คุณชุลีรัตน์ ทองทิพย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวาเข้าร่วมการประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body – GB) สมัยที่ ๓๓๓ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ และผลการประชุมมีดังนี้
๑. การเลือกตั้งประธานและรองประธาน GB วาระ ๑ ปี ระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑-มิถุนายน ๒๕๖๒ ได้ผลดังนี้
๑.๑ ประธาน GB (ฝ่ายรัฐบาล) ได้แก่ Mr. Claudio Julio de la Puente Ribeyro เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรเปรูประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
๑.๒ รองประธานฝ่ายนายจ้าง ได้แก่ Mr. Mthunzi Mdwaba จากแอฟริกาใต้
๑.๓ รองประธานฝ่ายลูกจ้าง ได้แก่ Ms. Catelene Passchier จากเนเธอร์แลนด์
๒. ข้อร้องเรียนกรณีกัวเตมาลาละเมิดอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ ที่ฟ้องโดยผู้แทนในการประชุมใหญ่ประจำปีสมัยที่ ๑๐๑ ภายใต้มาตรา ๒๖ ของธรรมนูญ ILO
กัวเตมาลาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๕๒ ต่อมามีเหตุการณ์ฆาตกรรมเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน ๕๘ คดี และญาติของผู้เสียชีวิตเห็นว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการหาตัวผู้กระทำผิด และปี ๒๕๕๕ ในการประชุมใหญ่ ILO สมัยที่ ๑๐๑ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างได้ยื่นฟ้องรัฐบาลกัวเตมาลาว่าละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ที่ให้สัตยาบัน
ที่ประชุม GB หลายสมัยได้พิจารณากรณีประเทศกัวเตมาลาอย่างต่อเนื่อง และเสนอให้รัฐบาลกัวเตมาลาดำเนินการโดยเร่งด่วนในการสอบสวนหาผู้กระทำผิดคดีฆาตกรรมเจ้าหน้าที่และสมาชิกสหภาพแรงงาน และออกกฎหมายและมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๓ เห็นว่าบรรลุความก้าวหน้าในหลายประการ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีระดับชาติเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์และเสรีภาพในการสมาคม และมีการปรึกษาหารือไตรภาคีเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย การสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิด แต่ยังมีสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอีก จึงมีมติรับทราบความก้าวหน้า และขอให้มีการหารือไตรภาคีในประเทศโดยการสนับสนุนขององค์การนายจ้างระหว่างประเทศและสมาพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศต่อไปเพื่อออกกฎหมายฉบับใหม่และมีการดำเนินการตามที่สอดคล้องอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และหวังว่าจะมีความสำเร็จที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การพิจารณาของ GB สมัยที่ ๓๓๔ เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ถึงความเหมาะสมในการยุติการพิจารณากรณีร้องเรียนรัฐบาลกัวเตมาลาในที่ประชุม GB ต่อไป
๓. รายงานคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๓ มีมติรับทราบรายงานฉบับที่ ๓๘๔ – ๓๘๖ ของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (Committee on Freedom of Association-CFA) ที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการสมาคมในประเทศสมาชิกแม้ว่าประเทศนั้นจะไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาเหล่านั้นก็ตาม
๔. การแต่งตั้งประธานคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๓ มีมติแต่งตั้ง Professor Evance Rabban Kalula ชาวแซมเบีย เป็นประธาน CFA คนใหม่จนจบวาระ GB ชุดนี้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓
อนึ่ง รัฐบาลไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกประจำ (Regular Member) ของคณะประศาสน์การ (Governing Body – GB) วาระเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐ – มิถุนายน ๒๕๖๓ โดยต้องทำหน้าที่ผู้ประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinator) ในกรอบ ILO ตลอดวาระ ๓ ปี