สรุปมติของที่ประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๒ (วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔)
นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เข้าสังเกตการณ์การประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body: GB) สมัยที่ ๓๔๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ซึ่งที่ประชุมได้ประกาศให้สมาชิก GB ชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ เริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ และมีมติที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
๑. การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ GB วาระ พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗ คือ
(ก) Ms. Anna Jardfelt เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรสวีเดนประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นประธาน GB
(ข) Ms. Renate Hornung-Draus (ประเทศเยอรมนี) เป็นรองประธาน GB ฝ่ายนายจ้าง
(ค) Ms. Catelene Passchier (ประเทศเนเธอร์แลนด์) เป็นรองประธาน GB ฝ่ายลูกจ้าง
๒. การแต่งตั้งสมาชิกชุดใหม่ในองค์คณะไตรภาคีต่าง ๆ ดังนี้
(ก) คณะกรรมการเสรีภาพในการสมาคม (Committee on Freedom of Association)
(ข) คณะทำงานไตรภาคีด้านกลไกการทบทวนมาตรฐานแรงงาน (Standards Review Mechanism Tripartite Working Group)
(ค) คณะทำงานไตรภาคีด้านการมีส่วนร่วมอย่างเป็นประชาธิปไตย เท่าเทียม และสมบูรณ์ ในการบริหารจัดการแบบไตรภาคีของ ILO (Tripartite Working Group on the full, equal and democratic participation in the ILO’s tripartite governance: TWGD) ซึ่งประเทศไทยยังคงร่วมเป็นคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลต่อไป
(ง) คณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกอบรมระหว่างประเทศของ ILO (Board of the International Training Centre of the ILO)
ทั้งนี้ รายชื่อปรากฏตาม
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_norm/—relconf/documents/meetingdocument/wcms_807338.pdf
๓. ที่ประชุม GB พิจารณาแล้วว่า เพื่อให้ข้อมติเพื่อการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในเมียนมา ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๕๖๔) มีความคืบหน้า GB จึง (ก) ขอเรียกร้องให้เมียนมา ยึดมั่นในพันธกิจภายใต้อนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ อย่างสมบูรณ์และไม่ชักช้า และทำให้มั่นใจได้ว่า องค์กรของนายจ้างและของคนงานสามารถใช้สิทธิ ของตนได้อย่างเสรี ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง การจับกุมโดยพลการ และการถูกคุมขัง (ข) ขอย้ำให้มีการแก้ไขกฎหมายข้าราชการพลเรือน กฎหมายการระงับข้อพิพาทแรงงาน และกฎหมายการจัดตั้งองค์กรแรงงาน ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ โดยไม่ชักช้า เมื่อรัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้กลับมาบริหารประเทศแล้ว และ (ค) ขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO รายงานถึงพัฒนาการต่าง ๆ ของเมียนมาต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔)
๔. ที่ประชุม GB เห็นควรให้ประธาน GB จัดการสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ILO คนต่อไป ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๕ โดยเปิดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งคัดเลือกโดยฝ่ายเลขาธิการกลุ่มนายจ้างและกลุ่มลูกจ้าง และผู้แทนรัฐบาลที่สนใจเข้าร่วมรับฟังด้วย รวมถึง ให้มีการถ่ายทอดออกอากาศทางเว็บไซต์เพื่อให้ภาคประชาสังคมและสาธารณชนทั่วไปได้ติดตาม ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับคำถาม ๘ คำถาม เป็นคำถามจากฝ่ายรัฐบาล ๔ คำถาม (ภูมิภาคละ ๑ คำถาม) และจากฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ ๒ คำถาม ทั้งนี้ ประเด็นที่สัมภาษณ์ต้องมีเนื้อหาไม่ซ้ำซ้อนกับการแสดงวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการของผู้สมัคร ซึ่งจะมีขึ้นในวันเปิดการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕)
๕. ที่ประชุม GB รับทราบรายงานฉบับที่ ๓๙๕ ของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (Committee on Freedom of Association: CFA) และรับรองข้อแนะนำต่าง ๆ ของ CFA ที่ปรากฏอยู่ในรายงาน โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่า ได้ทำการพิจารณาผลการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อคำร้องเรียนหมายเลข ๓๑๘๐ กรณีบริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ และได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากรัฐบาลไทยแล้วเกี่ยวกับคำร้องเรียนหมายเลข ๓๐๒๒ กรณีการละเมิดสิทธิผู้นำแรงงานของสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และหมายเลข ๓๑๖๔ กรณีข้อกล่าวหาของ IndustriALL Global Union ว่ากฎหมายการแรงงานสัมพันธ์ทั้ง ๒ ฉบับของไทยมีบทบัญญัติที่ขัดกับหลักการด้านเสรีภาพในการสมาคม ซึ่ง CFA จะได้นำมาพิจารณาในการประชุมต่อไป
๖. ที่ประชุม GB รับทราบถึงข้อมติที่รับรองโดยคณะกรรมการไตรภาคีพิเศษ (Special Tripartite Committee: STC) ภายในอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention, 2006: MLC 2006) เมื่อเดือนเมษายน ๒๐๒๑ และขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้งปวงดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการแก้ไขปัญหาในภาคแรงงานทางทะเลอันเกิดจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-๑๙ อันรวมถึง การจัดหาวัคซีนให้แก่คนประจำเรือและการจัดให้คนประจำเรือได้รับการรักษาพยาบาลบนฝั่ง โดยมอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO แจ้งเรื่อง การรับรองข้อมตินี้ให้เลขาธิการ UN ได้ทราบ และขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขององค์กรภายใต้ UN เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตาม MLC ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด-๑๙ รวมถึง ติดตามผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อสิทธิแรงขั้นพื้นฐานของคนประจำเรือในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางทะเล
๗. ที่ประชุม GB รับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาลเวเนซุเอลาในการจัดประชุมหารือไตรภาคีระดับชาติด้านการกำหนดแผนงาน มาตรการ และแนวปฏิบัติ ตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนของ ILO เพื่อแก้ไขปัญหาตามคำร้องเรียนที่กล่าวหาว่า ประเทศเวเนซุเอลาไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับที่ ๒๖ ว่าด้วยกลไกการกำหนดค่าจ้าง ค.ศ. ๑๙๒๘ ฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ และฉบับที่ ๑๔๔ ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. ๑๙๗๖ และรับทราบถึง การที่ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ได้ตอบรับเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่รัฐบาลเวเนซุเอลา เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า เวเนซุเอลาจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน
๘. ที่ประชุม GB ได้พิจารณายุติการตรวจสอบคำร้องเรียน (closed the procedure initiated by the representation) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ของ Indonesian Union of Plantation Workers ที่กล่าวหาว่า รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับที่ ๑๑๑ ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและอาชีพ) ค.ศ. ๑๙๕๘ เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมให้บริษัทเอกชนจากภายนอกเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ของชนพื้นเมือง Ompu Ronggur โดยมีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานกับชนพื้นเมืองในพื้นที่ และเพิกเฉยต่อการที่บริษัทเอกชนบุกรุกพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชนพื้นเมืองจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีตรวจสอบคำร้องเรียนมีความเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องควรแสดงหลักฐานเขตพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชนพื้นเมืองต่อรัฐบาลเพื่อยืนยันสิทธิ โดยให้รัฐบาลติดตามเรื่องการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานกับชนพื้นเมือง และแจ้งผลต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ ในรายงานการอนุวัติการตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๑๑