Skip to main content

หน้าหลัก

การเข้าร่วมงาน International Day against Homophobia and Transphobia 2015

นางสาวชุลีรัตน์ ทองทิพย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ร่วมงานวันต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศและคนข้ามเพศสากล (International Day against Homophobia and Transphobia 2015) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เวลา 11.00-12.30 น. ที่ ILO Library โดยมีการอภิปรายแบบไม่เป็นทางการ เรื่อง “การเลือกปฏิบัติในการทำงานบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ : ผลจากโครงการนำร่อง (Discrimination  at work on the basis of sexual orientation and gender identity : results of pilot research)” โดยจะเน้นการเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนงานที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์  ไบเซ็กส์ชวล และคนข้ามเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual and Transgender –LGBT) เพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดีที่ส่งเสริมให้รวมคนกลุ่มนี้ไว้ในสังคม โดยจะนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการนำร่องชื่อ “อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และรสนิยมทางเพศ : การส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลายและความเท่าเทียมในโลกแห่งการทำงาน (Gender Identity and Sexual Orientation : Promoting Rights, Diversity and Equality in the World of Work –PRIDE) ในประเทศอาร์เจนตินา ฮังการี ไทย และแอฟริกาใต้

จากผลการศึกษาพื้นฐานพบว่า LGBT จะถูกเลือกปฏิบัติตลอดวงจรของการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัคร และยังถูกล่วงละเมิดในสถานที่ทำงานด้วย ทั้งนี้เกิดจากค่านิยมของคนในสังคมว่าการมีความเป็นเพศเดียวจึงเป็นคนปกติ จากผลการศึกษาในประเทศไทยและอาร์เจนตินาพบว่านายจ้างหวังจะเห็นลูกจ้างหญิงที่มีลักษณะเป็นชายเปลี่ยนแปลงการแต่งกายและการแสดงออกให้เป็นหญิงแท้ 
 
    ความหวาดกลัวต่อการถูกเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทำให้ LGBT ปิดบังความเป็นตัวตนที่แท้จริง โดยเฉพาะพวกข้ามเพศจะถูกกีดกันแต่แรกเริ่มในขั้นตอนสัมภาษณ์เนื่องจากสภาพที่ปรากฏภายนอก เมื่อทำงานก็มีปัญหาในที่ทำงาน อาทิ นายจ้างไม่ค่อยยอมรับรูปแบบการแต่งตัว เป็นที่รังเกียจเมื่อใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพของตนเอง เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดจากเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะหญิงข้ามเพศที่แต่งหญิงจะถูกกีดกันจากการจ้างงานปกติ จึงมักต้องทำงานบริการทางเพศ งานอันตรายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ผลการศึกษาตาม 5 ประเด็นหลัก มีดังนี้
 
    (1) หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน 76 ประเทศสมาชิก ILO ยังลงโทษอาญาสำหรับคนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน และขาดกฎหมายคุ้มครองสิทธิของ LGBT อาร์เจนตินามีกฎหมายที่กำหนดชัดเจนในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีการกำหนดชัดเจนแต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คำว่า “เพศ” หมายรวมถึง “อัตลักษณ์    ทางเพศสภาพและความหลายหลายทางเพศ” ด้วย 
    (2) การส่งเสริมการมีงานทำ LGBT มักถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง และถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ถูกกีดกันจากงานบางประเภทและจำกัดให้ทำงานบางประเภท เช่น อาร์เจนตินา เกย์ชายมักต้องทำงาน Call center และงานบริการลูกค้า ส่วนในไทยเป็นแรงงานนอกระบบมาก และหญิงข้ามเพศจะมีรายได้ดีในบริการทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและมีอายุไม่ยืนยาว 
    (3) การคุ้มครองทางสังคม การคุ้มครองทางสังคมจะเชื่อมโยงกับสถานภาพสมรส โดยประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะกำหนดสถานภาพสมรสสำหรับคนต่างเพศ ทำให้คู่รักร่วมเพศไม่ได้รับสิทธิ แต่ในบางประเทศมีกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน เช่น อาร์เจนตินา และแอฟริกาใต้ แต่บางประเทศเช่นฮังการีกำหนดให้มีการใช้คำว่า civil-partnership แต่ยังมีกฎหมายกำหนดว่าการสมรสสำหรับต่างเพศเท่านั้น ส่วนอาร์เจนตินาคู่สมรสเพศเดียวกันจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ 
    (4) การเจรจาทางสังคม จากผลการสำรวจองค์ประกอบไตรภาคีในประเทศไทยและฮังการียังไม่ให้ความสนใจประเด็น LGBT เนื่องจากเป็นคนงานส่วนน้อยและไม่ค่อยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ในอาร์เจนตินา มีการบรรจุข้อบังคับเกี่ยวกับการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อ LGBT และสหภาพแรงงานหลายแห่งกำหนดไว้ในนโยบายขององค์การ
    (5) การเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน : รสนิยมทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และสถานภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปรากฏทั่วไปว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกเลือกปฏิบัติและถูกตราหน้าในโลกแห่งการทำงาน เนื่องจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้องที่มีต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งการวิจัยพบว่ามีความเชื่อมโยงกับทัศนะของสังคมต่อรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ในอาร์เจนตินาสังคมมองว่าผู้ชายที่เป็นหญิงข้ามเพศมักเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนไทยและฮังการีคนงานที่เป็น LGBT จะถูกตั้งคำถามเสมอว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของ LGBT เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ
 
วัน International Day Against Homophobia and Transphobia ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่องค์การอนามัยโลกมีมติเมื่อปี 2543 ระบุว่า การรักร่วมเพศ ไม่ใช่ความผิดปกติทางสุขภาพจิต โดยงานนี้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2547 เพื่อเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำด้านความคิด ขบวนการทางสังคม สาธารณชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเรื่องนี้ เนื่องจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกยังเห็นว่าการรักคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และปฏิเสธสิทธิของคนกลุ่มนี้ในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนเอง ซึ่งเสมือนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง

9061
TOP