คณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๔๑ (การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ)
ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔
๑. ประธานและรองประธานคณะประศาสน์การ (Governing Body: GB)
ประธาน
Mr. Apurva Chandra ปลัดกระทรวงแรงงานและการจัดหางาน ประเทศอินเดีย
รองประธาน
– ฝ่ายนายจ้าง คือ Mr. Mthunzi MDWABA จากประเทศแอฟริกาใต้
– ฝ่ายลูกจ้าง คือ Ms. Catelene PASSCHIER จากประเทศเนเธอร์แลนด์
๒. คณะผู้แทนรัฐบาลไทย
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้าคณะ
นายรองวุฒิ วีรบุตร เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
นางสาวภัทรพร สมันตรัฐ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน
นางสาวชุลีรัตน์ ทองทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์
นายวรวุฒิ สมุทรกลิน อัครราชทูตที่ปรึกษา
นายวรวิทย์ ภัทรนิตย์ นักการทูตชำนาญการ
นางสาวพร้อมมงคล วงศ์บุญฟู ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นางสาวนพพรรัตน์ จรจรัญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการจัดหางาน
นายณัฐชยวัศ สงวนไชยกฤษณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
นางสาวชโลทร เลี่ยวชวลิต นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
นางฉัตรเทวี อรืน นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
นายธนกร สิมลา นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
นางสาวชญานี ปวีรวัฒน์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักงานประกันสังคม
๓. ถ้อยแถลงของคณะผู้แทนไทย
๓.๑ ถ้อยแถลงของอาเซียน ในวาระกิจกรรมเชิงส่งเสริมเกี่ยวกับปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการด้านวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม และการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนอก ILO เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน โดยมีใจความสำคัญว่า อาเซียนขอชื่นชมที่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้ the Responsible Supply Chains in Asia Programme ในประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ และขอสนับสนุนให้สำนักงานฯ ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเพิ่มเติมในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ อีกตามคำร้องขอที่มี นอกจากนี้ อาเซียนยังตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการจัดทำ the ILO Helpdesk for Business และคู่มือการฝึกอบรมเรื่องมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่การผลิตโลก ออกมาเป็นภาษาต่าง ๆ และขอสนับสนุนให้มีการจัดทำเป็นภาษาราชการของสมาชิกอาเซียนให้ครบทุกประเทศ ในการนี้ อาเซียนขอให้สำนักงานฯ คำนึงประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม (Tripartite Declaration of Principles concerning Multinational Enterprises and Social Policy: MNE Declaration) อันได้แก่ (ก) ระดับความรุนแรงของผลกระทบและความจำเป็นอันเนื่องมาจากวิกฤติโควิด-๑๙ ที่แตกต่างกันในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ (ข) การเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ของประเทศเจ้าของวิสาหกิจไปสู่ประเทศที่ตั้งวิสาหกิจ (ค) บทบาทของวิสาหกิจข้ามชาติในการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือของคนงานในประเทศที่ตั้งวิสาหกิจ (ง) บทบาทของวิสาหกิจข้ามชาติในการส่งเสริมให้กิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของตน ในประเทศที่ตั้งวิสาหกิจการปฏิบัติโดยสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และ (จ) โอกาสของผู้แทนคนงานในประเทศที่ตั้งวิสาหกิจที่จะเจรจากับเจ้าของวิสาหกิจในประเทศต้นทาง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานโดยสันติ
๓.๒ ถ้อยแถลงของประเทศไทย ในวาระกิจกรรมเชิงส่งเสริมเกี่ยวกับปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการด้านวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม และการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนอก ILO เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญว่าประเทศไทยในฐานะประเทศผู้รับการลงทุนจากต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้วิสาหกิจข้ามชาติที่ประกอบกิจการในประเทศมีการปฏิบัติทางสังคมที่ดีตามหลักการที่ระบุไว้ใน MNE Declaration โดยการจัดทำมาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท.๘๐๐๑ และแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) เพื่อกระตุ้นให้วิสาหกิจข้ามชาติมีความตระหนักถึงสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานและกฎหมายแรงงาน และเพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานให้ดีขึ้น ในการนี้ ประเทศไทยขอขอบคุณ ILO ที่ดำเนินโครงการ Responsible Supply Chains in Asia สำหรับภาคชิ้นส่วนยานยนต์และภาคเกษตรในประเทศไทย โดยมีผลการดำเนินโครงการที่สำคัญ คือ การจัดทำแนวทางสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมเนื้อไก่ และการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการดำเนินธุรกิจที่มี ความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยหวังว่า สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจะสร้างกิจกรรมเชิงส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคีฯ ในประเทศผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้รัฐบาลของประเทศผู้ลงทุนส่งเสริมให้วิสาหกิจของตนที่ประกอบกิจการในต่างประเทศได้มีการปฏิบัติทางสังคมและแรงงานที่ดี
๓.๓ ถ้อยแถลงของ ASPAG ในวาระกิจกรรมเชิงส่งเสริมเกี่ยวกับปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการด้านวิสาหกิจข้ามชาติและนโยบายทางสังคม และการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนอก ILO เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔
นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) กล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่มรัฐบาลภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asian and Pacific Group: ASPAG) โดยมีใจความสำคัญว่า ASPAG เชื่อมั่นว่า ร้อยละ ๖๑ ของกำลังแรงงานทั่วโลกซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมส่งเสริม MNE Declaration ของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีเทคโนโลยีและเงินทุนเพียงพอที่จะทำการสำรวจและนำทรัพยากรธรรมชาติของตนมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับการมีเสรีภาพด้านการค้าและการลงทุนข้ามเขตแดน ทำให้พบเห็นวิสาหกิจข้ามชาติอยู่ทั่วไปในหลายประเทศ วิสาหกิจข้ามชาติเหล่านี้นำมาซึ่งเทคโนโลยี เงินทุน การสร้างงาน และโอกาสทางเศรษฐกิจ ในประเทศที่ตั้งสถานประกอบการ นับได้ว่าวิสาหกิจข้ามชาติ คือ ตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ก็เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนโยบายแห่งชาติของประเทศเจ้าของวิสาหกิจกับผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการได้ ดังนั้น การเจรจาระหว่างรัฐบาลเจ้าของวิสาหกิจและรัฐบาลของประเทศที่ตั้งสถานประกอบการจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมและสร้างงานที่มีคุณค่า
๓.๔ ถ้อยแถลงของอาเซียน ในวาระโควิด-๑๙ และโลกแห่งการทำงาน เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๔
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน โดยมีใจความสำคัญว่า ในประเด็นการรับมือและการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ นั้น อาเซียนไม่ได้พิจารณาแต่การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พันธกิจร่วม และกลยุทธการ ฟื้นตัวจากวิกฤต อีกด้วย โดยในการประชุม the Special Meeting of ASEAN Labour Ministers on Response to the Impact of COVID-19 on Labour and Employment เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ประชุมได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง การรับมือกับผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อแรงงานและการมีงานทำ และในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ ๓๗ เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ผู้นำอาเซียนได้รับรอง ASEAN Comprehensive Recovery Framework and its Implementation Plan อันเป็นกลยุทธที่รวบรวมหนทางเพื่อการฟื้นตัวและการกลับมาดีกว่าเดิม และยังได้รับรอง ASEAN Declaration on an ASEAN Travel Corridor Arrangement Framework เพื่อเอื้อให้เกิดการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญทางธุรกิจภายในภูมิภาค ในการนี้ อาเซียนขอเสนอให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติด้านภูมิภาคตามที่กล่าวไว้ในองค์ประกอบแนวทางการจัดทำร่างเอกสารผลลัพธ์เรื่อง การรับมือระดับโลกเพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง
๓.๕ ถ้อยแถลงของอาเซียน ในวาระการติดตามผลข้อมติภายใต้ปฏิญญาแห่งศตวรรษว่าด้วยอนาคตของงาน: การเสนอให้บรรจุประเด็นความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน เข้าเป็นหนึ่งในหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของ ILO เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน โดยมีใจความสำคัญว่าอาเซียนรับทราบด้วยความสนใจว่า การรวมประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของ ILO จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อบริบทของความตกลงการค้าเสรีและสิทธิพิเศษทางศุลกากรที่มีอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การอภิปรายในประเด็นนี้ของที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๓ บรรลุถึงสาระสำคัญ อาเซียนจึงขอให้สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศนำเสนออย่างชัดเจนถึงข้อดีและข้อด้อยของการเพิ่มประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในปฏิญญาว่าด้วย หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และข้อดีและข้อด้อยของการออกปฏิญญาฉบับใหม่เพื่อรับรองให้ประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมีสถานะเป็นหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน นอกจากนี้ อาเซียนจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากสำนักงานฯ จะอธิบายในรายละเอียดถึงกลไกการติดตามผลที่จะมีขึ้นในกรณีของการออกปฏิญญาฉบับใหม่ เรามั่นใจว่า ข้อมูลของสำนักงานฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของที่ประชุม GB ในอนาคต อาเซียนสนับสนุนความพยายามของสำนักงานฯ ในการทำให้ข้อมติของปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงานด้านการรวมสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงานด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน บังเกิดผล
—————————————-