Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อโลกแห่งการทำงานในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๓

สรุปผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อโลกแห่งการทำงานในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๓

 

สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้ติดตามสถานการณ์แรงงานทั่วโลกและทำการประเมิน ผลกระทบของโควิด-๑๙ ที่มีต่อโลกแห่งการทำงานในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๓ สรุปได้ดังนี้

 

ตลาดแรงงาน

                   ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีคนทำงานทั่วโลกร้อยละ ๙๓ อาศัยอยู่ในประเทศที่ดำเนินมาตรการปิดสถานที่ทำงานเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ อย่างเข้มงวด อัตราการปิดสถานที่ทำงานมีจำนวนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม คือ ร้อยละ ๘๕ ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเกิดการระบาดระลอกสองขึ้น ภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางเลือกใช้มาตรการปิดสถานประกอบกิจการไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเลือกใช้มาตรการปิดสถานที่ทำงานเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด รัฐบาลส่วนใหญ่เลือกให้ความสำคัญลำดับต้นกับนโยบายสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ มากกว่านโยบายทางเศรษฐกิจ 

                   ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เกิดการสูญเสียชั่วโมงการทำงานจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีอัตราเฉลี่ยของการสูญเสียทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ ๘.๘ เทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา ๒๕๕ ล้านตำแหน่ง โดยสูญเสียมากกว่าช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงสี่เท่า การสูญเสียชั่วโมงการทำงานมีจำนวนสูงสุดในไตรมาสที่สองของปี อันเป็นช่วงเวลาที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกดำเนินมาตรการปิดประเทศ ทำให้มีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานสูงถึงร้อยละ ๑๘.๒ เทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา ๕๒๕ ล้านตำแหน่ง และเริ่มลดการสูญเสียลดลงในไตรมาสที่สาม โดยมีอัตราสูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ ๗.๒ เทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา ๒๐๕ ล้านตำแหน่ง และลดลงมาอีกในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ ๔.๖ เทียบได้กับการสูญเสียการทำงานเต็มเวลา ๑๓๐ ล้านตำแหน่ง  โดยภูมิภาคที่สูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุด คือ ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ยุโรปใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามลำดับ ต่างกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแอฟริกาที่สูญเสียชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้ดำเนินมาตรการปิดประเทศที่เข้มงวด

                   การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มี ๒ ลักษณะ คือ การสูญเสียการมีงานทำ (employment loss) และการลดชั่วโมงการทำงาน (reduction of working hours) ซึ่งการสูญเสียการมีงานทำร้อยละ ๗๑ เกิดจากคนทำงานยุติกิจกรรมใด ๆ ทางเศรษฐกิจ (inactivity) ส่วนร้อยละ ๒๙ เกิดจากคนทำงานถูกเลิกจ้าง ซึ่งการไม่กระทำกิจกรรมใด ๆ ทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลงจากเดิมถึงร้อยละ ๕๘.๗

                   การสูญเสียการมีงานทำในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีจำนวนมากถึง ๑๑๔ ล้านตำแหน่ง ภูมิภาคอเมริกาสูญเสียการมีงานทำมากที่สุด ส่วนภูมิภาคที่สูญเสียการมีงานทำน้อยที่สุด คือ ยุโรป และเอเชียกลาง   ซึ่งสองภูมิภาคนี้รับมือกับการระบาดของโควิด-๑๙ โดยใช้มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างแทนการปิดกิจการหรือเลิกจ้าง คนทำงานเพศหญิงสูญเสียการมีงานทำร้อยละ ๕ คนทำงานเพศชายสูญเสียการมีการทำงานร้อยละ ๓.๙ และคนทำงานที่เป็นเยาวชนสูญเสียการมีงานทำร้อยละ ๘.๗ ทั้งนี้ การลดชั่วโมงการทำงานเกิดขึ้นใน ๒ กรณีด้วยกัน คือ (ก) คนทำงานมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงกว่าเดิม หรือ (ข) คนทำงานไม่มีชั่วโมงการทำงานเลย เนื่องจากไม่สามารถมาทำงานได้เพราะมาตรการควบคุมการเดินทาง แต่ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง

                   รายได้จากการทำงานที่แท้จริง (ไม่รวมรายได้จากมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของรัฐบาล) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ลดลงร้อยละ ๘.๓ คิดเป็นเงินจำนวนประมาณ ๓.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ ๔.๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก ภูมิภาคที่มีอัตราผู้สูญเสียรายได้จากการทำงานที่แท้จริงสูงสุดถึงร้อยละ ๑๐.๓ คือ อเมริกา ส่วนภูมิภาคที่มีอัตราผู้สูญเสียรายได้จากการทำงานที่แท้จริงน้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ ๖.๖ คือ เอเชียและแปซิฟิก

                   ในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ โลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนในทุก ๆ ด้าน โดยสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ อย่างทั่วถึงในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์สถานการณ์สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ไว้สองทิศทาง คือ ในสถานการณ์ที่เลวร้ายจะมีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ร้อยละ ๔.๖ เทียบได้กับการสูญเสียการทำงานงานเต็มเวลาจำนวน ๑๓๐ ล้านตำแหน่ง แต่หากสถานการณ์มีทิศทางในเชิงบวกจะมีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ร้อยละ ๑.๓ เทียบได้กับการสูญเสียการทำงานงานเต็มเวลาจำนวน ๓๖ ล้านตำแหน่ง

 

การได้รับผลกระทบที่รุนแรงต่างกัน และการฟื้นฟูได้ไม่เท่ากัน

                   จากข้อมูลการสำรวจกำลังแรงงานครั้งล่าสุดในไตรมาสที่สามของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ พบว่า ในขณะที่มีภาคส่วนทางเศรษฐกิจได้ผลกระทบจากโควิด-๑๙ อย่างรุนแรงและสูญเสียตำแหน่งงานไปจำนวนมาก (เช่น บริการที่พักและอาหาร งานศิลปะและวัฒนธรรม กิจการขายปลีก งานก่อสร้าง) แต่กลับมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นจำนวนมากในภาคบริการที่ใช้ทักษะระดับสูง (เช่น บริการด้านข้อมูลและการสื่อสาร การเงิน และการทำประกัน) อันส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ มีระดับการฟื้นฟูที่ไม่เท่ากัน ในขณะเดียวกัน การสูญเสียรายได้จากการทำงาน (รวมถึงรายได้จากมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของรัฐบาล) ของกำลังแรงงานในแต่ละภาคส่วนทางเศรษฐกิจก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย โดยคนทำงานเพศหญิง คนทำงานที่เป็นเยาวชน ผู้ประกอบกิจการส่วนตัว และคนทำงานที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง สูญเสียรายได้จากการทำงานมากกว่าคนทำงานในภาคส่วน อื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ งานที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-๑๙ คือ งานที่ใช้ทักษะฝีมือต่ำและมีค่าตอบแทนการทำงานน้อย อีกทั้งเป็นงานที่ฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ยาก

                   สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จะยังคงมีวิกฤตด้านตำแหน่งงานและรายได้อยู่ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายรองรับด้านการแบ่งปันวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ การสาธารณสุข การส่งเสริมเศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน ผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับการมีงานทำ การมีรายได้ สิทธิแรงงาน และการเจรจาทางสังคม โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง

 

ข้อเสนอแนะด้านการฟื้นฟูโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง

                   เพื่อให้การฟื้นฟูโดยมีคนเป็นศูนย์กลางบรรลุผล ผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จำเป็นต้องถึงประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้

(ก) การมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลาย (an accommodative macroeconomic policy) ที่มุ่งกระตุ้นการบริโภคของประชาชนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ และส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งการจ้างงาน

(ข) การมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเชิงนโยบายและการจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลาง

(ค)  การทำให้มั่นใจได้ว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-๑๙ (เยาวชน ผู้หญิง คนทำงานที่มีทักษะฝีมือต่ำและรายได้น้อย) จะได้รับการส่งเสริมให้มีโอกาสทำงานที่มีคุณค่า และไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากผลกระทบระยะยาว

(ง)   การมีนโยบายด้านการฟื้นฟูที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของภาคส่วนทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ซึ่งกลยุทธด้านการฟื้นฟูที่นำมาใช้ต้องมีความหลากหลายและสมดุลกับความเสียหายและความเสี่ยงที่เกิดกับภาคส่วนทางเศรษฐกิจนั้น ๆ รวมถึง ความเร่งด่วนในการดำเนินนโยบายสำหรับแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกัน

(จ) การดำเนินกลยุทธเพื่อการฟื้นฟู โดยยึดหลักการเจรจาทางสังคม เพื่อให้โลกแห่งการทำงานมีความยั่งยืนและสามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

 

ที่มา:    ILO Monitor: COVID-19 and the world of work. 7th edition

เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๔

 


อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 


724
TOP