Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปประเด็นสำคัญของ ILO Global Summit and the World of Work: Building a better future of Work ช่วง Regional Event for Asia and Pacific วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓

สรุปประเด็นสำคัญของ

ILO Global Summit and the World of Work: Building a better future of Work

ช่วง Regional Event for Asia and Pacific

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓

 

                   กิจกรรมการอภิปรายระดับภูมิภาคนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้แทนจากไตรภาคีทั้งสามฝ่ายของ ILO ได้หยิบยกถึงประเด็นผลกระทบจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม และอภิปรายถึงหนทางในการทำให้โลกแห่งการทำงานกลับสู่สภาพปกติในทุกส่วนอย่างยั่งยืน อันจะทำให้ประเทศสมาชิกฟื้นคืนจากผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ได้ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO 

                   การแพร่เชื้อโควิด-๑๙ ก่อให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งส่งผลร้ายต่อการทำงานในสถานประกอบการทุกแห่ง ส่งผลให้ขาดซึ่งงานที่มีคุณค่า คนงานและครอบครัวต้องตกอยู่ในสภาวะทุกข์ยาก   ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ บางประเทศตั้งรับต่อวิกฤตอย่างทันท่วงที และอยู่ระหว่างขั้นตอนการฟื้นฟู แต่หลายประเทศที่ยังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ดังนั้น การเรียนรู้และแบ่งบันประสบการณ์ระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ อันรวมถึงการร่วมช่วยเหลือกัน ไม่มีประเทศใดจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้เพียงลำพัง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO ได้รับรองปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงาน เพื่อเป็นแผนที่นำทางการดำเนินงานสำหรับ ILO ขณะนี้ ปฏิญญาฉบับนี้จะเป็นแผนที่นำทางให้ประเทศสมาชิกฟื้นคืนจากวิกฤตโควิด-๑๙ และกลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าเดิม การจัด ILO Global Summit and the World of Work ในช่วง Regional Event for Asia and Pacific ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้ประเทศในภูมิภาคได้ร่วมกันเผชิญกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ที่มี

Ms. Tomoko Nishimoto ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ILO และผู้อำนวยการ ILO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

                   จากการติดตามสถานการณ์ของ ILO ในไตรมาศที่สองของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ พบว่า วิกฤติโควิด-๑๙ ส่งผลให้จำนวนชั่วโมงการทำงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิดลดลงถึงร้อยละ ๑๓.๕ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาศสุดท้ายของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ วิกฤตยังทำให้กิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก โดยเฉพาะกิจการขนาดย่อม กลาง และเล็ก ในขณะที่คนงานภาคนอกระบบจำนวนมากไม่มีงานทำ และยังพบอีกว่า มีการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดมากขึ้นในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน และครัวเรือน ส่วนคนงานต่างด้าวเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกเลิกจ้างสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ วิกฤตครั้งนี้จะอยู่กับเรานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เครื่องมือสำคัญที่จะนำมาซึ่งการฟื้นฟูให้มีสภาพที่ดีกว่าเดิม คือ

๑.   บูรณาการวิธีสำหรับรับมือกับวิกฤติ เพื่อช่วยคนงานและกิจการที่มีข้อจำกัดในการได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ

๒.   สนับสนุนสถานประกอบกิจการให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านการเงิน

๓.   สร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกส่วน

๔.   รับรองค่าจ้างขั้นต่ำ

๕.   เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดแรงงาน

๖.   ยึดมั่นในมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

๗.   มีการเจรจาทางสังคมในทุกเวที

                   ประเทศกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกมีปฏิญญาบาลี ซึ่งรับรองในการประชุมประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๑๖ และปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงาน เป็นแผนที่นำทางในการปฏิบัติ และเชื่อว่าไม่มีประเทศใดสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้แต่เพียงลำพัง ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน โดย ILO พร้อมช่วยเหลือในการฟื้นฟูให้ดีขึ้นและแข็งแกร่งกว่าเดิม

 

ช่วงที่ ๑ มุมมองต่ออนาคตของงานหลังวิกฤตโควิด-๑๙

                   ดำเนินการอภิปรายโดย Ms. Sarwat Adnan เจ้าหน้าที่ด้านความเป็นหุ้นส่วนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

H.E. Dinesh Gunawardana รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดหางาน และการแรงงานสัมพันธ์ แห่งศรีลังกา

                   เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น ศรีลังกาก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดและระบบสุขภาพภายในประเทศโดยทันที ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่มาตรการ lockdown ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านแรงงานขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤติ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนไตรภาคี คณะทำงานนี้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อนายจ้างและลูกจ้าง และทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รัฐบาลยังได้ทำข้อตกลงกับสถานประกอบกิจการหลายแห่ง ทำให้รักษาตำแหน่งงานไว้ได้จำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า สถานประกอบการหลายแห่งสมัครใจจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างระหว่างการ lockdown สถานประกอบการหลายแห่งใช้วิธีให้ลูกจ้างสลับกันมาทำงาน เพื่อเป็นการเว้นระยะทางสังคม และเพื่อให้ลูกจ้างทุกคนยังคงมีงานทำ สถานประกอบการใดที่ประสบปัญหาด้านการจ่ายค่าจ้าง การจ่ายเงินสมทบต่าง ๆ ด้านการประกันสังคมสามารถยื่นคำร้องต่อ Commissioners of Labour ได้ในทันที นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ออกนโยบายแห่งชาติสำหรับคนงานต่างด้าวในช่วงวิกฤต โดยมีแผนฝึกฝีมือแรงงานสำหรับคนงานต่างด้าวที่ว่างงานเนื่องจากวิกฤติ ไปจนถึง แผนการส่งตัวกลับ รวมถึง โครงการความช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัวที่ยากจน ผู้สูงอายุ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถาน (curfew) โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-๑๙ ไปแล้ว อนาคตของงานจะมีลักษณะอย่างไร แต่สถานการณ์ที่เราควรเตรียมตัวรองรับ คือ การมีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำงานทางไกล (remote working) และการฝึกอบรมแรงงานทางออนไลน์ (virtual training) ซึ่งจะกลายมาเป็นฐานวิถีชีวิตใหม่ ดังนั้น รัฐบาลควรเตรียม platform เพื่อรองรับการทำงานวิธีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในสังคม

การส่งเสริมกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานโลก

                   รัฐบาลศรีลังกาจำเป็นต้องทำการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนงานจำนวนมาก เพื่อรองรับกิจการในท้องถิ่นที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก ขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้น คือ การทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรในท้องถิ่นเข้าสู่กิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก และทำให้กิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานสามารถรองรับผลผลิตที่หลากหลายจากภาคการเกษตรได้ เมื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิด-๑๙ หรือเมื่อผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางแล้ว รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของภาคการท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย

H.E. M. Saravanan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ แห่งมาเลเซีย

ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน

                   ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้เกิดกลุ่มเปราะบางขึ้นทั่วโลก หลักการของปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO ที่เน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลควรเพิ่มการลงทุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน และการสร้างงานที่มีคุณค่าและยั้งยืน ทั้งนี้ มาตรการ lockdown ในมาเลเซียส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก คือ ภาคการผลิต การก่อสร้าง การท่องเที่ยว และกิจการการบิน รัฐบาลมุ่งสร้างโอกาสในการมีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานที่เป็นโลกยุคใหม่แห่งการทำงาน (Gig economy) และงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบ หรืองานที่ตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ของประชาชน เช่น บริการส่งอาหาร เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอ และอาจต้องออกกฎหมายแรงงานที่เหมาะสมกับกลุ่มคนทำงานใน Gig economy ในการนี้ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ได้ใช้หลัก ๕ ประการเพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ คือ การจัดระบบบริหารจัดการแรงงานใหม่ การส่งคนงานกลับถิ่นเดิม การทำให้ผู้ที่ตกงานได้รับการจ้างงานอีกครั้ง การประนีประนอมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการเพิ่มทักษะฝีมือ นอกจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง การรับมือกับผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อแรงงานและการมีงานทำ เพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภูมิภาคที่จะต่อสู้กับโควิด-๑๙

มาตรการที่นำมาใช้เพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการสร้างงานสีเขียว (green job)

                   ถึงแม้จะมีภาคธุรกิจบางประเภทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ รุนแรงกว่าอีกประเภท แต่รัฐบาลมาเลเซียได้นำมาตรการที่ครอบคลุมทุกส่วนมาใช้ในการส่งเสริมความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รัฐบาลมาเลเซียได้จัดเตรียมงบประมาณกว่า ๗๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อมาเสริมมาตรการด้านการลด ความยากจน การให้คุ้มครองทางสังคมที่ดีกว่าเดิมแบบถ้วนหน้า การลดค่าใช้จ่ายในการหางาน การอุดหนุนค่าจ้าง การอุดหนุนภาคธุรกิจ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้รับรองวาระเกี่ยวกับงานสีเขียวหรืองานที่อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างมลพิษในกลุ่มสมาชิกอาเซียน อันเป็นจุดเริ่มต้นให้อาเซียนเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนเกี่ยวกับงานสีเขียว

Ms. Sophia Seung-Yoon Lee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยจุงอัง แห่งเกาหลีใต้

เป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่า อนาคตของงานจะมีลักษณะอย่างไรหลังผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ใช่ลักษณะในทางบวกแน่นอน พิจารณาได้จากที่ตลาดแรงงานในเอเชียและแปซิฟิกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชั่วโมงการทำงานลดจำนวนลงอย่างมาก ประกอบกับในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีแรงงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ การคุ้มครองทางสังคมที่ยังไม่ครอบคลุมทุกส่วน และไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ โดยกลุ่มที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-๑๙ คือ คนงานผู้เยาว์ คนงานนอกระบบ ผู้ที่ไม่มีรูปแบบมาตรฐานในการทำงาน (non-standard form of work) ผู้ประกอบกิจการส่วนตัว และแรงงานหญิง วิกฤติทำให้ความไม่เท่าเทียมของกลุ่มนี้ขยายเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหลังผ่านพ้นวิกฤต คือ ความเท่าเทียมกันในกลุ่มคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างผู้ที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างและคนงานทั่วไปที่ได้รับค่าจ้าง  (unpaid and paid worker)  หรือคนงานนอกระบบและคนงานในระบบ ในแง่ของการคุ้มครองทางสังคม และหวังที่จะเห็นงานที่มีคุณค่าอยู่คู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้นควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

การใช้โอกาสจากวิกฤตเพื่อสร้างหนทางที่ดีกว่าเดิมในการแก้ไขความไม่เท่าเทียม

                    ในวิกฤตครั้งนี้ แรงงานนอกระบบ คือ กลุ่มที่ถูกสถานการณ์บังคับให้สูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุด ซึ่งต่างจากลูกจ้างในระบบที่มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าและบางส่วนยังสมัครใจลดชั่วโมงการทำงานลง ดังนั้น ประเทศที่มีแรงงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่จึงได้รับความเสียหายด้านแรงงานรุนแรงกว่าประเทศที่มีลูกจ้างในระบบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการออกแบบนโยบายต่าง ๆ เพื่อรับมือหลังวิกฤตด้วย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการมีงานทำ การคุ้มครองทางสังคม หรือการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ทั้งนี้ อัตราการมีงานทำที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายถึงการลดอัตราการว่างงาน (unemployment rate) หากแต่เป็นการลดอัตราผู้ไม่ก่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (inactivity rate) ในตลาดแรงงาน ผู้อยู่ภายใต้ระบบการคุ้มครองสังคมไม่ควรจะจำกัดแต่ลูกจ้างในระบบหรือคนทำงานที่มีรูปแบบมาตรฐาน (standard forms of work) เท่านั้น แต่ควรรวมถึงผู้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย รัฐบาลต้องออกแบบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกด้านสำหรับ  ทุกคนให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของประเทศตน และต้องรองรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเนื่องจาก การระบาดของโควิด-๑๙

Mr. Hiroyuki Matsui สมาชิกคณะประศาสน์การ ILO ฝ่ายนายจ้าง รองประธานภาคพื้นเอเชียขององค์การนายจ้างระหว่างประเทศ (International Organization of Employers: IOE) ผู้อำนวยการร่วมสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Japan Business Federation: Keidanren)

                   ประเทศญี่ปุ่นมองวิกฤตนี้เป็นสองทาง คือ เป็นอันตราย และเป็นโอกาส ถึงแม้วิกฤตจะสร้างความเสียหายมากมาย แต่ก็เป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างอนาคตใหม่ที่ดีกว่าเดิม การสร้างอนาคตของงานไม่สามารถแยกออกจากการสร้างอนาคตทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม การเกิดวิกฤตครั้งนี้เร่งให้เกิดการคิดค้นรูปแบบใหม่ด้านแนวปฏิบัติที่ดีในสถานประกอบการ นโยบายที่เกี่ยวข้อง และนวัตกรรมในการทำงาน นอกจากนั้น การที่โควิด-๑๙ ส่งผลให้กิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานเกิดการหยุดชะงักนั้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ผลักดันให้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการทำงานและธุรกิจมากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะเห็นได้ว่า กิจการต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและวางแผนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่อาจมีในอนาคต เราได้เห็นภาคธุรกิจร่วมมือกับภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ถึงแม้ปฏิญญาแห่งทศวรรษของ ILO จะได้รับการรับรองก่อนเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ แต่เราเชื่อมั่นว่า หากภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ร่วมกันนำหลักการแห่งปฏิญญาฉบับนี้มาปฏิบัติจะสามารถสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน งานที่มีคุณค่า และอนาคตของงาน ที่ดีกว่าเดิม เพื่อฟื้นฟูจากวิกฤตครั้งนี้ได้

หนทางภาคธุรกิจจะอยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤตไปได้

                   รัฐบาลต้องมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยทำการปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องมุ่งฟื้นฟูภาคธุรกิจโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นภาคส่วนอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจนั้น รัฐต้องลดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเข้าถึงแหล่งเงิน รวมถึง ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อน รัฐจำเป็นต้องอุดหนุนค่าจ้างแรงงานให้กับธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่เกิดการเลิกจ้าง การอนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนสภาพการทำงาน เช่น ชั่วโมงการทำงาน หรือลักษณะการทำงาน เป็นวิธีที่จะทำให้ภาคธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ทั้งนี้ รัฐควรดำเนินโครงการสาธารณะขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก 

Mr. Shoya Yoshida เลขาธิการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แห่ง International trade Union Confederation (ITUC)

                   วิกฤตโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ระบบสุขภาพ ตลอดจน การให้บริการของรัฐและเอกชน แรงงานนอกระบบและกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดการหยุดชะงัก คนงานหลายล้านคนขาดซึ่งการทำงานที่มีคุณค่า ตกงาน ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านรายได้ และเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม หลังวิกฤตผ่านพ้นไป เราจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ที่มีต่ออนาคตของงาน ในด้านการสร้างรายได้ การเจริญเติบโตแบบองค์รวม การสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยมุ่งให้ตลาดแรงงานมีความเข้มแข็ง คนทำงานมีรายได้ที่มั่นคง มีการเคารพสิทธิแรงงาน ให้การคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกด้าน สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การมีความต้องการการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้นจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญแต่ด้านการส่งออก แต่ต้องหันมาส่งเสริมให้เกิดความต้องการการบริโภคภายในประเทศ และขยายไปสู่ความต้องการการบริภาคภายในภูมิภาค

การเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรของลูกจ้าง

                   รัฐบาลหลายประเทศดำเนินนโยบายที่มุ่งส่งเสริมสิทธิประโยชน์ให้กับปัจเจกบุคคล แต่ละเลย  การส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ทุกรัฐบาลควรส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในการเจรจาทางสังคม ให้ทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน การไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐทำให้สหภาพแรงงานยากที่จะเจรจาทางสังคมได้อย่างเข้มแข็งเพื่อคนงาน ขอให้ประเทศเอเชียและแปซิกคำนึงถึงปฏิญญาบาลีที่ให้ความสำคัญกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาพื้นฐานของ ILO โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ซึ่งน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นับแต่มีการรับรองปฏิญญาบาลี มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๙๘ เพิ่มเพียงประเทศเดียว คือ เวียดนาม เป็นที่น่าเสียใจว่า ในบรรดาอนุสัญญาพื้นฐานทั้ง ๘ ฉบับนั้น อนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ มีจำนวนการให้สัตยาบันน้อยที่สุด ขอให้ทุกประเทศคำนึงถึงปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO ในทุกสถานการณ์โดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อมุ่งส่งเสริมความเป็นไตรภาคีและความร่วมมือระหว่างกัน

 

ช่วงที่ ๒ การส่งเสริมวิสาหกิจและคุ้มครองคนทำงาน

                   ดำเนินการอภิปรายโดย Ms. Sarwat Adnan เจ้าหน้าที่ด้านความเป็นหุ้นส่วนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

H.E. Ida Fauziyah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกำลังคน แห่งอินโดนีเซีย

                   รัฐบาลอินโดนีเซียจัดสรรงบประมาณจำนวนมากมาใช้ในการกระตุ้นภาคธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนด้านภาษีเงินได้ของภาคธุรกิจ หรือการตั้งกองทุนกู้ยืม และได้จัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แก่กิจการภาคนอกระบบ จัดการฝึกอาชีพให้แก่ประชาชน จัดโครงการส่งเสริมการมีงานทำต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนเทคโนโลยีในการทำงานแก่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ทั้งจัดโครงการเพื่อรองรับผู้ที่ถูกส่งตัวกลับจากต่างประเทศ และช่วยเหลือดูแลผู้ที่ยังอยู่ในต่างประเทศให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ส่งเสริมการเจรจาทางสังคม และขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนชาติด้านการฟื้นฟูภาคธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ทั้งนี้ เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้อินโดนีเซียผ่านพ้นวิกฤตไปได้ รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อลงทุนสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมสำหรับรับมือกับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ซึ่งครอบคลุมถึงคนงานที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคมและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ รัฐบาลอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบความมั่นคงทางสังคม ซึ่งจะรวมเอาผลกระทบต่าง ๆ จากโควิด-๑๙ เข้าไว้ในระบบประกันสังคมด้วย และจะปรับระบบประกันสังคมและความช่วยเหลือทางเงินให้พร้อมรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติหรือวิกฤตอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในการปฏิรูประบบความมั่นคงทางสังคมนี้ รัฐบาลจะคำนึงถึงความต้องการของหุ้นส่วนทางสังคม ทั้งนี้ สหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นและข้อมูลผลกระทบที่คนงานได้รับต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางนโยบาย กำหนดมาตรการ และจัดทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อรับมือกับวิกฤตและเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ รัฐบาลยินดีร่วมมือและร่วมทำงานกับสหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปได้

H.E. Lautafi Fio Selafi Joseph Purcell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อุตสาหกรรม และแรงงาน แห่งซามัว

                   ภาคเศรษฐกิจของซามัวที่ได้รับกระทบมากที่สุดจากโควิด-๑๙ คือ ภาคการท่องเที่ยว รัฐวางแผนด้านการฝึกอบรมสำหรับป้อนบุคลากรที่มีทักษะฝีมือเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยว และพัฒนาทักษะด้านการจัดการให้แก่บุคลากรในภาคการโรงแรม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืน นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ช่วยอุดหนุนค่าจ้างแก่กิจการที่ต้องลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างลง และจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง รัฐบาลได้ออกนโยบายด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนหลังผ่านพ้นวิกฤติ โดยคำนึงถึงการให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่กลุ่มผู้เปราะบางและครอบครัว แรงงานนอกระบบและแรงงานต่างด้าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของซามัว ผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อคนกลุ่มนี้ย่อมส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดออกมาจึงครอบคลุมถึงคนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ให้ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รัฐบาลได้จัดตั้งองค์คณะไตรภาคีแห่งชาติเพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิของคนงานต่างด้าวที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศ และจะมีจัดทำโครงการด้านมาตรฐานแรงงานเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า คนงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในซามัวจะได้รับการคุ้มครอง

Mr. Scott Barklamb สมาชิกคณะประศาสน์การ ILO ฝ่ายนายจ้าง และผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย

                   โควิด-๑๙ ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจในทั่วโลก กลุ่มนายจ้างและลูกจ้างในออสเตรเลียต่างร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ทั้งสองฝ่ายทำความตกลงด้านการปรับเปลี่ยนสภาพการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้าง ฝ่ายนายจ้างพยายามทุกวิถีทางที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปและให้ลูกจ้างมีงานทำ แต่ต้องมีอุปสรรคจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก ภาคธุรกิจต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจนด้านการช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤตและการฟื้นฟูหลังวิกฤต และต้องการให้ ILO ช่วยเหลือในการนำเสนอหนทางต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการรับมือกับวิกฤต ภาคธุรกิจต้องผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้และมีการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่จะทำให้มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของนายจ้างและของลูกจ้าง การลงทุนด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาทักษะฝีมือได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ดี โดยคาดหวังว่า ILO จะสนับสนุนด้านการวางนโยบายต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก รัฐบาลควรให้ความสำคัญการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน และคำนึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบถึงวิธีการทำงานของคนงาน เช่น เทคโนโลยีที่ทำให้คนงานหลายคนทำงานจากที่บ้านได้ การพัฒนาคนงานให้มีทักษะฝีมือที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของวิธีการทำงานในอนาคต ไม่ควรมีการจำกัดรูปแบบการทำงาน เราขอเรียกร้องให้ ILO ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะฝีมือที่หลากหลาย การยกระดับฝีมือแรงงาน  การฝึกทักษะฝีมือที่ตรงตามต้องการของตลาดแรงงาน การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การแบ่งบันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสามารถคาดการณ์ความต้องการทักษะฝีมือของตลาดแรงงานในอนาคตได้ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและหุ้นส่วนทางสังคม และความช่วยเหลือในการกำหนดนโยบายด้านปัญญาประดิษฐ์และระบบดิจิตอล

Ms. Michele O’Neil ประธานสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (the Australian Council of Trade Unions: ACTU)

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตลาดแรงงาน สังคม และระบบสุขภาพของออสเตรเลีย ซึ่งลูกจ้างจำนวนมากต้องตกงาน สูญเสียชั่วโมงการทำงาน ไม่มีความมั่นคงในงานที่ทำ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานหญิง คนงานผู้เยาว์ และแรงงานต่างด้าง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง อัตราการว่างงานในออสเตรเลียสูงถึงร้อยละ ๗.๑ ภายในหนึ่งเดือนที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก ผู้ว่างงานจำนวนมากเลิกหางาน เพราะรู้ว่าไม่มีตำแหน่งงานเหลืออยู่ คนงานร้อยละ ๑๓.๑ ต้องทำงานต่ำระดับ คนงานหนึ่งในสามมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบคุ้มครองทางสังคมและการลาโดยได้รับค่าจ้าง ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม OECD มีจำนวนคนทำงานที่ไม่มีรูปแบบมาตรฐานสูงสุด เราพบว่า ในวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ มีหลายสถานประกอบการที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันหาหนทางให้ธุรกิจอยู่รอด แต่หลายสถานประกอบการก็เลือกวิธีเลิกจ้างลูกจ้างโดยทันที สภาสหภาพแรงงาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรนายจ้างหลายแห่ง ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าอุดหนุนค่าจ้าง เพื่อให้นายจ้างสามารถจ้างงานลูกจ้างต่อไปได้ ถึงแม้จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากยังคงมีคนงานหลายกลุ่มที่ถูกละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนงานที่มีสัญญาจ้างงานระยะสั้น ทั้งนี้ การสนับสนุนค่าจ้างของรัฐบาลจะยุติลงในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น รัฐบาลออสเตรเลียต้องหาหนทางว่า จะทำอย่างไรให้มีการจ้างงานต่อไป และจะทำอย่างไรให้ผู้ว่างงานมีงานทำ โดยต้องสร้างงานใหม่ที่คนงานทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นงานที่มีความมั่นคง และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นปึกแผ่นในสังคม สังคมที่คนทุกคนร่วมมือและช่วยเหลือดูแลกัน ขณะเดียวกัน เราคาดหวังให้รัฐบาลมีแผนงานที่สามารถรองรับสถานการณ์ในอนาคตได้ มีแผนการสร้างงานระยะยาว มีการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีการลงทุนทางสังคมที่สามารถดูแลกลุ่มผู้เปราะบางได้ มีการลงทุนในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และมีการลงทุนที่สนับสนุนคนในท้องถิ่นและห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิต

 

ช่วงที่ ๓ หนทางสู่การฟื้นฟู

                   ดำเนินการอภิปรายโดย Ms. Tomoko Nishimoto ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ILO และผู้อำนวยการ ILO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

Mr. Rajeev Dubey สมาชิกคณะประศาสน์การ ILO ฝ่ายนายจ้าง ที่ปรึกษาบริษัท Mahinda Mahindra และประธาน Mahindra Insurance Brokers

                   ประเด็นสำคัญอันดับต้น ๒ ประการที่จะนำไปสู่การฟื้นฟู คือ การมีผลิตภาพและการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการร่วมกันทำงานในระดับภูมิภาค ปฏิญญาบาลีและปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO ต่างให้ความสำคัญกับการมีผลิตภาพ ไตรภาคีทั้งสามฝ่ายต้องส่งเสริมความเป็นเจ้าของกิจการและการสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ประการที่สอง คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเจรจาทางสังคม การส่งเสริมองค์กรผู้แทนของนายจ้างและของลูกจ้าง และการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคมในการกำหนดนโยบายการมีงานทำ ซึ่ง ILO ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเจรจาทางสังคมเรื่อง การมีผลิตภาพ ความสามารถทางการแข่งขัน การฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับสู่สภาพเดิม รวมถึง การปรับรูปแบบการเจรจาทางสังคมโดยใช้ดิจิตอลเทคโนโลยี ทั้งนี้ ILO ควรเข้าช่วยเหลือให้การพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถตอบสนองกับฐานวิถีชีวิตใหม่ได้ โดยกำหนดให้เป็นแผนงานและ    แผนกิจกรรมของ ILO เราคาดหวังว่า การประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จะเป็นโอกาสที่ดีในการพิจารณาถึงการริเริ่มสร้างทักษะงานใหม่ ๆ ภายในภูมิภาคสำหรับคนทำงานภาคนอกระบบในภูมิภาคที่มีจำนวนมากได้ เราต้องการให้ ILO สนับสนุนด้านการเปลี่ยนรูปแบบจากภาคเศรษฐกิจนอกระบบมาเป็นในระบบ นอกเหนือไปจากการมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดซึ่งงานที่มีคุณค่าและการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ

Mr. Felix Anthony สมาชิกคณะประศาสน์การ ILO ฝ่ายลูกจ้าง ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation: ITUC) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งฟิจิ (Fiji Trade Union Congress: FTUC)

                   สิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งการฟื้นฟูมีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ

(๑) การคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกประเด็นและคุ้มครองทุกคนอย่างทั่วถึง 

(๒)  การคุ้มครองแรงงานที่ครอบคลุมคนทำงานทุกคน วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นว่า หลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังมีการคุ้มครองแรงงานที่ไม่ครบถ้วน เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายที่ คนทำงานขาดซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน

(๓)  การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ การเคารพสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานควรเป็นกลยุทธหลักในการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมอย่างยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน คนงานทุกคนต้องมีเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม รัฐควรเข้าดำเนินการกับสถานประกอบกิจการที่ไม่คำนึงถึงสิทธิแรงงาน น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่มีบางประเทศถือเอาวิกฤตครั้งนี้มาเป็นเหตุผลในการควบคุมสหภาพแรงงาน ขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม และคำนึงปฏิญญาบาลีที่ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน

(๔)  การเจรจาทางสังคม ซึ่งการดำเนินการทั้ง ๓ ประการก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการเจรจาทางสังคมและการคำนึงถึงความต้องการของหุ้นส่วนทางสังคม

H.E. Santosh Kumar Gangwar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการมีงานทำ แห่งอินเดีย

                   โควิด-๑๙ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิตและโลกแห่งการทำงาน ทำให้เกิดฐานวิถีชีวิตใหม่ เราต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-๑๙ สำหรับคนทำงานทุกคน ซึ่งในช่วงวิกฤตนี้ รัฐบาลอินเดียได้เข้าช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับกลุ่มเปราะบาง แรงงานหญิง แรงงานต่างด้าว ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง และลูกจ้างในเขตชนบท รวมถึง การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและอาหารให้แก่แรงงานต่างด้าว รัฐบาลอินเดียได้เตรียมส่งเสริมให้มีการจ้างงานจำนวนมากและเตรียมมาตรการรองรับรูปแบบการทำงานวิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังผ่านพ้นวิกฤต เช่น การทำงานจากที่บ้าน การปรับเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เป็นต้น รวมถึงการจัดทำมาตรการสำหรับภาคธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคธุรกิจอื่น เช่น ภาคบริการด้านที่พักและอาหาร ภาคสันทนาการ เป็นต้น ประเทศกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกต้องร่วมทำงานกับ ILO เพื่อหาหนทางระยะสั้นและระยะยาวสำหรับแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น ความยากจน การว่างงาน เศรษฐกิจถดถอย เป็นต้น

H.E. Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกำลังคน แห่งสิงคโปร์ ในฐานะประธานการจัดการประชุม Asia and the Pacific Regional Meeting ครั้งที่ ๑๗ ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

                   โควิด-๑๙ ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาด้านการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกด้วย สิงคโปร์ก็เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและคุ้มครองคนงาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า ๖๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ ๘๐ ของงบประมาณนี้ถูกนำมาใช้อุดหนุนเพื่อให้คนงานไม่ต้องถูกเลิกจ้างและคุ้มครองความเป็นอยู่ของประชาชน กลุ่มคนที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมถึง แรงงานต่างด้าว รัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อและรักษาผู้ติดเชื้อ สิงคโปร์สนับสนุนแนวคิดของ ILO เรื่อง การให้คนเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพปกติ สิงโปร์จึงได้ตั้ง National Job Council ขึ้นมา เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานและหางานให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างเพราะปัญหาวิกฤตโควิด-๑๙ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับจากหุ้นส่วนทางสังคม รวมถึง สมาพันธ์ภาคธุรกิจแห่งสิงคโปร์ และสภาสหภาพแรงงานแห่งสิงคโปร์ (NTUC) นอกจากนั้น NTUC ยังได้จัดตั้ง Company Training Committee ขึ้น เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับสมาชิก สิงคโปร์เล็งเห็นว่า ปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO เป็นแนวทางที่ดีในการฟื้นฟู และจะเป็นประเด็นสำหรับการอภิปรายในการประชุม Asia and the Pacific Regional Meeting ครั้งที่ ๑๗ ซึ่งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ

 

­­­­­­­­­­———————————————–

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

TOP