Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปการอภิปรายเรื่อง โควิด ๑๙ และแรงงานทางทะเล ทาง Webinar เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓

International Labour Standards Department, ILO

สถานการณ์การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด ๑๙ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วน คนประจำเรือที่อยู่ระหว่างเดินเรือต่างไม่มีความมั่นใจว่า เมื่อสิ้นเสร็จการเดินเรือครั้งนี้แล้วจะได้รับการว่าจ้างอีกหรือไม่ ต่างวิตกเรื่องการไม่มีงานทำในอนาคต รวมถึงลักษณะการทำงานในอนาคตหลังการระบาดของโรคอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โควิด ๑๙ ส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขและลักษณะการทำงานของคนประจำเรือ อีกทั้งการ lockdown การห้ามเดินทาง และมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ส่งผลให้เจ้าของเรือไม่สามารถส่งตัวคนประจำเรือกลับได้เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง คนประจำเรือไม่ได้รับการรักษาพยาบาลบนฝั่ง ไม่มีการสับเปลี่ยนคนประจำเรือตามกำหนด (ห้ามคนประจำเรือทำงานอยู่บนเรือติดต่อกันเกินกว่า ๑๒ เดือน) เนื่องจากเรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่า คนประจำเรือไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง หรือไม่มีเครื่องบินพาณิชย์เพื่อขนส่งคนประจำเรือ

ILO ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาเหล่านี้ จึงได้ร่วมกับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ได้รับทราบถึงสถานการณ์นี้และหาทางช่วยเหลือคนประจำเรือที่ประสบปัญหา

โควิด ๑๙ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของคนประจำเรืออีกด้วย มาตรการที่ประเทศต่าง ๆ ใช้เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ส่งผลให้คนประจำเรือตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ

  • คนประจำเรือที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ไม่สามารถขึ้นฝั่นเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลบนฝั่งได้ หรือแม้จะขึ้นฝั่งได้ก็ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
  • เจ้าของเรือหรือบริษัทจัดหางานไม่สามารถส่งคนมาสับเปลี่ยนการปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดเวลาได้ ทำให้คนประจำเรือที่รอขึ้นเรืออยู่ในสภาพกึ่งตกงาน คนประจำเรือที่รอการส่งตัวกลับต้องติดอยู่บนเรือหรือที่เมืองท่าทำให้เกิดความเครียดและเรือก็ขาดกำลังคนในจำนวนที่เหมาะสมกับการเดินเรือ
  • การไม่สามารถเข้าเทียบท่าหรือขึ้นฝั่งได้ ตลอดจนการไม่สามารถส่งคนประจำเรือมาสับเปลี่ยนได้ ทำให้คนประจำเรือที่อยู่บนเรือต้องทำงานเกินกว่าเวลาสูงสุดที่กำหนดให้ทำงานบนเรือได้
  • ขาดกฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง ในกรณีที่คนประจำเรือต้องกักตัวเพื่อดูอาการ
  • คนประจำเรือที่สามารถขึ้นฝั่งได้ระหว่างช่วงเรือเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าตามกำหนดหรือขึ้นฝั่นเพื่อรอการส่งตัวกลับไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานบนฝั่ง (เช่น บริการที่พักอาศัย บริการด้านการจัดหาอาหาร เป็นต้น)

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รัฐเจ้าของธงเรือควรดูแลคนประจำเรือที่อยู่บนเรือของตน โดยไม่เลือกปฏิบัติใด ๆ เช่นเดียวกัน รัฐเจ้าท่าควรให้ความช่วยเหลือแก่เรือทุกทำที่เทียบท่าโดยไม่คำนึงถึงธงเรือ และให้ควมช่วยเหลือแก่คนประจำเรือทุกสัญชาติที่ขึ้นฝั่งในเมืองท่าของตน และเตรียมช่องทางการติดต่อกับเรือเดินทะเลและคนประจำเรือให้พร้อมทุกสถานการณ์ตามที่ MLC ระบุไว้  

 

The Special Tripartite Committee of the MLC, 2006

วิกฤตโควิด ๑๙ ครั้งนี้ส่งผลให้สหราชอาณาจักรต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ สหราชอาณาจักรมีภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ดังนั้น การเดินเรือของเรือที่ชักธงสหราชอาณาจักรและการเข้าเทียบท่าในสหราชอาณาจักรของเรือที่ชักธงต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติครั้งนี้ คือ

  • ให้ความคุ้มครองและดูแลคนประจำเรือตาม MLC โดยไม่นำภัยพิบัติมาเหตุในการละเว้น
  • รับรองและปฏิบัติตาม Red Ensign Group เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นนโยบายสำหรับส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือ
  • เปิดท่าเรือเพื่อให้เรือทุกสัญชาติเข้าเทียบท่าและอนุญาตให้คนประจำเรือขึ้นฝั่งในบริเวณเมืองท่าได้
  • อำนวยความสะดวกให้คนประจำเรือที่ขึ้นฝั่งในเมืองท่าของสหราชอาณาจักรสามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและรัฐบาลของตนได้
  • พยายามจัดให้มีการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเพียงพอในเมืองท่าตามความจำเป็น
  • ช่วยเหลือในการส่งกลับและสับเปลี่ยนคนประจำเรือบนเรือที่ชักธงสหราชอาณาจักรไม่ว่าจะเทียบท่าอยู่ที่ใด รวมถึงช่วยเหลือในการส่งกลับและสับเปลี่ยนคนประจำเรือของเรือทุกสัญชาติที่เทียบท่าอยู่ในราชอาณาจักรด้วย
  • อนุญาตให้ขยายข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือที่ไม่สามารถเดินทางกลับได้ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายระหว่างที่อยู่บนเรือ
  • ขยายวีซ่าให้เข้าคนประจำเรือต่างชาติที่อยู่บนเรือที่ชักธงสหราชอาณาจักรที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับได้

 

The Shipowner Group at the ILO

วิกฤตโควิด ๑๙ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อคนประจำเรือเท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าของเรือตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเช่นเดียวกัน  มาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสที่ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้ ทำให้มีการปิดเมืองท่า ทำให้เรือไม่สามารถเข้าเทียบท่าเป้าหมายเพื่อขนส่งสินค้าได้ และต้องเปลี่ยนเมืองท่ากะทันหัน ตลอดจนประสบปัญหาเรื่อง การดูแลคนประจำเรือที่เจ็บป่วยบนเรือ โดยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรคที่ไม่เหมาะสมกับอาการ ทั้งยังต้องประสบปัญหาจากมาตรการการจำกัดการเดินทางและการไม่มีเครื่องบินพาณิชย์ให้บริการ ทำให้เรือสามารถสับเปลี่ยนคนประจำเรือได้เพียงบางส่วนและไม่เป็นไปตามกำหนด ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเดินเรือ และคุณภาพชีวิตของคนประจำเรือที่ต้องติดอยู่บนเรือนานเกินควร

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้ง MLC และภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐเจ้าของธงเรือ รัฐเจ้าท่า หรือรัฐเจ้าของสัญชาติของคนประจำเรือไม่สามารถช่วยเจ้าของเรือในสถานการณ์วิกฤตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำว่าเจ้าของเรือควรจะทำอย่างไร ในกรณีของ

  • คนประจำเรือที่ทำงานครบกำหนดตามข้อตกลงการจ้างงานและถึงกำหนดต้องส่งตัวคนประจำเรือกลับแล้ว แต่ยังติดอยู่บนเรือ
  • คนประจำเรือที่ไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ได้ เนื่องจากต้องกักตัวดูอาการ
  • การจัดอัตรากำลัง (manning level) ที่ไม่เหมาะสมบนเรือ เนื่องจาก ไม่มีการสับเปลี่ยนคนประจำเรือ

 กลุ่มเจ้าของเรือจึงขอเรียกร้องให้รัฐเจ้าท่า รัฐเจ้าของธงเรือ และรัฐเจ้าของสัญชาติ  คนประจำเรือ ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วย             

 

The Seafarer Group at the ILO

วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทุกฝ่ายเตรียมมาตรการรับมือไม่ทันกับสถานการณ์ อีกทั้งกฎระเบียบที่มีอยู่ก็ไม่สามารถรองรับเหตุการณ์ได้ แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็เห็นแล้วว่า เรือเดินทะเลและคนประจำเรือยังคงพร้อมทำงานของตนต่อไป เพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ไปถึงเป้าหมาย และเพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของโลกไม่ให้หยุดชะงัก

ในวิกฤตนี้ หลายประเทศที่ให้สัตยาบัน MLC แล้ว ไม่สามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาได้  ทำให้คนประจำเรือถูกละเมิดสิทธิแรงงานและไม่รับการคุ้มครองดูแลขั้นพื้นฐาน ทั้งยัง ไม่สามารถร้องทุกข์หรือขอความช่วยเหลือจากรัฐที่เกี่ยวข้องได้ รัฐบาลไม่ควรนำภัยพิบัติครั้งนี้มาเป็นเหตุในการไม่ปฏิบัติตาม MLC และขอเรียกร้องให้รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือคนประจำเรือที่ยังติดอยู่บนเรือหรือที่เมืองท่าโดยเร็ว

 

Legal Affairs and External Relations Division, IMO

องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาจากโควิด ๑๙ ที่เกิดกับเจ้าของเรือและคนประจำเรือ และพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ เนื่องจาก IMO มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน และไม่ได้มีหน่วยปฏิบัติประจำแต่ละภูมิภาคเหมือนหลาย ๆ องค์กรภายใต้ UN ดังนั้น IMO จึงตั้ง Seafarer Crisis Action Team ขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนประจำเรือที่พบความยากลำบากต่าง ๆ และไม่สามารถติดต่อกับ CA ของรัฐบาลได้ ซึ่งหน่วยปฏิบัติการชุดนี้ สามารถเข้าช่วยเหลือคนประจำเรือตามคำร้องขอได้สำเร็จไปหลายกรณี

นอกจากนั้น IMO ยังได้ออกคู่มือเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับรัฐบาลในเรื่อง การสับเปลี่ยนลูกเรือ การส่งต่อความรับผิดชอบและการติดต่อประสานงานระหว่างเรือและชายฝั่ง ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ IMO

 

WHO

 ในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด ๑๙ นี้ WHO ขอความร่วมมือทุกประเทศคำนึงถึงกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. ๒๐๐๕ (International Health Regulations, 2005) อันมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน คุ้มครอง ควบคุม และรับมือกับการระบาดของโรค โดยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ โดยมีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงเรือและ “คนเดินทาง (traveler)” ซึ่งหมายรวมถึงคนประจำเรือด้วย

กฎฉบับนี้กำหนดไว้ว่า เรือต้องไม่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลด้านสาธารณาสุข เพื่อกีดกันไม่ให้ขนถ่ายสินค้า หรือเติมเชื้อเพลิง น้ำ อาหาร หรือเสบียงต่าง ๆ หากรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจพบว่า มีการระบาดหรือติดเชื้อบนเรือ รัฐนั้นต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อระงับหรือลดการระบาดหรือการติดเชื้อดังกล่าว และยังกำหนดไว้ว่านายเรือต้องติดต่อสื่อสารเพื่อแจ้งเรื่อง การเจ็บป่วย การเกิดโรค หรือความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยใด ๆ ที่เกิดขึ้นบนเรือ ให้หน่วยงานควบคุมท่าเรือทราบโดยเร็วที่สุด ก่อนนำเรือเข้าเทียบท่า

เรือเดินทะเลทุกลำจำเป็นต้องทำการประเมินความเสี่ยงอยู่เป็นระยะ และนำแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยในช่วงวิกฤตโควิด ๑๙ ไปปฏิบัติ ได้แก่ การเว้นระยะระหว่างบุคคล การล้างมืออยู่เสมอ การเฝ้าระวังอาการ การวัดอุณหภูมิ การใส่หน้ากากอนามัย การตรวจหาเชื้อ (หากทำได้) การจัดทำระบบติดตามบุคคลเพื่อให้ทราบว่า มีการสัมผัสกับผู้ใดบ้าง การกักตัวเพื่อสังเกตอาการ และการเข้ารับการรักษาบนฝั่งเมื่อพบหรือมีอาการว่าติดเชื้อ

 

International Maritime Health Association

 การแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ ทำให้คนประจำเรือไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานและความเป็นอยู่ รัฐไม่สามารถจัดบริการด้านสุขภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของคนประจำเรือและประชาชนทั่วไปได้ แม้บางประเทศจะเปิดให้เรือเดินทะเลเข้าไปเทียบท่า แต่ก็ไม่สามารถให้มีการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง วิกฤตโควิดส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของคนประจำเรือ ความวิตกกังวลต่าง ๆ ทำให้เกิดความเครียดและกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน สมาคมฯ ได้ส่งเสริมให้มีการประเมินความเสี่ยงบนเรือเดินทะเล และมีการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยและใช้อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ

สิ่งสำคัญพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้มีเพื่อรองรับวิกฤตโควิด ๑๙ สำหรับเรือเดินทะเล คือ การจัดบริการด้านการรักษาพยาบาล ยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ สำหรับคนประจำเรือในเรือที่เข้ามาเทียบท่า การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางโทรศัพท์หรือวีดีโอ และช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินความจำเป็น แต่เป็นข้อกำหนดพื้นฐานที่ระบุไว้ใน MLC และกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. ๒๐๐๕

 

————————————————————-

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

 

 

TOP