Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปผลรายงานการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๑ วาระกลุ่มแผนงาน การเงิน และการบริหาร (Programme, Financial and Administrative Section: PFA) ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔

สรุปผลรายงานการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๑

วาระกลุ่มแผนงาน การเงิน และการบริหาร

(Programme, Financial and Administrative Section: PFA)

ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔

 

๑. ข้อเสนอของผู้อำนวยการใหญ่ ILO เกี่ยวกับแผนงานและงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๖

ความเป็นมา

ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับแผนงานและงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณการดำเนินการตามแผนงาน สำหรับให้ที่ประชุม GB พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๙ ลงมติรับรองในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ต่อไป

ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

ร่างงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๖

รายจ่าย

งบดำเนินงานปกติ จำนวน ๗๐๙,๙๒๓,๒๒๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

–   งานด้านการกำหนดนโยบาย                     ๕๐,๒๒๙,๗๐๑  ดอลลาร์สหรัฐฯ

–   งานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามนโยบาย            ๖๔๒,๖๓๙,๖๕๔ ดอลลาร์สหรัฐฯ

–   งานด้านการบริหารจัดการ                       ๖๐,๙๙๐,๕๑๘ ดอลลาร์สหรัฐฯ

–   ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ                                    ๔๓,๔๗๒,๔๕๗ ดอลลาร์สหรัฐฯ

ค่าใช้จ่ายสำหรับรายการที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ จำนวน  ๘๗๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

ค่าใช้จ่ายภายในองค์กรและอื่น ๆ             จำนวน   ๑๑,๗๕๐,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

                                             รวมจำนวน ๘๐๓,๕๔๘,๙๒๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

รายได้

ค่าบำรุงสมาชิกจากประเทศสมาชิก  จำนวน ๘๐๓,๕๔๘,๙๒๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

                   การจัดสรรงบดำเนินงานปกติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามนโยบาย ซึ่งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิมพร้อมกับงานที่มีคุณค่า โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงผลกระทบจากโควิด-๑๙     แบ่งได้ดังนี้

                   ผลลัพธ์ที่ ๑ องค์ประกอบไตรภาคีมีความเข้มแข็ง และมีการเจรจาทางสังคมที่ครอบคลุมและบังเกิดผล จำนวน ๒๐.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๔ ประการ คือ

๑. องค์กรนายจ้างและองค์กรภาคธุรกิจมีขีดความสามารถเชิงสถาบันเพิ่มขึ้น

๒. องค์กรลูกจ้างมีขีดความสามารถเชิงสถาบันเพิ่มขึ้น         

๓. หน่วยบริหารจัดการแรงงานมีขีดความสามารถเชิงสถาบันและความสามารถในการปรับตัวเพิ่มขึ้น

๔. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถของด้านการปรับปรุงการเจรจาทางสังคม และการปรับปรุง สถาบัน กระบวนการ และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพิ่มขึ้น

                   ผลลัพธ์ที่ ๒ มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีอำนาจบังคับ จำนวน ๑๕.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๔ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการให้สัตยาบันมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

๒. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการมีส่วนร่วมกับนโยบายด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

๔. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการปฏิบัติตามคู่มือ ประมวลข้อปฏิบัติ และมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น

                   ผลลัพธ์ที่ ๓ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการมีงานทำโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นงานที่มีผลิตภาพ และมีเสรีภาพในการเลือกงานทำ และเป็นงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน จำนวน ๑๐๙.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๕ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการกำหนดนโยบายแห่งชาติด้านการมีงานทำและการนำมาปฏิบัติเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-๑๙ เพิ่มขึ้น

๒. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการกำหนดนโยบายและกลยุทธและการนำมาปฏิบัติเพื่อสร้างงานที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการกำหนดนโยบายและการนำมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น

๔. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถในการส่งเสริมสังคมที่มั่นคงและสงบสุขโดยใช้งานที่มีคุณค่า เพิ่มขึ้น

๕. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการจัดทำแผนงานด้านตลาดแรงงานและการให้บริการจัดหางาน เพื่อให้ทำงานที่มีคุณค่าตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เยาว์และผู้สูงอายุ

                   ผลลัพธ์ที่ ๔ วิสาหกิจที่มีความยั่งยืน เพื่อเป็นแหล่งสร้างงาน และแหล่งส่งเสริมนวัตกรรมและงานที่มีคุณค่า จำนวน ๕๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๔ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นเจ้าของกิจการและการเป็นวิสาหกิจที่ยั่งยืน

๒. สถานประกอบการและระบบสนับสนุนของตนเองมีขีดความสามารถที่เข้มแข็งในการเพิ่มผลิตภาพและความยั่งยืน

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนวิสาหกิจในภาคนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ

๔. ประเทศสมาชิกและวิสาหกิจมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัติทางธุรกิจให้สอดคล้องกับงานที่มีคุณค่าและวิธีการนำไปสู่อนาคตของงานที่มีคนเป็นศูนย์กลาง

                   ผลลัพธ์ที่ ๕ ทักษะฝีมือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อช่วยให้เข้าถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในตลาดแรงงาน จำนวน ๖๔.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๔ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการระบุถึงทักษะแรงงานซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และในการคาดการณ์ถึงความต้องการทักษะแรงงานในอนาคตได้

๒. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการเสริมสร้างความเข็มแข็งด้านระบบทางการเงิน รูปแบบ  การบริหาร และนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีทักษะที่ครอบคลุม

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการออกแบบและทำให้เกิดการฝึกงานที่มีคุณภาพ การเรียนรู้จากการทำงานอย่างรอบด้าน และการมีหนทางเลือกในการเรียนรู้ที่ครอบคลุม มีความยืดหยุ่น และมีนวัตกรรม

๔. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาทักษะโดยใช้ดิจิทัล และในการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล 

                   ผลลัพธ์ที่ ๖ ความเท่าเทียมทางเพศ และการปฏิบัติและโอกาสที่เท่ากัน ในโลกแห่งการทำงาน จำนวน ๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๔ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจที่เน้นการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย และการแบ่งความรับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างสมดุล

๒. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายและกลยุทธต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติ การมีส่วนร่วม และการมีโอกาสอย่างเท่าเทียม ระหว่างหญิงและชาย รวมถึง การได้รับค่าตอบแทนที่เท่ากันในงานที่มีคุณค่าเท่ากัน

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการกำหนดมาตรการ นโยบาย และกฎหมายด้านเพศสภาพ เพื่อโลกแห่งการทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด

๔. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับมาตรการ นโนบาย และกฎหมาย เพื่อการปฏิบัติและโอกาสที่เท่าเทียมกันในโลกแห่งการทำงานสำหรับผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

                   ผลลัพธ์ที่ ๗ การคุ้มครองการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอสำหรับทุกคน จำนวน ๑๗๒.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุ ๕ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการเคารพ ส่งเสริม และตระหนักถึงความสำคัญของหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน

๒. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการทำให้มั่นใจได้ถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดี

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการกำหนดค่าจ้างที่เพียงพอ และส่งเสริมเวลาทำงานที่มีคุณค่า

๔. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการให้ความคุ้มครองที่เพียงพอแก่คนงานต่าง ๆ ที่มีสภาพการทำงานหลากหลาย รวมถึง การทำงานผ่านระบบดิจิทัล และการจ้างงานนอกระบบ

๕. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการพัฒนากรอบงาน องค์กร และบริการด้านการอพยพแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าว

                   ผลลัพธ์ที่ ๘ การคุ้มครองทางสังคมที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกส่วนสำหรับทุกคน จำนวน ๕๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลผลิต ๓ ประการ คือ

๑. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการพัฒนากรอบงานทางกฎหมาย นโยบาย และกลยุทธการคุ้มครองทางสังคมแห่งชาติที่มีความยั่งยืนแบบใหม่ เพื่อขยายความครอบคลุมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้พอเพียง

๒. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงการบริหารจัดการและความยั่งยืนของระบบความคุ้มครองทางสังคม

๓. ประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการบูรณาการคุ้มครองทางสังคมเข้าไว้ในนโยบายแบบองค์รวม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองคนงานและนายจ้างในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการดำรงชีวิต

มติที่ประชุม

คณะประศาสน์การขอเสนอแนะให้ที่ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ ๑๐๙ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔)

(ก) รับรองแผนงานมูลค่า ๘๐๓,๕๔๘,๙๒๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประมาณการตามอัตราแลกเปลี่ยนของงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ในอัตรา ๑ ฟรังก์สวิส มีค่าเท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ ILC เป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินฟรังก์สวิสและดอลลาร์สหรัฐฯ ในขั้นสุดท้าย

(ข)  รับรองข้อมติต่อไปนี้:

ที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

โดยอาศัยความตามข้อบังคับด้านการเงิน ขอรับรองงวดบัญชีที่ ๗๘ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ โดยมีงบประมาณค่าใช้จ่ายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศจำนวน … ดอลลาร์สหรัฐฯ และงบประมาณรายได้จำนวน … ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน คือ … ฟรังก์สวิส เท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นจำนวนรวม … ฟรังก์สวิส และมีมติว่า งบประมาณรายได้ซึ่งรับมาเป็นเงินฟรังก์สวิสต้องได้มาจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ ที่จ่ายเงินบำรุงสมาชิกตามอัตราสัดส่วนที่คณะกรรมการการเงินของผู้แทนฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา

๒. การปรับใช้งบประมาณและแผนงาน พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ในประเด็นโควิด-๑๙

ความเป็นมา

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๖๓ ส่งผลให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนแผนงานและการใช้งบประมาณ สำหรับ พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ อย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น การเลื่อนการจัดประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ มาจัดใน พ.ศ. ๒๕๖๔ หรือการจัดประชุมทางไกลผ่านจอภาพเรื่อง ILO Global Summit on COVID-19 and the World of Work  อย่างเร่งด่วนขึ้นในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔) มอบหมายให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO รายงานถึงการปรับเปลี่ยนแผนงานและการใช้งบประมาณที่เกิดขึ้นเนื่องจากโควิด-๑๙ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นปีแรกของปีงบประมาณ ต่อที่ประชุม GB ครั้งนี้

ประเด็นรายงาน

                   ในช่วง พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น โควิด-๑๙ ส่งผลให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรืองดกิจกรรมบางอย่าง อันเป็นเหตุให้การใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยเป็นกิจกรรมที่สำคัญ คือ

  • กิจกรรมเกี่ยวกับการประชุม GB การประชุม ILC การประชุมระดับภูมิภาค และการประชุมเฉพาะทาง ซึ่งใช้งบประมาณไป ๒,๑๓๓,๖๔๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ คงเหลือ ๑,๔๐๘,๗๗๘ ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • การเดินทางเพื่อทำงานตามโครงการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้งบประมาณไป ๑.๔๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คงเหลือ ๘.๕๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                   ในขณะที่แผนงานและค่าใช้จ่ายประจำด้านบุคลากรและการบริหารองค์กรไม่ได้รับผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนที่วางไว้มากนัก

                   สำนักงานฯ ได้ใช้งบประมาณเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ ไปจำนวนทั้งสิ้น ๑๔,๒๘๗,๔๑๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับ

  • นโยบายการบริหารจัดการแรงงาน การมีงานทำ และตลาดแรงงาน
  • มาตรการเพื่อสนองความจำเป็นในระยะสั้นของคนทำงานที่ตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง เช่น การโอนเงินฉุกเฉิน การส่งเสริมให้คนงานกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัย ฯลฯ
  • นโยบายระยะกลางและระยะยาวเพื่อจัดการกับประเด็นท้าทายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ขอบเขตการให้ความคุ้มครองทางสังคม เวลาการทำงาน การทำงานทางไกล และการทำงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
  • ความสามารถในการปรับตัวขององค์กรของนายจ้างและของลูกจ้างเพื่อรับมือกับวิกฤติ เพื่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจ
  • การส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลในภาคธุรกิจและการพัฒนาทักษะฝีมือ การส่งเสริมสภาพการทำงานของผู้ดูแลเด็ก คนชรา หรือผู้ป่วย (care workers)
  • การพัฒนาเทคนิคในการจัดทำข้อมูลตลาดแรงงาน โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจกำลังแรงงานแบบเดิมที่มีอยู่ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ

                   ในช่วงปีแรกของปีงบประมาณนั้น ภาพรวมการดำเนินงานตามแผนของสำนักงานฯ พบว่า จากตัวชี้วัดทั้งหมดจำนวน ๕๑ ตัว มีตัวชี้วัดที่สามารถดำเนินงานให้บรรลุผลเกินเป้าหมายที่ตั้งแล้วไว้จำนวน ๒๖ ตัว มีตัวชี้วัดที่จะคาดว่าดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จำนวน ๑๙ ตัว และมีตัวชี้วัดที่คาดว่าจะดำเนินงานได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน ๖ ตัว ได้แก่ ตัวชี้วัดด้าน

  • กลยุทธระดับชาติเพื่อการมีงานทำของเยาวชน
  • มาตรการสร้างความสมดุลในการแบ่งเบาความรับผิดชอบต่อครอบครัวระหว่างชายและหญิง
  • นโยบายส่งเสริมค่าตอบแทนที่เท่ากันระหว่างชายและหญิงในการทำงานที่มีค่าเท่ากัน
  • การวิเคราะห์รูปแบบที่หลากหลายของการจัดการการทำงาน โดยให้รวมถึง การทำงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
  • นโยบายการส่งเสริมความเท่าเทียมในการโอกาสและการปฏิบัติระหว่างชายและหญิง
  • กลยุทธเชิงบูรณาการด้านการนำภาคเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบตามแนวทางของข้อแนะฉบับที่ ๒๐๔

                   เนื่องจากหลายพื้นที่ทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนด้านการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙  สำนักงานฯ จะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดต่อไปเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามแผนงานและงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ทั้งนี้ ยังไม่สามารถประมาณจำนวนงบประมาณเหลือจ่ายได้ในขณะนี้ โดยสำนักงานฯ   จะรายงานจำนวนงบประมาณ พ.ศ.  ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ที่เหลือจ่ายต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕) ต่อไป         

มติที่ประชุม

คณะประศาสน์การรับทราบข้อมูลตามเอกสาร GB.341/PFA/2 และมอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO

(ก)  ขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงานและรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ยังคงมีอยู่ โดยคำนึงถึงแนวทางซึ่งที่ประชุมได้ให้ไว้

(ข)  นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับใช้งบประมาณและแผนงาน พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ในประเด็นโควิด-๑๙ ไว้ในรายงานการดำเนินงานตามแผน เพื่อเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕)

๓. รายงานความคืบหน้าของกลยุทธด้านทรัพยากรมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔

ความเป็นมา

                   ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๑ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๐) มีมติรับรองกลยุทธด้านทรัพยากรมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ (ก) ให้การบริหารจัดการบุคลากรขององค์กรมีความคล่องตัว และให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร (ข) ทำการคัดเลือกบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพบุคลากร และสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี และ (ค) เสริมสร้างความสามารถให้กับงานของแผนกบุคคล

ประเด็นรายงาน  

                   ILO มีบุคลากรทั้งหมด ๓,๓๘๑ คน ร้อยละ ๕๓.๙ เป็นเพศหญิง และร้อยละ ๔๖.๑ เป็นเพศชาย โดยมีบุคลากรทำงานประจำสำนักงานต่าง ๆ ดังนี้ สำนักงานใหญ่จำนวน ๑,๑๖๒ คน สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจำนวน ๘๖๔ คน สำนักงานประจำภูมิภาคแอฟริกาจำนวน ๖๗๖ คน สำนักงานประจำภูมิภาคอเมริกาจำนวน ๓๓๕ คน สำนักงานประจำภูมิภาคยุโรปจำนวน ๑๗๙ คน และสำนักงานประจำภูมิภาคอาหรับจำนวน ๑๖๕ คน ทั้งนี้ บุคลากรของ ILO ส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาคยุโรปของจำนวน ๑,๐๖๕ คน รองลงมา คือ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจำนวน ๙๑๑ คน ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาจำนวน ๗๐๙ คน ประเทศในภูมิภาคอเมริกาจำนวน ๕๕๖ คน และประเทศในภูมิภาคอาหรับจำนวน ๑๔๐ คน

                   การปฏิบัติตามกลยุทธฉบับนี้ช่วง ๓ ปีแรก มีผลการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนี้

ตัวชี้วัดที่ ๑ การโยกย้ายและเปลี่ยนสายงานเพื่อความเหมาะสม

๑.๑   จำนวนเจ้าหน้าที่ประจำที่ได้รับการโยกย้ายหรือเปลี่ยนสายงานเพื่อความเหมาะสมในแต่ละปีงบประมาณ (รอบ ๒ ปี) มีเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ ๒๐ ซึ่งผลการปฏิบัติ คือ ต่ำกว่าเป้าหมายทั้ง ๓ ปี

๑.๒   ร้อยละความสำเร็จของการมอบรางวัลยกย่องผู้ปฏิบัติงานดีเด่นได้ทันตามกำหนด ซึ่งผลการปฏิบัติ คือ เป็นไปตามเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และต่ำกว่าเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๓

ตัวชี้วัดที่ ๓ การปฏิบัติงานของฝ่ายบุคคล

๓.๑   ร้อยละของการใช้เอกสารดิจิทัลแทนกระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งผลการปฏิบัติ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ ยังต่ำกว่าเป้าหมาย คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐

มติที่ประชุม

คณะประศาสน์การมอบให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศดำเนินงานตามกลยุทธด้านทรัพยากรมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔ ต่อไป และให้เตรียมการจัดทำกลยุทธด้านทรัพยากรมนุษย์ สำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๘ เพื่อให้มีกำลังคนที่มีความสามารถและประสิทธิภาพสูง โดยคำนึงถึงแผนปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงความหลากหลายของกำลังคน รวมถึงประเด็นเพศสภาพ ความหลากหลายทางภูมิประเทศ ประสบการณ์การทำงานรวมกับสมาชิกสามฝ่ายของ ILO และการเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนและผู้ที่เป็นมืออาชีพรุ่นใหม่      

 

———————————————

 

 

 

 

TOP