Skip to main content

หน้าหลัก

สาระสำคัญจากการอภิปรายทาง Webinar เรื่อง แนวทางการรับมือกับโควิด ๑๙ และการฟื้นฟูสู่สภาวะที่ดีกว่าเดิม โดยปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. (เวลาท้องถิ่นนครเจนีวา) จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

 

สาระสำคัญจากการอภิปรายทาง Webinar เรื่อง แนวทางการรับมือกับโควิด ๑๙

และการฟื้นฟูสู่สภาวะที่ดีกว่าเดิม โดยปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด

วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. (เวลาท้องถิ่นนครเจนีวา)

จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปี แห่งการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ และข้อแนะฉบับที่ ๒๐๖ ว่าด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิด ค.ศ. ๒๐๑๙ ในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๘ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ILO จึงได้จัดการอภิปรายเรื่อง แนวทางการรับมือกับโควิด ๑๙ และการฟื้นฟูสู่สภาวะที่ดีกว่าเดิม โดยปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด (Guiding the COVID-19 response and recovery towards a better normal free from violence and harassment) ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนในการยกร่างอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ และข้อแนะฉบับที่ ๒๐๖ ถึงวิธีการที่บทบัญญัติในอนุสัญญาและข้อแนะดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดในการทำงานที่เกิดขึ้นในหลายประเทศระหว่างช่วงการระบาดของโควิด ๑๙ บนแนวคิดพื้นฐานว่า ความรุนแรงและการล่วงละเมิดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าจะยามรุ่งเรืองหรือยามวิกฤต และเพื่อให้ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการให้สัตยาบันและการนำอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ มาปฏิบัติ

 

สาระสำคัญของอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐

อนุสัญญากำหนดให้

– “ความรุนแรงและการล่วงละเมิด” ในโลกแห่งการทำงานเป็นเรื่องที่ครอบคลุมถึงพฤติกรรมและการปฏิบัติที่ไม่สามารถยอมรับได้ หรือการข่มขู่ว่าจะกระทำการดังกล่าว ไม่ว่าจะเกิดเพียงครั้งเดียวหรือเกิดซ้ำหลายครั้ง อันมีเป้าหมายหรือส่งผลให้เกิดความเสียหายทางร่างกาย จิตใจ เพศ หรือความเสียหายต่อสถานะทางเศรษฐกิจ และรวมถึงความรุนแรงและการล่วงละเมิดอันเนื่องมาจากเพศสภาพด้วย

– “ความรุนแรงและการล่วงละเมิดอันเนื่องมาจากเพศสภาพ” เป็นความรุนแรงและการล่วงละเมิดต่อบุคคลโดยตรงอันเนื่องจากเพศหรือเพศสภาพ หรือส่งผลต่อบุคคลนั้น อย่างไม่เหมาะสม และให้รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศด้วย

อนุสัญญาครอบคุลมคนงานและบุคคลใด ๆ รวมถึงลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและแนวปฏิบัติภายในประเทศ ตลอดจน บุคคลที่ทำงาน โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางสัญญาจ้าง บุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการฝึกอบรม รวมถึงผู้ฝึกงานและผู้ทดลองงาน คนงานที่ถูกเลิกจ้างและถูกพักงาน อาสาสมัคร คนหางาน และผู้สมัครงาน ทั้งภาคเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบ และไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือนอกเมือง ทั้งยังครอบคลุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจาก หรือเชื่อมโยงกับ หรือเกิดจากการทำงาน เช่น พื้นที่สาธารณะและสถานที่ส่วนบุคคลซึ่งใช้เป็นสถานสำหรับทำงาน สถานที่ที่คนงานพักระหว่างการทำงานหรือรับประทานอาหาร ที่พักอาศัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ หรือในช่วงขณะเดินทางไปและกลับจากการทำงาน เป็นต้น

ตามอนุสัญญานี้ เหยื่อและผู้กระทำความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานสามารถเป็นได้ทั้ง นายจ้าง คนงาน ผู้แทนของนายจ้างหรือคนงาน หรือบุคคลที่สาม ซึ่งรวมถึง ลูกค้า ผู้บริโภค ผู้ให้บริการ หรือผู้รับบริการ

สถานะปัจจุบันของอนุสัญญา

ขณะนี้มีเพียงประเทศอุรุกวัยที่ให้สัตยาบันอนุสัญญา เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ ทั้งนี้ อนุสัญญายังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีประเทศให้สัตยาบันครบ ๒ ประเทศ อนุสัญญาฉบับนี้จึงจะมีผลบังคับใช้หลังจาก ๑๒ เดือน นับจากวันที่ประเทศสมาชิกที่สองได้ให้สัตยาบัน

 

การแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการให้สัตยาบัน

ประเทศบาร์เบโดส

ประเทศบาร์เบโดสอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการให้สัตยาบัน บทบัญญัติของอนุสัญญานอกจากจะเป็นแนวทางให้รัฐบาลกำหนดมาตรการทางกฎหมายและแนวปฏิบัติให้คุ้มครองคนทำงานทุกคนให้รอดพ้นจากความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานแล้ว ยังทำให้หลายภาคส่วนทางสังคมเกิดการรับรู้ในเรื่องนี้ในมุมมองที่กว้างขึ้น และสังคมตระหนักมากขึ้นว่า ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานไม่จำกัดเฉพาะในสถานประกอบกิจการ แต่รวมถึงทุก ๆ สถานที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และไม่จำกัดเฉพาะความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่นายจ้างกระทำกับลูกจ้าง แต่รวมถึงการกระทำระหว่างลูกจ้างด้วยกันเอง ระหว่างลูกค้าหรือผู้มารับบริการกับลูกจ้าง ด้วย

ประเทศอุรุกวัย

การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ ช่วยให้รัฐบาลกำหนดนโยบายได้ครอบคลุมทุกภาคส่วน และสามารถตั้งเป้าหมายในการพัฒนากฎหมายภายในประเทศได้ ถึงแม้ขณะนี้ กฎหมายภายในประเทศของอุรุกวัยจะยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา แต่การให้สัตยาบันเป็นการรับรองว่ารัฐบาลจะพัฒนากฎหมายต่อไปในอนาคตเพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้ตามที่อนุสัญญากำหนด

ประเทศนามิเบีย

รัฐบาลนามิเบียให้ความสำคัญกับเรื่องความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน และหวังว่าอนุสัญญาฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการกระทำรุนแรงและล่วงละเมิดต่อคนงานเพราะเหตุจากเชื้อชาติและเพศสภาพได้ รัฐบาลจัดการประชุมสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญานี้อย่างกว้างขวาง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

 

สถานการณ์ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานมีโอกาสเกิดได้กับทุกคน โดยที่คนทำงานหลายคนไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เช่น คนงานหญิง คนงานผู้เยาว์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น คนทำงานที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดตกเป้ามักจะตกเป็นเป้าของการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิด

ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานเกิดมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด ๑๙ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลังช่วงการระบาด จากการรายงานของแหล่งข่าวหลายแห่งพบว่า จำนวนการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) มีมากขึ้นในช่วงที่มีการใช้มาตรการ lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อ อันเนื่องจากความเครียดด้านผลกระทบของโควิด ๑๙ ที่มีต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตประจำวันของครอบครัว ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนงานที่ได้รับความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รัฐบาลส่วนใหญ่ใช้มาตรการ lockdown ทำให้หลายอาชีพต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home)

นอกจากความรุนแรงในครอบครัวแล้วยังมีรายงานว่า การล่วงละเมิดต่อคนทำงานสายสุขภาพหรือบุคลากรในสายอาชีพอื่นที่ต้องให้บริการแก่กับผู้เสี่ยงว่าจะติดเชื้อหรือผู้ติดเชื้อโควิด ๑๙ นั้น มีจำนวนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางกาย เช่น การต่อสู้เพื่อขัดขืนไม่รับการตรวจหาเชื้อหรือกักตัว การทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมจนล้มเจ็บ และการละเมิดทางจิตใจ เช่น การทำงานต่อเนื่องและการไม่ได้พบสมาชิกครอบครัวจนเกิดความเครียด เป็นต้น

ความรุนแรงและการล่วงละเมิดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในทุกกรณี การเกิดวิกฤติโควิด ๑๙ ไม่ได้เป็นเหตุผลให้มีการกระทำรุนแรงและการล่วงละเมิดต่อคนทำงานได้ คนทำงานทุกคนมีสิทธิในการทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด บทบัญญัติในอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ และข้อแนะฉบับที่ ๒๐๖ เป็นแนวทางในการป้องกันและขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานอย่างครอบคลุมในทุกภาคส่วน

 

ข้อเสนอแนะจากการอภิปราย

ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย การคุกคามทางเพศ หรือการล่วงละเมิดด้วยวาจา ที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง อย่างที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ หากแต่มีความหมายที่กว้างกว่านั้น ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานในลักษณะที่มีความหมายครอบคลุมตามที่อนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ กำหนด  

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไม่ยอมรับความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ใดก็ตาม ทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า ความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบางกลุ่มเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับได้ ทุกคนต้องตระหนักว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของบุคคลนั้น ทั้งนี้ การเหยียดด้วยเหตุจากเพศสภาพหรือเชื้อชาติ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากผู้รับบริการ และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งการทำงาน เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขและขจัดให้หมดไป การไม่ยอมรับต่อความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน (Zero Tolerance to Violence and Harassment in the World of Work) ต้องเป็นหนึ่งใน New normal ของสังคม อันจะทำให้โลกแห่งการทำงานปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิดให้ได้

 

————————————————————–

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

TOP