Skip to main content

หน้าหลัก

รายงานสรุป Information Sessions concerning ILO’s response to COVID-19 วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๓

รายงานสรุป Information Sessions concerning ILO’s response to COVID-19 วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๓

 

                    นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เข้าร่วมการประชุมวาระเพื่อทราบเกี่ยวกับการรับมือของ ILO ต่อ COVID-19 ผ่านระบบ ZOOM เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๓ ซึ่งมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อแจ้งให้คณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ทราบถึงการดำเนินงานของ ILO ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของ COVID-19 โดยมี (๑) Mr. Guy Rider ผู้อำนวยการใหญ่ ILO (๒) Ms. Deborah Greenfield, Deputy Director-General for Policy (๓) Mr. Moussa Oumarou, Deputy Director-General for Field Operations & Partnerships และ (๔) Mr. Greg Vines, Deputy Director-General for Management & Reform เข้าร่วมการประชุมเพื่อให้ข้อมูล ซึ่งสรุปได้ดังนี้

๑. วาระเรื่อง การดำเนินงานของ ILO Office และคณะประศาสน์การ (Governing Body: GB) ในช่วงวิกฤติ COVID-19

๑.๑ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ทางการสวิตเซอร์แลนด์มีประกาศห้ามการประชุม หรือการจัดงานใด ๆ ที่มีคนเข้าร่วมเกินกว่า ๑,๐๐๐ คน โดยให้มีผลไปจนถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓ และอาจขยายระยะเวลาออกไปตามแต่ความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่ง ILO Office ได้หารือกับฝ่ายปกครองของเจนีวาแล้ว จึงได้แจ้งระงับการประชุม GB สมัย ๓๓๘ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๑๖ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID 19 ภายในสวิตเซอร์แลนด์ และเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อระหว่างการเดินทางของผู้เข้าร่วมการประชุม

๑.๒ GB Office ได้ติดต่อสื่อสารทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กับสมาชิก GB เพื่อดำเนินงานรองรับผลจากการระงับการประชุม GB สมัยที่ ๓๓๘ โดยสมาชิก GB ได้มอบหมายอำนาจทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวบรวมผลเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ ให้ GB Office พิจารณาดำเนินงานตามมติที่ประชุมซึ่งเสนอไว้สำหรับการประชุม GB สมัย ๓๓๘ ในหัวข้อที่มีความสำคัญเร่งด่วนเกี่ยวกับ

(ก) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแรงงานระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia and Pacific Regional Meeting: APRM) ในเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ของประเทศสิงคโปร์

(ข) การเชิญผู้แทนรัฐบาลภูฏานเข้าร่วมการประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และการเชิญองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙

(ค) การมอบอำนาจให้ ILO Office เสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อมติใด ๆ ของคณะกรรมการทางเทคนิคต่าง ๆ ในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จะส่งผลผูกพันต่อการใช้งบประมาณ เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ใช้ประกอบการพิจารณารับรองข้อมติดังกล่าว

(ง) การเสนอให้ที่ประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ พิจารณาต่ออายุการทำงานให้แก่สมาชิกคณะตุลาการทางการปกครองของ ILO จากประเทศเบลเยี่ยม ที่จะหมดวาระการทำงานลงใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ออกไปอีก ๓ ปี

(จ) การให้ผู้อำนวยการใหญ่จัดการปรึกษาหารือไตรภาคี เพื่อพิจารณาจัดทำร่างข้อเสนอขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมใหญ่ สำหรับให้ที่ประชุมคณะประศาสน์การพิจารณาต่อไป

๑.๓ จากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้รัฐบาลประกาศให้ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษสูงสุดและใช้มาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 อย่างเข้มงวด โดยปิดร้านค้าและสถานบริการที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสถานศึกษา ตลอดจนห้ามจัดกิจกรรมและการประชุมต่าง ๆ ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๓ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจึงมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่บางส่วนทำงานที่บ้าน (work from home) ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสำนักงาน โดย ILO Office ยังคงติดต่อสื่อสารออนไลน์และประชุมหารือทางไกลผ่านระบบดิจิทัลกับคณะผู้แทนถาวรฯ ที่เป็นผู้ประสานงานประจำกลุ่มภูมิภาคและคณะทำงานไตรภาคีเพื่อกลั่นกรองงานของ ILO (Tripartite Screening Group: SG) อยู่เป็นระยะเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของ ILO

๑.๔ การประชุมทางเทคนิคในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่เหลืออีก ๔ ครั้งนั้น ได้ถูกเลื่อนออกไปแล้ว ๑ ครั้ง คือ the Technical meeting on the future of work in the automotive industry ซึ่งเดิมกำหนดจัดในวันที่ ๔-๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยจะมีการพิจารณาความเหมาะสมของวันประชุมครั้งใหม่เสนอให้ GB พิจารณา รวมถึงความเหมาะสมของการจัดประชุมทางเทคนิคที่เหลืออยู่ตามกำหนดการเดิม ซึ่ง ILO Office จะแจ้งผลการพิจารณาของ GB ให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป

๑.๕ GB ได้ให้ความเห็นชอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวบรวมผลเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๓ ตามข้อเสนอของ GB Office และ SG ให้ (ก) เลื่อนการประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ จากวันที่ ๒๕ พฤษภาคม – ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ ออกไปเป็นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ และ (ข) ระงับการประชุม GB สมัยที่ ๓๓๘ (ทวิ) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และการประชุม GB สมัยที่ ๓๓๙ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๓

๑.๖ ILO Office, GB Office และ SG จะมีการประชุมหารือกันถึงประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ควรเสนอให้ GB พิจารณาเห็นชอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนมีการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ ในปลายปี ๒๕๖๓ 

๑.๗ ILO Office จะพิจารณาหาวิธีการประชุม Information Session และ Consultation Session ร่วมกับคณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกประจำสหประชาชาติฯ ในช่วงที่ยังคงมีการระบาดของ COVID-19 ให้มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 ๒. วาระเรื่อง การศึกษาวิจัยและแนวทางเชิงนโยบายด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 และกลยุทธการฟื้นฟู

เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 ที่มีต่อโลกแห่งการทำงาน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่อง การร่วมรับผิดชอบและการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจึงได้ทำการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 ที่มีต่อโลกแห่งการทำงาน โดยมุ่งเน้นกลุ่มเปราะบางที่สุดและภาคส่วนทางเศรษฐกิจในโลกแห่งการทำงานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง พร้อมทั้งให้แนวทางเชิงโยบายสำหรับแต่ละกลุ่ม รวมถึงดำเนินการรวบรวมข้อมูลนโยบายการรับมือกับ COVID-19 ในโลกแห่งการทำงานของประเทศต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้พิจารณานำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ ILO ได้สร้างช่องทางหัวข้อ “COVID-19 and the world of work” ในเว็บไซต์ของ ILO เพื่อรวบรวมผลการศึกษาวิจัย บทความ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เกี่ยวกับเชื้อ COVID-19 และโลกแห่งการทำงานไว้เป็นการเฉพาะ และจะทยอยเผยแพร่ผลการศึกษาในหัวข้อต่าง ๆ ลงในช่องทางนี้ ตลอดจน ปรับปรุงข้อมูลต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ  

 

๓. วาระเรื่อง การเข้าร่วมใน United Nations system ของ ILO

ILO ไม่ได้กำหนดกิจกรรมโครงการใด ๆ ภายใต้แผนงานขององค์กรขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อรับมือกับ COVID-19 แต่ร่วมดำเนินการเป็นหนึ่งเดียวใน United Nations system เช่นเดียวกับองค์กรอื่น ๆ ภายใน UN เพื่อเป็นการระดมบุคลากรและทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีให้ไปในแนวทางและจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ทั้งนี้ ILO พร้อมให้ความร่วมมือวิชาการและให้คำแนะนำแก่กิจกรรมโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกผ่านทางสำนักงาน ILO ประจำภูมิภาคต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจกรรมโครงการหรือการกำหนดกลยุทธเพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และการบรรเทาปัญหาการว่างงาน ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ประเทศที่ต้องการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับ ILO ในด้านการรับมือกับ COVID-19 สามารถปรึกษาหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสำนักงาน ILO ประจำภูมิภาคเพื่อจัดทำหรือปรับปรุง Decent Work Country Programmes ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อโลกแห่งการทำงานได้                          

 

—————————

 

 

 

 

 

 

 

 

 

TOP