Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อสถานการณ์แรงงานของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในช่วงสามไตรมาศแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓

สรุปผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อสถานการณ์แรงงานของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ในช่วงสามไตรมาศแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓

 

ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม

 วิกฤตโควิด-๑๙ ส่งผลให้งานที่มีคุณค่าและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิกเกิดความสั่นคลอน ประเด็นท้าทายของตลาดแรงงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ คือ ความไม่เท่าเทียม ซึ่งเกี่ยวพันถึงคุณภาพของการมีงานทำและการขาดแคลนงานที่สร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับคนทำงาน ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่และภาคเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้มีเพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับธุรกิจเอกชนที่เฟื่องฟูและจำนวนตำแหน่งงานทักษะสูงที่เพิ่มมากขึ้น อันสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมและบริการได้ อีกทั้ง ความเป็นเมืองยังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังคงมีเศรษฐกิจภาคนอกระบบอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแรงงานทักษะต่ำและรายได้น้อยอยู่มากมาย คนงานภาคนอกระบบทั่วโลกมีจำนวนประมาณ ๒ พันล้านคน โดยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกถึงประมาณ ๑.๓ พันล้านคน ถึงแม้ภูมิภาคนี้จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่คนงานจำนวนสองในสามหรือร้อยละ ๖๘ ของคนงานทั้งหมดเป็นคนงานในภาคนอกระบบ บางประเทศมีสัดส่วนคนงานภาคนอกระบบถึงเก้าในสิบคน ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงฝังรากลึกในตลาดแรงงานของภูมิภาค ผู้หญิงมีข้อจำกัดในการมีงานทำ รวมถึง โอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในเอเชียใต้ ซึ่งได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย และใช้เวลาไปกับงานดูแลครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ชาย ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ยังมีข้อบกพร่องเรื่องงานที่มีคุณค่าทำให้คนงานในภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่และภาคเศรษฐกิจกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ได้

สถานการณ์เลวร้ายที่ผ่านมาทำให้คนงานหลายคนกลับไปสู่ความยากจน อันเป็นผลมาจากการไม่มีระบบการคุ้มครองทางสังคมหรือมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เข้มแข็ง หน่วยงานที่ดูแลตลาดแรงงานมีขีดความสามารถจำกัดในการคุ้มครองการจ้างงานและการให้บริการจัดหางานแก่คนงานทั้งในและนอกระบบ ทั้งนี้ สถานประกอบการ คนงาน และกลุ่มเศรษฐกิจต่างดิ้นรถหาทางรอดจากวิกฤตด้วยตนเอง เนื่องจากขาดหน่วยงานดูแลตลาดแรงงานที่เข้มแข็งเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ครัวเรือนและบรรเทาการสูญเสียรายได้ของแรงงาน และขาดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคด้านการมีงานทำในเชิงรุกสำหรับกลุ่มผู้เปราะบางที่สุด

แม้ในช่วงก่อนการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ ๘ (การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีผลิตภาพและเต็มที่ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่วิกฤตโควิด-๑๙ สามารถสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับตลาดแรงงานทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และทำลายความยั่งยืนของสถานประกอบการและความเป็นอยู่ของคนงานจำนวน ๑.๙ พันล้านคนและครอบครัวในภูมิภาคนี้

การสูญเสียชั่วโมงการทำงานจำนวนมาก

 ผลกระทบประการแรกจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อตลาดแรงงาน คือ ชั่วโมงการทำลดลง เนื่องจากมาตรการปิดพื้นที่หรือจำกัดการเดินทางภายในประเทศ เอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคแรกที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งบางประเทศตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยการใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ชั่วโมงการทำงานทั่วภูมิภาคลดลงร้อยละ ๗.๓ เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเทียบเท่ากับการสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลา (๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์) จำนวน ๑๒๕ ล้านตำแหน่ง สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นในไตรมาสที่สองของปี โดยมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วภูมิภาคร้อยละ ๑๕.๒ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเทียบเท่ากับการสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลา จำนวน ๒๖๕ ล้านตำแหน่ง อนุภูมิภาคที่สูญเสียชั่วโมงการทำงานสูงที่สุด คือ เอเชียใต้ โดยมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานในไตรมาสที่สองของปีถึงร้อยละ ๒๗.๓ เทียบเท่ากับการสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลา จำนวน ๑๗๐ ล้านตำแหน่ง

ตำแหน่งงานว่างอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างเพราะวิกฤตโควิด-๑๙ จำนวน ๘๑ ล้านตำแหน่ง

ผลกระทบในช่วงแรกของการเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ คือ ชั่วโมงการทำงานลดลง และเมื่อวิกฤตที่เกิดขึ้นกินเวลาต่อเนื่องยาวนานก็ส่งผลให้สถานประกอบการต้องลดกำลังแรงงานลงเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากเพียงใดก็ตาม การสูญเสียตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งนี้ ช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๖๓ การจ้างงานในภูมิภาคนี้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในอัตราร้อยละ ๐.๗-๐.๙ ต่อปี และหยุดชะงักลงเนื่องจากวิกฤต โดยในสองไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เกิดการเลิกจ้างจำนวนมากอย่างรวดเร็วในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ จากข้อมูลที่มีด้านการสำรวจกำลังแรงงานพบว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีตำแหน่งงานว่างอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างเพราะวิกฤตในภูมิภาคนี้ จำนวน ๘๑ ล้านตำแหน่ง เป็นตำแหน่งงานของผู้หญิง ๓๒ ล้านตำแหน่ง และชาย ๔๙ ล้านตำแหน่ง

ใน พ.ศ. ๒๕๖๓ เอเชียใต้เป็นอนุภูมิภาคในเอเชียแปซิฟิกที่มีตำแหน่งงานว่างอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างเพราะวิกฤตโควิด-๑๙ มากที่สุด คือ ประมาณ ๕๐ ล้านตำแหน่ง รองลงมา คือ เอเชียตะวันออก มีประมาณ ๑๖ ล้านตำแหน่ง ตามมาด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก มีประมาณ ๑๔ ล้านตำแหน่ง  

การสูญเสียชั่วโมงการทำงานซึ่งทำให้มีรายได้ลดลง และเกิดความยากจนทั้งที่มีงานทำ

ในสามไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ รายได้จากการทำงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกลดลงร้อยละ ๙.๙ ซึ่งเทียบเท่ากับการสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศร้อยละ ๓.๔ โดยเอเชียใต้เป็นอนุภูมิภาคที่สูญเสียรายได้จากการทำงานมากที่สุด คือ ร้อยละ ๑๗.๖ รองลงมา คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร้อยละ ๙.๕ และเอเชียตะวันออก ร้อยละ ๗.๒

คนงานจำนวนมาถูกลดชั่วโมงการทำงานหรือไม่มีงานทำเลย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความยากจนเพิ่มมากขึ้น ธนาคารโลกได้ประมาณการว่า คนยากจนทั้งที่มีงานทำ (มีเงินสำหรับดำรงชีพน้อยกว่า ๑.๙๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน) ในภูมิภาคนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม คือ จาก ๒๒ ล้านคน เป็น ๒๕.๔ ล้านคน โดยเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้มีคนยากจนทั้งที่มีงานทำเพิ่มขึ้นจากเดิม ๔ ล้านคน เป็น ๕.๖ ล้านคน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกมีคนยากจนทั้งที่มีงานทำเพิ่มขึ้นจากเดิม ๑๗.๙ ล้านคน เป็น ๑๙.๘ ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนคนยากจนทั้งที่มีงานทำทั่วโลกในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีจำนวนประมาณ ๙๔-๙๘  ล้านคน          

การวิเคราะห์ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ต่อตลาดแรงงานในระดับประเทศ โดยมีข้อมูลจำกัด

ข้อมูลระดับประเทศของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ ILO นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ได้มาเพียงบางส่วนจากเขตเศรษฐกิจ[1]ที่ยังคงสามารถสำรวจกำลังแรงงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ โดยที่บางพื้นที่ไม่มีการสำรวจกำลังแรงงานอย่างเป็นระบบ และบางพื้นที่มีระบบการสำรวจกำลังแรงงานแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถดำเนินการสำรวจได้ โดยผลการวิเคราะห์ที่สำคัญจากข้อมูลเท่าที่ได้รับมามีดังนี้

–   จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ มาจากการที่คนงานถูกลดชั่วโมงการทำงานลงหรือถูกพักงานชั่วคราวมากกว่าการที่คนงานถูกเลิกจ้าง จำนวนคนงานในเขตเศรษฐกิจ ๑๑ พื้นที่ (ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ไทย ศรีลังกา ออสเตรเลีย และเวียดนาม) ที่ออกจากกำลังแรงงานหรือยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยตนเองมีจำนวนมากกว่าคนงานที่ถูกเลิกจ้างห้าเท่า    

–   เมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กับไตรมาสที่สองของปี พ.ศ ๒๕๖๒ แล้วพบว่า ฟิลิปปินส์มีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุด คือ ร้อยละ ๑๙ และไต้หวันมีอัตราการสูญเสียชั่วโมงการทำงานน้อยที่สุด คือ ร้อยละ ๐.๑

–   ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-๑๙ มากที่สุด คือ บริการที่พักและอาหาร การผลิต การขายปลีกและขายส่ง และธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เกาหลีใต้และไทยสูญเสียตำแหน่งงานในธุรกิจดังกล่าวไปมากกว่าครึ่ง คนงานในภาคธุรกิจนี้ถูกลดชั่วโมงการทำงานหรือถูกพักงานชั่วคราว

–   ในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ชั่วโมงการทำงานและการจ้างงานคนงานหญิงลดลงมากกว่าคนงานชาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเพศหญิงทำเป็นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ มากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเพศชายทำเป็นส่วนใหญ่   

–   เยาวชน (อายุระหว่าง ๑๕-๒๔ ปี) จำนวนมากสูญเสียชั่วโมงการทำงานและสูญเสียการมีงานทำ  

–   อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๘ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๑.๓ ในไตรมาสที่สามของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยประมาณการว่า อัตราการว่างงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตลอดปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จะอยู่ที่ร้อยละ ๕.๒-๕.๗ (อัตราการว่างงานในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ของภูมิภาคนี้ คือ ร้อยละ ๔.๔)

–   การทำงานต่ำระดับด้านเวลา (งานที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า ๓๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่คนทำงานต้องการและสามารถทำงานได้มากกว่านั้น) เพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองและสามของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยเพิ่มขึ้นในเวียดนามถึงร้อยละ ๓๒๗ ในฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕๔ และในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔๙

–   คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบสูญเสียการมีงานทำมากกว่าคนงานในระบบ แต่คนงานนอกระบบที่ยังคงมีงานทำสูญเสียชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าคนงานในระบบที่ยังคงมีงานทำ

–   วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะสามารถฟื้นตัวได้ โดยในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เวียดนามมีการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดย่อมลดลงร้อยละ ๕.๖ ในวิสาหกิจขนาดเล็กลดลงร้อยละ ๓.๕ และในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ ๑.๕

งบประมาณที่ใช้ไปไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือตลาดแรงงาน

                   รัฐบาลของประเทศในเอเชียและแปซิฟิกต่างตอบสนองอย่างเต็มความสามารถต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากวิกฤตด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของคนทำงาน สถานประกอบการ และครัวเรือน การขยายกรอบนโยบายด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการสูญเสียตำแหน่งงานและชั่วโมงการทำงาน นโยบายช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้สถานประกอบการไม่เลิกจ้างคนงาน (แม้จะลดชั่วโมงการทำงานลงก็ตาม) ช่วยป้องกันการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมากได้

                   แผนการช่วยเหลือทางการเงินของแต่ละเขตเศรษฐกิจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการคุ้มครองทางสังคมและการช่วยเหลือสถานประกอบการ เขตเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าแล้วในทุกด้านสามารถทุ่มงบประมาณให้กับการรับมือโควิด-๑๙ ได้มากกว่าเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย ส่งผลให้เกิดความแตกต่างภายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

                   งบประมาณจำนวนมากที่ใช้ไปในภูมิภาคนี้ยังคงไม่เพียงพอกับปริมาณความเสียหายที่เกิดกับตลาดแรงงานซึ่งวัดจากการสูญเสียชั่วโมงการทำงาน เมื่อทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้วพบว่า งบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นตลาดแรงงานสามารถชดเชยชั่วโมงการทำงานได้ร้อยละ ๔ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เพียงแค่สามไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ก็เกิดการสูญเสียชั่วโมงการทำงานที่ไปแล้วร้อยละ ๑๑

บทส่งท้าย: การฟื้นตัวโดยอาศัยวิธีที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อมุ่งสู่อนาคตของงาน

                   ตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตกอยู่ในสภาวะที่วุ่นวายสับสน หลายประเทศยังคงต้องรับมือกับปัญหาเร่งด่วนของคนงาน สถานประกอบการ และประชาชนส่วนใหญ่ ไปพร้อม ๆ กับการวางรากฐานให้เกิดการฟื้นตัวในภาพรวมอย่างยั่งยืน หากรัฐบาลมีการวางนโยบายเพื่อสร้างอนาคตของงานหลังวิกฤตโควิด-๑๙ รัฐบาลก็ควรถือโอกาสนี้แก้ไขประเด็นที่เป็นจุดอ่อนทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งปรากฏชัดจากการเกิดวิกฤตครั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวโดยอาศัยวิธีที่มีคนเป็นศูนย์กลางสามารถสร้างอนาคตของงานที่มีความมั่นคง ทั่วถึง และเป็นธรรมได้ ซึ่งสอดคล้องกับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ 

                   การสูญเสียตำแหน่งงานและชั่วโมงการทำงาน ความยากจนที่เพิ่มมากขึ้น และอุปสรรคในการสร้างโอกาสในการทำงานอย่างมีคุณค่า อันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ห่างไกลไปจากเป้าหมายของวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ แต่ประเทศต่าง ๆ ยังคงมีศักยภาพที่จะ “วางแผนการใหญ่” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเจริญในภาพรวม ทั้งนี้ รัฐบาล คนงาน และนายจ้างสามารถร่วมกันทำงานเพื่อสร้างอนาคตของงานที่ดีกว่าเดิมหลังผ่านพ้นวิกฤต โดยการส่งเสริมวิธีที่มีคนเป็นศูนย์กลางตามแนวทางที่ให้ไว้ในปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO

                   ในระยะเวลาสิบปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ การสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานทุกคนในหลายประเทศของภูมิภาคนี้เกิดความล่าช้า แม้จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งก็ตามการขาดซึ่งงานที่มีคุณค่า รวมถึงการมีช่องว่างระหว่างเพศ อัตราการจ้างงานนอกระบบที่เพิ่มขึ้น และการแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่เข้มแข็ง ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่และภาคเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ทุ่มทุนเพื่อพัฒนาหรือสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานที่ดูแลตลาดแรงงานและระบบการคุ้มครองทางสังคม ทำให้หลายประเทศไม่มีความพร้อมในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของครัวเรือนในช่วงการเกิดวิกฤตและในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้

 


อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

ที่มา

International Labour Organization. Asia–Pacific Employment and Social Outlook 2020: Navigating the crisis towards a human-centred future of work. Geneva, First published 2020

[1] เขตเศรษฐกิจ หมายถึง ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึง มาเก๊า ฮ่องกง และไต้หวัน


2675
TOP