Skip to main content

หน้าหลัก

สาระสำคัญของการประชุม High-level Global Forum for a Human-centered Recovery ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

สาระสำคัญของการประชุม High-level Global Forum for a Human-centered Recovery

ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

วัตถุประสงค์การจัดประชุม

                   การประชุม High-level Global Forum for a Human-centered Recovery จัดขึ้นในรูปแบบทางไกลผ่านจอภาพ โดยมีประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ผู้นำองค์กรนายจ้าง และผู้นำองค์กรลูกจ้าง จากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมกันอภิปรายในประเด็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมระหว่างประเทศในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ และการลดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมที่มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงเกิดวิกฤต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระดับโลกที่เข้มแข็งและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะช่วยให้ประเทศสมาชิก ILO สามารถดำเนินกลยุทธ์การฟื้นฟูที่มีคนเป็นศูนย์กลางได้อย่างทั่วถึง ยั่งยืน และฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว รวมถึงการริเริ่มและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการร่วมดำเนินงานเชิงสถาบันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

 

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

พิธีเปิดการประชุม

                   ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมต่างเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความคืบหน้าด้านการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับความร่วมมือไตรภาคีและพหุภาคีทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ในการนี้ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ขอให้ผู้เข้าประชุมครั้งนี้ทุกคนตระหนักว่า เวลานี้เป็นเวลาสำคัญอันมีค่าที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างสุดความสามารถเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ โดยเป็นการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง อันหมายรวมถึง การมีความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกด้านและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใด ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากมีการลงทุนเพื่อสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณค่าและเร่งเปลี่ยนแปลงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบให้เป็นงานในระบบ นอกจากนั้น หนทางในการฟื้นฟูโดยมีคนเป็นศูนย์กลางยังหมายรวมถึง ความเท่าเทียมในการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ และการปฏิรูประบบการเงินของโลกที่ทำให้ทุกประเทศได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อนำไปดำเนินการต่าง ๆ อันสามารถบรรเทาทุกข์ของประชาชนได้ เช่น การให้กู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย การลดหย่อนภาษีอย่างเป็นธรรม ฯลฯ ส่วน Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ถ้อยแถลงต่าง ๆ ที่เคยให้ไว้เกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-๑๙ เป็นจริงขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   การลดความไม่เท่าเทียมที่มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกันและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ผลลัพธ์ต่าง ๆ ด้านการฟื้นฟูที่เคยคาดการณ์ไว้ก็สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้

การอภิปรายเรื่อง ตำแหน่งงานที่มีคุณค่าและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

                   การอภิปรายกล่าวถึง ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ ที่มีต่อการจ้างงาน การดำเนินธุรกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ในทั่วโลก ซึ่งแต่ละภูมิภาคและแต่ละประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหายจากวิกฤตโควิด-๑๙ ในระดับที่แตกต่างกัน กลุ่มที่ได้รับความเสียหายร้ายแรงที่สุด คือ ผู้เยาว์ สตรี ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก คนงานในภาคนอกระบบ และคนงานโยกย้ายถิ่นฐาน วิกฤตยังส่งผลให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลกแห่งการทำงาน ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูตำแหน่งงานให้กลับมาได้เร็วกว่าและมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ด้อยโอกาศกว่าและมีกลุ่มคนงานที่ได้รับความเสียหายร้ายแรงอย่างถึงที่สุดอยู่ในประเทศมากกว่า อันเป็นการซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับประเทศกำลังพัฒนาให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติจริง การฟื้นฟูตำแหน่งงานที่ก่อคุณค่าเชิงเศรษฐกิจให้สำเร็จได้นั้น รัฐบาลต้องสร้างงานที่มีคุณค่า สร้างความคุ้มครองทางสังคมให้มีความมั่นคง เพิ่มการลงทุนในภาคธุรกิจที่มีศักยภาพด้านการจ้างงาน และสนับสนุนภาคธุรกิจให้กลับมาดำเนินการต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศกำลังพัฒนา หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศต้องร่วมกันสนับสนุนการฟื้นฟูของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ ๘ แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน) โดยการช่วยเพิ่มจำนวนกิจการที่มีศักยภาพในการจ้างงาน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของการประกอบธุรกิจ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การตอบสนองต่อโลกแห่งดิจิทัล และการไม่สร้างความเสียหายแก่กิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อย (micro, small and medium-sized enterprises: MSMEs) ตลอดจน เข้าช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเสียหายร้ายแรงจากโควิด-๑๙

 

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

การอภิปรายเรื่อง การคุ้มครองทางสังคมอย่างครอบคลุมทุกส่วน

                   การอภิปรายกล่าวถึง ความร่วมมือที่เข็มแข็งและการจัดการเชิงสถาบันเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาการมีช่องว่างในระบบการคุ้มครองทางสังคม การให้ความคุ้มครองทางสังคมอย่างไม่เพียงพอ และระบบการคุ้มครองทางสังคมไม่มีความยั่งยืน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชนที่ยากลำบากอยู่แล้วประสบกับความทุกข์ยากเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อมีวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้น การให้ความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคนเป็นภาระใหญ่หลวงของประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากต้องใช้เงินภาษีประมาณร้อยละ ๕๐ เพื่อดำเนินการ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางจะสามารถจัดสรรงบประมาณภายในประเทศจำนวนดังกล่าวมาใช้ในการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนของตน การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ซ้ำเติมให้ประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องการการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐมากขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการให้บริการของรัฐกลับลดลงเนื่องจากต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ เช่นกัน ดังนั้นความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางการเงินจากรัฐบาลต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมกันสร้างกลไกทางการเงินหรือกองทุนระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องนำความช่วยเหลือด้านการเงินดังกล่าวมาอุดหนุนระบบความมั่นคงทางสังคมให้กับประชาชน โดยปรึกษาหารือกับหุ้นส่วนทางสังคมภายในประเทศ ประเด็นสำคัญ คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันออกแบบและสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่มีความยั่งยืนด้านการเงินและการบริหารจัดการภายใน โดยให้สามารถพึ่งพาตนเองหรือทรัพยากรภายในประเทศต่อไปได้ในอนาคต

การอภิปรายเรื่อง การคุ้มครองคนงาน และการสร้างความยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจ

                   การอภิปรายกล่าวถึง ความสำคัญของการปฏิบัติตามและเคารพมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน การกำหนดค่าจ้างขึ้นต่ำ และการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ รวมถึง ความจำเป็นในการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศควรเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายแรงร้ายจากโควิด-๑๙ เพื่อให้เกิดงานที่มีคุณค่า   ให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และให้ MSMEs ตลอดจนกิจการอื่น ๆ มีผลิตภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวกระทำได้หลายหนทาง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสนับสนุนวัคซีน  โควิด-๑๙ การร่วมป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การร่วมทำการค้า การร่วมลงทุน ฯลฯ     การระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้ทำให้เกิดประเด็นท้าทายใหม่เกี่ยวกับระบบคุ้มครองอาชีวอนามัยและ    ความปลอดภัยในการทำงาน ในแบบที่ไม่เคยมีการเตรียมรับมือมาก่อน นับเป็นประเด็นสุขภาพที่ส่ง  ผลกระทบร้ายแรงในวงกว้างและลุกลามเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อันเป็นปัจจัยเสริมให้มีการลดมาตรฐานด้านเงื่อนไขการจ้างงานและสภาพการทำงาน รวมถึงมีการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนี้ การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดและการยอมรับการเจรจาทางสังคม (รวมถึง การเจรจาต่อรองร่วมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง) ช่วยรับมือกับประเด็นท้าทายด้านแรงงานและการประกอบกิจการได้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น คือ (ก) การสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกทั้งหลายคุ้มครองแรงงานในทุกประเด็น อาทิ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ และการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศในการทำงาน เป็นต้น (ข) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้แทนของนายจ้างและของลูกจ้าง (ค) การส่งเสริมความอยู่รอดและผลิตภาพของธุรกิจขนาดเล็ก และ (ง) การเปลี่ยนกิจการนอกระบบให้เป็นภาคธุรกิจในระบบ

 

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

การอภิปรายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างเป็นธรรม

                   การอภิปรายกล่าวถึง การส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกดำเนินกลยุทธเพื่อบรรลุถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) อย่างเป็นธรรม อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อประโยชน์สูงสุดและลดการหยุดชะงักทางสังคมให้มีน้อยที่สุด โดยไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องเสียสละหรือเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใด ๆ อีกต่อไป ประชาชมคมโลกต้องเรียนรู้จากกรณีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากตักตวงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้พัฒนาวงการอุตสาหกรรม ซึ่งมีบางกลุ่มได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับปัญหาอุณหภูมิโลกสูงขึ้น พื้นที่หลายแห่งไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป เกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพได้และกลายเป็นแรงงานอพยพที่ด้อยโอกาสของตลาดแรงงาน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นธรรมในโลกแห่งการทำงาน ในการนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และชีวิตวิถีใหม่ อันจะส่งผลให้เกิดอาชีพหรือตำแหน่งงานใหม่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้บางอาชีพและบางตำแหน่งสูญหายไปจากโลกแห่งการทำงาน ซึ่งหลายประเทศ  ไม่มีความพร้อมด้านการพัฒนาแรงงานหรือฝึกอาชีพให้แรงงานพร้อมทำงานในอาชีพหรือตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นใหม่ ตลอดจน ไม่มีศักยภาพที่จะเยียวยาหรือดูแลผู้ที่ต้องสูญเสียอาชีพหรือตำแหน่งงาน ประเทศสมาชิกต้องกำหนดนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับ     ความแตกต่างของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความจำเป็นของกลุ่มเยาวชน สตรี ชนเผ่า ชนพื้นเมือง และผู้พิการ ทั้งนี้ ต้องกำหนดนโยบายดังกล่าวโดยอาศัยการเจรจาทางสังคม สิ่งสำคัญ คือ นโยบายนั้นต้องครอบคลุมประเด็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนสูงและผลที่มีต่อชุมชนและกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว    

พิธีปิดการประชุม

                   ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมต่างกล่าวถึงประเด็นการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ ให้ดีกว่าเดิมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ที่ย้ำเตือนให้ทุกคนเห็นถึงความด้อยโอกาสอย่างถึงที่สุดและความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่จริงในโลกแห่งการทำงาน ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลก ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อฟื้นฟูสิ่งต่าง ๆ ให้กลับคืนมาและดีกว่าเดิม องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ต้องมีนโยบายที่เชื่อมโยงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และขอเรียกร้องให้ ILO และ UN ดำเนินงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในทั่วโลกอย่างน้อย ๔๐๐ ล้านตำแหน่ง เพื่อชดเชยตำแหน่งงานที่สูญเสียไปเพราะการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ และเพื่อให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง

 

 

ผลลัพธ์จากการประชุม

                   ในการประชุมครั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศได้ตกลงที่จะร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ ดังนี้

  • ILO และ UNDP (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ตกลงสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในการจัดทำ roadmap สำหรับ “Global Accelerator on Jobs and Social Protection” เพื่อเร่งให้เกิดสร้างตำแหน่งงานและการขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคมในประเทศสมาชิก และในการดำเนินโครงการ “the joint Global Initiative on Fostering Pathways to Formality” เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้เปลี่ยนภาคเศรษฐกิจนอกระบบเป็นในระบบ
  • WHO และ ILO จะมีความร่วมมือกันให้เน้นเฟ้นยิ่งขึ้นด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านสุขภาพและองค์กรด้านโลกแห่งการทำงาน เพื่อให้คนงานได้รับการคุ้มครองที่ดีกว่าเดิมด้านสุขภาพจิต โรคและอันตรายจากการทำงาน และการมีสถานที่ทำงานที่พร้อมรับมือกับวิกฤตด้านสุขภาพ
  • ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (EBRD) ตกลงที่จะกำหนดกรอบงานขึ้นใหม่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดทำโครงการและการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างเป็นธรรม และการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อตำแหน่งงาน
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IsDB) ตกลงที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความร่วมมือระหว่างกันด้านการฟื้นฟูที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ในประเด็นการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับเยาวชน ความเท่าเทียมทางเพศ งานที่มีคุณค่า และประเด็นอันเป็นการส่งเสริม South-South  Triangular Cooperation (ความร่วมมือสามฝ่ายของประเทศกำลังพัฒนา)
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศตกลงที่จะขยายระยะเวลาการดำเนินงานด้านการคุ้มครองรายจ่ายสาธารณะ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกอันเป็นภัยต่อการฟื้นฟูที่มีคนเป็นศูนย์กลาง
  • ILO และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ตกลงร่วมกันทำงานเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของระบบความคุ้มครองทางสังคมและระบบเชื่อมโยงของข้อมูล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ADB ด้านการอุดหนุนทางการเงินแก่กิจกรรมที่ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหิน
  • ILO และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ตกลงที่จะจัดทำ ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมและการเพิ่มผลิตภาพ
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกาตกลงที่จะร่วมทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาทักษะฝีมือและการมีงานทำของเยาวชน
  • ILO และกลุ่มประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ตกลงที่จะร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมประเทศสมาชิกให้จัดทำแผนงานว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างเป็นธรรม
  • องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ตกลงที่จะขยายกรอบงานร่วมกับ ILO และองค์กรอื่นภายใต้ UN เพื่อทำงานด้านการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีการคุ้มครองทางสังคมแบบครอบคลุมทุกส่วน
  • ธนาคารโลกยอมรับที่จะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนักร่วมกับ ILO เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐

——————————————–

ฝ่ายแรงงาน

คณะผู้แทนถาวรแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

 

 

Speakers in the Session in order of appearance

 

Opening session: Advancing a human-centred recovery through strengthened multilateral and tripartite cooperation  

Ms. Anna Jardfelt, Chairperson of the ILO Governing Body

Ms. Renate Hornung-Draus, Employer Vice-Chairperson of the ILO Governing Body

Ms. Catelene Passchier, Worker Vice-Chairperson of the ILO Governing Body

Mr. António Guterres, Secretary-General of the United Nations

Mr. Ignazio Cassis, President of the Swiss Confederation

Mr. Macky Sall, President of the Republic of Senegal

Mr. Joko Widodo, President of the Republic of Indonesia

Mr. Olaf Scholz, Chancellor of the Federal Republic of Germany

Mr. Alberto Fernández, President of the Republic of Argentina

Ms. Sharan Burrow, General Secretary, International Trade Union Confederation

Mr. Roberto Suárez, Secretary-General, International Organisation of Employer

Mr. Guy Ryder, ILO Director-General

 

Thematic Session 1: Decent jobs and inclusive economic growth

Moon Jae-in, President of the Republic of Korea 

Tedros Adhanom Ghebreyesus, Director-General of World Health Organization 

Kristalina Georgieva, Managing Director of International Monetary Fund 

Ngozi Okonjo-Iweala, Director-General of World Trade Organization 

Muhammad Sulaiman Al Jasser, President of Islamic Development Bank 

Beth Dunford Vice-President for Agriculture, Human and Social Development, African Development Bank (AfDB) 

Michele Parmelee, President of International Organisation of Employers 

Luca Visentini, General Secretary of European Trade Union Confederation (ETUC)

(Moderator) Ms. Sharanjit Leyl, Journalist – broadcaster

 

Thematic Session 2: Universal social protection

Mr. Filipe Nyusi, President of the Republic of Mozambique

Mr. Alexander De Croo, Prime Minister of the Kingdom of Belgium

Mr. Qu Dongyu, Director-General of the Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)

Ms. Mari Pangestu, Managing Director of Development Policy and Partnerships,  World Bank

Ms. Karin Hulshof, Deputy Executive Director for Partnerships, United Nations Children’s Fund (UNICEF)

Mr. Ayuba Wabba, President, Nigeria Labour Congress (NLC)

Mr. José Abugaber Andonie, President, Federation of Industrial Chambers of Mexico

(Moderator) Ms. Zeinab Badawi, Journalist – broadcaster

 

Thematic Session 3: Protecting workers and sustaining enterprises

Mr. Pedro Sánchez Pérez-Castejón, President of the Government of Spain

Ms. Naoko Yamamoto, Assistant Director-General on Universal Health Coverage and Healthier Populations of World Health Organization

Mr. Haoliang Xu, UN Assistant Secretary-General, UNDP Assistant Administrator and Director of Bureau for Policy and Programme Support of United Nations Development Programme

Mr. Mark Bowman, Vice-President on Policy and Partnerships of European Bank for Reconstruction and Development (EBRD)

Ms. Jacqueline Mugo, Executive Director of Federation of Kenya Employers (FKE)

Mr. Felix Anthony, National Secretary of Fiji Trade Union Congress (FTUC)

(Moderator) Ms. Zeinab Badawi, Journalist – broadcaster

 

Thematic Session 4: Just transition

Mr. Abdel Fattah El-Sisi, President of the Arab Republic of Egypt

Ms. Fiame Naomi Mata’afa, Prime Minister of the Independent State of Samoa

Mr. Mark Carney, United Nations Special Envoy on Climate Action and Finance

Mr. Nicolas Schmit, Commissioner for Jobs and Social Rights, European Commission (EC)

Mr. Ulrik Knudsen, Deputy Secretary-General, Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)

Mr. Ovais Sarmad, Deputy Executive Secretary, United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)

Ms. Toni Moore, General Secretary, Barbados Workers’ Union (BWU)

Ms. Shinta Widjaja Kamdani, Chair, B20 Indonesia

Mr. Bambang Susantono, Vice-President for Knowledge Management and Sustainable Development of the Asian Development Bank

(Moderator) Ms. Sharanjit Leyl, Journalist – broadcaster

 

Closing session: Toward a Human-Centred Recovery from the COVID-19 Crisis that is Inclusive, Sustainable and Resilient

Ms. Anna Jardfelt, Chairperson of the ILO Governing Body

Mr. Guy Ryder, ILO Director-General

Mr. Andrew Holness, Prime Minister of Jamaica

Ms. Betssy Chávez Chino, Minister of Labour and Employment Promotion, Republic of Peru

Ms. Fanfan Rwanyindo Kayirangwa, Minister of Public Service and Labour, Republic of Rwanda

Mr. Nayef Stetieh, Minister of Labour, Hashemite Kingdom of Jordan

Ms. Renate Hornung-Draus, Employer Vice-Chairperson of the ILO Governing Body

Ms. Catelene Passchier, Worker Vice-Chairperson of the ILO Governing Body

 

 

 

 

 

TOP