Skip to main content

หน้าหลัก

สถานการณ์ในภาพรวมด้านการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศขั้นพื้นฐานในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙

สถานการณ์ในภาพรวมด้านการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศขั้นพื้นฐาน

ในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙

 

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่รุนแรงที่สุดของโลกและส่งผลกระทบในเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมตามมา จากการระบาดดังกล่าวทำให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส รวมถึง การปิดเมืองหรือการจำกัดการเดินทาง ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลเสียหายต่อตลาดแรงงาน ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าบางชนิด เช่น อาหารและยา มีเพิ่มมากขึ้น แต่ความต้องการของผู้บริโภคต่อบริการบางประเภท เช่น การท่องเที่ยวและการเดินทาง กลับลดต่ำลงอย่างมาก สถานประกอบการนับล้านแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุนและทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของ ILO ในเดือนกันยายน ๒๕๖๓ พบว่า มีการสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลาไปถึง ๔๙๕ ล้านตำแหน่ง โดยผู้หญิงถูกเลิกจ้างมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากกิจการที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-๑๙ มีผู้หญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ มาตรการกักตัว การจำกัดการเดินทาง และการปิดเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้เกิดการว่างงาน ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยธนาคารโลกประมาณการณ์ว่า ประชาชนประมาณ ๑๕๐ ล้านคนจะกลายเป็นคนยากจนขั้นรุนแรง (extremely poor) ภายในปี ๒๕๖๔

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ส่งผลต่อสถานการณ์การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศขั้นพื้นฐาน ดังนี้    

สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

                   คนทำงานตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือกระหว่างความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่มีรายได้เพื่อเลี้ยงปากท้อง กับความปลอดภัยจากการติดเชื้อแต่ไม่มีหนทางจุนเจือครอบครัวหรือตัวเอง ดังนั้น จึงมีคนทำงานหลายล้านคนยังคงทำหน้าที่ในการผลิตหรือให้บริการต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่า สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลจะเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่รัฐบาลของหลายประเทศก็ไม่สามารถให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพและชีวิตแก่คนทำงานในทุกอาชีพได้อย่างเพียงพอ

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน (Occupational Safety and Health: OSH) อันรวมถึงอนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๗ ว่าด้วยกรอบงานเชิงส่งเสริมการดำเนินงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ค.ศ. ๒๐๐๖ และอนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๕ ว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ค.ศ. ๑๙๘๑ หลักการต่าง ๆ ของมาตรฐานแรงงานด้าน OSH ล้วนแล้วแต่สามารถสนองตอบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ เช่น การคุ้มครองคนทำงานจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อสุขภาพ มาตรการการจัดการด้าน OSH การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลให้แก่คนทำงาน การจัดฝึกอบรมด้าน OSH ให้แก่คนทำงาน และการประเมินความเสี่ยงจากการทำงานที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน นอกจากนี้ บริการ    ต่าง ๆ ด้านอาชีวอนามัย เช่น การตรวจติดตามภาวะสุขภาพของคนทำงาน การจัดทำคู่มือ OSH ที่เหมาะสมกับสถานที่ทำงาน ฯลฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพเช่นนี้ ซึ่งการนำหลักการของอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๑ ว่าด้วยบริการด้านอาชีวอนามัย ค.ศ. ๑๙๘๕ มาปฏิบัติจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศสมาชิก

                   ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ สถานประกอบกิจการหลายแห่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือวิธีการทำงานไปจากเดิมอย่างกะทันหัน เช่น การสลับวันทำงานเพื่อลดความแออัดในสถานที่ทำงาน การให้ลูกจ้างทำงานจากที่บ้าน เป็นต้น เพื่อคุ้มครองสุขภาพร่างกายของคนทำงาน แต่กลับส่งกระทบผลสุขภาพจิตของคนทำงาน ซึ่งมาตรฐานแรงงานด้าน OSH ของ ILO ครอบคลุมทั้งประเด็นสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงาน ทั้งนี้ มีหลายประเทศดำเนินกลยุทธระดับชาติเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ โดยกำหนดให้ประเด็น OSH เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้บรรลุความสำเร็จด้านการสาธารณสุขแห่งชาติ

ความมั่นคงทางสังคม

                   ระบบสุขภาพแห่งชาติของทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากความต้องการบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่เร่งด่วนและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-๑๙ โดยการถดถอยทางเศรษฐกิจเพราะโควิด-๑๙ ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศไม่สามารถอุดหนุนระบบสุขภาพแห่งชาติและการคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอต่อความจำเป็นของประชาชนได้ มีประชากรทั่วโลกเพียงร้อยละ ๒๗ เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมแบบครอบคลุมทุกส่วน

                   การคุ้มครองทางสังคมเป็นองค์ประกอบหลักในการรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการบรรเทาทุกข์ประชาชนบางประเทศที่มีระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งจะมีระบบสุขภาพที่ดีสามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ ได้ และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงข้ามกับประเทศที่มีระบบความคุ้มครองทางสังคมที่อ่อนแอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีการคุ้มครองสุขภาพแบบถ้วนหน้า ไม่มีการประกันการว่างงาน และไม่มีสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ

                   หลายประเทศรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ โดยการริเริ่มดำเนินมาตรการที่ส่งผลในภาพรวม เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพแห่งชาติ การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยและว่างงาน การกำหนดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ระหว่างการทำงานมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน เป็นต้น พร้อมกันนั้นประเทศเหล่านี้ก็ได้ดำเนินมาตรการระยะสั้นต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เช่น การจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน การจ่ายเงินแก่ผู้ติดเชื้อ เป็นต้น มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ถึงแม้จะเป็นมาตรการที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๒ ว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม (มาตรฐานขั้นต่ำ) ค.ศ. ๑๙๕๒ แต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับอื่นที่ออกมาภายหลัง[1] ในหมวดเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคม ซึ่งหลายประเทศได้นำหลักการและแนวทางในอนุสัญญาเหล่านี้มาปฏิบัติโดยที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และเห็นผลแล้วว่า หลักการและแนวทางดังกล่าวช่วยให้ประเทศเหล่านี้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

นโยบายการมีงานทำ

                   จากการสำรวจทั่วไปด้านการส่งเสริมการมีงานทำในประเทศสมาชิกที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๒ ว่าด้วยนโยบายการมีงานทำ ค.ศ. ๑๙๖๔ และจากการรายงานการอนุวัติการตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๒ ของประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว พบว่า การระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้ประเทศสมาชิกสูญเสียโอกาสที่จะกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างอนาคตของงานที่มีความมั่นคงและเป็นธรรม รวมถึงไม่มีโอกาสที่จะกำหนดนโยบายด้านการมีงานทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ    การจะเอาชนะประเด็นท้าทายนี้ได้รัฐบาลต้องหาหนทางโดยอาศัยการเจรจาทางสังคมและการปรึกษาหารือไตรภาคี การกำหนดนโนบายแนวใหม่ที่ครอบคลุมทุกส่วนโดยคำนึงถึงมิติทางเพศสภาพและให้ความสำคัญกับการมีงานทำจะทำให้ประเทศฟื้นกลับคืนจากวิกฤติได้อย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถสร้างตำแหน่งงานให้มีมากขึ้น ส่งเสริมงานที่มีคุณค่า สร้างวิสาหกิจให้มีความยั่งยืน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการเจรจาทางสังคมที่ครอบคลุมทุกส่วน ประเทศสมาชิกพึงระลึกว่า หลักการของตราสารต่าง ๆ ด้านการมีงานทำสามารถช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างเชิงสถาบันต่าง ๆ ฟื้นกลับคืนมาดีดังเดิมได้

เสรีภาพในการสมาคม

                   การดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและการจำกัดการรวมตัวของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวของพลเมือง และต่อสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรองของนายจ้างและลูกจ้าง การจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของประชาชนเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพบปะกับผู้แทนของคนทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการจัดเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานและการปรึกษาหารือเพื่อทำการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งรัฐบาลบางประเทศได้พยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ เช่น การอนุญาตให้สหภาพแรงงานสามารถขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของกรรมการสหภาพแรงงานได้ การปรับระยะเวลาการยื่นและ   การรับข้อเรียกร้องแรงงานให้มีความยืดหยุ่นขึ้น การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้กลุ่มนายจ้างและกลุ่มลูกจ้างใช้ระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ เป็นต้น

                   คณะกรรมผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ (Committee of Experts on Application of Conventions and Recommendations: CEACR) ของ ILO มีความกังวลที่รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการเกี่ยวกับการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของประชาชน โดยไม่ระบุเงื่อนไข ข้อยกเว้น หรือระยะเวลาการดำเนินมาตรการดังกล่าว ซึ่ง CEACR ขอย้ำว่า รัฐบาลสามารถจำกัดสิทธิในการรวมตัวและเสรีภาพในการสมาคมของนายจ้างและลูกจ้างได้ หากมีสถานการณ์จำเป็นดังเช่นการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ครั้งนี้ แต่ต้องเป็นการจำกัดสิทธิที่ระบุระยะเวลาอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐบาลสามารถขยายระยะเวลาการจำกัดสิทธิออกไปได้ หากสถานการณ์จำเป็นดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย ทั้งนี้ CEACR ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังการนำวิกฤตโควิด-๑๙ มาเป็นข้ออ้างในการกำหนดมาตรการหรือแนวปฏิบัติใด ๆ อันเป็นการต่อต้านหรือเลือกปฏิบัติต่อสหภาพแรงงาน พร้อมกันนี้ CEACR ขอแนะนำให้ประเทศสมาชิกพิจารณานำข้อแนะฉบับที่ ๒๐๕ ว่าด้วยการมีงานทำและงานที่มีคุณค่าเพื่อสันติภาพและการฟื้นกลับคืนหลังวิกฤต ค.ศ. ๒๐๑๗ มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

 

แรงงานเด็กและรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ส่งผลให้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีเด็กจำนวนประมาณ ๔๒-๖๖ ล้านคนต้องตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง จากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ ๓๘๖ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงแม้ประเทศสมาชิกทุกประเทศได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๒ ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก ค.ศ. ๑๙๙๙ และประเทศสมาชิกกว่าร้อยละ ๙๐ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ ค.ศ. ๑๙๗๓ แล้วก็ตาม แต่ไม่มีประเทศสมาชิกใดแสดงให้เห็นถึงการใช้ความพยายามเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็กและรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็กในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ อันอาจส่งผลให้ความพยายามในการขจัดแรงงานเด็กและรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็กที่ดำเนินการมาโดยตลอดก่อนเกิดการระบาดใหญ่ต้องประสบกับความล้มเหลวในที่สุด

แรงงานบังคับ

                   การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ส่งผลให้เกิดความยากจนขั้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผลักดันให้เกิดผู้เสียหายจากการใช้แรงงานบังคับ รวมถึงการค้ามนุษย์ แรงงานขัดหนี้ และอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้แรงงานบังคับ ผู้ที่ตกอยู่ในสถานะเยี่ยงทาส ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ผู้เป็นคนชายขอบของสังคม และผู้ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานหรือการคุ้มครองทางสังคมหรือผู้ที่ได้รับอย่างจำกัด มาก่อนตั้งแต่ยังไม่เกิดวิกฤตโควิด-๑๙

                   CEACR ขอย้ำเตือนว่า สิทธิมนุษยชนบางประการ เช่น การมีสิทธิดำรงชีวิตอย่างอิสระโดยไม่ตกเป็นทาส เป็นสิ่งที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ แม้จะเป็นช่วงที่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม ในการนี้ อนุสัญญาฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ มีข้อยกเว้นให้สามารถผ่อนปรนการปฏิบัติตามอนุสัญญาได้ในกรณีที่เกิดโรคระบาดอันอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนโดยทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน แต่รัฐบาลต้องประกาศยกเว้นการปฏิบัติตามอนุสัญญาอย่างมีขอบเขตที่ชัดเจนและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ตลอดจนทำการยกเว้นเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ในขณะที่อนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๕ ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๕๗ ไม่เพียงแต่กำหนดให้รัฐบาลละเว้นจากการเกณฑ์แรงงานหรือบังคับใช้แรงงานจากประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์แห่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ อันรวมถึง การเอาผิดทางวินัยแรงงาน และการลงโทษต่อประชาชนที่มีส่วนร่วมในการนัดหยุดงานเท่านั้น หากยังคุ้มครองบุคคลที่มีหรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองหรือทัศนะซึ่งมีอุดมคติขัดกับระบบการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจที่มีอยู่ ไม่ให้ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อเป็นการลงโทษ

ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ

                   การเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงและชายในโลกแห่งการทำงานมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ จากการสำรวจทั่วไปในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ พบว่า วิกฤติโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบต่อชายและหญิงแตกต่างกัน โดยเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีของการทำงานจากที่บ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการระบาดของโควิด-๑๙ ที่ผู้หญิงต้องรับภาระในงานบ้านและดูแลครอบครัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาทำงานจากที่บ้าน ต่างจากเพศชายส่วนใหญ่ที่ทำงานจากที่บ้านโดยไม่ต้องรับภาระดังกล่าว นอกจากนั้นบุคลากรด้านสุขภาพและบริการสังคมที่เป็นแนวหน้าเผชิญกับเชื้อโควิด-๑๙ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง และต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย อีกทั้งแรงงานหญิงยังมีอัตราส่วนในการถูกเลิกจ้างช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ มากกว่าแรงงานชาย เนื่องจาก แรงงานหญิงส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-๑๙ ทั้งยังพบอีกว่า มีการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดต่อเพศหญิงสูงขึ้น ดังนั้น CEACR จึงหวังว่า ประเทศสมาชิกจะกำหนดนโยบายด้านการรับมือกับวิกฤติโควิด-๑๙ โดยคำนึงถึงประเด็นความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ

ประเด็นท้าทายในภาพรวม

                   ประเด็นท้าทายด้านสิทธิแรงงานในยุคแห่งการแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-๑๙ มีอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้

  • ทุกประเทศล้วนดำเนินมาตรการระดับชาติในการควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการของประชาชน ในการกำหนดมาตรการใด ๆ ภายในประเทศนั้น รัฐบาลต้องคำนึงถึงหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
  • หลักการด้านความถูกต้องของกฎหมาย โดยมาตรการที่ออกมานั้นต้องมีกฎหมายรองรับ
  • หลักการด้านความจำเป็นต่อสถานการณ์ โดยมาตรการที่ออกมานั้นต้องมีข้อกำหนดที่เหมาะสม หรือมีขอบเขตที่ไม่กว้างเกินกว่าความจำเป็นของสถานการณ์
  • หลักการแห่งความได้สัดส่วน โดยมาตรการที่ออกมานั้นต้องสามารถควบคุมตรวจสอบได้ว่า เหมาะสมกับความเสี่ยงและความฉุกเฉินของสถานการณ์
  • หลักการด้านการไม่เลือกปฏิบัติ โดยมาตรการที่ออกมานั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือตั้งข้อจำกัดต่อประชาชนเพียงบางกลุ่ม

การควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอต่อการจำกัดเสรีภาพในการสมาคมและการใช้สิทธิที่ชอบธรรมต่าง ๆ ของสหภาพแรงงาน เว้นแต่ในพื้นที่หรือช่วงเวลาที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งมาตรการที่ส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวต้องมีเพื่อรับมือกับวิกฤตด้านสุขภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการที่ส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

  • ทุกประเทศล้วนเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ โดยต้องดำรงไว้ซึ่งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม ควบคู่กันไปอย่างทัดเทียมกัน
  • ทุกประเทศล้วนเผชิญกับสถานการณ์ที่กลุ่มเปราะบางในสังคมถูกเลือกปฏิบัติยิ่งขึ้นและมีความเปราะบางมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

ข้อแนะนำ

                   องค์คณะต่าง ๆ ด้านการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานของ ILO และองค์คณะต่าง ๆ ด้านการติดตามควบคุมการเคารพสิทธิมนุษยชนของ UN เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันฟื้นฟูให้ทุกสิ่งกลับมาดีดังเดิมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยมาตรฐานระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ คือ กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทั้งหลาย ทั้งนี้ CEACR ได้เน้นย้ำว่า

  • วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ใช่เงื่อนไขที่ประเทศสมาชิกจะนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้ว รัฐบาลที่ประสงค์จะละเว้นไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ต้องกำหนดขอบเขตการละเว้นอย่างมีขีดจำกัดและมีกำหนดระยะเวลาการละเว้นอย่างชัดเจนเป็นกฎหมาย โดย การละเว้นนั้นต้องกระทำโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ นอกจากพันธกิจในการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้ว ประเทศสมาชิกยังคงต้องรับผิดชอบจัดทำรายงานต่าง ๆ ตามที่ธรรมนูญ ILO กำหนด โดยไม่ละเว้น
  • การออกมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น ไม่ควรส่งผลเสียต่อสภาพการทำงาน ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการฟื้นฟูใด ๆ โดยผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายแรงงานจะบ่อนทำลายสมานฉันท์และเสถียรภาพในสังคม และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล การเคารพต่อสิทธิแรงงานเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
  • การเจรจาทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำในทุกขั้นตอนของการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโควิด-๑๙ การนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติ และการตรวจติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อให้มั่นใจได้ถึง การเคารพต่อสิทธิแรงงานและความเหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละด้านภายในประเทศ ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโควิด-๑๙ จำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการที่ยึดเอาคนเป็นศูนย์กลางตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO
  • ประเทศสมาชิกควรขอรับการสนับสนุนจาก UN Country Teams ในการจัดทำแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ เพื่อให้แผนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศและหลักการสากลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงระบบไตรภาคีและการเจรจาทางสังคม

———————————–

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

ที่มา:

https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_norm/—relconf/documents/meetingdocument/wcms_771042.pdf

 

[1] อนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๑ ว่าด้วยสิทธิประโยชน์กรณีบาดเจ็บจากการจ้างงาน ค.ศ. ๑๙๖๔ อนุสัญญาฉบับที่ ๑๓๐ ว่าด้วยสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยและการรักษาทางการแพทย์ ค.ศ. ๑๙๖๘ อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๘    ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมการมีงานทำเพื่อต่อต้านการว่างงาน ค.ศ. ๑๙๘๘


1249
TOP