Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปเอกสาร ILO เรื่อง การคุ้มครองทางสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤติ COVID 19 ของประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิก

สรุปเอกสาร ILO เรื่อง การคุ้มครองทางสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤติ COVID 19 ของประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิก

 

บทบาทของการคุ้มครองทางสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤติ

                   มาตรการการคุ้มครองทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้สามารถรับมือกับวิกฤติได้ โดยการ

  • ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล
  • ส่งเสริมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติมีความมั่นคงทางรายได้และงานที่ทำ
  • มีส่วนช่วยป้องกันความยากจน การว่างงาน และการออกนอกระบบ
  • เอื้อหนุนให้เกิดความสงบและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

                   การไม่มีการคุ้มครองทางสังคมส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสหยุดชะงักได้ ดังนี้

  • การไม่มีการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้าทำให้กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดไวรัสไม่เต็มใจเข้ารับ การรักษาพยาบาล ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการระบาดของโรค
  • การไม่มีสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยหรือการไม่มีการหยุดงานโดยได้รับค่าจ้างทำให้ผู้ที่ป่วยยังคงไปทำงาน ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและเสี่ยงต่อการระบาดของโรค
  • การไม่มีมาตรการการคุ้มครองกรณีว่างงานทำให้ความสามารถในการจ้างงานของสถานประกอบกิจการลดลง

                   มาตรการการคุ้มครองทางสังคมต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม คนทำงานที่ได้รับการจ้างงานในรูปแบบที่ไม่เป็นมาตรฐาน คนงานทำงานบ้าน แรงงานต่างด้าว คนไร้บ้าน และผู้หญิงที่ทำงานด้านสุขภาพ

 

การคุ้มครองทางสังคมแห่งชาติ

การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีสามารถจ่ายได้

                    การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่สามารถจ่ายได้นี้ ไม่ได้หมายถึงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ที่ตั้งของสถานพยาบาลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในชนบท

                   หลายประเทศได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มหนทางในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่สามารถจ่ายได้ การปิดช่องว่างในระบบการคุ้มครองทางสังคม และการขยายการคุ้มครองทางการเงิน ตัวอย่างเช่น

  • ประเทศออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ได้เพิ่มแหล่งเงินให้กับระบบสุขภาพ โดยใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะ COVID 19
  • สำนักงานประกันสุขภาพแห่งฟิลิปปินส์จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบประกัน และทำ การเบิกจ่ายตามจริงในภายหลัง
  • สำนักงานประกันสุขภาพแห่งฟิลิปปินส์เพิ่มเรื่องการตรวจหาเชื้อ COVID 19 และการกักตัวเอง เข้าไว้ในแผนการประกันสุขภาพ
  • จีนปฏิรูปการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทุกส่วน เพื่อรวมมาตรการป้องกัน การตรวจหาเชื้อ และ การรักษา เข้าไว้ในแผนการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน
  • ระบบประกันสุขภาพในจีนให้เบิกค่ารักษาพยาบาลทั้งโรคจาการติดเชื้อไวรัสและโรคทั่วไป ทาง on line เพื่อลดความเสี่ยงด้านการแพร่ระบาด
  • จีนให้ผู้ติดเชื้อ COVID 19 จากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์กรณีบาดเจ็บจากการทำงาน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๓
  • ประเทศไทยขยายขอบเขตโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่” ให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส และให้คนต่างชาติที่พำนักในประเทศมีสิทธิในโครงการนี้ด้วย
  • รัฐบาลเวียดนามให้งบประมาณอุดหนุนการกักตัว การตรวจหาเชื้อ และการรักษาพยาบาล ตามกฎหมายด้านการป้องกันโรคติดต่อและโรคติดเชื้อ
  • รัฐบาลเวียดนามให้ระบบประกันสุขภาพของรัฐครอบคลุมถึงการรักษาผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระบบประกัน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการประกันสุขภาพของรัฐ
  • รัฐบาลสิงคโปร์จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลเต็มจำนวน และให้คลินิกรักษาโรคทั่วไปของเอกชนที่อยู่ในระบบ Public Health Preparation Clinics ของรัฐ เริ่มทำการตรวจรักษาโรคระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไวรัส โดยกำหนดค่ารักษาพยาบาลไว้ที่ ๑๐ ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับ คนสิงคโปร์และผู้มีถิ่นพำนักในสิงคโปร์ และจำนวน ๕ ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับผู้สูงอายุ

สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย : ความมั่นคงทางรายได้ระหว่างลาป่วย

                   หลายประเทศได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ทางการเงินกรณีเจ็บป่วยให้ครอบคลุมถึงคนงานที่ไม่มีสิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง เช่น

  • ญี่ปุ่นขยายให้ผู้ที่ถูกกักตัวหรือตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยเป็นเงินสดได้
  • บางประเทศยกเว้นการกำหนดให้มีระยะเวลารอดูอาการ หากติดเชื้อไวรัสจึงจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่าย โดยออสเตรเลียยกเลิกการรอดูอาการที่เดิมกำหนดไว้ ๑ สัปดาห์
  • สำนักงานประกันสุขภาพแห่งฟิลิปปินส์ขยายแผนการประกันสุขภาพครอบคลุมถึงการจ่ายเงินจำนวน ๒๗๓.๖ ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ผู้ที่การกักตัวเองภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงาน
  • เวียดนามจ่ายเงินวันละ ๒.๕๙ ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ผู้ที่ถูกกักตัวนอกบ้าน และวันละ ๑.๗๒ ดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ผู้ที่ถูกกักตัวในบ้าน
  • รัฐบาลสิงคโปร์จะจ่ายเงินช่วยเหลือวันละ ๖๘.๕ ดอลลาร์สหรัฐ แก่นายจ้างที่มีลูกจ้างถูกกักตัว ตลอดระยะเวลาที่ถูกกักตัว

การคุ้มครองกรณีว่างงาน: ป้องกันการตกงาน และช่วยเหลือผู้ตกงาน

                   หลายประเทศปรับลดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินประกันกรณีว่างงาน เช่น

  • จีนให้ผู้ว่างงานที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขการประกันการว่างงานสามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือกรณีว่างงานได้ ในอัตราที่ต่ำกว่าผู้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข
  • มาเลเซียจ่ายเงินเดือนละ ๑๓๕ ดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลาไม่เกิน ๖ เดือน แก่ผู้ที่หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
  • ญี่ปุ่นปรับลดเงื่อนไขของการได้รับเงินอุดหนุนการจ้างงาน เพื่อจูงใจนายจ้างให้จ่ายเบี้ยยังชีพแก่ลูกจ้างที่ถูกสั่งให้หยุดงาน
  • เกาหลีใต้อำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมโครงการอุดหนุนการจ้างงาน และเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่บริษัทที่ให้ลูกจ้างหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง
  • สำนักงานประกันสังคมของไทยเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
  • สำนักงานประกันสังคมของไทยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เนื่องจากนายจ้างต้องปิดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาล
  • รัฐบาลไทยสนันสนุน SME ให้จ้างงานต่อเนื่อง
  • ระบบประกันสังคมของฟิลิปปินส์อุดหนุนเงินเพื่อจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงาน
  • กรมทักษะฝีมือและอาชีวะศึกษาของฟิลิปปินส์จัดการอบรมพัฒนาทักษะเดิมและเพิ่มทักษะใหม่ให้แก่ลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงาน หรือผู้ที่ต้องการ
  • สิงคโปร์เปิดตัวโครงการส่งเสริมการทำงาน โดยจ่ายเงินสดให้แก่นายจ้างในจำนวนร้อยละ ๘ ของค่าจ้างรายเดือนต่อคนงานท้องถิ่นแต่ละคนที่นายจ้างยังคงจ้างงานอยู่ ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๓
  • ฮ่องกงเพิ่มเงินทุนรายปีให้กับโครงการการจ้างงาน และเพิ่มอัตราเบี้ยยังชีพให้กับลูกจ้างในระหว่างฝึกงาน
  • เกาหลีใต้เตรียมการจัดอบรมพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ตกงาน และอาจพิจารณาช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในกิจการขนาดเล็ก เพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับคนหางานที่เป็นผู้เยาว์ และให้เบี้ยยังชีพแก่คนหางานที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย
  • ออสเตรเลียขยายโครงการสำหรับคนหางานให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว (sole trader) ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว คนงานตามฤดูกาล และคนงานรับเหมาค่าแรง ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด   
  • ออสเตรเลียยกเว้นเงื่อนไขบางประการให้แก่คนหางานที่มีภาระด้านการรักษาพยาบาล หรือผู้ที่ต้องกักตัวเอง
  • อินโดนีเซียจัดทำโครงการ “Pre-employment Card Programme” ซึ่งเป็นการอบรมเตรียมความพร้อมด้านทักษะฝีมือให้แก่ผู้เยาว์ โดยการจ่ายเงินก้อนให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้เป็นค่าที่พักและค่าเดินทางระหว่างการอบรม

สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ สำหรับทายาท และกรณีทุพพลภาพ 

                   บางประเทศได้ดำเนินมาตรการจ่ายเงินล่วงหน้าหรือเพิ่มระดับสิทธิประโยชน์ ได้แก่

  • ฮ่องกงเพิ่มเบี้ยยังชีพ ๑ เดือนให้แก่ผู้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพคนชราหรือผู้ทุพพลภาพ
  • สิงคโปร์เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน
  • ออสเตรเลียจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือบัตรสุขภาพผู้สูงอายุของรัฐ

การพยุงรายได้ โดยการให้ความช่วยเหลือทางสังคม การมอบเงินสด หรือวิธีอื่น ๆ

                   ในภาวะการระบาดอย่างต่อเนื่องของ COVID 19 มีหลายรัฐบาลที่พยุงรายได้ของประชาชนผ่านความช่วยเหลือทางสังคมหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้านภาษี รวมถึง การแจกเงินให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางสำหรับใช้ในการบริโภค บางประเทศใช้วิธีจ่ายเงินอุดหนุนรายได้หนึ่งก้อนแก่ประชาชนทุกคน บางประเทศจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าอาหาร เชื้อเพลิง และสาธารณูปโภคที่จำเป็น ซึ่งควรดำเนินการควบคู่ไปกับการควบคุมราคาสินค้าและบริการ ตัวอย่างของประเทศเหล่านี้ คือ

  • รัฐอุตตรประเทศของอินเดียจะจ่ายเงินทาง on line โดยตรงให้แก่คนยากจนและคนงานรายวันที่ต้อง ตกงานเพราะการระบาดของเชื้อไวรัส
  • รัฐ Kerala ของอินเดียใช้มาตรการส่งอาหารกลางวันให้แก่เด็กในเขตชนบท ที่ไม่ได้ไปศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เนื่องจากศูนย์ถูกปิดเพราะการระบาดของไวรัส
  • ฮ่องกงจ่ายเงินยังชีพพิเศษหนึ่งก้อนแก่ผู้จ่ายประกันสังคมแบบครอบคลุมทุกส่วน ผู้ได้รับสวัสดิการเบี้ย ยังชีพคนชรา หรือผู้สูงอายุ
  • ฮ่องกงประกาศมอบเงินแก่ประชาชนจำนวน ๗ ล้านคน คนละ ๑๖๕ ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระตุ้น GDP
  • ฮ่องกงจ่ายค่าเช่าที่พัก ๑ เดือนให้แก่ผู้เช่าการเคหะของรัฐ
  • ออสเตรเลียมอบเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จำนวน ๖.๕ ล้านคน คนละ ๔๓๑.๙ ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • มาเลเซียขยายโครงการมอบเงินแก่ครัวเรือนที่ยากไร้ออกไป และเพิ่มจำนวนเงินในโครงการ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ที่อยู่ในโครงการ
  • อิหร่านมีแผนที่จะมอบเงินสดให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยและไม่มีงานประจำทำ
  • สิงคโปร์มอบเงินจาก Care and Support Package แก่ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไป ครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูบุตร และครอบครัวที่ดูแลบิดามารดาที่สูงอายุ ทั้งยัง แจกบัตรกำนัลเพื่อซื้อสินค้าในซุปเปอร์- มาร์เก็ตแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย
  • สิงคโปร์ส่งเสริมกองทุน Wage Credit Scheme ซึ่งเป็นกองทุนรวมสำหรับลูกจ้างชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
  • รัฐบาลสิงคโปร์จะจัดให้มีโครงการ Workfare Special Payment เพื่อช่วยเหลือคนงานที่มีรายได้น้อย    โดยผู้ที่อยู่ในโครงการจะได้รับเงินเพิ่มสำหรับการทำงานในปีที่ผ่านมา
  • คนขับรถแท็กซี่และคนขับรถรับจ้างส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสจะได้รับเงินช่วยเหลือวันละ ๑๓.๗ ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา ๓ เดือน
  • อินโดนีเซียให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่โครงการ Affordable Food Program เพื่อช่วยให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถซื้ออาหารหลักได้ และยังจะได้รับเงินเพิ่มเดือนละ ๑๓.๙๗ ดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมเดือนละ ๑๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเวลา ๖ เดือน
  • เทศบาลกรุงโซล เกาหลีใต้ จะแจกบัตรกำนัลใช้แทนเงินสดหรือบัตร pre-paid แก่คนงานที่มีรายได้น้อย ผู้ประกอบกิจการส่วนตัว คนงานบางเวลา และผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ
  • เมืองโอซาก้า ญี่ปุ่น จัดอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นของโรงเรียนรัฐบาลทุกคน เริ่มเดือนเมษายน ไปจนกว่าจะเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง

 

นโยบายด้านการดูแลและการลางานเพื่อดูแลครอบครัว

                   หลายประเทศได้สั่งให้ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้หลายครอบครัวต้องมีภาระเพิ่มในการดูแลบุตรที่ไม่ได้ไปโรงเรียน และมีหลายครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัส จึงมีหลายประเทศที่ขยายขอบเขตของสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ต้องดูแลสมาชิกครอบครัวที่ป่วยหรือที่ต้องกักตัวเอง ได้แก่

  • ญี่ปุ่นให้เงินชดเชยแก่สถานประกอบกิจการที่ให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อดูแลครอบครัว เนื่องจากผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา
  • ญีปุ่นจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องอยู่ในบ้าน เนื่องมาจากการปิดสถานศึกษา
  • เกาหลีให้บัตรกำนัลใช้แทนเงินสดแก่ครอบครัวรายได้น้อยที่ต้องดูแลบุตรเนื่องจากการปิดศูนย์ดูแลเด็กเล็ก และให้เงินรายวัน ๕ วัน แก่ลูกจ้างที่ลางานเพื่อดูแลบุตร
  • ออสเตรเลียจ่ายเงินช่วยเหลือแก่คนงานที่ต้องดูแลสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัส
  • สิงคโปร์แนะนำให้นายจ้างช่วยเหลือลูกจ้างที่มีความจำเป็นต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยการอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถลางานได้เต็มจำนวนวันตามสิทธิที่มีในคราวเดียวโดยได้รับค่าจ้าง หรือให้ลาหยุดเกินสิทธิที่มีโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

 

การปรับรูปแบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมและการจ่ายภาษีของสถานประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว

                   เพื่อช่วยให้สถานประกอบกิจการมีสภาพคล่องทางการเงิน หลายประเทศอนุญาตให้นายจ้างเลื่อนการจ่ายเงินสมทบการประกันสังคมและภาษีได้ ได้แก่

  • จีนยกเว้นการชำระเงินสมทบบำเหน็จบำนาญ กรณีว่างงาน และกรณีบาดเจ็บจากการทำงาน ของสถาน-ประกอบกิจการขนานย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง เป็นเวลา ๕ เดือน สำหรับสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ลดการจ่ายเงินสมทบลงร้อยละ ๕๐ เป็นเวลา ๓ เดือน
  • เมืองหู่เป่ย ประเทศจีน ยกเว้นการชำระเงินสมทบของ SME จำนวน ๕ เดือน ของสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่จำนวน ๓ เดือน ส่วนสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอเลื่อนการชำระเงินออกไปได้ ๖ เดือน
  • เวียดนามให้เลื่อนการชำระเงินสมทบกรณีเกษียณอายุและกองทุนเพื่อทายาทผู้เอาประกันออกไปสูงสุด ๑๒ เดือน
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของมาเลเซียลดอัตราการจ่ายเงินสมทบลงจากร้อยละ ๑๑ ของเงินเดือน เป็นร้อยละ ๔
  • สำนักงานประกันสังคมของไทยลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างลงจากร้อยละ ๕ เป็นร้อยละ ๔ เป็นเวลา ๖ เดือน และขยายเวลาการจ่ายสมทบออกไป ๓ เดือน
  • ฟิลิปปินส์ขยายเวลาการชำระเงินสมทบออกไป จากวันที่ ๓๑ มีนาคม เป็นวันที่ ๓๐ เมษายน

 

การปรับวิธีการทำงานด้านธุรการ

                   มีการใช้วิธีสื่อสารทางโทรศัพท์หรือ on line ช่วยลดการพบปะกันของผู้คน และส่งเสริมมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในสังคม เช่น

  • จีนนำระบบ online platforms มาใช้ในการให้บริการด้านการประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์ หรือการจ่ายเงิน
  • จีนแจ้งให้หน่วยงานประกันสังคมหารือกับแผนกการเงิน เพื่อหาวิธีการจ่ายเงินบำนาญรายเดือนทาง online
  • ฟิลิปปินส์ขยายระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จาก ๖๐ วันเป็น ๑๒๐ วัน
  • ออสเตรเลียใช้หลายมาตรการ เพื่อเร่งรัดขั้นตอนการขอรับสิทธิประโยชน์ รวมทั้ง การใช้ Application

 

——————————————–

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

มีนาคม ๒๕๖๓


960
TOP