายและหญิงในสายอาชีพนี้ของประเทศรายได้สูงมีถึงร้อยละ ๒๖ ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางมีร้อยละ ๒๙ คนทำงานในสายอาชีพนี้ที่เป็นแนวหน้าเผชิญกับโควิด-๑๙ มักมีสภาพการทำงานที่เหนื่อยล้า มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ขาดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เกิดความเครียดและมีความกดดัน และเสี่ยงต่อ การติดไวรัส
- การแบ่งหน้าที่ด้านการดูแลครอบครัวอย่างไม่เท่าเทียม ในเวลาปกตินั้น ผู้หญิงใช้เวลาถึง ๓ ส่วนสี่ไปกับการทำงานดูแลครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เมื่อวิกฤตโควิด-๑๙ ส่งผลให้มีการปิดสถานศึกษาหรือศูนย์ดูแลเด็ก/คนชรา ภาระในการดูแลสมาชิกครอบครัวเหล่านี้ตกอยู่กับเพศหญิง จากการสำรวจพบว่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวร้อยละ ๗๔ เป็นฝ่ายรับภาระดูแลบุตรที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องจากมาตรการ lockdown และยังพบอีกว่า ผู้หญิงต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงงานในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงมาตรการกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย
การคาดการณ์สำหรับสถานการณ์ในครึ่งปีหลัง
ภาพรวม
ในครึ่งปีหลังนี้ ตลาดแรงงานยังคงไม่ฟื้นฟูกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ ในไตรมาสสุดท้ายของปี อัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานจะอยู่ที่ร้อยละ ๔.๙ ซึ่งเทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา ๑๔๐ ล้านตำแหน่ง แต่หากมีการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ระลอกสอง อัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานจะอยู่ที่ร้อยละ ๑๑.๙ ซึ่งเทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา ๓๔๐ ล้านตำแหน่ง ในกรณีที่สถานการณ์ การระบาดของไวรัสดีขึ้นตามลำดับ ชั่วโมงการทำงานทั่วโลกจะคืนสู่สภาพเดิมได้ในปลายปีนี้
ตลาดแรงงานในช่วงครึ่งปีหลังจะมีลักษณะอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายและวิธีปฏิบัติที่แต่ละประเทศเลือกนำมาใช้ รวมถึง ความรุนแรงของการระบาด ขณะนี้ ประเทศส่วนใหญ่ต่างทุ่มทรัพยากรที่มีไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ไม่สามารถประมาณการได้ ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อยจึงมีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ
สถานการณ์ยังคงไม่แน่นอน
สถานการณ์ในรอบครึ่งปีหลังยังคงไม่มีความแน่นอน ILO จึงได้ประเมินสถานการณ์ไว้ ๓ รูปแบบ คือ
- สถานการณ์ทรงตัว มีการผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการหยุดสถานประกอบการ การบริโภคและการลงทุนกลับฟื้นตัว จะทำให้มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกลดลงร้อยละ ๔.๙ หรือ FTE ๑๔๐ ล้านตำแหน่ง และตลาดแรงงานฟื้นกลับคืนสู่สภาพปกติได้ในปลายปี โดยภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสูญเสียชั่วโมงการทำงานไปร้อยละ ๔.๕ หรือ FTE ๘๐ ล้านตำแหน่ง
- สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ระลอกสอง มีการหยุดสถานประกอบการในวงกว้าง จะทำให้มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑.๙ หรือ FTE ๓๔๐ ล้านตำแหน่ง โดยภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสูญเสียชั่วโมงการทำงานไปร้อยละ ๑๕.๕ หรือ FTE ๒๐๐ ล้านตำแหน่ง
- สถานการณ์ดีขึ้น ชั่วโมงการทำงานกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว จะมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๒ หรือ FTE ๓๔ ล้านตำแหน่ง โดยภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสูญเสียชั่วโมงการทำงานไปร้อยละ ๑.๒ หรือ FTE ๒๑ ล้านตำแหน่ง
ประเด็นท้าทายที่ต้องเผชิญ
- การค้นหาวิธีดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางสุขภาพ ให้มีความสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดสถานประกอบการอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ยังคงมีความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพอนามัย ไม่กระตุ้นให้เกิดการระบาดระลอกสอง
- การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และใช้ทรัพยากรที่พอเหมาะกับความรุนแรงของประเด็นปัญหา ไม่ทุ่มงบประมาณไปกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งจนเกินความจำเป็น
- การส่งเสริมกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-๑๙ อันได้แก่ แรงงานหญิง แรงงานผู้เยาว์ และแรงงานในภาคนอกระบบ การสร้างความเป็นธรรมในตลาดแรงงาน การเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่ตีค่าการทำงานบางประเภทไว้ต่ำ เช่น ผู้อภิบาลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ คนงานทำงานบ้าน หรือพนักงานทำความสะอาด
- การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับสากล และการช่วยส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดใหม่ (emerging and developing countries) เพื่อให้สามารถผ่านพ้นจากวิกฤตโควิด-๑๙ ร่วมกัน
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเจรจาทางสังคมและการเคารพสิทธิในการทำงาน โดยไม่ให้มีการอ้างวิกฤตโควิด-๑๙ มาเป็นเหตุผลในการละเมิดสิทธิแรงงาน
—————————————–
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ที่มา ILO Monitor: COVID-19 and the world of work. Fifth edition
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/@dgreports/@dcomm/documents/briefingnote/wcms_749399.pdf