สรุปผลประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๑ วาระกลุ่มกิจกรรมองค์กร (Institutional Section)
ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔
๑. วาระการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในอนาคต
ความเป็นมา
สืบเนื่องจากวิกฤติโควิด-๑๙ ทำให้มีการเลื่อนการจัดประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ส่งผลให้วาระการประชุมที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไม่สามารถจัดให้เป็นไปตามกำหนดเดิมได้ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจึงพิจารณาถึงมติต่าง ๆ ของที่ประชุม GB เกี่ยวกับหัวข้อของการประชุมใหญ่ฯ และคำแนะนำของคณะทำงานไตรภาคีตามกลไกการทบทวนมาตรฐานแรงงานเกี่ยวกับการปรับปรุงตราสารฉบับเก่าและการกำหนดมาตรฐานแรงงานฉบับใหม่ ตลอดจน road map การดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาจัดทำเป็นข้อเสนอ เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาตัดสินใจ
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมีมติ
- กำหนดให้วาระการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๕๖๕) มีหัวข้อเกี่ยวกับงานที่มีคุณค่า และเศรษฐกิจเชิงสังคมที่เป็นปึกแผ่น (การอภิปรายทั่วไป)
- กำหนดให้วาระการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๑๒ และ ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๗-๒๕๖๘) มีหัวข้อเกี่ยวกับ การคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานจากอันตรายทางชีวภาพ (การอภิปรายเพื่อกำหนดมาตรฐาน และการอภิปรายครั้งที่สอง)
- มอบสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดการประชุมไตรภาคีผู้เชี่ยวชาญเรื่อง งานที่มีคุณค่าในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (platform economy) ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. ๒๕๖๕
- มอบสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔) และ
- สืบเนื่องจากการเลื่อนการจัดประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ ซึ่งมีวาระการอภิปรายหมุนเวียนเรื่อง การคุ้มครองทางสังคม (การประกันสังคม) อยู่ด้วย ทำให้กระทบกับรอบการอภิปรายหมุนเวียนตามรอบห้าปีที่ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๒๘ ได้รับรองไว้ ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดรอบการอภิปรายหมุนเวียน ดังนี้
- วาระเกี่ยวกับการมีงานทำ ใน พ.ศ. ๒๕๖๕
- วาระเกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคม (การคุ้มครองแรงงาน) ใน พ.ศ. ๒๕๖๖
- วาระเกี่ยวกับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ใน พ.ศ. ๒๕๖๗
๒. วาระการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในอนาคต: ระเบียบวิธีเฉพาะสำหรับการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙
ความเป็นมา
การจัดการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๙ ได้เลื่อนจาก พ.ศ. ๒๕๖๓ มาเป็น พ.ศ. ๒๕๖๔ เนื่องจากมาตรการปิดเขตแดนและการระงับการเดินทางทางอากาศเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งการจัดประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จะมีขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของสุขภาพอนามัยและอุปสรรคด้านการเดินทาง
ประเด็นเพื่อพิจารณา
คณะทำงานไตรภาคีเพื่อการกลั่นกรองงานของ ILO เสนอให้มีการจัดประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ พ.ศ. ๒๕๖๔ ในรูปแบบ (GB.341/INS/3/2 วรรค ๓) ดังนี้
(ก) เป็นการประชุมทางไกลผ่านจอภาพเต็มรูปแบบ ยกเว้น เจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และฝ่ายเลขานุการ ตามที่สถานการณ์ด้านความปลอดภัยของสุขภาพอนามัยและการเดินทางจะเอื้ออำนวย
(ข) ใช้เวลาในการประชุม ๒ สัปดาห์ครึ่งติดต่อกัน โดยให้มีการประชุมเต็มคณะและการประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ ๓ – ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ (รวมวันเสาร์) ส่วนพิธีเปิด การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ ILC และคณะกรรมการต่าง ๆ ให้มีขึ้นในช่วงวันที่ ๑๗ – ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และให้จัดการประชุม GB หลังปิดการประชุมใหญ่ฯ ๑ สัปดาห์
(ค) มีรูปแบบที่คำนึงถึงเขตเวลาและมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบที่แตกต่างกัน
(ง) มีการปรับขั้นตอนการประชุมและชั่วโมงการประชุม เพื่อให้เหมาะสมกับข้อจำกัดด้านเวลาและการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุม
คณะทำงานไตรภาคีฯ เห็นควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิก GB เพื่อทำหน้าที่ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗ ในช่วงสัปดาห์ของการประชุม ILC และเห็นควรให้มีวาระการประชุม ดังนี้
วาระประจำ
หัวข้อที่ ๑ รายงานของประธาน GB และผู้อำนวยการใหญ่ ILO ประกอบด้วย
– รายงานของผู้อำนวยการใหญ่ ILO เรื่อง การดำเนินงานตามแผนงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒
– รายงานของผู้อำนวยการใหญ่ ILO เกี่ยวกับประเด็นผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติโควิด-๑๙
– รายงานของผู้อำนวยการใหญ่ ILO เรื่อง สถานการณ์ของคนงานในเขตยึดครองของอาหรับในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และ พ.ศ. ๒๕๖๓
– รายงานของประธาน GB เกี่ยวกับผลการดำเนินงานในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๓ และรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔
หัวข้อที่ ๒ แผนงานและงบประมาณ และประเด็นปัญหา ประกอบด้วย
– การรับรองแผนงานและงบประมาณสำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๖
– การรับรองอัตราส่วนค่าบำรุงสมาชิก ILO ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕
– การรับรองรายงานผลการตรวจประเมินด้านการเงินในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และ พ.ศ. ๒๕๖๓
– การอนุญาตให้ประเทศสมาชิกที่ค้างจ่ายค่าบำรุงสมาชิก ILO สามารถลงคะแนนเสียงต่าง ๆ ในการประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ ได้
– การแต่งตั้งสมาชิกขององค์คณะตุลาการทางการปกครองของ ILO สมาชิกของคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญ ILO
หัวข้อที่ ๓ ข้อมูลและรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อแนะ
วาระจร
หัวข้อที่ ๔ การยกเลิกอนุสัญญาจำนวน ๘ ฉบับ และการเพิกถอนอนุสัญญาจำนวน ๑๐ ฉบับ และข้อแนะจำนวน ๑๑ ฉบับ
หัวข้อที่ ๕ วาระอื่น ๆ ตามการพิจารณาของ GB
การประชุมวาระจรในหัวข้อซึ่งเป็นการอภิปรายเรื่อง ความไม่เท่าเทียมในโลกแห่งการทำงาน การคุ้มครองทางสังคม และทักษะฝีมือ รวมถึงวาระของคณะกรรมการด้านการปฏิบัติตามมาตรฐาน (Committee on the Application of Standards: CAS) ให้เลื่อนออกไปก่อน โดยจะพิจารณาเกี่ยวกับรูปแบบและกำหนดการประชุมต่อไป เพื่อให้สมาชิก GB พิจารณารับรองทางหนังสือโต้ตอบภายในเดือนเมษายน ๒๕๖๔
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมีมติ
- รับรองกรอบงานทั่วไปสำหรับการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ ตามเอกสารประกอบการประชุม 341/INS/3/2 วรรค ๓ โดยให้คำนึงเป็นพิเศษถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ในการเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างของเส้นแบ่งเวลา และมาตรฐานการเชื่อมต่อสัญญานการประชุมทางไกล
(ข) ให้ยังคงไว้ซึ่งหัวข้อวาระการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ ตามรายการในเอกสารประกอบการประชุม GB.341/INS/3/2 วรรค ๓ ดังนี้
(๑) VI. ความไม่เท่าเทียม และโลกแห่งการทำงาน (การอภิปรายทั่วไป)
(๒) V. การอภิปรายหมุนเวียนเรื่อง วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธของการคุ้มครองทางสังคม (การประกันสังคม)
(๓) IV. ทักษะฝีมือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (การอภิปรายทั่วไป)
(ค) ให้แบ่งการจัดการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ ออกเป็น ๓ ช่วง ดังนี้
(๑) วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นวันเปิดการประชุม เพื่อเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ประจำการประชุม แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประชุมวาระทางเทคนิคและวาระประจำ และรับรองการปรับแก้ข้อบังคับการประชุมและวิธีการประชุม ตามที่จำเป็นต่อการประชุมใหญ่ฯ ที่จัดในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ
(๒) วันที่ ๓-๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ การประชุมตามวาระที่กำหนด ยกเว้นวาระตามข้อ (ข) (๑) และ (๓) ข้างต้น และให้ที่ประชุมใหญ่ฯ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ๒ คณะ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการจัดประชุมวาระตามข้อ (ข) (๑) และ (๓) โดยใช้เวลา ๒ สัปดาห์ครึ่ง ซึ่ง GB จะเป็นผู้พิจารณาให้ ความเห็นชอบต่อกำหนดวันประชุมของคณะทำงานทั้งสองต่อไปทางหนังสือโต้ตอบ
(๓) วันสุดท้ายของการประชุมใหญ่ต้องมีการประชุมเต็มคณะเพื่อรับรองรายงานและข้อสรุปของคณะทำงาน ๒ คณะเกี่ยวการประชุมวาระตามข้อ (ข) (๑) และ (๓) และปิดการประชุม
(ง) รับทราบถึง การประชุมกลุ่มต่าง ๆ และการประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการ อันอาจจัดขึ้นในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นวันเปิดการประชุม และเริ่มงานอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔
(จ) ให้จัดการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๒ ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ รวมถึง ให้เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ GB เพื่อทำหน้าที่ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ โดยยกเว้นการบังคับใช้วรรค ๒.๑.๓ ของข้อบังคับคณะประศาสน์การ[1] ไว้ชั่วคราว เพื่อให้สามารถเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ GB ได้ก่อนการทำการปิดประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙
(ฉ) มอบสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดการปรึกษาหารือไตรภาคี เพื่อหาข้อสรุปเรื่อง การจัดประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ กำหนดการประชุม และวิธีการเฉพาะที่จะนำมาใช้ในการประชุม รวมถึง ขั้นตอนการทำงานด้านการยกร่างเอกสารผลลัพธ์ของที่ประชุมใหญ่ฯ เรื่อง การรับมือกับโควิด-๑๙ สำหรับเสนอให้สมาชิก GB พิจารณาให้ความเห็นทางหนังสือโต้ตอบ ก่อนสิ้นเดือนเมษายน ๒๕๖๔ และ
(ช) ขอเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมปรึกษาหารือไตรภาคีแบบไม่เป็นทางการ เพื่อตรวจสอบวิธีการทำงานของคณะกรรมการอนุวัติการมาตรฐานแรงงานในที่ประชุมใหญ่ (the committee on the Application of Standards: CAS) ในประเด็นการจัดลำดับความสำคัญของงานและการปรับวิธีการทำงานเพื่อลดภาระงาน สำหรับเสนอให้ CAS พิจารณา
๓. โควิด-๑๙ และโลกแห่งการทำงาน
ความเป็นมา
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ได้อภิปรายกันถึงประเด็นโควิด-๑๙ และโลกแห่งการทำงาน โดยมีความเห็นภายใต้ปฏิญญาแห่งศตวรรษซึ่งรับรองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ นั้น ILO มีหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโลกแห่งการทำงาน และคิดค้นวิธีการ ต่าง ๆ ที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อนำไปสู่อนาคตของงาน จึงมอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO (ก) จัดทำข้อเสนอสำหรับการรับมือระดับโลกที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ ได้อย่างยั่งยืนและสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเร่งรัดการปฏิบัติตามปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO และคำนึงถึงแนวทางที่ได้จากการประชุม และ (ข) จัดการปรึกษาหารือไตรภาคี เพื่อจัดทำข้อเสนอที่เหมาะสมเกี่ยวกับรูปแบบของการรับมือระดับโลกข้างต้นเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๔) และเพื่อหาทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ด้านการรับมือสำหรับเสนอให้ที่ประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๙ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔) พิจารณา
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดการปรึกษาหารือไตรภาคีเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอที่เหมาะสมเกี่ยวกับรูปแบบของการรับมือระดับโลกที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ เมื่อเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ผลจากการปรึกษาหารือไตรภาคีดังกล่าวได้นำมาซึ่งโครงสร้างองค์ประกอบ (building blocks) ของร่างข้อเสนอฯ เพื่อให้ที่ประชุมให้ความเห็น ก่อนนำไปจัดทำเป็นร่างเอกสารผลลัพธ์ของที่ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ ๑๐๙ ต่อไป
ประเด็นเพื่อพิจารณา
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศนำเสนอแนวทาง (ภาคผนวกของเอกสาร GB.341/INS/4) การจัดทำร่างเอกสารผลลัพธ์ของที่ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ ๑๐๙ เรื่อง การรับมือระดับโลกโดยมีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-๑๙ โดยมีโครงสร้างองค์ประกอบของเอกสารที่จะจัดทำต่อไป ดังนี้
ก. การกล่าวถึงผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อโลกแห่งการทำงาน
ข. การอ้างอิงถึงปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO เพื่อเป็นหลักพื้นฐานของการรับมือระดับโลกเพื่อการฟื้นตัวโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง
ค. การจัดทำแผนปฏิบัติเร่งด่วนเพื่อการฟื้นตัวโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง โดยประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีหน้าที่
– นำปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO มาปฏิบัติ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ดีกว่าปัจจุบัน
– สร้างความยึดโยงทางนโยบาย ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความร่วมมือ ในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เพื่อนำไปสู่มิติของโลกในทิศทางเดียวกัน
– กำหนดเป้าหมายให้เกิดการมีงานทำโดยสมบูรณ์และมีผลิตภาพ และให้เกิดงานที่มีคุณค่า โดยการ
๑. กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในวงกว้างและการสร้างงาน
๒. ให้การสนับสนุนในวงกว้างด้านรายได้ครัวเรือนและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตลาดแรงงาน
๓. สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยความสามารถในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และความคุ้มครองทางสังคมและคนงาน ที่เข้มแข็งกว่าเดิม
๔. ใช้การเจรจาทางสังคมเพื่อกำหนดวิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างมีความยั่งยืน
ง. การกำหนดบทบาทของ ILO ในการฟื้นตัวโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง โดยระบุกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ไว้ในแผนงานและงบประมาณประจำปี และแผนกลยุทธของ ILO ภายในขอบเขต ดังนี้
– ส่งเสริมกลยุทธการฟื้นตัวโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ของประเทศสมาชิก
– ดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งด้านการจัดการเชิงสถาบันกับองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาค และอื่น ๆ เพื่อให้การฟื้นตัวโดยมีคนเป็นศูนย์กลางดำเนินไปอย่างมีความยึดโยงซึ่งกันและกัน
– ดำเนินงานอย่างเต็มที่เพื่อให้องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับ ILO
– มีส่วนร่วมดำเนินงานภายใต้ระบบสหประชาชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคีในทุก ๆ ด้านของสหประชาชาติ เพื่อรับมือกับโควิด-๑๙
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การให้แนวทางเรื่อง โครงสร้างองค์ประกอบของร่างเอกสารผลลัพธ์เรื่อง การรับมือระดับโลกเพื่อการฟื้นฟูโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ตามที่เสนอในภาคผนวกของเอกสาร GB.341/INS/4 และมอบให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดทำร่างเอกสารผลลัพธ์เพื่อการปรึกษาหารือต่อไป
๔. การติดตามผลข้อมติภายใต้ปฏิญญาแห่งศตวรรษว่าด้วยอนาคตของงาน: การเสนอให้บรรจุประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เข้าเป็นหนึ่งในหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานใน การทำงานของ ILO
ความเป็นมา
ที่ประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๕๖๒) ได้รับรองข้อมติเรื่อง ปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO เพื่ออนาคตของงาน ซึ่งเรียกร้องให้ GB พิจารณาโดยเร็วที่สุดถึงข้อเสนอให้เพิ่มประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ต่อมาที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๓) มีมติรับรอง Road map ขั้นตอนการทำงานเพื่อเพิ่มประเด็นดังกล่าวเข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน
ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศรายงานถึงแนวทางที่เกี่ยวข้องสำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาให้ความเห็นหรือให้ข้อแนะนำ เพื่อที่สำนักงานฯ จะได้รวบรวมเสนอให้ GB พิจารณาตัดสินใจในโอกาสต่อไปตามขั้นตอนการดำเนินงานใน Road map และเสนอให้ที่ประชุม GB ครั้งนี้พิจารณารับรอง Road map ที่แก้ไขใหม่ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตาม Road map ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ ได้
ประเด็นรายงาน
ประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพที่จะเพิ่มเข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานควรครอบคลุมอนุสัญญา ๓ ฉบับ และพิธีสาร ๑ ฉบับดังนี้
- อนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๕ ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. ๑๙๘๑
- พิธีสาร ค.ศ. ๒๐๐๒ ส่วนเสริมอนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๕
- อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๑ ว่าด้วยการให้บริการด้านอาชีวอนามัย ค.ศ. ๑๙๘๕
- อนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๗ ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. ๒๐๐๖
การเพิ่มประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานมีอยู่ ๒ ทางเลือก คือ
๑. การแก้ไขปฏิญญาว่าด้วย หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (ปฏิญญาปี ๑๙๙๘) เพื่อบรรจุประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เพิ่มเติมจากประเด็นหลักเดิมที่มีอยู่ ๔ ประการ[2]
หรือ
๒. การรับรองปฏิญญาฉบับใหม่ในประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นการเฉพาะ และมีกลไกการติดตามผล (follow-up mechanism) แยกจากกลไกการติดตามผลของปฏิญญาปี ๑๙๙๘
คำว่า “สภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ (safe and healthy working conditions)” ให้หมายความร่วมถึง สิทธิในการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ สิทธิในการมีงานทำที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ การป้องกันโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน และ/หรือ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
ประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพที่จะเพิ่มเข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน จะมีสถานะเช่นเดียวกับหลักการพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว คือ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับประเทศสมาชิกและไม่มีผลบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา เพียงแต่ประเทศสมาชิกที่ยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาที่อยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานฯ ในประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพต้องจัดทำรายงานประจำปี ซึ่งเป็นไปตามกลไกการติดตามผลของปฏิญญา สำหรับประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วจะมีผลผูกพันให้จัดทำรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาพื้นฐานที่ให้สัตยาบันแล้วทุกรอบ ๓ ปีเช่นเดียวกับอนุสัญญาพื้นฐานฉบับอื่น ๆ เว้นแต่ GB จะพิจารณากำหนดให้เป็นอย่างอื่น
ต่อประเด็นข้อกังวลของประเทศสมาชิกเรื่องผลผูกพันกับความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่อ้างอิงปฏิญญาปี ๑๙๙๘ ไว้ในข้อบทแรงงาน นั้น สำนักงานฯ ชี้แจงว่า การเพิ่มประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ส่งผลผูกพันโดยอัตโนมัติต่อ FTA ที่มีอยู่แล้ว คู่ภาคี FTA ต้องเจรจาเพื่อทำความตกลงกันใหม่หากประสงค์จะให้ FTA ฉบับเดิมครอบคลุมเพิ่มเติมถึงประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
สำนักงานฯ แจ้งว่า เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตาม Road map ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ ได้ และขอเสนอ Road map ที่แก้ไขใหม่ ดังนี้
– การประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔): พิจารณาประเด็นปัญหาสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และรูปแบบที่จะเสนอให้ที่ประชุม ILC พิจารณา รวมถึง การบรรจุให้เป็นวาระการประชุมทางเทคนิค ในการประชุม ILC สมัยที่ ๑๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๕
– การประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕): พิจารณาองค์ประกอบของร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะเสนอให้ที่ประชุม ILC สมัยที่ ๑๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๕ พิจารณา รวมถึง เตรียมการสำหรับการอภิปรายในที่ประชุมใหญ่
– ที่ประชุม ILC สมัยที่ ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๕๖๕): พิจารณาเอกสารผลลัพธ์เกี่ยวกับการเพิ่มประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมีมติ
(ก) รับรอง Road map ที่แก้ไขใหม่ เกี่ยวกับการเพิ่มประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงานของ ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ตามที่เสนอในเอกสาร GB.341/INS/6 และ
(ข) มอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO จัดเตรียมเอกสารสำหรับเสนอให้ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔) พิจารณา โดยคำนึงถึงแนวทางที่ได้จากการประชุมครั้งนี้
๕. รายงานความคืบหน้าในการปฏิรูปสหประชาชาติ
ความเป็นมา
เลขาธิการสหประชาชาติเสนอแนวทางการปฏิรูปสหประชาชาติเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๐ โดยให้มีการจัดทำระบบการพัฒนาที่มุ่งเน้นการควบรวมการทำงานบางอย่างไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาการทำงานที่กระจัดกระจายหรือซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ UN ซึ่งเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับ ILO คือ ILO เป็นองค์กรเดียวภายใต้ UN ที่มีระบบการทำงานแบบไตรภาคี การปฏิรูปสหประชาชาติอาจส่ง ผลกระทบต่อคุณลักษณะความเป็นองค์กรไตรภาคีของ ILO ซึ่งที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๕ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๒)ได้ทำการหารือกันถึงประเด็นผลกระทบนี้ และมีมติให้ผู้อำนวpการใหญ่ ILO ส่งเสริมความเป็นไตรภาคีและบทบาทของหุ้นส่วนทางสังคมของ ILO ให้เป็นที่ยอมรับใน UN โดยกำหนดเป็นกิจกรรรมไว้ในแผนปฏิบัติงานของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๓
ประเด็นรายงาน
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศรายงานถึงความคืบหน้าการปฏิรูปสหประชาชาติในประเด็นการกำหนดให้มีการทบทวนนโยบาย UN ในภาพรวมทุกรอบ ๔ ปี การปรับปรุงกรอบงานด้านการบริหารจัดการและภาระรับผิดชอบ การกำหนดกิจกรรมภายใต้กรอบงานความร่วมมือ การดำเนิน กลยุทธทางธุรกิจและการมีส่วนร่วมของ ILO การปรับโครงสร้างระบบการพัฒนาในสำนักงานผู้แทน UN ระดับประเทศและระดับภูมิภาค การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสำนักการประเมินระบบที่เป็นอิสระ การสนับสนุนทางการเงินแก่สำนักงานผู้แทน UN ประจำพื้นที่ และการปฏิบัติตามกรอบทางการเงิน นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังได้รายงานถึง แนวปฏิบัติและประเด็นท้าทายด้าน การทำงานร่วมกับผู้แทน UN ประจำพื้นที่ การมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO ในกรอบงานความร่วมมือและการวิเคราะห์ระดับประเทศ การระดมทรัพยากร การมีส่วนร่วม และขีดความสามารถ ของสำนักงาน ILO
สำนักงานฯ รายงานถึงการดำเนินงานตามมติ GB ภายใต้แผนปฏิบัติงานของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๓ ในประเด็นการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิก ILO ทั้งสามฝ่ายในระดับประเทศเพื่อให้สามารถเข้าร่วมในกระบวนงานด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนและกรอบงานความร่วมมือของ UN ได้ การนำเอาการปฏิรูปสหประชาชาติมาเป็นโอกาสในการส่งเสริมระบบไตรภาคีและการสนับสนุนประเทศสมาชิก ILO ให้บรรลุถึงงานที่มีคุณค่า และความคืบหน้าการบูรณาการสำนักงาน ILO และสำนักงานผู้แทน UN ในระดับประเทศ
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การ
(ก) รับทราบสถานการณ์ปัจจุบันของการปฏิรูประบบการพัฒนาของสหประชาชาติ และการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติงานของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๓ เพื่อนำการปฏิรูประบบการพัฒนาของสหประชาชาติมาเป็นโอกาสในการส่งเสริม ILO และการมีสมาชิกแบบไตรภาคีของ ILO
(ข) ขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ยังคงเข้ามีส่วนร่วมและดำเนินงานด้านการปฏิรูปดังกล่าว และส่งเสริมการมีสมาชิกแบบไตรภาคีเข้าไว้ในกรอบงานความร่วมมือของสหประชาชาติและการวิเคราะห์ประเทศ และ
(ค) ขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO รายงานเรื่อง ขั้นตอนการปฏิรูปสหประชาชาติ และมาตรการต่าง ๆ ที่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศนำมาปฏิบัติ ต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๖ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕) และที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๙ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖)
๖. การติดตามผลข้อมติภายใต้ปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงาน: ข้อเสนอเพื่อส่งเสริมให้เกิด ความยึดโยงของระบบพหุภาคี
ความเป็นมา
ปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงาน ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ ๑๐๘ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๒) กำหนดว่า ILO ต้องมีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีเพื่อให้บรรลุถึงงานในอนาคต โดยใช้วิธีที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจึงได้นำเสนอรายงานการร่วมทำงานกับองค์กรอื่น ๆ ภายใน UN และการดำเนินงานในระบบพหุภาคีระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ
ประเด็นนำเสนอ
ILO ได้ร่วมทำงานในระบบพหุภาคีกับองค์กรต่าง ๆ ดังนี้
- UN: โดยสามารถทำให้ตราสาร เอกสาร และคู่มือหลายฉบับของ UN บรรจุประเด็นสิทธิแรงงานหรือมาตรฐานแรงงานเข้าไว้ด้วย
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ: โดยสามารถโน้มน้าวให้กองทุนฯ คำนึงถึงประเด็นงานที่มีคุณค่าและความยุติธรรมทางสังคมในการดำเนินงานระดับประเทศ
- OECD: โดยส่งเสริมการดำเนินงานของ OECD ในประเด็นตลาดแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ การเจรจาต่อรอง และบทบาทของการเจรจาทางสังคม และการเผยแพร่หลักการของปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม
- กลุ่มธนาคารโลก: โดยการเข้าร่วมการประชุมและการปรึกษาหารือต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป
- องค์การการค้าโลก: โดยการเข้าร่วมกิจกรรม WTO Public Forum และการเชิญให้องค์การการค้าโลกเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุมที่สำคัญต่าง ๆ ของ ILO
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค: โดยสามารถทำให้ธนาคารฯ บรรจุประเด็นมาตรฐานด้านสภาพการทำงานเข้าไว้ในนโยบายต่าง ๆ ด้านการป้องกันความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
- สถาบันและองค์กรภาครัฐบาลระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น สหภาพแอฟริกา ประชาคมเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคแอฟริกา ASEAN องค์การแรงงานแห่งอาหรับ กลุ่มประเทศความร่วมมือ อ่าวอาหรับ เป็นต้น
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศเสนอให้แผนเชิงกลยุทธของ ILO พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๘ กำหนดให้ประเด็นต่อไปนี้มีความสำคัญลำดับต้นในการดำเนินงานในระบบพหุภาคีของ ILO อันได้แก่ นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อการมีงานทำมีผลิตภาพและสมบูรณ์ การคุ้มครองทางสังคม มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ แผนปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างตำแหน่งงานและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมอย่างเป็นธรรม มาตรฐานความเป็นอยู่และการค้า ทักษะฝีมือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความสอดคล้องต้องกันของสถิติต่าง ๆ เพื่อสร้างความยึดโยงทางนโยบาย และความเป็นหุ้นส่วนในระดับภูมิภาคและการร่วมทำงานกับกลุ่มรัฐบาลระหว่างประเทศในประเด็นทางสังคมและการมีงานทำ โดยทุกประเด็นให้คำนึงถึงเรื่อง โควิด-๑๙ และโลกแห่งการทำงานควบคู่ไปด้วย
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมอบผู้อำนวยการใหญ่ ILO ดำเนินการตามที่จำเป็นในการเสริมสร้างบทบาทของ ILO ในระบบพหุภาคี โดยการเพิ่มความร่วมมือและการเตรียมการเชิงสถาบันร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม ความยึดโยงของนโยบายในอันที่จะบรรลุถึงเป้าหมายอนาคตของงานโดยใช้วิธีที่มีคนเป็นศูนย์กลาง
๗. รายงานคณะทำงานไตรภาคีด้านการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการ ILO แบบไตรภาคี ตามเป้าหมายของปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO
ความเป็นมา
คณะทำงานไตรภาคีด้านการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการ ILO แบบไตรภาคี (TWGD) ตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ มีหน้าที่ปรึกษาหารือกันเพื่อเสนอความเห็นต่อ GB เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย ของสมาชิก ILO ทั้งสามฝ่าย ในประเด็นการบริหารองค์กรที่เป็นรูปแบบไตรภาคี โดยมุ่งเน้นให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกในทุกภูมิภาค ต่อมาที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ มีมติ TWGG ประชุมหารือกันเกี่ยวกับตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ เพื่อแก้ไขธรรมนูญ ILO[3] เพื่อจัดทำความเห็นเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๔)
ข้อพิจารณา
TWGD ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายเลขาธิการของกลุ่มนายจ้าง ฝ่ายเลขาธิการของกลุ่มลูกจ้าง และผู้แทนกลุ่มรัฐบาล ๔ ภูมิภาค ภูมิภาคละ ๑๔ ประเทศ (รวมประเทศไทย) ได้จัดประชุมหารือกันในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการให้สัตยาบัน[4] ตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ โดยมุ่งเน้นที่ประเด็นการยกเลิกสมาชิกถาวรกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรม ๑๐ ประเทศ (ประเทศบราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และให้สมาชิกคณะประศาสน์ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง เพื่อความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรอย่างแท้จริง
ในการประชุมหารือของ TWGD นั้น ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้จัดทำข้อมติสำหรับเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ เพื่อพิจารณา โดยสมาชิกที่ออกเสียงคัดค้านข้อมติดังกล่าว คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และ สหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ข้อมติของ TWGD มีสาระสำคัญ ดังนี้
ก. ขอแจ้งให้ GB ทราบว่า การกล่าวถึงประเทศยุโรปตะวันออกที่มีการปกครองแบบ “สังคมนิยม (the socialist)” ตามที่ปรากฏในมาตรา ๗ (๓) (บี) (i) ของตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงในปัจจุบันของภูมิภาคยุโรป และเป็นคำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยรวม
ข. ขอให้ GB เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรมอีก ๘ ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ พิจารณาให้ความสำคัญกับการให้สัตยาบันตราสารนี้
ค. ขอให้ประธาน GB พิจารณาเรื่อง การจัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานและความคืบหน้าของการให้สัตยาบันตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ILC เป็นประจำทุกปี
ง. ขอให้ GB พิจารณามอบหมายผู้อำนวยการใหญ่ ILO ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมให้การให้สัตยาบันตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ ในทุกประเทศสมาชิกที่ยังไม่ให้สัตยาบัน และรายงานท่าทีของทุกประเทศดังกล่าวต่อที่ประชุม GB ทุกสมัย
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การรับทราบรายงานของ TWGD และมีมติให้
(ก) เสนอข้อมติเรื่อง หลักการแห่งความเท่าเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิก ILO และการเป็นผู้แทนอย่างเป็นธรรมของทุกภูมิภาค ในการบริหารจัดการ ILO แบบไตรภาคี ตามภาคผนวกของเอกสาร GB.431/INS/9 ต่อที่ประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ เพื่อพิจารณารับรองต่อไป
(ข) ขยายระยะเวลาการทำงานของ TWGD ออกไปอีก ๑๒ เดือน
(ค) มอบ TWGD จัดทำรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔) และรายงานฉบับสุดท้ายเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕)
๘. คำชี้แจงของรัฐบาลเวเนซุเอลาต่อ รายงานของคณะกรรมาธิการไต่สวนเพื่อพิจารณา ข้อกล่าวหาว่า ประเทศเวเนซุเอลาไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๒๖ ว่าด้วยกลไกการกำหนดค่าจ้าง ค.ศ. ๑๙๒๘ อนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพ ในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ และอนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๔ ว่าด้วย การปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. ๑๙๗๖
ความเป็นมา
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๒) ได้รับทราบรายงานและ ข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนเกี่ยวกับสถานการณ์การปฏิบัติตามอนุสัญญาต่าง ๆ ตามคำร้องเรียนที่ มีต่อรัฐบาลเวเนซุเอลา ซึ่งคณะกรรมาธิการไต่สวนได้ส่งรายงานและข้อแนะนำต่อรัฐบาลเวเนซุเอลาเพื่อ พิจารณาดำเนินการ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า รัฐบาลเวเนซุเอลาควรดำเนินการ ตามข้อแนะนำโดยทันทีและให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓
รัฐบาลเวเนซุเอลามีหนังสือเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ แจ้งต่อ ILO ว่า ได้รับรายงานของ คณะกรรมาธิการไต่สวนแล้ว และไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำในรายงานของคณะกรรมาธิการไต่สวนได้ ทั้งหมด ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ ILO มีหนังสือเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ ตอบกลับต่อรัฐบาลเวเนซุเอลาว่า ตามมาตรา ๒๙ วรรค ๒ ของธรรมนูญ ILO นั้น รัฐบาลเวเนซุเอลาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อำนวยการใหญ่ ILO ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่ได้รับรายงานของคณะกรรมาธิการไต่สวนว่า จะยอมรับในคำแนะนำของ คณะกรรมาธิการไต่สวนหรือไม่ หากไม่ยอมรับคำแนะนำดังกล่าว ILO จะต้องส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่าง ประเทศพิจารณา
รัฐบาลเวเนซุเอลาได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓ และ วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๓ ถึง ILO เพื่อแจ้งผลความคืบหน้าการดำเนินงานในบางประเด็น ต่อมารัฐบาล เวเนซุเอลามีหนังสือลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ แจ้งต่อผู้อำนวยการใหญ่ ILO ว่า ไม่สามารถปฏิบัติตาม คำแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญของประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยินดีที่ปรับปรุงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว และจะยังคงรายงาน ความคืบหน้าใด ๆ ที่มีให้ ILO ทราบ พร้อมกับขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก ILO
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ได้พิจารณาเกี่ยวกับ ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน โดยที่ประชุมไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ ประธานการประชุมจึงตัดสินให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๔) โดยให้นำความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะของ ILO (CEACR) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๖๓ มาพิจารณาประกอบด้วย
ประเด็นเพื่อพิจารณา
ที่ประชุมจะพิจารณาว่า ควรให้ความร่วมมือทางวิชาการจาก ILO ตามที่ร้องขอในหนังสือของรัฐบาล เวเนซุเอลาเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยนำข้อสังเกตของ CEACR ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่มีต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๒๖ ๘๗ และ ๑๔๔ ของเวเนซุเอลา มาประกอบการพิจารณาด้วย หรือควรพิจารณาใช้มาตรการตามมาตรา ๓๓ ของธรรมนูญ ILO[5] เนื่องจาก รัฐบาลเวเนซุเอลาได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ แจ้งปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมีมติ
- ตำหนิรัฐบาลเวเนซุเอลาที่มีหนังสือลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ แจ้งไม่ยอมรับข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน
- รับทราบถึงพัฒนาการที่มีในปัจจุบัน และให้รัฐบาลเวเนซุเอลาจัดการประชุมเพื่อเจรจาทางสังคมภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ตามข้อแนะนำข้อ ๔ ย่อหน้าที่ ๔๙๗ ในรายงานของคณะกรรมาธิการไต่สวน
- มอบสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศทำงานร่วมกับเวเนซุเอลา ในการนำข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนมาปฏิบัติ และในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๒๖ ๘๗ และ ๑๔๔ ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ
- มอบผู้อำนวยการใหญ่ ILO รายงานให้สมาชิก GB ทราบภายในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เกี่ยวกับมาตรการใด ๆ ที่เวเนซุเอลานำมาปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน และความช่วยเหลือทางวิชาการใด ๆ ที่เวเนซุเอลาร้องขอและที่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้จัดให้
- รับทราบถึงความเป็นไปได้ในการมีข้อมติของที่ประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ เกี่ยวกับพัฒนาการตามข้อ (ข) (ค) และ (ง) ข้างต้น หากไม่มีความคืบหน้าในการนำข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนมาปฏิบัติ
- ให้บรรจุวาระการประชุมหัวข้อ “การพิจารณาถึงมาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมด รวมถึง มาตรการต่าง ๆ ที่สามารถกระทำได้ภายในธรรมนูญ ILO เพื่อให้เวเนซุเอลาปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนภายในเวลาที่กำหนด ไว้ในการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (พฤศจิกายน ๒๕๖๔)
- มอบผู้อำนวยการใหญ่ ILO นำเสนอรายงานสถานการณ์ให้ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (พฤศจิกายน ๒๕๖๔) ทราบถึง การปฏิบัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานตามข้อ (ข) และ (ค) และข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ เพื่อให้เวเนซุเอลาปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน รวมถึงความคืบหน้าใด ๆ ที่มีในการนำข้อแนะนำไปปฏิบัติ
๙. คำร้องเรียนเรื่อง รัฐบาลบังกลาเทศไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับที่ ๘๑ ว่าด้วย การตรวจแรงงาน ค.ศ. ๑๙๔๗ ฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ และฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ. ๑๙๔๙
ความเป็นมา
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๗ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๒) ได้พิจารณาว่า คำร้องเรียนกรณีประเทศบังกลาเทศไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๑ ๘๗ และ ๙๘ เข้าข่ายการยื่นคำร้องเรียนตามมาตรา ๒๖ ของธรรมนูญ ILO และมีมติรับคำร้องเรียนนี้
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ได้พิจารณาคำชี้แจงและข้อมูลเพิ่มเติมของรัฐบาลบังคลาเทศที่มีต่อคำร้องเรียนดังกล่าว ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
– กฎหมายแรงงานกำหนดให้สหภาพแรงงานต้องมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของลูกจ้างในสถานประกอบการ ทำให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างจำนวนมากรวบรวมสมาชิกได้ลำบาก โดยรัฐบาลชี้แจงว่า ข้อบังคับนี้แก้ไขจากจำนวนขั้นต่ำร้อยละ ๓๐ เป็นร้อยละ ๒๐ และผ่านความเห็นชอบจากองค์กรผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างในประเทศแล้ว
– ภาครัฐปฏิเสธการจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อกีดกันการใช้สิทธิจัดตั้งสมาคมของลูกจ้าง โดยรัฐบาลชี้แจงว่า ภาครัฐปฏิเสธการจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงานเฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรัฐบาลยินดีที่จะปรึกษาหารือไตรภาคี เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของ เกณฑ์ดังกล่าว
– รัฐบาลเพิกเฉยและปล่อยให้มีการเลือกปฏิบัติเพื่อเป็นการต่อต้านสหภาพแรงงาน โดยรัฐบาลชี้แจงข้อมูลการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีต่าง ๆ ตามคำร้อง
– คำร้องเรียนว่า กฎหมายบริหารเขตอุตสาหกรรมส่งออกไม่ให้สิทธิลูกจ้างในเขตอุตสาหกรรมส่งออกรวมตัวกันจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เจรจาต่อรอง และนัดหยุดงาน โดยรัฐบาลชี้แจงว่า ลูกจ้างในเขตอุตสาหกรรมส่งออกมีสิทธิในรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมภายใต้กฎหมายแรงงานสำหรับเขตอุตสาหกรรมส่งออก
– คำร้องเรียนว่า กฎหมายด้านการตรวจแรงงานไม่ครอบคลุมถึงเขตอุตสาหกรรมส่งออก โดยรัฐบาลชี้แจงว่า กฎหมายกำหนดให้แต่ละเขตอุตสาหกรรมส่งออกจัดทำระบบการตรวจแรงงานให้สอดคล้องกฎหมายที่มีอยู่
โดยที่ประชุมมีมติให้รัฐบาลบังคลาเทศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ และฝ่ายเลขาธิการกลุ่มนายจ้างและกลุ่มคนงาน และโดยการปรึกษาหารือกับหุ้นส่วนทางสังคมที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติตาม roadmap อย่างมีกรอบเวลาและตั้งเป้าผลลัพธ์ให้สามารถจัดการกับประเด็นปัญหาที่เห็นอย่างเด่นชัดตามคำร้องเรียนภายใต้มาตรา ๒๖ ของธรรมนูญ ILO ที่ยื่นต่อที่ประชุม ILC สมัยที่ ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๕๖๒) และให้รัฐบาลบังคลาเทศจัดทำรายงานความคืบหน้าใด ๆ ที่มีเสนอต่อที่ประชุม GB ในคราวถัดไป โดยจะมีมติเกี่ยวกับคำร้องเรียนนี้ในการประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ (มีนาคม ๒๕๖๔)
ประเด็นเพื่อพิจารณา
รัฐบาลบังกลาเทศได้รายงานความคืบหน้าว่า รัฐบาล ร่วมกับ สมาพันธ์นายจ้างแห่งบังกลาเทศ องค์การระหว่างประเทศของนายจ้าง สภาแรงงานภายในประเทศ และสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล ได้ประชุมหารือกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก ILO ซึ่งผลลัพธ์จากการประชุมหารือ คือ ร่าง road map เพื่อแก้ไขปัญหา อันประกอบด้วยกิจกรรมเพื่อการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน การบังคับใช้กฎหมายและการตรวจแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการป้องกันการเลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านสหภาพแรงงานและการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอร่าง road map ดังกล่าวให้ the Tripartite Consultative Council พิจารณา โดยรัฐบาลจะรายงานให้ ILO ทราบถึงความคืบหน้าใด ๆ ที่มีต่อไป
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมีมติรับทราบความคืบหน้าของการจัดทำ roadmap เพื่อแก้ไขปัญหาตามคำร้องเรียน ซึ่งการจัดทำ roadmap ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ฝ่ายเลขานุการกลุ่มนายจ้างและกลุ่มคนงาน และจัดทำโดยปรึกษาหารือกับหุ้นส่วนทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ในการนี้คณะประศาสน์การมีมติ
- ให้รัฐบาลส่ง road map ฉบับสุดท้ายให้ GB ทราบในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔
- ให้รัฐบาลรายงานถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติตาม road map ต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ และ
- เลือกการมีมติใด ๆ เกี่ยวกับคำร้องเรียนออกไปพิจารณาในการประชุม GB สมัยที่ สมัยที่ ๓๔๓ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔
๑๐. รายงานของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม
ความเป็นมา
คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (Committee on Freedom of Association: CFA) ที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนการละเมิดเสรีภาพในการสมาคมในประเทศสมาชิก แม้ว่าประเทศนั้นจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ หรือ ๙๘ และให้รายงานผลการพิจารณาต่อ GB เพื่อรับรอง
ข้อรายงาน
CFA เสนอรายงานต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๑ จำนวน ๓ ฉบับด้วยกัน คือ
๔.๑๐.๑ รายงานฉบับที่ ๓๙๓ เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องเรียนกรณีรัฐบาลละเมิดเสรีภาพในการสมาคม มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
๑. คำร้องเรียนที่เป็นกรณีร้ายแรงและเร่งด่วน (Serious and urgent cases) ซึ่ง CFA ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และรัฐบาลต้องเข้าดำเนินการโดยทันที เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการสังหาร ข่มขู่ ละเมิด และใช้ความรุนแรง กับผู้นำ สมาชิก และผู้สนับสนุน สหภาพแรงงาน จำนวน ๓ คำร้อง คือ คำร้องเรียนต่อรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ และรัฐบาลโคลอมเบีย จำนวน ๒ คำร้อง มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
คำร้องเรียนหมายเลข ๒๗๖๑ (รัฐบาลโคลอมเบีย)
CFA ได้รับคำร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ กรณีการเสียชีวิตของนักกิจกรรมแรงงานจำนวน ๘๖ ราย ในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔ และการข่มขู่และทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมแรงงานจำนวนมาก โดยไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ซึ่ง CFA ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ กรณีการเสียชีวิต Mr. Gustavo Adolfo Aguilar ประธานสหภาพแรงงานข้าราชการและลูกจ้างเทศบาล
คำร้องเรียนหมายเลข ๓๐๗๔ ต่อรัฐบาลโคลอมเบีย
CFA ได้รับคำร้องเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ กรณี Mr. Oscar Arturo Orozco นักกิจกรรมแรงงาน ถูกทำร้ายร่างกายทำร้ายร่างกาย และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เพื่อข่มขู่ให้ยุติกิจกรรมแรงงาน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลพบว่า ไม่มีความคืบหน้าด้านการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้กระทำความผิด
คำร้องเรียนหมายเลข ๒๙๒๓ ต่อรัฐบาลเอลซัลวาดอร์
CFA ได้รับคำร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๓ กรณี Mr. Victoriano Abel Vega เลขาธิการ the Union of Municipal Workers of Santa Ana (SITRAMSA) ถูกลอบสังหาร โดยก่อนการเสียชีวิตนั้น Mr. Victoriano ถูกข่มขู่เอาชีวิตเพื่อให้ยุติกิจกรรมด้านแรงงานหลายครั้ง ทั้งนี้ รัฐบาลไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีเพื่อเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แม้เวลาจะผ่านมากว่า ๑๐ ปีแล้วก็ตาม
๒. คำร้องเรียนที่เป็นกรณีอุทธรณ์เร่งด่วน (Urgent appeals) ซึ่งเป็นกรณีที่ CFA ต้องการคำชี้แจงและข้อมูลที่จำเป็นต่าง ๆ จากรัฐบาล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการประชุม CFA คราวต่อไป ทั้งนี้ การอุทธรณ์เร่งด่วนมีสาเหตุสำคัญจาก ๒ กรณี คือ (ก) CFA ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของรัฐบาล หรือ (ข) รัฐบาลยังไม่ส่งความเห็นหรือข้อมูลใด ๆ ทั้งนี้ ให้รัฐบาลส่งคำชี้แจงหรือข้อมูลที่จำเป็นให้กับ CFA สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาของที่ประชุม CFA คราวต่อไป จำนวน ๒ คำร้อง คือ คำร้องต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอัฟกานิสถาน ดังนี้
คำร้องหมายเลข ๓๐๖๗ ต่อรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กรณีรัฐบาลแทรกแซงการเลือกตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานของข้าราชการฝ่ายปกครอง และจับกุมและกักขังคณะกรรมการสหภาพแรงงานข้าราชการกระทรวงข้าราชการพลเรือน
คำร้องหมายเลข ๓๒๖๙ ต่อรัฐบาลอัฟกานิสถาน กรณีรัฐบาลยึดสถานที่และทรัพย์สินของสหภาพแรงงาน โดยไม่มีคำสั่งของศาล
ซึ่งทั้ง ๒ กรณีข้างต้น รัฐบาลไม่ได้ส่งคำชี้แจงหรือให้ข้อมูลใด ๆ แก่ CFA ตามที่ร้องขอจำนวน ๒ ครั้งติดต่อกัน
๓. คำร้องเรียนกรณีรอความเห็นจากรัฐบาล (Observation requested from governments) จำนวน ๑๗ คำร้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ CFA อยู่ระหว่างการรอความเห็นหรือข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องเรียนจากรัฐบาล ตามที่ร้องขอ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไปของ CFA โดยในกรณีนี้ไม่มีคำร้องเรียนต่อรัฐบาลของสมาชิกอาเซียน
๔. คำร้องเรียนที่รัฐบาลให้ความเห็นหรือข้อมูลมาเพียงบางส่วน (Partial information received from governments) จำนวน ๒๒ คำร้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ CFA ขอให้รัฐบาลให้ความเห็นหรือข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบตามที่ร้องขอ ทั้งนี้ ให้รัฐบาลส่งคำชี้แจงหรือข้อมูลที่จำเป็นให้กับ CFA โดยเร็ว สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาของที่ประชุม CFA ในคราวต่อไป โดยในกรณีนี้ไม่มีคำร้องเรียนต่อรัฐบาลของสมาชิกอาเซียน
๕. คำร้องเรียนใหม่ (New cases) จำนวน ๑๑ คำร้อง โดยในกรณีนี้มีคำร้องเรียนต่อรัฐบาลของสมาชิกอาเซียนจำนวน ๒ คำร้อง คือ คำร้องเรียนหมายเลข ๓๔๐๑ ต่อรัฐบาลมาเลเซีย และคำร้องเรียนหมายเลข ๓๔๐๕ ต่อรัฐบาลเมียนมา ซึ่ง CFA ยังไม่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวคำร้องเรียนใหม่
๖. คำร้องเรียนที่อยู่ระหว่างติดตามผล (Follow-up cases) จำนวน ๗ คำร้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ CFA ได้พิจารณาคำร้องเรียนแล้วและได้ให้คำแนะนำในทางปฏิบัติต่อรัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ ก็สามารถนำไปสู่การยุติคำร้องเรียน (Closed cases) โดยในกรณีนี้มีคำร้องเรียนต่อรัฐบาลของสมาชิกอาเซียนจำนวน ๒ คำร้อง คือ คำร้องต่อมาเลเซีย และไทย
๗. คำร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการติดตามผลจำนวน ๗ คำร้องข้างต้น ได้รับการพิจารณาให้ยุติคำร้องเรียน (Closed cases) จำนวน ๔ คำร้อง คือ คำร้องเรียนต่อรัฐบาลกัวเตมาลา มาเลเซีย นิกคารากัว และเปรู
๘. คำร้องเรียนที่ CFA พิจารณาตรวจสอบจนได้ข้อสรุปและเสนอข้อแนะนำเพื่อให้นำไปปฏิบัติมีจำนวน ๒๒ คำร้อง โดยในกรณีนี้ไม่มีคำร้องเรียนต่อรัฐบาลของสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้ คำร้องเรียนที่อยู่ระหว่างติดตามผล (Follow-up cases) ในกรณีของประเทศไทย ตามข้อ ๖ ข้างต้น คือ
คำร้องเรียนหมายเลข ๓๑๘๐ กรณี บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน
CFA มีความเห็นต่อการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาตามคำร้องเรียน สรุปได้ดังนี้
- CFA รับทราบและยินดีที่รัฐบาลแจ้งว่า ได้พิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา ๓๓ และ ๗๗ ของ พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และจะพิจารณาให้สิทธิในการปิดงานและการนัดหยุดงานในกิจการรัฐวิสาหกิจ ในการนี้ CFA ขอย้ำว่า การแก้ไข พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ใช้เวลามานานหลายปีแล้ว จึงหวังว่า การแก้ไขดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นโดยเร็วและสอดคล้องกับหลักการว่าด้วยเสรีภาพ ในการสมาคม CFA
- CFA รับทราบจากข้อมูลของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้นำสหภาพแรงงานฯ ทั้ง ๔ คน จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทการบินไทย เป็นเงินจำนวน ๓,๔๗๙,๗๙๓ บาท ซึ่งน้อยกว่าจำนวนที่บริษัทการบินไทยยื่นฟ้อง อย่างไรก็ตาม ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการห้ามลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนัดหยุดงาน อันขัดกับหลักการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม ซึ่งรัฐบาลได้แจ้งว่า อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อหาหนทางในการยกเลิกการจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว ขณะนี้ บริษัทการบินไทยอยู่ในกระบวนการล้มละลาย (bankruptcy proceedings) อันเป็นเหตุให้มีการระงับการเรียกค่าเสียหายไว้ชั่วคราว จนกว่าบริษัทฯ จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ทั้งนี้ CFA มีความยินดีที่ได้ทราบว่า กระทรวงแรงงานได้มีคำแนะนำให้บริษัทฯ ช่วยเหลือผู้นำแรงงานทั้ง ๔ คน CFA ขอย้ำถึงข้อมูลที่รัฐบาลเคยแจ้งว่า สหภาพแรงงานฯ และบริษัทฯ ได้ตกลงร่วมกันที่จะรอคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนที่จะนำมาพิจารณาหาทางออกตามหลักการแรงงานสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคีต่อไป ในการนี้ CFA จึงขอให้รัฐบาลพยายามให้ทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ และขอให้รัฐบาลแจ้งความคืบหน้าใด ๆ ที่มีต่อ CFA
- ตามที่รัฐบาลได้ให้ข้อมูลว่า ผู้นำแรงงาน ๓ คน คือ นางแจ่มศรี สุขโชติรัตน์ นายดำรงค์ ไวยคณี และ นายสมศักดิ์ มาณพ เกษียณอายุการทำงานแล้ว อันเป็นผลให้มีการยกเลิกการใช้มาตรการทางวินัยกับผู้นำแรงงานทั้ง ๓ คนดังกล่าว แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องการใช้มาตรการทางวินัยกับนายสุภรณ์ วรากรณ์ ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ใช้มาตรการทางวินัยกับนายสุภรณ์ วรากรณ์ CFA ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้บริษัทฯ ยุติการใช้มาตรการดังกล่าว และขอให้รัฐบาลแจ้งความคืบหน้าใด ๆ ที่มีต่อ CFA
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การรับทราบถึงข้อมูลในรายงานตามที่ปรากฏในย่อหน้าที่ ๑-๕๓ และรับรองข้อแนะนำที่ CFA มีต่อคำร้องเรียนหมายเลข ๓๓๒๐ ต่อรัฐบาลอาร์เจนตินา คำร้องเรียนหมายเลข ๒๗๖๑ ๓๐๗๔ ๓๑๑๒ และ ๓๓๑๖ ต่อรัฐบาลโคลอมเบีย คำร้องเรียนหมายเลข ๓๓๗๑ ต่อรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี คำร้องเรียนหมายเลข ๓๓๑๒ ต่อรัฐบาลคอสตาริกา คำร้องเรียนหมายเลข ๓๒๗๑ ต่อรัฐบาลคิวบา คำร้องเรียนหมายเลข ๒๙๒๓ ๓๒๕๘ ๓๓๓๐ ๓๓๕๐ ๓๓๔๗ และ ๓๓๖๗ ต่อรัฐบาลเอกวาดอร์ คำร้องเรียนหมายเลข ๒๙๖๗ ๓๐๘๙ และ ๓๑๗๙ ต่อรัฐบาลกัวเตมาลา คำร้องเรียนหมายเลข ๓๒๔๙ ต่อรัฐบาลเฮติ คำร้องเรียนหมายเลข ๓๓๓๗ ต่อรัฐบาลจอร์แดน คำร้องเรียนหมายเลข ๓๒๗๕ ต่อรัฐบาลมาดากัสการ์ คำร้องเรียนหมายเลข ๓๐๑๘ ต่อรัฐบาลปากีสถาน คำร้องเรียนหมายเลข ๓๓๒๓ ต่อรัฐบาลโรมาเนีย และรับรองรายงานฉบับที่ ๓๙๓ ของ CFA ทั้งฉบับ
๔.๑๐.๒ รายงานฉบับที่ ๓๙๔ เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลเบลารุสนำมาปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๒๙๑ (เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗) มีมติให้ CFA ติดตามผลการปฏิบัติของรัฐบาลเบลารุสว่า สอดคล้องตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวนเพี่ยงใด ในกรณีที่รัฐบาลเบลารุสถูกร้องเรียนว่า ละเมิดหลักการแห่งอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ อย่างแรงร้าย ซึ่งจากการติดตามผลการปฏิบัติของรัฐบาลพบว่า รัฐบาลเบลารุสไม่ได้มีการมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่รุนแรงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับกุมและกักขังผู้นำแรงงานจำนวนมากที่เข้าร่วมการนัดหยุดงาน
CFA จึงมีข้อแนะนำในทางปฏิบัติเพิ่มเติม และเน้นย้ำให้รัฐบาลเบรารุสปฏิบัติอย่างครบถ้วนตามข้อแนะนำที่คณะกรรมาธิการไต่ส่วนได้เคยให้ไว้ โดยให้ทำการปรึกษาหารือกับ ILO และหุ้นส่วนทางสังคม
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การเห็นชอบตามข้อแนะนำของ CFA ตามที่ปรากฏในย่อหน้าที่ ๖๐ ของเอกสาร GB.341/INS/12/2
๔.๑๐.๓ รายงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ของ CFA
นับแต่ตั้งมีการแต่ตั้ง CFA ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๓ CFA ได้พิจารณาคำร้องไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน ๓,๓๙๕ คำร้อง โดยเป็นคำร้องจากภูมิภาคละตินอเมริกามากที่สุด คือ จำนวน ๑,๗๑๕ คำร้อง ยุโรปจำนวน ๖๖๘ คำร้อง เอเชียและแปซิฟิกจำนวน ๔๑๕ คำร้อง แอฟริกาจำนวน ๔๐๗ คำร้อง และอเมริกาเหนือจำนวน ๑๙๐ คำร้อง
ใน พ.ศ. ๒๕๖๓ มีคำร้องที่ได้รับมาและอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบจำนวน ๑๔๘ คำร้อง และมีคำร้องที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน ๑๙๘ คำร้อง โดยสามารถยุติคำร้องเรียน (closed cases) ได้จำนวน ๓๕ คำร้อง ทั้งนี้ กรณีที่ได้รับการร้องเรียนสูงสุด ๓ ลำดับแรก คือ การที่รัฐเข้าแทรกแซงกิจกรรมขององค์กรผู้แทนของคนงาน การเลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านสหภาพแรงงาน และการไม่ยอมรับการเจรจาต่อรองร่วม
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การรับทราบรายงานฉบับที่ ๔ ของ CFA ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติงานในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ของ CFA
๑๑. รายงานของผู้อำนวยการใหญ่ ILO
ผู้อำนวยการใหญ่ ILO รายงานต่อที่ประชุมคณะประศาสน์การ ดังนี้
– แจ้งข่าวการเสียชีวิต
– เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ของ Mr. Peter Tomek อดีตสมาชิกคณะประศาสน์การฝ่ายนายจ้าง
– เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ ของ Mr. Kjeld Jakobsen อดีตสมาชิกคณะประศาสน์การฝ่ายลูกจ้าง
– เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๔ ของ Mr. Makahosi C. Vilakati อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสมาชิกคณะประศาสน์การฝ่ายรัฐบาล
– เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔ ของ Mr. Julio Roberto Gomez Esguerra อดีตสมาชิกคณะประศาสน์การ ฝ่ายลูกจ้าง
– ประเทศสมาชิก ILO มีจำนวนเท่าเดิม คือ ๑๘๗ ประเทศ
– นับแต่ต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๓ จนถึงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ ผู้อำนวยการใหญ่ได้จดทะเบียนการให้สัตยาบันอนุสัญญาไปแล้วจำนวน ๗ ครั้ง และมีประเทศสมาชิก ๔ ประเทศให้สัตยาบันพิธีสารปี ๒๐๑๔ ประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ ดังนี้
ประเทศ |
วันที่ |
ตราสาร |
ชิลี |
๑๙ มกราคม ๒๕๖๔ |
พิธีสารปี ๒๐๑๔ ประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ |
คอสตาริกา |
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ |
พิธีสารปี ๒๐๑๔ ประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ |
จิบูตี |
๒๕ กันยายน ๒๕๖๓ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๓ ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ค.ศ. ๒๐๐๐ |
ฝรั่งเศส |
๒๗ มกราคม ๒๕๖๔ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๔ ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในภาคเกษตรกรรม ค.ศ. ๒๐๐๑ |
คีร์กิซสถาน |
๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ |
พิธีสารปี ๒๐๑๔ ประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ |
มองโกเลีย |
๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๗ ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในงานก่อสร้าง ค.ศ. ๑๙๘๘ |
นามิเบีย |
๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๙ ว่าด้วยคนงานทำงานบ้าน ค.ศ. ๒๐๑๑ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๙๐ ว่าด้วยความรุนแรงและการล่วง-ละเมิด ค.ศ. ๒๐๑๙ |
||
โปรตุเกส |
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ |
พิธีสารปี ๒๐๑๔ ประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ |
ซาอุดีอาระเบีย |
๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๙๕ ว่าด้วยการคุ้มครองค่าจ้าง ค.ศ. ๑๙๔๙ |
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๐ ว่าด้วยสุขลักษณะ (งานพาณิชย์และงานสำนักงาน ค.ศ. ๑๙๖๔ |
– นับแต่ต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๓ มีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ เพื่อแก้ไขธรรมนูญ ILO เพิ่มเติม ๑ ประเทศ คือ สเปน รวมเป็นประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันทั้งหมด ๑๑๔ ประเทศ ขณะนี้ยังขาดการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกจำนวน ๑๑ ประเทศ โดยเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรมอย่างน้อย ๓ ประเทศ (จาก ๑๐ ประเทศ คือ ประเทศบราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ประเทศอินเดีย และอิตาลี ได้ให้สัตยาบันแล้ว) เพื่อทำให้ตราสารฉบับนี้มีผลบังคับใช้
– การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ
– Mr. Shinnichai Akiyama (ญี่ปุ่น) รองผู้อำนวยการแผนก Sectoral Policies Department (SECTOR)
– Mr. Philippe Vanhuynegem (เบลเยียม) หัวหน้ากลุ่ม Fundamental Principles and Rights at Work (FUNDAMENTALS)
– ILO ได้เผยแพร่รายงานการประชุม รายงานทางวิชาการ และเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัลทางเว็บไซต์
– ILO ได้จัดทำหนังสือในรูปแบบสิ่งพิมพ์และดิจิทัลเพื่อจำหน่าย
– สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศทำความตกลงกับสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์และที่ไม่แสวงหาผลกำไร เกี่ยวกับการอนุญาตให้นำรายงาน เอกสารข้อมูล และหนังสือของ ILO ไปเผยแพร่หรือจัดจำหน่ายได้
ร่างมติที่ประชุม
คณะประศาสน์การ
(ก) รับทราบข้อมูลตามเอกสาร GB.340/INS/13/1 เกี่ยวกับข่าวมรณกรรม สมาชิกภาพของประเทศสมาชิก ความคืบหน้าด้านกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ การบริหารจัดการภายใน และเอกสารเผยแพร่ ต่าง ๆ
(ข) ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ Mr. Peter Tomek และขอเชิญผู้อำนวยใหญ่ ILO กล่าวแสดงความเสียใจของต่อครอบครัวของ Mr. Tomek สภาอุตสาหกรรมแห่งออสเตรีย และองค์การระหว่างประเทศของนายจ้าง
(ค) ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ Mr. Kjeld Jakobsen และขอเชิญผู้อำนวยใหญ่ ILO กล่าวแสดงความเสียใจของต่อครอบครัวของ Mr. Jakobsen, Central Unica dos Trabalhadores of Brazil และสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล
(ง) ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ Mr. Makahosi C. Vilakati และขอเชิญผู้อำนวยใหญ่ ILO กล่าวแสดงความเสียใจของต่อครอบครัวของ Mr. Vilakati และรัฐบาลเอสวาตีนี
(จ) ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ Mr. Julio Roberto Gomez Esguerra และขอเชิญผู้อำนวยใหญ่ ILO กล่าวแสดงความเสียใจของต่อครอบครัวของ Mr. Gomez Esguerra และ General Confederation of Labour of Colombia
๑๒. รายงานเสริมฉบับที่ ๑: รายงานผลการประชุมทางเทคนิคเรื่อง งานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานโลก (วันที่ ๒๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)
ประเด็นรายงาน
การประชุม Technical Meeting on Achieving Decent Work in Global Supply Chains จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (ก) ประเมินความล้มเหลวที่นำไปสู่ความบกพร่องด้านงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตของโลก (ข) ระบุประเด็นท้าทายที่เด่นชัดในการบริหารปกครองเพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตของโลก และ (ค) พิจารณาหาแนวทางจัดทำคู่มือ แผนงาน มาตรการ การริเริ่ม หรือมาตรฐานใด ๆ ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมงานที่มีคุณค่า หรือการทำให้เกิดความบกพร่องด้านงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตของโลกลดน้อยลง
ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลจำนวน ๕๐ ประเทศ ผู้สังเกตการณ์ฝ่ายรัฐบาลจำนวน ๑๘ ประเทศ และผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ ๘ คน ซึ่งกลุ่มนายจ้างและกลุ่มลูกจ้างในคณะประศาสน์การ ILO พิจารณาแต่งตั้ง ประธานการประชุม คือ Ms. L. Hasle นักวิชาการอิสระจากประเทศนอร์เวย์
ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจำเป็นต้องดำเนินงานต่อไปเพื่อให้เกิดหยิบยกประเด็นท้าทายด้านงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อกำหนดกลยุทธการดำเนินงานสำหรับเสนอให้ GB พิจารณาต่อไป โดยที่ประชุมไม่รับรองข้อสรุปการประชุม (conclusions) เนื่องจากไม่สามารถหาฉันทามติในประเด็นการกำหนดบทบาทของสำนักงานฯ และคณะทำงานไตรภาคีในการดำเนินกิจกรรมตามที่เสนอในข้อสรุป และในประเด็นขอบเขตของกิจกรรมในข้อสรุปว่าควรครอบคลุมถึงกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศหรือไม่
มติที่ประชุม
เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามข้อมติของที่ประชุมใหญ่ฯ ค.ศ. ๒๐๑๖ เรื่อง งานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานโลก และแผนงาน ILO ด้านงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานโลก คณะประศาสน์จึงมีมติรับรองการดำเนินงานตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจะดำเนินการทบทวนในเชิงลึกเพื่อเปรียบเทียบมาตรการในรูปแบบที่เป็นบรรทัดฐานและมาตรการทั่วไป ในอันที่จะบรรลุผลตามข้อมติและแผนงานข้างต้น รวมถึงวิธีการและมาตรการอื่น ๆ สำหรับใช้ประกอบการอภิปรายเกี่ยวกับทางเลือกในการสร้างงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานโลกและระดับภาคส่วน ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เห็นควรแต่งตั้งคณะทำงานไตรภาคีที่มีจำนวนสมาชิกเหมาะสมและเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อทำการทบทวนดังกล่าว ก่อนเผยแพร่ให้แก่สมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO ภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔
- คณะทำงานดังกล่าว โดยความช่วยเหลือจากสำนักงานฯ จะจัดทำเค้าโครงกลยุทธในภาพรวมด้าน การบรรลุถึงงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทาน โดยคำนึงถึงปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงาน การดำเนินงานแบบ One-ILO approach และเอกสารผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องจากการประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ และจะนำเสนอรายงานต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕) เพื่อพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการติดตามผลต่อไป
- มติใด ๆ ของคณะทำงานดังกล่าวต้องได้มาจากฉันทามติ สมาชิกคณะทำงานต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดข้อตกลงที่ยอมรับได้โดยในภาพรวม ซึ่งมติที่ได้มาต้องไม่มีการยื่นคัดค้านอย่างเป็นทางการ คณะทำงานต้องรายงานความเห็นต่าง ๆ ที่ต่อประเด็นที่ไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ต่อ GB
๑๓. รายงานเสริมฉบับที่ ๔ รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบคำร้องเรียนกล่าวหารัฐบาลเนปาล ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๙ ว่าด้วยชนพื้นเมืองและชนเผ่า ค.ศ. ๑๙๘๙
Nepal Telecom Employee’s Union (NTEU) ร้องเรียนว่า รัฐบาลเนปาลดำเนินโครงการขยายถนนที่ตัดผ่านหมู่บ้านของชนเผ่า โดยทำการไล่ที่และรื้อถอนบ้านเรือน คณะกรรมการตรวจสอบคำร้องเรียนจึงแนะนำให้รัฐบาลเนปาลดำเนินมาตรการไกล่เกลี่ยเพื่อให้มีการย้ายที่อยู่อาศัยโดยสมัครใจ ซึ่งรัฐบาลเนปาลรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ทราบว่า ดำเนินการตามคำแนะนำและสามารถยุติความขัดแย้งได้ ประกอบ NTEU ได้ยื่นขอถอนคำร้องเรียน คณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงเห็นควรให้ยุติการติดตามผลต่อคำร้องเรียนนี้
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การประกาศยุติการติดตามผลต่อคำร้องเรียนนี้ เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องเรียนถอนคำร้อง
๑๔. รายงานเสริมฉบับที่ ๕ รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ๒ คณะ ต่อคำร้องเรียนกล่าวหารัฐบาลตุรกี ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ และฉบับที่ ๑๕๘ ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. ๑๙๘๒
Action Workers’ Union Confederation (Aksiyon-Is) ยื่นคำร้อง ๒ ฉบับ ในเดือนกรกฎาคม และเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ กล่าวหารัฐบาลตุรกีละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และฉบับที่ ๙๘ ตามลำดับ เนื่องจากหลังจากที่รัฐบาลสามารถปราบปรามคณะปฏิวัติสำเร็จแล้ว รัฐบาลได้ออกประกาศว่าลูกจ้างและข้าราชการจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกสหภาพแรงงาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวถูกเลือกปฏิบัติและถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๓๓ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ มีมติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา ๒ คณะ เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนทั้ง ๒ คำร้องดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบได้ให้ข้อแนะนำในทางปฏิบัติแก่รัฐบาลและมีความเห็นว่า ควรยุติการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบฯ และให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการตามอนุสัญญาและข้อแนะติดตามสถานการณ์ต่อไป
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การ
(ก) มีมติตามคำแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบคำร้องเรียนกล่าวหารัฐบาลตุรกีไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ ดังนี้
๑. รับรองรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ตามที่ปรากฏในภาคผนวก I ของเอกสาร (GB.341/INS/13/5)
๒. เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และข้อสังเกตที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ ๑๗-๓๑ รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่อหน้าที่ ๓๑ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบฯ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกระทำทั้งปวงอันเป็นการยกเลิกสถานะสหภาพแรงงาน
๓. ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อสังเกตของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการตามอนุสัญญาและข้อแนะ
๔. ให้เผยแพร่รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ และยุติกระบวนการการตรวจสอบตามคำร้องเรียน
(ข) มีมติตามคำแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบคำร้องเรียนกล่าวหารัฐบาลตุรกีไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๘ ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. ๑๙๘๒ ดังนี้
๑. รับรองรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ตามที่ปรากฏในภาคผนวก II ของเอกสาร (GB.341/INS/13/5)
๒. เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๘ และข้อสังเกตที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ ๓๔-๓๕ รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ
๓. ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อสังเกตของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการตามอนุสัญญาและข้อแนะ
๔. ให้เผยแพร่รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ และยุติกระบวนการการตรวจสอบตามคำร้องเรียน
๑๕. การกำหนดแผนการทำงานเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ ILO
ความเป็นมา
ผู้อำนวยการใหญ่ ILO คนปัจจุบันมีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และ GB จะเป็นผู้กำหนดตารางเวลาสำหรับการเลือกตั้งผู้อำนวยการคนใหม่ ซึ่งมีขั้นตอนสำหรับการเลือกตั้งดังนี้
๑. GB กำหนดวันเลือกตั้ง และรับรองตารางเวลาการเลือกตั้ง
๒. ประธาน GB ประกาศรับสมัครผู้เข้ารับการเลือกตั้ง
๓. ประธาน GB รับรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง พร้อมเอกสารประกอบการสมัคร
๔. ประธาน GB แจงรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการเลือกตั้งแก่สมาชิก GB รวมถึง ประเทศสมาชิก ILO เพื่อทราบ
๕. การประชุมลับเฉพาะสมาชิก GB เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครฯ
๖. การออกเสียงเลือกตั้ง
๗. การเข้ารับตำแหน่งของผู้อำนวยการ ILO คนใหม่
ข้อพิจารณา
สำนักงานแรงงนระหว่างประเทศขอให้ที่ประชุมพิจารณากำหนดตารางเวลาสำหรับการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้
๑. ผู้อำนวยการคนใหม่ควรเข้ารับตำแหน่งได้ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
๒. วันจัดการประชุมลับเฉพาะสมาชิก GB เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครฯ และวันออกเสียงเลือกตั้ง ควรเป็นวันที่อยู่ช่วงการประชุม GB
๓. ระยะเวลาที่เหมาะสมระหว่างวันประกาศรับสมัครจนถึงวันปิดรับสมัคร
ทั้งนี้ ให้มีกำหนดปิดรับการสมัครอย่างน้อยสองเดือนก่อนวันเลือกตั้ง
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การมีมติ
(ก) รับรองตารางเวลาสำหรับจัดการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ ILO ดังนี้
– วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔: ประธาน GB ประกาศรับสมัครผู้เข้ารับการเลือกตั้ง
– วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔: การปิดรับสมัคร
– วันที่ ๑๔-๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕ (การประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔): สมาชิก GB รับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร
– วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ (การประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔): สมาชิก GB ออกเสียงเลือกตั้ง
– วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕: ผู้อำนวยการใหญ่ ILO คนใหม่เริ่มปฏิบัติหน้าที่
(ข) มอบสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศเสนอทางเลือกต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๒ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔) เกี่ยวกับโอกาสที่จะให้ผู้สมัครได้พบปะกับสมาชิก GB ก่อนที่จะทำการรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครอย่างเป็นทางการในวาระการประชุมลับ
๑๖. รายงานความคืบหน้าการติดตามผลข้อมติเกี่ยวกับมาตรการที่เหลือในเมียนมา ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ ๑๐๒ พ.ศ. ๒๕๕๖
ความเป็นมา
เมียนมาถูกร้องเรียนโดยผู้แทนกลุ่มลูกจ้างว่าละเมิดอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ เนื่องจากรัฐบาลละเลยให้เกิดการบังคับใช้แรงงานนักโทษและมีการเกณฑ์เด็กเป็นทหาร ซึ่งที่ประชุม GB สมัยที่ ๒๖๘ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวน (Commission of Inquiry: COI) เพื่อติดตามตรวจสอบและให้ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับในเมียนมา และที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๒ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้รับรองข้อมติเกี่ยวกับมาตรการที่เหลือในเมียนมา เพื่อติดตามว่า มีประเด็นใดที่รัฐบาลเมียนมาได้ปฏิบัติจนมีความคืบหน้าและไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการตามข้อแนะนำของ COI แล้ว ซึ่งที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๐ (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการติดตามผลฯ และมีมติ ดังนี้
(ก) รับทราบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๒ รัฐบาลได้ดำเนินการร่วมกับหุ้นส่วนทางสังคมจนมีความคืบหน้าบางประการด้านการปฏิบัติตาม DWCP และขอให้รัฐบาลยังคงให้ความร่วมมือกับ ILO และหุ้นส่วนทางสังคมในการสร้างกลไกการรับคำร้องเรียนแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้
(ข) ขอให้มีความมุ่งมั่นมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีการคำนึงถึงความเห็นของหุ้นส่วนทางสังคมอย่างเต็มที่ในขั้นตอนการปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙
(ค) ขอให้รัฐบาลและรัฐสภาดำเนินการอย่างมุ่งมั่นยิ่งขึ้นในการแก้ไขมาตรา ๓๕๙ แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการทำงานด้านแรงงานบังคับของรัฐสภา
(ง) แสดงความกังวลเรื่อง การตั้งข้อหาการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมและการเดินขบวนโดยสันติ ต่อนักกิจกรรมสหภาพแรงงานจำนวน ๘ คน และเรื่องการบังคับกฎหมายเพื่อเป็นหนทางในการปฏิเสธ การใช้สิทธิและเสรีภาพในการสมาคมโดยสงบของสหภาพแรงงาน และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎภายใต้ Pyigyitagon Township in Mandalay และกฎอื่น ๆ ของรัฐ Mandalay ซึ่งห้ามประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขต Mandalay เดินขบวนหรือชุมนุมโดยสงบ และขอให้ระบุถึงหลักการด้านเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในร่างกฎหมายการจัดตั้งองค์กรของนายจ้างและของลูกจ้าง
(จ) ขอให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนการระดมทรัพยากร เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติตาม DWCP อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงสถานการณ์โควิด-๑๙ การขจัดแรงงานบังคับและรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก การจัดทำกลไกการรับคำร้องเรียนแห่งชาติให้น่าเชื่อถือ การเสริมสร้างระบบการตรวจแรงงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายแรงงานที่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นรายงาน
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศรายงานถึงความคืบหน้าการติดตามผลในเมียนมา สรุปได้ดังนี้
การปฏิบัติตาม Decent Work Country Programme (DWCP) และการรับมือโควิด-๑๙
เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ ILO ประจำเมียนมาทำงานจากที่บ้าน โดย ILO ยังคงดำเนินงานส่งเสริมการปฏิบัติตามแผน DWCP ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
การขจัดแรงงานบังคับ
ในปี ๒๕๖๓ ILO ได้รับคำร้องเรียนเพิ่มเติมเรื่องการใช้แรงงานบังคับจำนวน ๖๗ คำร้อง (ลดลงจากปี ๒๕๖๒ ซึ่งมี ๑๔๕ คำร้อง) โดยเป็นคำร้องเรียนที่เข้าข่ายการใช้แรงงานบังคับจำนวน ๔๒ คำร้อง และได้รับคำร้องเรียนเรื่อง การเกณฑ์เด็กเพื่อเป็นทหารจำนวน ๓๐ คำร้อง (ลดลงจากปี ๒๕๖๓ ซึ่งมี ๕๒ คำร้อง) โดยไม่มีคำร้องเรียนเข้าข่ายการเกณฑ์เด็กเพื่อเป็นทหาร
การปฏิรูปกฎหมาย
เมียนมาจัดการประชุมคณะทำงานปฏิรูปกฎหมายเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ และได้จัดการประชุมอีก ๒ ครั้งในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้ส่งเสริมให้รัฐบาลจัดการประชุมคณะทำงานฯ ให้มากยิ่งขึ้น
แรงงานเด็ก
เจ้าหน้าที่ ILO ประจำเมียนมาได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการขจัดการใช้แรงงานเด็กให้แก่คณะทำงานทางเทคนิคด้านแรงงานเด็ก และอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้เมียนมาจัดทำบัญชีรายชื่องานอันตรายสำหรับเด็ก
รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานเพิ่มเติม
สืบเนื่องจากที่กองทัพเมียนมาประกาศให้ประเทศเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลว่า เกิดการทุจริตในการเลือกตั้ง นั้น ได้มีเกิดความรุนแรงต่าง ๆ และความไม่ชอบธรรมต่าง ๆ ขึ้นในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมตัวผู้นำพรรคการเมืองที่ได้รับการประกาศผลเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ ว่าชนะการเลือกตั้ง การจับกุมตัวนักกิจกรรมแรงงานและประชาชนทั่วไป หรือการข่มขู่นักกิจกรรมแรงงาน
สถานการณ์ในเมียนมามีความรุนแรงมากขึ้น โดยในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ประชาชนเมียนมาเริ่มใช้ขบวนการอารยะขัดขืน ข้าราชการและคนทำงานอาชีพต่าง ๆ จำนวนมากใช้วิธีนัดหยุดงาน องค์กรผู้แทนคนงานถอนตัวออกจากองค์คณะไตรภาคีต่าง ๆ และไม่เข้าร่วมการปรึกษาหารือใด ๆ กับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลตอบโต้โดยการออกมาตรการบังคับให้กลับเข้าทำงานและระงับสิทธิการลา การจำกัดการเดินทางของประชาชน การห้ามประชาชนรวมตัวกัน การพยายามตัดช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ การแก้ไขกฎหมรยเพื่อเพิ่มโทษหรือเอาผิดกับประชาชน รวมถึง การประกาศให้องค์กรผู้แทนของคนงานจำนวน ๑๖ องค์กร มีสถานะเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้จัดตั้งและจดทะเบียนภายใต้กฏหมายด้านองค์กรแรงงาน
ผู้อำนวยการใหญ่ ILO มีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงคณะผู้แทนถาวรประเทศเมียนมาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เพื่อเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยและไม่แทรกแซงการชุมนุมโดยสันติของแรงงาน ข้าราชการ และนายจ้าง ต่อมาในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ได้ออกแถลงการณ์ขอให้กองทัพและตำรวจยุติการตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจับกุมตัวนักกิจกรรมแรงงานและยุติการข่มขู่คนงานโดยวิธีการต่าง ๆ
มติที่ประชุม
คณะประศาสน์การ
- รับรองถ้อยแถลงฉบับลงวันที่ ๑๐ และวัน ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ของผู้อำนวยการใหญ่ ILO ที่เรียกร้องให้มีการคืนประชาธิปไตยและการปกครองโดยพลเรือนในเมียนมา เพื่อให้คนทำงาน อันรวมถึง ข้าราชการและนายจ้างสามารถใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบ และให้ยุติการข่มขู่คนทำงาน
- แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ และเรียกร้องให้กองทัพเคารพต่อการตัดสินใจของประชาชน เคารพต่อกระบวนการและสถาบันแห่งประชาธิปไตย และคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
- มีความเศร้าสลดต่อการจับกุม การข่มขู่ การคุกคาม และการใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมแรงงาน ตลอดจน การประกาศให้องค์กรแรงงานจำนวน ๑๖ องค์กรมีสถานะผิดกฎหมาย และขอเรียกร้องให้กองทัพยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที และยกเลิกการตั้งข้อหาและปล่อยตัวนักกิจกรรมแรงงานที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
- มีความเศร้าสลดต่อมาตรการหรือคำสั่งใด ๆ อันเป็นการบั่นทอนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และขอย้ำว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก คือ สิ่งจำเป็นของการมีเสรีภาพในการสมาคม คณะประศาสน์การขอให้ระงับมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าวโดยทันที และขอให้รับประกันถึงเสรีภาพในการทำหน้าที่ของหุ้นส่วนทางสังคม โดยไม่มีการคุกคามหรือทำร้ายร่างกาย
- ขอยืนยันอีกครั้งว่า ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีพันธกิจทางกฎหมายและทางปฏิบัติในการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่สมัครใจให้สัตยาบันแล้ว ดังนั้น เมียนมาจึงมีพันธกิจในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ คณะประศาสน์การขอเรียกร้องให้เมียนมายึดมั่นในพันธกิจภายใต้อนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และทำให้มั่นใจได้ว่า คนงานและนายจ้างสามารถแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการสมาคม อย่างมีความปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ไม่ถูก จับกุมตามอำเภอใจ และไม่ถูกกักขัง
- ขอให้แก้ไขกฎหมายข้าราชการพลเรือน กฎหมายการระงับข้อพิพาทแรงงาน และกฏหมายการจัดตั้งองค์กรแรงงาน ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ โดยทันทีที่คืนอำนาจให้แก่รัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
- เรียกร้องให้เมียนมาเคารพและคุ้มครองสำนักงาน ILO ในเมียนมา (ILO-Yangon) และเจ้าหน้าที่ ILO ประจำสำนักงานทุกคน และไม่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว โดยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทบวงชำนัญพิเศษ ค.ศ. ๑๙๔๖
- มอบสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจัดทำรายงานเสนอต่อ GB เรื่อง มาตรการเพิ่มเติมของ ILO เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูสิทธิแรงงาน
- มอบผู้อำนวยการใหญ่ ILO จัดทำรายงานเหตุการณ์ความคืบหน้าในเมียนมาเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๒ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔)
———————————————————-
[1] ๒.๑.๓ ต้องมีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ GB ในการประชุม GB ที่จัดขึ้นในวันปิดการประชุมใหญ่ฯ และให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเริ่มทำหน้าที่ทันทีหลังได้รับเลือกตั้งไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป
[2] หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานประกอบด้วยประเด็น ๑. เสรีภาพในการสมาคมและการยอมรับสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ๒. การขจัดแรงงานบังคับหรือการเกณฑ์แรงงานในทุกรูปแบบ ๓. การขจัดการใช้แรงงานเด็กให้เป็นผล และ ๔.การขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ
[3] วัตถุประสงค์หลัก ๔ ประการของตราสารฉบับนี้ คือ
(ก) ยกเลิกสมาชิกถาวรกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรม ๑๐ ประเทศ และให้สมาชิกคณะประศาสน์มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเพิ่มจำนวนสมาชิกประจำของ GB จากเดิม ๕๖ ที่นั่ง เป็น ๑๑๒ ที่นั่ง แบ่งเป็นสมาชิกฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ ๒๘ ที่นั่ง และฝ่ายรัฐบาลจำนวน ๕๖ ที่นั่ง
(ข) ให้คณะประศาสน์การเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ILO ต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณารับรอง
(ค) เปลี่ยนแปลงระบบการออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ILC เพื่อให้ประเทศสมาชิกซึ่งไม่มีผู้แทนอยู่ร่วมในการประชุมใหญ่มีสิทธิออกเสียงได้ และ
(ง) ร่างตราสารเพื่อแก้ไขธรรมนูญ ILO ในส่วนที่เป็นบทบัญญัติอันเป็นหลักการต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก ILO ทั้งหมดอย่างน้อยสามในห้า จึงมีสถานะเป็นตราสารสำหรับให้ประเทศสมาชิกพิจารณาให้สัตยาบันต่อไป
[4] ตราสาร ค.ศ. ๑๙๘๖ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิก ILO ทั้งหมดอย่างน้อยสองในสาม คิดเป็นจำนวน ๑๒๕ ประเทศ (ประเทศไทยให้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓) โดยจำนวนนี้ต้องเป็นสมาชิกจากกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรมอย่างน้อย ๕ ประเทศ (ขณะนี้มีประเทศอินเดียและอิตาลี ที่ให้สัตยาบันแล้ว)
[5] มาตรา ๓๓ กำหนดว่า ในกรณีที่ประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำได้ตามเวลาที่กำหนดตามรายงานของคณะกรรมาธิการไต่สวน หรือตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ GB อาจเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ฯ พิจารณารับรองวิธีการใด ๆ อันเร่งรัดให้เกิดการปฏิบัติตามข้อแนะนำหรือคำตัดสินนั้นได้