Skip to main content

หน้าหลัก

การประชุมเจรจาระดับโลกเรื่อง อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ (Global Dialogue on Convention no. 169) วันที่ ๑๘-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เข้าสังเกตการณ์การประชุมเจรจาระดับโลกเรื่อง อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ (Global Dialogue on Convention no. 169) ของ ILO เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒

ความเกี่ยวข้องของอนุสัญญานี้กับประเทศไทย คือ คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีได้มีข้อสังเกตต่อรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women:  CEDAW) ของประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ว่า รัฐบาลไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ เพื่อแก้ปัญหาผู้หญิงในชนบทของประเทศไทย รวมถึง ผู้หญิงชนพื้นเมือง ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธ์ และผู้หญิงในชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ซึ่งยากจนและมีโอกาสจำกัดทางเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ มีสาระสำคัญ คือ รัฐสมาชิกต้องจัดให้ชนเผ่าและชนพื้นเมืองได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และต้องกำหนดนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสำหรับชนเผ่าและชนพื้นเมือง โดยรัฐต้องปรึกษาหารือกับชนเผ่าและชนพื้นเมืองหรือให้ชนเผ่าและชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแผนงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่อาจส่งผลต่อชนเผ่าและชนพื้นเมืองนั้น จากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ มีรัฐสมาชิก ILO ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ เพียง ๒๓ ประเทศ (ได้แก่ อาร์เจนติน่า โบลิเวีย บราซิล แอฟริกากลาง ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก โดมินิกัน เอกวาดอร์ ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก เนปาล เนเธอร์แลนด์ นิการากัว นอรเวย์ ปารากวัย เปรู สเปน และเวเนซุเอลา) จากรัฐสมาชิกทั้งหมด ๑๘๗ ประเทศ

ผลจากการประชุมหารือพบว่า อุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ คือ การไม่ประสบผลสำเร็จในการปรึกษาหารือกับผู้แทนชนเผ่าหรือชนพื้นเมือง เพื่อกำหนดนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐสมาชิก ILO ให้สัตยาบันอนุสัญญาในจำนวนน้อยมาก ได้แก่ (ก) การแก้ปัญหาสิทธิแรงงานของชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองไม่ได้เป็นเป้าหมายการดำเนินงานในลำดับต้นของรัฐสมาชิก เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงภายในประเทศ และ (ข) รัฐสมาชิกยังไม่เข้าใจถึงคำจำกัดความของ “ชนเผ่า” หรือ “ชนพื้นเมือง” ตามขอบเขตของอนุสัญญานี้ ซึ่งอาจเกิดปัญหาการตีความได้ในภายหลัง

ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะสำคัญต่อสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Office) ดังนี้ (ก)  ควรแสวงหาการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบกับสหประชาติ เพื่อส่งเสริมการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ (ข) ต้องทำให้เกิดความชัดเจนถึงคำจัดกัดความหรือขอบเขตของการเป็น “ชนเผ่า” หรือ “ชนพื้นเมือง” ภายใต้อนุสัญญานี้ (ค) ควรจัดทำการสำรวจทั่วไป (General Survey) เพื่อรวบรวมเหตุผลที่รัฐสมาชิกไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ (ง) ควรทำการศึกษาว่า บทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ ตอบสนองต่อความต้องการหรือความจำเป็นของรัฐสมาชิก และมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่  

TOP