Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปข้อมูล ILO เรื่อง COVID 19 กับเศรษฐกิจนอกระบบ

สรุปข้อมูล ILO เรื่อง COVID 19 กับเศรษฐกิจนอกระบบ


ILO ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง COVID 19 กับเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อนำแสดงถึงผลกระทบจากมาตรการ lockdown การจำกัดการเดินทาง และมาตรการอื่น ๆ ด้านการควบคุมการระบาดของ COVID 19 ที่มีต่อภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และนำเสนอวิธีการเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


๑ สถานการณ์ทั่วไป

ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการค้นพบวิธีการรักษาและวัคซีนป้องกัน COVID 19 ทำให้การเว้นระยะห่างในสังคมเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้ มาตรการ lockdown ถูกนำมาใช้แพร่หลายทั่วโลก อันส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า ๕ พันล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนงานนอกระบบประมาณ ๑.๖ พันล้านคน และคนงานหญิงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบส่วนใหญ่ไม่สามารถหารายได้ในทางอื่นมาทดแทน ทำงานที่ไม่มีความมั่นคง ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในสถานที่ทำงาน มีเงินออมน้อย และแทบไม่มีเงินทุนสะสมเลย ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับมือใด ๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงฉับพลันนี้ได้ และมักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินระยะสั้นภายใต้โครงการของรัฐบาลเพื่อรับมือกับวิกฤติ COVID 19

๒ วิกฤติทางเศรษฐกิจและสุขภาพอนามัยที่ส่งผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจนอกระบบ

การ lockdown และมาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้ครอบครัวและตัวคนงานนอกระบบที่อยู่ในประเทศรายได้ปานกลางจะมีความยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑ จุด ในประเทศรายได้สูงจะยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๒ จุด และในประเทศรายได้ต่ำจะยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๖ จุด ซึ่งรวมไปถึง คนงานในภาคบริการที่พักและอาหาร ค้าปลีก ค้าส่ง และการเกษตร ยิ่งไปกว่านั้น การจำกัดการเดินทางและการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจน การปิดตลาดค้าขาย อาหารยังทำให้คนงานนอกระบบและครอบครัวขาดความมั่นคงทางอาหาร

คนงานนอกระบบในเขตเมืองแม้จะกักตัวอยู่ในบ้าน ก็มีความเสี่ยงกับการติดไวรัส เนื่องจากสถานที่พักอาศัยไม่ถูกสุขลักษณะและแออัน ทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลได้ การขาดแคลนน้ำประปาสำหรับล้างมือก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดไวรัสหรือการแพร่ไวรัสไปสู่ชุมชน นอกจากนั้น คนงานนอกระบบ โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตชนบท ยังขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส อาการของผู้ติดไวรัส และมาตรการป้องกันต่าง ๆ หากคนงานเหล่านี้ยังคงไปทำ ก็มักจะขาดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและจุดล้างมือ และคนงานบางกลุ่มไม่สามารถใช้มาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลได้ เช่น ผู้ค้าเร่ในตลาดและตามถนน คนงานทำงานบ้าน หรือคนส่งสินค้าตามบ้าน เป็นต้น ในสถานการณ์ปกตินั้น คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบส่วนใหญ่ก็ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วย ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากการทำงาน และการระบาดของ COVID 19 ทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวสูงขึ้นกว่าเดิม

มาตรการจำกัดการเดินของประชาชน การให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทันทีทันใด หรือการให้ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ส่งผลให้กิจการในภาคเศรษฐกิจนอกระบบขาดรายได้ลงทันทีทันใดและต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีทุนสำรองที่จะรักษาสถานภาพทางการเงินของกิจการ ขณะเดียวกัน มาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวก็ส่งผลให้วิสาหกิจในระบบขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ต้องประสบปัญหาทางด้านการเงินจนถึงขั้นปิดกิจการ หรือมิฉะนั้นก็มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นกิจการในภาคเศรษฐกิจนอกระบบหรือเป็นผู้ประกอบกิจการส่วนตัวที่ไม่มีลูกจ้าง ธุรกิจในระบบจะลดน้อยลง ในขณะที่ภาคนอกระบบจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

๓ วิธีการรับมือ

การรับมือโดยทันทีต่อสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้นนั้น ต้องใช้กลยุทธต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพมาผสมผสานกัน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการ (ก) ลดการติดไวรัสของคนงานและครอบครัว รวมถึงการลดความเสี่ยงที่คนงานหรือครอบครัวจะแพร่ไวรัส (ข) ให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาพยาบาล (ค) ให้ความช่วยเหลือด้านรายได้และอาหาร และจ่ายเงินชดเชยกรณีที่ต้องหยุดหรือลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ (ง) ป้องกันและลดความเสียหายในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรักษาการจ้างงานให้คงอยู่ โดยใช้กลวิธีต่าง ๆ ดังนี้

๓.๑ กำหนดมาตรการหรือวางนโยบายสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ของภาคเศรษฐกิจนอกระบบ โดยให้มีความเหมาะสมกับลักษณะ สภาพ และความต้องการของคนงานในแต่ละกลุ่มในการกำหนดมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ นั้นต้องให้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดแรงงานมาร่วมพิจารณาด้วย โดยเฉพาะองค์กรผู้แทนข้างมากที่สุดของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และให้เจ้าของกิจการหรือคนงานในภาคนอกระบบร่วมแสดงความเห็นและความต้องการ

๓.๒ จำแนกความต้องการของภาคนอกระบบแต่ละกลุ่ม และให้ความสำคัญลำดับต้นกับกลุ่มที่มีความเปราะบางที่สุด โดยรับฟังความเห็นและข้อมูลจากองค์กรหรือผู้ที่อยู่ในภาคนอกระบบ และต้องมีความเข้าใจถึงความหลากหลายในสถานการณ์ ความต้องการ และมุมมอง ของภาคเศรษฐกิจนอกระบบกลุ่มต่าง ๆ

๓.๓ ลดโอกาสการติดไวรัสและความเสี่ยงในการแพร่ไวรัส ทั้งนี้ มาตรการ lockdown ควรดำเนินการควบคู่ไปกับ

(ก) การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัส การติดต่อของไวรัส ผลต่อสุขภาพ วิธีการป้องกันไวรัส ข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีระหว่างการ lockdown และมาตรการใด ๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบทางรายได้ของผู้ที่อยู่ในภาคนอกระบบ

(ข) การประสานงานกับคนงานและกิจการในภาคนอกระบบเพื่อให้เกิดความเข้าใจและทำให้มาตรการต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(ค) การขยายระบบการคุ้มครองทางสังคมและโครงการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่ในภาคนอกระบบ และ

(ง) การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน โดยคำนึงถึงข้อบังคับด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย

ทั้งนี้ ควรมีการจัดทำคู่มือด้านสุขภาพในช่วงวิกฤต COVID 19 สำหรับแต่ละสาขาอาชีพในภาคนอกระบบ เช่น ผู้ค้าเร่ตามถนน คนงานทำงานบ้าน คนส่งสินค้าตามบ้าน คนเก็บขยะ และคนขับรถแท็กซี่

๓.๔ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ผู้ติดเชื้อสามารถจ่ายได้ โดย

(ก) จำกัดวงเงินการจ้ายค่ารักษาพยาบาลให้มีจำนวนน้อยที่สุด โดยให้ระบบประกันสุขภาพและระบบด้านการประกันสังคมเข้ามาอุดหนุน และ

(ข) จัดให้มีบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงระบบทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตชนบท และขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ในการเข้าถึงระบบทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านการเงิน ด้านภูมิศาสตร์ หรือทางการปกครอง

ทั้งนี้ ไม่ควรจำกัดเฉพาะการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยจาก COVID 19 แต่ควรรวมถึงการเจ็บป่วยจากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย และควรพิจารณาเรื่อง การประกันรายได้ให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวหรือผู้ที่ต้องกักตัวเอง

๓.๕ ให้ความช่วยเหลือด้านรายได้และอาหาร และจ่ายเงิดชดเชยกรณีที่ต้องหยุดหรือลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้แก่คนงานนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนงานหญิงและคนงานผู้เยาว์ โดยการ

(ก) ขยายระบบการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมถึงคนงานนอกระบบ และเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมให้สูงขึ้น รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการการคุ้มครองกรณีว่างงานมาจ่ายชดเชยให้แก่คนงานที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน โดยไม่คำนึงว่าคนงานนั้นจะเป็นคนงานในระบบหรือนอกระบบ

(ข) ในกรณีที่ไม่สามารถขยายระบบการคุ้มครองทางสังคมหรือเพิ่มประโยชน์ทดแทนได้ รัฐบาลควรพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง (one-off payment) แก่ประชาชนแบบถ้วนหน้า หรือแก่ประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบใด ๆ

(ค) ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะเป็นการช่วยอุดหนุนผลผลิตของภาคการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง

๓.๖ ป้องกันและลดความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยรักษาโอกาสในการจ้างงานให้คงอยู่ไว้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการต่าง ๆ ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ ควรใช้มาตรการต่าง ๆ ทางด้านการเงินช่วยเหลือกิจการในภาคนอกระบบอยู่รอด ได้แก่

(ก) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบของเงินให้เปล่า เงินกู้อุดหนุน เงินกู้ผ่อนชำระระยะยาว และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้กิจการในภาคนอกระบบไม่ต้องปิดตัวลง

(ข) มาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ เช่น ยกเว้นการจ่ายหรือเลื่อนกำหนดการจ่ายค่าบริการต่าง ๆ ของรัฐ (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าพื้นที่ของรัฐ)

(ค) การช่วยเหลือในรูปแบบการลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมให้กิจการในภาคนอกระบบสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยใช้ระบบดิจิตอล

๔ การสร้างความเป็นหุ้นส่วน

การเจรจาทางสังคมเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและหุ้นส่วนทางสังคมในการออกแบบมาตรการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อผ่านพ้นวิกฤตไปได้ จะเห็นได้ว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา องค์กรของนายจ้างและของลูกจ้างต่าง ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบเป็นอย่างดีมาโดยตลอด การเกิดวิกฤตในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ภาครัฐจะเพิ่มความแน่นแฟ้นระหว่างองค์กรของนายจ้างและของลูกจ้าง และผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ รวมถึง องค์กรอื่น ๆ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

๕ ข้อคิดเห็นส่งท้าย

การกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีงานทำ คือ สิ่งจำเป็นที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ และควรใช้การเจรจาทางสังคมในสถานการณ์นี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันขององค์กรของนายจ้าง องค์กรของลูกจ้าง และผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ในการออกแบบมาตรการหรือกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤต COVID 19 นั้น ควรคำนึงถึงมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเป็นหลักการที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางโอกาส และการไม่เลือกปฏิบัติ ในทุกบริบทของการมีงานทำและการประกอบอาชีพ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เนื่องจาก คนกลุ่มนี้มักจะถูกละเมิดสิทธิและถูกเลือกปฏิบัติ แม้แต่ในยามสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ภาคเศรษฐกิจนอกระบบจะมีความเป็นอยู่ที่ดีและทำงานที่มีคุณค่าได้ หากมีการดำเนินการ ดังนี้

(ก) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลและได้รับการคุ้มครองทางการเงินเพื่อช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาล

(ข) สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้า เพื่อคุ้มครองคนงานทุกคนไม่ว่าจะมีการจ้างงานในรูปแบบใด ซึ่งอาจพิจารณาขยายการคุ้มครองให้ถ้วนหน้าในช่วงวิกฤตนี้เป็นการชั่วคราวก่อน

(ค) ส่งเสริมให้กิจการที่มีผลิตภาพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบฟื้นตัวได้ และช่วยให้กิจการที่มีผลิตภาพเหล่านี้เปลี่ยนแปลงสถานภาพเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจในระบบ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการมีงานทำในระบบให้มากขึ้น

(ง) ช่วยให้กิจการต่าง ๆ ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจในระบบตามแนวทางการดำเนินงานที่ให้ไว้ในข้อแนะฉบับที่ ๒๐๔ ว่าด้วยการเปลี่ยนรูปแบบจากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นในระบบ ค.ศ. ๒๐๑๕

——————————————————-

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

พฤษภาคม ๒๕๖๓


940
TOP