สรุปผลรายงานการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๑
วาระกลุ่มการพัฒนานโยบาย (Policy Development Section: POL)
ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔
๑. การติดตามผลการดำเนินกลยุทธด้านสิทธิของคนพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกส่วน รวมถึงการปฏิบัติขององค์คณะต่าง ๆ ในสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาค ตามแผนเชิงกลยุทธที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ ว่าด้วยชนพื้นเมืองและชนเผ่า ค.ศ. ๑๙๘๙
ความเป็นมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ GB ได้รับรองกลยุทธเสริมสร้างแผนปฏิบัติของ ILO ด้านชนพื้นเมืองและชนเผ่า โดยกลยุทธนี้ให้ความสำคัญกับ (ก) การลดช่องว่างด้านการมีความรู้และการได้รับข้อมูลข่าวสาร (ข) การส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ (ค) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ และการเจรจาเชิงสถาบัน (ง) หลักการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน สภาพการทำงาน และความเป็นอยู่ (จ) ผู้หญิงชนพื้นเมืองและชนเผ่า (ฉ) การขยายขอบเขตความคุ้มครองทางสังคม และ (ช) ความเป็นหุ้นส่วน ซึ่งที่ประชุม GB เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ได้มอบหมายเพิ่มเติมให้ ILO ร่วมทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ของ UN และองค์กรระดับภูมิภาคต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกลยุทธนี้
ประเด็นนำเสนอ
การลดช่องว่างด้านการมีความรู้และการได้รับข้อมูลข่าวสาร
ชนพื้นเมืองและชนเผ่ามีจำนวนประมาณ ๔๗๖ ล้านคนทั่วโลก โดยมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกาและคาริบเบียน ร้อยละ ๘๖.๓ ของชนพื้นเมืองและชนเผ่าทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ มีสภาพการทำงานที่เลวร้าย และยากจน ร้อยละ ๔๗ ของคนงานที่เป็นชนพื้นเมืองและชนเผ่าไม่ได้รับการศึกษา ในการจะบรรลุตามเป้าประสงค์นี้ได้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงวิธีการรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยมีการจำแนกเพศและกลุ่มชนเผ่า
การส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๒ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศดำเนินกิจกรรมจำนวนมากเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ การให้สัตยาบัน และการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสำหรับผู้บริหารระดับสูงในช่วงการประชุม UN Permanent Forum on Indigenous Issues การจัดการเจรจาระดับโลกเกี่ยวกับอุปสรรคในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๘ การสนับสนุนประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ จัดกิจกรรมในเดือนมีนาคมเนื่องในวันครบรอบ ๓๐ ปีแห่งการรับรองอนุสัญญา การจัดทำเอกสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอนุสัญญา และการจัดทำคู่มือประกอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาสำหรับผู้พิพากษาและนักกฎหมาย รวมถึง การเตรียมจัดอบรมระหว่างภูมิภาคขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ แต่ถูกระงับไปเนื่องจากวิกฤติโควิด-๑๙ และคาดว่าจะสามารถจัดการอบรมนี้ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔
การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ และการเจรจาเชิงสถาบัน
ความยากลำบากในการดำเนินงานด้านนี้ คือ ไม่มีผู้แทนที่แท้จริงของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าในการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ และการเจรจาเชิงสถาบัน กับภาครัฐและหุ้นส่วนทางสังคมอื่น ๆ ILO จึงร่วมทำงานกับ Office of the UN Resident Coordinator และเข้าร่วมในโครงการเพื่อการพัฒนาของ UN เพื่อส่งเสริมให้ผู้แทนที่แท้จริงของชนพื้นเมืองและชนเผ่ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับ OECD และ UNHCR จัดทำโครงการแนวปฏิบัติความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในภูมิภาคละตินอเมริกาและคาริบเบียน
หลักการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน สภาพการทำงาน และความเป็นอยู่
ร้อยละ ๕๕ ของคนงานที่เป็นชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคการทำงานที่ไม่มีระบบการตรวจแรงงานที่เพียงพอ และร้อยละ ๗๓ อยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินการตรวจแรงงานได้ยากลำบาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายแรงงาน สหภาพแรงงาน และองค์กรอื่น ๆ ของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิแรงงาน ในการนี้ ILO ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสวีเดน และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสเปน ได้เข้าส่งเสริมเรื่องงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้หญิงชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าในประเทศบังกลาเทศ กัวเตมาลา และโบลิเวีย นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับประเทศบราซิล ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี ในการส่งเสริมสิทธิของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า รวมถึงการจัดทำโครงการ ILO’s Bridge Project โดยได้การสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านแรงงานบังคับในกลุ่มชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า
ผู้หญิงชนพื้นเมืองและชนเผ่า
ILO ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสวีเดนได้ทำการวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้หญิงชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า นอกจากนั้น ILO ยังเข้าส่งเสริมเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ให้กับผู้หญิงชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าที่เป็นเจ้าของกิจการในประเทศกัวเตมาลา และส่งเสริมความรู้เรื่องการจัดการด้านการเงินให้กับผู้หญิงชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าในอาร์เจนตินา
การขยายขอบเขตความคุ้มครองทางสังคม
ILO ทำการวิจัยเรื่องช่องว่างในการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า โดยได้พบว่ามีปัจจัยสำคัญจำนวนมากที่ทำให้ชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคมและบริการอื่น ๆ จากภาครัฐ เช่น การไม่มีบัตรประจำตัว ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม การไม่สามารถสื่อสารภาษากับภาครัฐ ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า ซึ่งการดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การหาหนทางในการขจัดปัจจัยอุปสรรคและขยายความคุ้มครองทางสังคมให้ทั่วถึง
ความเป็นหุ้นส่วน
ILO ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานด้านสิทธิแรงงานของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่ากับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใน UN และองค์กรระดับภูมิภาค โดยมีตัวอย่างผลสำเร็จสำคัญของการดำเนินงาน คือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ UN Chief Executives Board for Coordination ได้ออกประกาศ Call to Action โดยได้บรรจุหลักการของอนุสัญญา ๑๖๙ ในประกาศฉบับนี้ด้วย หรือ Inter-Agency Support Group on Indigenous Issue ได้นำประเด็นการคุ้มครองทางสังคมบรรจุไว้ในคู่มือเรื่อง ชนพื้นเมืองและโควิด-๑๙
การดำเนินต่อไป
ILO จะดำเนินงานเกี่ยวกับชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าต่อไปเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าประสงค์ กลยุทธฉบับนี้ โดยจะมุ่งให้ความสำคัญกับ การเสริมสร้างขีดความสามารถในระดับประเทศ การออกแบบกรอบงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกส่วน การส่งเสริมการปรึกษาหารือตามหลักการของอนุสัญญา ๑๖๙ การส่งเสริมหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานอย่างทั่วถึง การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้หญิงชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้และการคุ้มครองทางสังคม การจัดอบรมระหว่างภูมิภาคและการเจรจาระดับโลกเรื่องอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ และการร่วมทำงานต่อไปกับองค์กรอื่น ๆ ภายใต้ UN
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การ
(ก) ให้คำแนะนำแก่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศเรื่อง การดำเนินงานต่อไปเพื่อนำกลยุทธฉบับนี้มาปฏิบัติด้านชนพื้นเมืองและชนเผ่า
(ข) มอบผู้อำนวยการใหญ่ ILO ดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามแผนงานและงบประมาณประจำปี และจัดหาแหล่งงบประมาณพิเศษเพื่อการดำเนินงานตามกลยุทธ โดยคำนึงถึงแนวทางที่ได้จากการประชุมครั้งนี้
๒. งานที่มีคุณค่าและการมีผลิตภาพ
ความเป็นมา
การเสนอรายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของงานที่มีคุณค่าและการมีผลิตภาพต่อที่ประชุม GB เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนงานและงบประมาณ ให้เกิดผลลัพธ์ที่ ๔ วิสาหกิจที่มีความยั่งยืน เพื่อเป็นแหล่งสร้างงาน และแหล่งส่งเสริมนวัตกรรมและงานที่มีคุณค่า
ประเด็นนำเสนอ
ปฏิญญาแห่งศตวรรษและการมีผลิตภาพ
หลักการของปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO ช่วยให้เกิดผลิตภาพได้ การเจรจาทางสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งการมีผลิตภาพที่เพิ่มมากขึ้น โดยต้องส่งเสริมให้สถานประกอบการมีความยั่งยืนและแบ่งปันผลกำไรให้คนงานอย่างเป็นธรรม กระบวนการและวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดวงจรที่ผลักดันกันระหว่างการมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นและงานที่มีคุณค่า
การมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นและการแบ่งปันผลประโยชน์
ILO ให้ความสำคัญกับประเด็นการมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การมุ่งให้เกิดการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยในครั้งนั้น ILO มุ่งเน้นส่งเสริมการมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการมีความยุติธรรมทางสังคม และล่าสุดนี้ ILO มุ่งเน้นการส่งเสริมการมีผลิตภาพโดยการสร้างงานที่มีคุณค่าตามที่ปรากฏในหลักการของปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการแบ่งปันผลกำไรคืนสู่คนงานอย่างเหมาะสม
ก้าวต่อไปในศตวรรษที่สองของ ILO
การทำให้หลักการของปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO บังเกิดผลในความเป็นจริงได้นั้น ก่อนอื่นต้องทำให้สถานประกอบการมีความยั่งยืนและแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการมีผลิตภาพสูงขึ้นให้กับคนทำงาน ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา การมีผลิตภาพแรงงานลดลงในหลายประเทศไม่เว้นแม้แต่ในประเทศรายได้สูงหรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (major emerging economy) แต่ในบางประเทศ เช่น จีน อินเดีย และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศเหล่านี้ กลุ่มประเทศที่มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นมีตำแหน่งงานจำนวนมากสำหรับแรงงานมีฝีมือระดับสูง และมีตำแหน่งงานภาคบริการที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากสำหรับแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ เช่น งานบริการในภาคการขนส่ง ภาคที่พักอาศัย หรือการจัดหาอาหาร เป็นต้น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและจำนวนประชากรโลก ตลอดจน วิกฤตโควิด-๑๙ ที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในหลายประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายด้านการพัฒนาสถาน-ประกอบการและการยกระดับทักษะฝีมือขึ้นมารองรับ โดยมีประเด็นท้าทาย คือ การกำหนดนโยบายเชิงนวัตกรรมเพื่อบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการคุ้มครองสุขภาพประชาชน
ในการก้าวสู่ศตวรรษที่สองนี้ ILO จะดำเนินงานโดยคำนึงถึงการสร้างวงจรแห่งความรุ่งเรือง (virtuous cycle) ระหว่างการมีผลิตภาพและการมีงานทำอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดกรอบงานเชิงนโยบายแบบบูรณาการ โดยทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันว่า จะไม่มีการเลือกให้สถานประกอบการอยู่รอด โดยแลกกับ (trade-off) การสูญเสียงานที่มีคุณค่า
การสร้างยุคใหม่แห่งการเจริญเติบโตทางผลิตภาพและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างเป็นธรรม
การแข่งขันที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัล คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางผลิตภาพ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องว่างด้าน การพัฒนาด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาน-ประกอบการขนาดย่อม เล็ก และกลาง (MSMEs) หรือในประเทศรายได้ต่ำ หลายประเทศเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยไม่มีตำแหน่งงานที่มีคุณภาพเพื่อรองรับคนที่ออกจากภาคเกษตรกรรมในชนบท หรือไม่สามารถพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะฝีมือพอที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ คนกลุ่มนี้จึงต้องทำงานที่มีผลิตภาพต่ำในภาคบริการนอกระบบ สิ่งที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างผลิตภาพของกิจการในภาคนอกระบบและต่อการเปลี่ยนกิจการในภาคนอกระบบให้เป็นภาคในระบบ คือ การทำให้กิจการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาหรือมีโอกาศยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ของรัฐบาล การพัฒนาทักษะของคนงานและเจ้าของกิจการ ระบบการเสียภาษีที่เป็นธรรมและไม่ซับซ้อน การมีนโยบายต่อต้านการทุจริต และบรรยากาศการทำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ที่มีความมั่นคง
แนวทางด้านระบบนิเวศที่ก่อให้เกิดการมีผลิตภาพที่ยั่งยืนและเข้มแข็งเพื่องานที่มีคุณค่า
ILO เสนอแนวคิดการสร้างระบบนิเวศของการมีผลิตภาพ (productivity ecosystem) เพื่อนำมาซึ่งการมีผลิตภาพที่ยั่งยืนและเข้มแข็งเพื่องานที่มีคุณค่า ซึ่งมีโครงสร้าง ๓ ระดับ คือ
- ระดับมหภาค ประกอบด้วย นโยบายการมีงานทำ การคุ้มครองทางสังคม ธรรมาภิบาล การเงิน หลักนิติ-ธรรม นโยบายสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค กฎหมายและข้อบังคับ ความเป็นผู้ประกอบการ นโยบายการค้า ความยุติธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน ค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรม สันติภาพและความมั่นคง เทคโนโลยี การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การแข่งขันที่เป็นธรรม และการเจรจาทางสังคม
- ระดับกลาง ประกอบด้วย ความเท่าเทียมทางเพศ ทักษะฝีมือ การทำตลาด งานเชิงส่งเสริม การวิจัยและพัฒนา มาตรฐานต่าง ๆ เครือข่ายทางธุรกิจ และการเจรจาทางสังคม
- ระดับจุลภาค ประกอบด้วย แนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการ ขั้นตอนการทำธุรกิจ ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน สภาพการทำงาน การแบ่งปันผลกำไร และการเจรจาทางสังคม
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมอบให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศดำเนินงานตามแผนงานของ ILO และติดตามผลปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงานต่อไป โดยคำนึงถึงแนวทางซึ่งได้จากการอภิปรายเรื่อง งานที่มีคุณค่าและการมีผลิตภาพ ในการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๑)
๓. กลยุทธความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ ILO ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๘: แผนการปฏิบัติ
ความเป็นมา
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓) มีมติรับรองกลยุทธความร่วมมือเพื่อการพัฒนา พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๘ และมอบให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดทำแผนการปฏิบัติตามกลยุทธความร่วมมือฉบับนี้ เสนอให้ที่ประชุมครั้งนี้ได้พิจารณาและรับรอง
ประเด็นเพื่อพิจารณา
กลยุทธความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ ILO พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๘ ประกอบด้วยเนื้อหา ๔ ส่วน โดยสำนักงานฯ เสนอให้แต่ละส่วนมีแผนการปฏิบัติ ดังนี้
ส่วนที่ ๑ การให้บริการสมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO
๑.๑ ให้บริการด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO ตามลำดับความสำคัญและสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถเชิงสถาบัน
๑.๒ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนชาติด้านงานที่มีคุณค่า และสามารถจัดโครงการและแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ได้ด้วยตนเอง
๑.๓ ส่งเสริมให้สมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO มีส่วนร่วมในแผนงานและความเป็นหุ้นส่วนในระดับประเทศของสหประชาชาติ
๑.๔ ส่งเสริมและขยายการพัฒนาขีดความสามารถและการแลกเปลี่ยนด้านการสื่อสารข้อมูลระหว่างสมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO กับหุ้นส่วนอื่น ๆ ในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และความร่วมมือสามฝ่ายกับประเทศกำลังพัฒนา (South-South and triangular cooperation)
ส่วนที่ ๒ ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยึดโยงทางนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกัน
๒.๒ ส่งเสริมให้มีการได้ผลประโยชน์เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) และวาระงานที่มีคุณค่า ให้กับเครือข่าย พันธมิตร หุ้นส่วน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในระดับสากล ร่วมถึงหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติในระดับประเทศ ภูมิภาค และสากล
๒.๒ ทำงานร่วมกันให้มากขึ้นกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค เพื่อให้สามารถหาความช่วยเหลือด้านการเงินในระดับประเทศสำหรับดำเนินนโยบายด้านงานที่มีคุณค่าได้
๒.๓ พัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของ ILO ในการริเริ่มหาความช่วยเหลือทางการเงินหรือกำหนดกรอบงานด้านการหาเงินทุน เพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมงานที่มีคุณค่า
๒.๔ ทำงานร่วมกันให้มากขึ้นกับภาคเอกชนและองค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ (เช่น NGOs หรือมหาวิทยาลัย) เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงานที่มีคุณค่า
ส่วนที่ ๓ ความเป็นหุ้นส่วนด้านการจัดหาเงินทุน
๓.๑ เสริมสร้างการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ ILO เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนงานประจำปีงบประมาณของ ILO โดยการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนที่กันไว้สำหรับดำเนินงานให้ได้ผลลัพธ์เชิงนโยบายตามที่กำหนด
๓.๒ ขยายแหล่งทุนที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงิน
๓.๓ ขยายขอบเขตของแหล่งทุนและหุ้นส่วนด้านการจัดหาเงินทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ส่วนที่ ๔ ความมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ด้านงานที่มีคุณค่า และความโปร่งใส
๔.๑ เสริมสร้างการบริหารจัดการองค์กร โดยการตรวจติดตามและการจัดทำรายงานการใช้ทรัพยากรและผลลัพธ์จากการใช้ทรัพยากรดังกล่าว
๔.๒ ปรับปรุงผลการดำเนินงานและการให้บริการต่าง ๆ ของ ILO ในทุกส่วน รวมถึง สำนักงานใหญ่ เจ้าหน้าที่ภาคสนาม และศูนย์ฝึกอบรม ณ เมืองตูริน
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การรับรองแผนการปฏิบัติตามที่เสนอในเอกสาร GB.341/POL/4 และมอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ดำเนินการตามแผนดังกล่าว โดยคำนึงถึงแนวทางซึ่งที่ประชุมได้ให้ไว้
๔. กิจกรรมเชิงส่งเสริมเกี่ยวกับปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการด้านวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม และการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนอก ILO
ความเป็นมา
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๒) ได้ให้แนวทางการดำเนินกิจกรรมเชิงส่งเสริมเพื่อให้ประเทศสมาชิก หุ้นส่วนทางสังคม และวิสาหกิจต่าง ๆ ยอมรับในปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการด้านวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม (the Tripartite Declaration of Principles concerning Multinational Enterprises and Social Policy: MNE Declaration) และเสนอแนะว่า ILO ควรส่งเสริมประเด็นภาคธุรกิจและงานที่มีคุณค่าให้เกิดการยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ
ประเด็นรายงาน
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศรายงานผลการดำเนินงานด้านกิจกรรมเชิงส่งเสริมเกี่ยวกับ MNE Declaration ต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาให้คำแนะนำสำหรับการดำเนินงานต่อไป ดังนี้
กิจกรรมส่งเสริม MNE Declaration ในกลุ่มรัฐบาล หุ้นส่วนทางสังคม และวิสาหกิจ
- จัดทำ MNE Declaration web portal ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจน เป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้และแนวทางในการดำเนินกิจกรรมของ ILO โดยจัดทำเป็น ๑๗ ภาษา รวมถึงภาษาไทย
- การจัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ MNE Declaration โดยศูนย์ฝึกอบรม ณ เมืองตูริน
- การจัดอบรมเพื่อกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวข้องกับ MNE Declaration ในระดับประเทศให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้แทนจากองค์กรของนายจ้างและของคนงาน และวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และละตินอเมริกา
- การสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านการจัดอบรมเพื่อกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับ MNE Declaration ระหว่างสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ และองค์กรอื่น ๆ ภายนอกสหประชาชาติ
- การจัดประชุมทางเทคนิคที่เกี่ยวกับ MNE Declaration
การติดตามผลในระดับภูมิภาค
- การจัดทำรายงานระดับภูมิภาคเรื่องการส่งเสริมการปฏิบัติตาม MNE Declaration ในแอฟริกา เพื่อใช้ประกอบการประชุมภูมิภาคแอฟริกา ครั้งที่ ๑๔ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๒
- การออกแบบสอบถามเกี่ยวกับ MNE Declaration ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อรวบรวมข้อมูลมาจัดทำเป็นรายงานระดับภูมิภาคเรื่องการส่งเสริมการปฏิบัติตาม MNE Declaration ในเอเชียและแปซิฟิก สำหรับใช้ประกอบการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๑๗ ซึ่งจะได้หาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อจัดการประชุมต่อไป
- การเตรียมการเพื่อจัดการประชุมภูมิภาคยุโรป ครั้งที่ ๑๑ โดยมีวาระเกี่ยวกับ MNE Declaration รวมอยู่ด้วย
การส่งเสริมในระดับประเทศ รวมถึง การแต่งตั้งผู้ประสานงานระดับประเทศโดยไตรภาคี
- การให้ความช่วยเหลือเพื่อส่งเสริม MNE Declaration ในระดับประเทศแก่ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ตามที่ร้องขอ
- การสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งผู้ประสานงานระดับประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม MNE Declaration ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ
- การส่งเสริมการเจรจาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม MNE Declaration ระหว่างประเทศเจ้าของวิสาหกิจและประเทศที่ตั้งของวิสาหกิจ
- การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการปฏิบัติตาม MNE Declaration ระหว่างประเทศสมาชิกต่าง ๆ
การให้ความช่วยเหลือระดับประเทศ รวมถึง การจัดทำความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
- การจัดทำโครงความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาและคาริบเบียน เพื่อส่งเสริม MNE Declaration และเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙
- การจัดทำโครงการความร่วมมือกับประเทศในเอเชีย เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ตามหลักการของ MNE Declaration โดยโครงการความร่วมมือที่มีกับประเทศไทยมุ่งเน้นกิจการชิ้นส่วนรถยนต์และการเกษตร
- การทำกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถและกระตุ้นความตระหนักรู้ ภายใต้โครงการงานที่มีคุณค่าและวิสาหกิจ ในประเทศกลุ่มแอฟริกา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากฝรั่งเศส
ILO Helpdesk for Business
ILO Helpdesk for Business เริ่มให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลและคำแนะนำตามที่มีผู้ร้องขอ โดยได้ตอบคำถามและให้คำแนะนำเฉลี่ย ๑๒๐ ครั้งต่อปี และมีการเผยแพร่บริการข้อมูลข่าวสารและเอกสารวิชาการอื่น ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย โดยมีผู้เข้าใช้บริการทางอินเตอร์เน็ตกว่า ๘๗๐,๐๐๐ คน
เครื่องมือสำหรับวิสาหกิจ
ILO ได้จัดทำแนวปฏิบัติและคู่มือการอบรมด้านมาตรฐานแรงงานในกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานโลก ร่วมถึง การจัดหลักสูตร E-learning โดยจัดทำเป็นภาษาจีน อังกฤษ เมียนมา ไทย และเวียดนาม และยังได้จัดทำคู่มือ Empowering Women at Work ภายใต้โครงการ WE Empower ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสหภาพยุโรป ILO และโครงการ UN Women
การเจรจาระหว่างสหภาพและบริษัท
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้ให้แนวทางที่เป็นกลางสำหรับการเจรจาการเจรจาระหว่างสหภาพและบริษัทให้บรรลุผล และมีการใช้ช่องทาง ILO Helpdesk of Business เพื่อส่งเสริมการเจรจาระหว่างสหภาพและบริษัท
การร่วมมือด้านการพัฒนานอกขอบเขต ILO
ILO มีส่วนในการส่งเสริมความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ภายใต้สหประชาชาติ และ OECD เช่น การมีส่วนร่วมในการประชุมระดับสูงต่าง ๆ ของสหประชาชาติ การ่วมจัดทำแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ของสหประชาชาติ และ OECD เป็นต้น
แนวทางต่อไปในการส่งเสริม MNE Declaration
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจะค้นหาหนทางต่าง ๆ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเนินงานต่าง ๆ ที่มีกับองค์กรระดับภูมิภาค และหาหนทางในการร่วมทำงานกับองค์กรระดับภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับ MNE Declaration
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ค้นหาทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้กับปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วย หลักการด้านวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม และการนำไปปฏิบัติโดยประเทศสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรระดับภูมิภาค และวิสาหกิจต่าง ๆ โดยคำนึงถึงแนวทางที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ และให้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับกิจกรรมเชิงส่งเสริมต่อที่ประชุม GB ที่จะมีขึ้นในอนาคต
————————————————–