Skip to main content

หน้าหลัก

ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กระตุ้นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกคำนึงถึงวิกฤตการจ้างงาน

การประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้ (World Economic Forum 2013) ระหว่างวันที่ 23 – 27 มกราคม 2556 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมอภิปรายในประเด็นเรื่อง อันตรายของความผันผวนทางเศรษฐกิจ แสดงความห่วงใยปัญหาการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกและยังมองไม่เห็นฝั่งในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กำลังอยู่ในความหวังว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว “หากไม่มีงานเศรษฐกิจก็ไม่โต และถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัวก็ไม่มีการจ้างงาน” ซึ่งนายกาย ไรเดอร์ ชี้ว่า ยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หลายประเทศเลือกนโยบายรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดส่งผลให้ผู้คนตกงาน ตัวอย่างเช่นในสเปนซึ่งตัวเลขล่าสุดมีคนตกงานสูงถึง 26 เปอร์เซนต์ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์  ในปีที่ผ่านมาตำแหน่งงานหายไป 4 ล้านตำแหน่ง มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านคนและในปี 2556 จะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนและตัวเลขจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถคาดเดาได้  แม้ว่าในภาพรวมดูเหมือนภาวะวิกฤตในหลายแห่งดีขึ้น แต่ในมุมมองด้านตลาดแรงงานกลับส่งสัญญาณที่แตกต่าง   ฉะนั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสถานการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นและกำลังจะผ่านไป เพราะสำหรับคนที่ยังเข้าคิวรอมีงานทำนั้นต่างรู้สึกว่าคิวที่รออยู่ยาวขึ้นยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะแรงงานหนุ่มสาวที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาแต่ต้องตกงานตั้งแต่เริ่มชีวิตการทำงาน

 

 

ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ยังชี้ว่า การสร้างงานสร้างรายได้เป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนที่จะฟื้นสถานการณ์วิกฤตกลับคืนมาก่อนที่นโยบายรัดเข็มขัดจะทำให้ปัญหาการว่างงานลุกลามและกลายเป็นการลุกฮือเพราะผู้คนไม่มีรายได้  การพยายามส่งสัญญาณจาก ILO สู่การประชุมเศรษฐกิจโลกหลายครั้งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับโดยรายงานปัจจัยเสี่ยงปี 2556 (Global Risks 2013 Report) ที่นำเสนอในที่ประชุมเศรษฐกิจโลกได้จัดให้ความแตกต่างเรื่องรายได้เป็นความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ 

 

 

การประชุมเศรษฐกิจโลกปีนี้นับว่า ILO ประสบความสำเร็จในการนำประเด็นด้านแรงงานเข้ามาสู่ความสนใจของผู้นำทางเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของรัฐบาลแต่ละประเทศสมาชิก ยังมีผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เข้าร่วมประชุม ซึ่งทำให้ผู้ทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระดับโลกและระดับประเทศได้ขยายมุมมองกว้างขึ้นในการวางแนวทางเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและอาจย้อนกลับมาได้ทุกเมื่อ

 

 

————————–  

 

 

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวร ฯ ณ นครเจนีวา

 29 มกราคม 2556


8984
TOP