สรุปข้อสังเกตของ CEACR เกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยให้สัตยาบันแล้วตามที่ปรากฎในรายงาน Application of International Labour Standards 2020
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ (Committee of Experts on the Application of Conventions and Recommendations: CEACR) ได้จัดทำรายงาน Application of International Labour Standards 2020 ขึ้น เพื่อนำเสนอในการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๙
CEACR มีข้อสังเกตในภาพรวมต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยให้สัตยาบันแล้วว่า มีความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งต่อมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้นำมาดำเนินงานเพื่อรองรับอนุสัญญาฉบับ ๑๙ ว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน (ค่าทดแทนกรณีการเกิดอุบัติเหตุ) ค.ศ. ๑๙๒๕ และพึงพอใจต่อมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้นำมาดำเนินงานเพื่อรองรับอนุสัญญาฉบับ ๑๒๒ ว่าด้วยนโยบายการมีงานทำ ค.ศ. ๑๙๖๔
CEACR มีข้อสังเกตต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยให้สัตยาบันแล้วเป็นรายฉบับ จำนวน ๖ ฉบับ สรุปได้ดังนี้
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๙ ว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน (ค่าทดแทนกรณีการเกิดอุบัติเหตุ) ค.ศ. ๑๙๒๕
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑)
CEACR รับทราบถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำมาดำเนินการให้คนงานต่างด้าวผิดกฎหมายสามารถรับสิทธิประโยชน์กรณีบาดเจ็บจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทนได้ ทั้งยัง รับทราบถึงการออกพระราชบัญญัติเงินทดแทน ฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ และการออกประกาศของกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งมีผลให้กองทุนเงินทดแทนให้ขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างในภาคเกษตรกรรม ประมง ป่าไม้ และปศุสัตว์ โดยไม่ได้มีความเห็นให้รัฐบาลดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม
อนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๑
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒)
มาตรา ๑ (๑) มาตรา ๒ (๑) และมาตรา ๒๕
นายหน้าจัดหางานและค่าบริการจัดหางาน
CEACR รับทราบถึง การออกกฎหมายต่าง ๆ ที่ห้ามเรียกเก็บค่าบริการจัดหางานจากคนงานต่างด้าว ยกเว้น ค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าจัดเตรียมเอกสาร และค่าเดินทาง โดย CEACR ได้เคยขอให้รัฐบาลยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า แรงงานต่างด้าวในภาคการประมงจะไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการถูกใช้แรงงานบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการจ่ายค่าบริการจัดหางาน และการจัดหางานโดยนายหน้าจัดหางานเถื่อน
CEACR ได้รับแจ้งจากสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers’ Federation: ITF) ว่า ได้ทำการสัมภาษณ์คนงานประมงจำนวนหนึ่งในจังหวัดระนอง สงขลา และตราด ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมง (Fishers Rights Network: FRN) ซึ่งทำให้ทราบว่า คนงานประมงต่างด้าวร้อยละ ๘๙ ตกอยู่ในสภาพแรงงานขัดหนี้ มูลค่าหนี้โดยเฉลี่ยทั้งหมดเป็นจำนวน ๒๑,๐๐๐ บาท
ถึงแม้รัฐบาลจะได้รายงานให้ CEACR ทราบถึง บทบัญญัติและผลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ผลการดำเนินงานของทีมสหวิชาชีพ และการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากมีแรงงานประมงจำนวนมากตกเป็นแรงงานขัดหนี้ตามการรายงานของ FRN ดังนั้น CEACR จึง
– เรียกร้อง (urges) ให้รัฐบาลใช้ความพยายามยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า แรงงานต่างด้าวในภาคการประมงจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นแรงงานบังคับหรือเป็นแรงงานขัดหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการจ่ายค่าบริการจัดหางาน และการจัดหางานโดยนายหน้าจัดหางานเถื่อน และ
– ขอให้ (request) รัฐบาลให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา ๕๓ ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๑ และระบุถึงจำนวนและลักษณะของการกระทำความผิด รวมถึงบทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้รับ
การทำสัญญาจ้างงานอีกฉบับที่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากสัญญาจ้างงานต้นฉบับ
CEACR รับทราบถึง เนื้อหาในมาตรา ๑๔/๑ และ ๑๗ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และข้อ ๖ ของกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ เกี่ยวกับการทำสัญญามาตรฐานของแรงงานข้ามชาติ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๖๐ เกี่ยวกับการออกเอกสารสำคัญประจำตัวสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในการประมง (Seabook) และมาตรา ๒๓ ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๑ เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและการเก็บรักษาเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนงานประมงของ FRN แสดงให้เห็นถึง คนงานประมง ร้อยละ ๗๘ ไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้าง และบางส่วนได้รับสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย
ในการนี้ CEACR
– ขอให้รัฐบาลใช้ความพยายามยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้มั่นใจได้ถึงการบังคับใช้มาตรา ๒๓ ของพระราช-กำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๑ และการห้ามทำสัญญาจ้างงานอีกฉบับที่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากสัญญาจ้างงานต้นฉบับ
– สนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินการเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะทำการขึ้นทะเบียนหรือทำการตรวจพิสูจน์ว่า สัญญาจ้างงานที่คนงานลงนามไปนั้น มีข้อความสอดคล้องกับข้อเสนอการจ้างงานเดิมที่ได้รับการยินยอมจากคนงานแล้ว
– ขอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้คนงานต่างด้าวได้รับสำเนาหนังสือสัญญาจ้างในภาษาของคนงานเอง
การทุจริตและการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
CEACR เคยขอให้รัฐบาลให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการใช้มาตรการเชิงรุก เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จะถูกดำเนินคดีและจะมีการใช้บทลงโทษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปรามการกระทำความผิดได้ และรัฐบาลได้รายงานให้ CEACR ทราบถึงข้อมูลสถิติ การสอบสวนและการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด
CEACR ขอให้รัฐบาล
– ยังคงดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และใช้บทลงโทษที่รุนแรงเพียงพอต่อการปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว
– ให้ข้อมูลเรื่อง มาตรการต่าง ๆ ที่นำมาดำเนินการ รวมถึง จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดีฐานค้ามนุษย์และบทลงโทษที่ได้รับ
การยึดเอกสารประจำตัวของคนงานประมง
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนงานประมงของ FRN พบว่า จากจำนวนคนงานประมงที่ให้สัมภาษณ์มีเพียงร้อยละ ๑๓ เท่านั้นที่มีเอกสารประจำตัวอยู่กับตน คนงานส่วนใหญ่ถูกนายจ้างยึดเอกสารประจำตนไว้ อันทำให้นายจ้างสามารถเรียกเงินจากคนงานประมงได้ ในกรณีที่คนงานต้องการเปลี่ยนนายจ้าง หรือเรียกเงินจากเจ้าของเรือคนใหม่ที่ต้องการจ้างคนงานประมงต่อจากตน ทำให้คนงานตกเป็นแรงงานขัดหนี้ของนายจ้างรายใหม่
CEACR รับทราบถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้องและบทลงโทษตามกฎหมาย
CEACR ขอย้ำว่า การยึดเอกสารประจำตัวของคนงานประมงนับเป็นปัญหาร้ายแรงที่ทำให้คนงานประมงถูกล่วงละเมิด ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และถูกควบคุมไม่ให้ลาออกจากงาน CEACR จึงเรียกร้องให้รัฐบาล
– บังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ อย่างจริงจัง
– ใช้บทลงโทษที่รุนแรงเพียงพอต่อนายจ้างที่ยึดเอกสารประจำตัวของคนงานประมง เพื่อเป็นการปรามไม่ให้มีการกระทำความผิด
การค้างจ่ายค่าจ้าง
ข้อมูลจากการสำรวจของ ITF พบว่า คนงานประมงร้อยละ ๘๒ ไม่ได้รับค่าจ้างทุกเดือน คนงานประมงร้อยละ ๙๕ รับรู้เรื่องการจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารและการกด ATM แต่มีเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้นที่ได้ถือบัตร ATM และกดเงินเอง โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ถูกนายจ้างควบคุมการใช้ ATM หรือนายจ้างจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารเพื่อให้มีการบันทึกรายการอย่างถูกต้อง แต่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าความเป็นจริง
CEACR เรียกร้องให้รัฐบาล
– บังคับใช้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีการจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนตรงตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และลงโทษอย่างสมควรต่อนายจ้างที่ไม่จ่ายค่าจ้าง
– ขอให้รัฐบาลยังคงนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ PIPO รวมถึง จำนวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับการไม่จ่ายค่าจ้างหรือการค้างจ่ายค่าจ่าง และบทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ
การล่วงละเมิดต่อร่างกาย
CEACR รับทราบถึง การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้มีครอบคลุมมากขึ้น แต่การประมงเป็นการทำงานที่อยู่โดดเดี่ยวในกลางทะเล CEACR จึงขอเน้นย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่คนงานประมงจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกกระทำรุนแรงต่อร่างกาย
CEACR เรียกร้องให้รัฐบาล
– บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อย่างมีประสิทธิภาพ
– ให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลคนงานประมงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเข้าสืบสวนกรณีมีการกระทำทารุณทางร่างกาย
– ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า จะมีการลงโทษที่เหมาะสมต่อนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
การตรวจแรงงาน และการใช้บทลงโทษ
CEACR รับทราบถึงระบบการตรวจแรงงานในเรือประมง การเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงาน การเสริมสร้างขีดความสามารถพนักงานตรวจแรงงาน และผลการตรวจแรงงานประมงและการตรวจเรือ
CEACR รับทราบจาก ITF ว่า ระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System: VMS) ของ PIPO ที่นำมาใช้ทดแทนการตรวจบุคคล (physical inspections) จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้คนงานถูกละเมิดสิทธิ ซึ่ง VMS สามารถปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการตรวจแรงงานโดยมนุษย์ได้
CEACR ขอให้รัฐบาล
– ยังคงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของพนักงานตรวจแรงงานอย่างต่อเนื่องในด้านการตรวจหาการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์
– นำเสนอข้อมูลสถิติเกี่ยวกับจำนวนคดีแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในคนงานประมงต่างด้าว ตลอดจน จำนวนผู้กระทำความผิดและบทลงโทษที่ได้รับ
– ดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า คนบนเรือประมงจะได้รับการตรวจโดยพนักงานตรวจแรงงาน และโดยระบบของ PIPO พร้อมกับนำเสนอผลการตรวจดังกล่าว โดยจำแนกตามฐานความผิด
การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการช่วยเหลือผู้เสียหาย
CEACR รับทราบถึง กลไกการรับเรื่องร้องทุกข์ การเพิ่มจำนวนล่าม การจัดตั้งศูนย์บริการของภาครัฐเพื่อให้ความเชื่อเหลือด้านต่าง ๆ แก่ผู้เสียหาย และการทำงานของส่วนราชการและองค์กรภายนอก เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหาย
ในการนี้ CEACR
– ขอสนับสนุนให้รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือคนงานประมงต่างด้าวไม่ให้ถูกใช้แรงงานบังคับหรือค้ามนุษย์
– ขอให้รัฐบาลนำเสนอข้อมูลสถิติด้านจำนวนคนงานประมงต่างด้าวที่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากภาครัฐ หรือองค์กรต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ประสานงานแรงงานประมง ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมง และจำนวนคนงานประมงต่างด้าวที่ได้ยื่นคำร้องเรียนผ่านทางระบบรับแจ้งปัญหาแรงงานต่างด้าวทางอินเตอร์เน็ตของกรมการจัดหางาน
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๕ ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๕๗
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒)
มาตรา ๑ (เอ)
บทลงโทษทางอาญาที่เกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงาน เพื่อลงโทษต่อการมีหรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ CEACR ขอให้รัฐบาลให้ความสนใจกับมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนมาตรานี้ รวมถึงมาตรา ๑๔ และ ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว โดย CEACR ได้รับทราบถึงข้อสังเกตโดยสรุป พ.ศ. ๒๕๖๐ ของคณะกรรมสารสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ถูกจับกุมและการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การตั้งข้อจำกัดต่อการใช้สิทธิด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการดำเนินคดีหมิ่นประมาทต่อนักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าว หรือบุคคลต่าง ๆ นอกจากนี้ CEACR ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
CEACR รับทราบถึงคำชี้แจงของรัฐบาลเกี่ยวกับความสำคัญของมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความจำเป็นของมาตรา ๑๔ และ ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และขั้นตอนและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พ.ศ. ๒๕๖๑
CEACR ขอย้ำว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึง เสรีภาพในการแสดงออก เป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญานี้ หากการจำกัดนั้นกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงานในลักษณะจำคุก (compulsory prison labour) ในการนี้ CEACR ขอให้รัฐบาลให้ความสนใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า การมีหลักประกันทางกฎหมายด้านการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสันติ การรวมตัวเป็นสมาคม และการไม่ถูกจับกุม ล้วนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเกณฑ์แรงงานเพื่อลงโทษต่อการมีหรือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองหรืออุดมการณ์ของตน หรือเพื่อเป็นวิถีทางหนึ่งของการบังคับทางการเมือง ดังนั้น CEACR จึงเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้รัฐบาล
– ดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีบทลงโทษทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงาน รวมถึง การจำคุก ต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติ แม้ความคิดดังกล่าวจะขัดกับระบบการเมืองที่มีอยู่แล้วก็ตาม
– ทำให้มั่นใจได้ว่า มาตรา ๑๑๒ จะได้รับการแก้ไขให้มีขอบเขตที่ชัดเจนเฉพาะการกระทำความรุนแรงหรือการยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง หรือยกเลิกบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์แรงงาน โดยใช้บทลงโทษอื่น (เช่น การปรับ) ต่อผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดกับระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองที่มีอยู่ โดยไม่ได้ใช้หรือไม่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรงในการแสดงความเห็นนั้น
– ให้ข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินงานใด ๆ ที่มีข้างต้น
– ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา ๑๔ และ ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ รวมถึง คำตัดสินของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุอันนำไปสู่การตัดสินโทษดังกล่าว
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๒ ว่าด้วยนโยบายการมีงานทำ ค.ศ. ๑๙๖๔
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒)
มาตรา ๑ และมาตรา ๒
การนำนโยบายการมีงานทำไปปฏิบัติ: ทิศทางของตลาดแรงงาน
CEACR รับทราบถึงมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ผลการสำรวจกำลังแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ผลการดำเนินงานของศูนย์ตรีเทพเพื่อการจ้างงานและยกระดับรายได้อย่างครบวงจร ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย และโครงการ M-Powered Thailand และการจัดตั้ง Smart Labour Line Mobile Application
CEACR ขอให้รัฐบาล
– ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีงานทำ
– ให้ข้อมูลสถิติด้านสถานการณ์ตลาดแรงงาน โดยจำแนกตามเพศและอายุ รวมถึง แนวโน้มการมีงานทำ การว่างงาน การทำงานต่ำระดับ และข้อมูลเกี่ยวกับขนาดและสัดส่วนของเศรษฐกิจนอกระบบ
มาตรา ๓
การปรึกษาหารือกับหุ้นส่วนทางสังคม
CEACR รับทราบตามที่รัฐบาลแจ้งเรื่อง การจัดปรึกษาหารือไตรภาคีเกี่ยวกับการจัดทำและรับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ และการจัดทำร่างกลยุทธ์สำหรับแผนแม่บทแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙
CEACR ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดปรึกษาหารือกับหุ้นส่วนทางสังคมด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ และด้านการนำแผนฯ มาปฏิบัติ
แรงงานต่างด้าว
CEACR ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับ
– ผลจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ด้านการแก้ไขปัญหาของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมการประมง ตามที่รัฐบาลเคยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในรายงานฉบับก่อนหน้าที่
– การกระทำความผิดด้านแรงงานในกิจการที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน บทลงโทษต่อผู้กระทำผิด และการจ่ายเงินทดแทน
– มาตรการที่นำมาใช้หรือคาดว่าจะนำมาใช้เพื่อป้องการการละเมิดและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากคนงานต่างด้าวในประเทศไทย
การป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง
CEACR ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูล (รวมถึง สถิติจำแนกตามเพศและอายุ) ด้านผลจากการดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานทุกระดับของผู้หญิง และมาตรการเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติในเงื่อนไขการจ้างงาน
คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ
CEACR ขอให้รัฐบาล
– ให้ข้อมูลด้านผลจากการดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจนอกระบบเกิดการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นเศรษฐกิจในระบบ และการขยายสิทธิประโยชน์ทางการประกันสังคมไปสู่คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ
– ข้อมูลด้านลักษณะและผลกระทบของมาตรการที่นำมาดำเนินการเพื่อช่วยในการเปลี่ยนคนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบมาเป็นคนงานในภาคเศรษฐกิจในระบบ โดยอ้างอิงหลักการตามข้อแนะฉบับที่ ๒๐๔ ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นในระบบ ค.ศ. ๒๐๑๕
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ ค.ศ. ๑๙๗๓
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗)
มาตรา ๑
นโยบายแห่งชาติ การตรวจแรงงาน และการปฏิบัติตามอนุสัญญา
CEACR รับทราบถึงข้อมูลร้อยละการทำงานของเด็กอายุระหว่าง ๕-๑๗ ปี มาตรการต่าง ๆ ที่นำมาดำเนินการเพื่อขจัดแรงงานเด็ก แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ แผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๔ มาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านการตรวจแรงงาน และจำนวนการดำเนินคดีต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับเด็กภายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ
CEACR ยังรับทราบถึงผลการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งพบว่า เด็กในการสำรวจทั้งหมด ๑๐.๔๗ ล้านคนนั้น มีเด็กจำนวน ๔๐๙,๐๐๐ คนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยในจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานเด็ก จำนวน ๑๗๗,๐๐๐ คน และเกี่ยวข้องกับงานอันตราย จำนวน ๑๓๓,๐๐๐ คน เด็กที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมา คือ ภาคพาณิชย์และบริการ และภาคการผลิต ตามลำดับ ทั้งหมดนี้เป็นเด็กที่ทำงานในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างถึงร้อยละ ๖๕.๑ ซึ่ง CEACR มีความเห็นว่า จำนวนแรงงานเด็กยังคงสูงอยู่
CEACR จึง
– เรียกร้องให้รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการระบุและต่อต้านแรงงานเด็ก รวมถึง ดำเนินมาตรการในกรอบงานของแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า
– ขอสนับสนุนให้รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการตรวจแรงงาน และขยายขอบเขตการตรวจให้ครอบคลุมภาคเกษตรกรรม ภาคพาณิชย์ ภาคบริการ เรือประมง และกิจการแปรรูปอาหารทะเล รวมถึง นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อ ILO
– ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะการกระทำความผิดกรณีแรงงานเด็ก ที่พบจากการตรวจแรงงาน และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ รวมถึง บทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๒ ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ค.ศ. ๑๙๙๙*
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔)
มาตรา ๓ มาตรา ๕ และมาตรา ๗ (๑)
การค้ามนุษย์
นอกเหนือจากข้อมูลที่รัฐบาลได้รายงานมาแล้ว CEACR ยังรับทราบถึงรายงานของสำนักงาน ว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เรื่อง การค้ามนุษย์จากกัมพูชา ลาว และเมียนมา สู่ไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ระบุว่า มีการค้าเด็กจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อมาใช้แรงงาน ค้าประเวณี และบังคับขอทาน ในประเทศไทย ทั้งยังรับทราบถึงความเห็นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ของคณะกรรมการด้านการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ที่มีข้อห่วงกังวลต่อประเทศที่เป็นต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานและค้าประเวณี การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ขาดประสิทธิภาพ และการทุจริตและกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
CEACR จึง
– เรียกร้องให้รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการขจัดการค้าเด็ก โดยทำการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด และใช้บทลงโทษที่เพียงพอต่อการปรามการกระทำความผิด
– ขอให้รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สามารถระบุและขจัดการขายและการค้าเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี
– ขอให้รัฐบาลนำเสนอข้อมูลจำนวนการฝ่าฝืนกฎหมาย การสอบสวน การดำเนินคดี คำตัดสิน และบทลงโทษที่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้รับ
เด็กที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี
นอกเหนือจากข้อมูลที่รัฐบาลได้รายงานมาแล้ว CEACR ยังรับทราบถึงรายงาน พ.ศ. ๒๕๖๐ของ UNODC ที่ระบุว่า เด็กต่างด้าวส่วนใหญ่ในธุรกิจทางเพศในประเทศไทยมีอายุระหว่าง ๑๖-๑๘ ปี เด็กชายที่อาศัยอยู่แหล่งท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทางเพศอีกด้วย
CEACR จึง
– ขอสนับสนุนให้รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นดำเนินการให้ผู้ใช้บริการ เสนอ หรือจ้าง เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เพื่อการค้าประเวณีต้องถูกสอบสวน ถูกดำเนินคดี และได้รับการลงโทษเพียงพอต่อการกระทำความผิด
– ขอให้รัฐบาลนำเสนอข้อมูลจำนวนการฝ่าฝืนกฎหมาย การสอบสวน การดำเนินคดี คำตัดสิน และบทลงโทษที่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้รับ
มาตรา ๗ (๒)
เด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทางเพศพาณิชย์
CEACR รับทราบถึงการดำเนินงานการช่วยเหลือฟื้นฟู การฝึกอาชีพ การจ่ายค่าเยียวยา การใช้ Child Safeguarding Standard ตลอดจน การให้ที่พักพิงแก่ผู้เสียหายฯ
CEACR ขอให้รัฐบาล
– ยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือทางการเงินและจ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้เสียหายฯ ที่เป็นเด็ก และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
– นำเสนอข้อมูลจำนวนเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายฯ ที่ได้รับความช่วยเหลือและฟื้นฟู โดยจำแนกข้อมูลตามเพศและอายุ
มาตรา ๘
ความร่วมมือระหว่างภูมิภาค และข้อตกลงทวิภาคี
CEACR รับทราบถึงการทำความตกลงต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา จีน ลาว และเมียนมา การลงนาม MOU ทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ กับรัฐบาลเมียนมา เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ กับรัฐบาลอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ และรัฐบาลจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ แผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ Bohol Trafficking in Person Work Plan 2017-2020 และ Regional Guidelines and Procedures to address the Needs of Victims of Trafficking in Person ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๒
CEACR จึง
– ขอสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินงานด้านความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขจัดการค้าเด็กด้านแรงงานและการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทางเพศพาณิชย์
– ขอให้รัฐบาลนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่นำมาใช้หรือคาดว่าจะนำมาใช้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการภายใต้ Coordinated Mekong Ministerial Initiative against Trafficking (COMMIT) และความร่วมมือในภูมิภาคของ ASEAN ตลอดจน มาตรการที่นำมาใช้กับเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายฯ เพื่อการฟื้นฟู การบูรณาการคืนสู่สังคม และการส่งกลับ
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓