สถานการณ์ด้านความไม่เท่าเทียมในโลกแห่งการทำงาน
สถานการณ์ทั่วไปด้านความไม่เท่าเทียม
ความแตกต่างด้านค่าตอบแทนและด้านโอกาสในการมีงานทำ การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ความเสียเปรียบหรือได้เปรียบในรูปแบบต่าง ๆ ในตลาดแรงงาน เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในโลกแห่งการทำงาน
ความแตกต่างด้านเพศ อายุ ชนเผ่า สัญชาติ ความสามารถทางร่างการ (ความพิการ) เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้แต่ละบุคคลมีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่เท่าเทียมกัน บุคคลที่มีโอกาสในตลาดแรงงานมากกว่าต่างเลือกทำงานที่มีผลตอบแทนสูงกว่าและมีการคุ้มครองทำงานที่ดีกว่า และปล่อยให้งานที่มีผลตอบแทนน้อยและมีการคุ้มครองต่ำตกเป็นของกลุ่มที่มีโอกาสและทางเลือกน้อยกว่า ช่องว่างระหว่างคนที่มีโอกาสมากและคนที่มีโอกาสน้อยขยายกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งเป็นการยับยั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ชะลดการลดความยากจน บั่นทอนความสมานฉันท์ในสังคม และสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเมืองและความสงบสุขในสังคม
การลดความไม่เท่าเทียมและการส่งเสริมความเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมทุกส่วนเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในระดับสากลที่องค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายต่างมุ่งมั่นดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ดังจะเห็นได้จากการที่สหประชาชาติได้กำหนดวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยมีเป้าหมายแห่ง การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกส่วนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ธนาคารโลกได้ขยายกรอบงานออกไปให้ครอบคลุมถึงประเด็นการแบ่งปันความมั่งคั่งเพื่อกระตุ้นการเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศพิจารณาทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่เลวร้ายในประเทศต่าง ๆ อันเกิดจาก ความไม่เท่าเทียมอย่างรุนแรงด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ริเริ่มดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม รวมถึงจัดตั้งศูนย์แห่งโอกาสและความเท่าเทียม และการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้กำหนดพันธกิจที่จะลดช่องว่างระหว่างชายหญิงในตลาดแรงงานลงให้ได้ร้อยละ ๒๕ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ในขณะที่ ILO ได้ดำเนินการส่งเสริมหลักการแห่งความเท่าเทียมในโอกาสและการปฏิบัติในทุกการปฏิบัติงานของ ILO และยังได้รับรองปฏิญญาแห่งศตวรรษเพื่ออนาคตของงานที่คำนึงถึงการลดความยากจน ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรม รวมถึงได้รับรองมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศหลายฉบับที่กำหนดหลักการอันนำไปสู่งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน นอกจากนั้น ILO ยังมีส่วนร่วมสำคัญในการดำเนินแผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามความพยายามขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ รุนแรงเพิ่มมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็วหลังเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙
การเกิดความไม่เท่าเทียม
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมมีความเชื่อมโยงกับความสามารถในการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การมีที่พักอาศัย ฯลฯ ร่วมถึงความสามารถในการหารายได้และการมีงานทำ การทำความเข้าใจในที่มาของความไม่เท่าเทียมจำเป็นต้องพิจารณาว่า ประชาชนในกลุ่ม ประเภท หรือลักษณะใด เช่น เพศ สีผิว เชื้อชาติ ฯลฯ (ปัจจัยแนวขว้าง) ได้รับหรือมีสิ่งหนึ่งใด เช่น รายได้ การศึกษา การมีงานทำ ฯลฯ (ผลลัพธ์แนวดิ่ง) มากน้อยแตกต่างกัน
ปัจจัยแนวขวางทำให้หลายคนได้รับความไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่เกิด เริ่มตั้งแต่การเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพที่ดีเมื่อมารดาให้กำเนิด การไม่ได้รับการศึกษาหรือการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่ดี สิ่งที่ตามมา คือ โอกาสที่ไม่เท่าเทียมในการมีงานทำ และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ เช่น ในบางสังคมที่ไม่ส่งเสริมให้บุคคลที่เกิดมาเป็นเพศหญิงได้รับการศึกษาในระบบ หรือในบางสังคมที่ไม่ให้เพศหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานเลย หรือในบางสังคมที่จำกัดการทำงานของเพศหญิง นอกจากเรื่องเพศโดยกำเนิดแล้ว สถานที่เกิดของบุคคลก็เป็นสาเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมได้ด้วยเช่นกัน โดยบุคคลที่กำเนิดในพื้นที่ชนบท พื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกับบุคคลที่กำเนิดในเขตเมือง
จากการศึกษาพบว่า ความไม่เท่าเทียมที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อันส่งผลต่อระดับการพัฒนาของประเทศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศฝั่งรากลึกไปจนถึงประเด็นทัศนะคติที่มีต่อผู้หญิงในสังคม การให้คุณค่ากับงานที่มีผู้ชายทำเป็นส่วนใหญ่ และการกำหนดสถานะของผู้หญิงในตลาดแรงงาน สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เพศหญิงทั้งผู้ใหญ่และเด็กเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบทำงานบ้านและดูแลสมาชิกครอบครัวโดยไม่มีค่าตอบแทน มากกว่าเพศชาย เพศหญิงใช้เวลาประมาณวันละ ๔ ชั่วโมง ๒๕ นาทีในการทำงานดังกล่าว ในขณะที่เพศชายใช้เวลาเพียงวันละ ๑ ชั่วโมง ๒๓ นาที ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้หญิงถึงร้อยละ ๒๑.๗ ทั่วโลกที่ทำงานบ้านและดูแลสมาชิกครอบครัวเต็มเวลาโดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่ได้ทำงานอื่นที่มีรายได้ ในขณะที่มีผู้ชายเพียงร้อยละ ๑.๕ เท่านั้น
ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้
ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้มีสาเหตุมาจากหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเพราะระดับการศึกษาหรือการบริหารงานของรัฐบาล ประเทศกำลังพัฒนามีความไม่เท่าเทียมด้านรายได้หรือมีช่องว่างของระดับรายได้ที่สูง หากจัดระดับความเท่าเทียมด้านรายได้ไว้ที่ ๐ ถึง ๑๐๐ โดยให้ระดับ ๐ คือ การที่ทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียมทางรายได้ทุกประการ ไปจนถึงระดับ ๑๐๐ คือ การที่ไม่มีความเท่าเทียมด้านรายได้เลย โดยแบ่งช่วงชั้นให้ ๐-๒๕ เป็นระดับที่มีความเท่าเทียมที่สูงสุด และให้ ๖๐-๑๐๐ เป็นระดับที่มีความเท่าเทียมน้อยสุด จะพบว่า ไม่มีประเทศรายได้สูงประเทศใดอยู่ในช่วงชั้นที่เกินระดับ ๔๐ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศต่างอยู่ในระดับที่เกินกว่า ๔๐ ขึ้นไป
ช่วงก่อนเกิดการะบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ มีบางประเทศที่สามารถลดช่องว่างของระดับรายได้สำเร็จ เช่น ภูมิภาคละตินอเมริกาถึงแม้ยังคงเป็นกลุ่มประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมด้านรายได้สูงที่สุดในโลก แต่ครัวเรือนรายได้ต่ำสามารถหารายได้เพิ่มมากขึ้นทำให้ระดับความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ภายในประเทศลดลง ซึ่งเห็นได้ชัดในประเทศโบลิเวีย บราซิล เอกวาดอร์ นิการากัว และเปรู ในขณะที่ภูมิภาคแอฟริกายังคงเป็นกลุ่มประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมด้านรายได้สูงที่สุดในโลกเช่นเดียวกับละตินอเมริกา แต่ไม่สามารถสามารถลดช่องว่างของระดับรายได้ได้สำเร็จ โดยพบความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศรวันดาและแอฟริกาใต้ ส่วนภูมิเอเชียนั้นพบว่า มีความไม่เท่าเทียมทางรายได้เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น อินเดีย และจีน ทั้งนี้ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้มีเพิ่มขึ้นแม้แต่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศ OECD มีรายได้มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ ๑๐ เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในอดีตที่มีความแตกต่าง ๗ เท่า
ความแตกต่างสำคัญที่นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมภายในประเทศ
ความแตกต่างทางเพศ: เพศหญิงเป็นกลุ่มที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่า มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานน้อยกว่า และมีช่องทางในการหารายได้น้อยกว่าเพศชาย ทำให้มีเพศหญิงตกเป็นกลุ่มยากจนขั้นรุนแรง (extremely poor) มากกว่าเพศชาย โดย UNDP เปิดเผยข้อมูลว่า เพศหญิงในหลายประเทศถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความเท่าเทียมเนื่องจากการมีหลักความเชื่อว่า เพศชายมีความสำคัญกว่าเพศหญิง และจำเป็นต้องกำหนดบทบาทในสังคมสำหรับเพศหญิง ส่งผลให้เพศหญิงถูกจำกัดโอกาสในการมีงานทำและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมถึงแหล่งทุน และการครอบครองทรัพย์สิน
ความแตกต่างในลักษณะเฉพาะของกลุ่ม: กลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง ชนเผ่า และผู้อพยพ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ต่ำ และไม่ได้รับความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน และถูกผลักให้เป็นกลุ่มชายขอบของสังคม
ความแตกต่างทางพิกัดภูมิศาสตร์: ประชาชนในเขตเมืองหรือพื้นที่เมืองใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจและโอกาศทางสังคมมากกว่าประชาชนในเขตชนบทหรือพื้นที่เมืองเล็ก เห็นได้จากจำนวนคนยากจนถึง ๔ ใน ๕ เป็นคนในพื้นที่ชนบท รายได้ในพื้นที่ชนบทและเขตเมืองมีช่องว่างที่ห่างกันมาก นอกจากนั้น ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ชนบทยังไม่เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งรวมถึง การศึกษาและการรักษาพยาบาล ได้น้อยหรือยากลำบากกว่าผู้ที่อาศัยในเขตเมือง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพเข้าสู่เมือง
ผลจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ที่มีต่อความไม่เท่าเทียมในโลกแห่งการทำงาน
การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ไม่เพียงแต่จะทำให้สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ รุนแรงเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังทำให้ความไม่เท่าเทียมที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมปรากฏชัดเจน อันเป็นสถานการณ์ที่ซ้ำเติมกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้ขาดโอกาสมากกว่าเดิมและผลักดันกลุ่มชายขอบให้หลุดจากกรอบของสังคมยิ่งขึ้น คนงานและครอบครัวที่มีรายได้ต่ำไม่สามารถรับมือกับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อสุขภาพและเศรษฐกิจได้ทัดเทียมกับคนงานและครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมหรือได้รับแต่เพียงบางส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ รุนแรงยิ่งกว่าคนงานในระบบ คนทำงานที่ประกอบอาชีพโดยไร้ทักษะหรือใช่ทักษะต่ำล้วนได้รับความเสียหายในการประกอบอาชีพอันเนื่องจากมาตรการเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการลดชั่วโมงการทำงาน มาตรการปิดเมือง และมาตรการจำกัดการเดินทาง) มากกว่าคนทำงานในสายอาชีพที่ใช้ทักษะสูง เพศหญิงมีอัตราการถูกเลิกจ้างสูงกว่าเพศชายเนื่องจากสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการหรือต้องลดจำนวนคนทำงานเป็นประเภทกิจการที่จ้างเพศหญิงทำงานเป็นส่วนใหญ่
ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่โอกาสในการหารายได้ยังกระจุกตัวเฉพาะประชาชนบางกลุ่ม โดยที่บางกลุ่มไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูหรือหาปัจจัยสี่ให้กับตัวเองและครอบครัว ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะนี้ไม่สามารถลดอัตราความยากจนของประเทศได้ และเป็นการขัดขวางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในเป้าหมายที่ ๑.๑ การขจัดความยากจนขั้นรุนแรงในปี ค.ศ. ๒๐๓๐
ผู้ที่มีฐานะยากจน ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้เปราะบางในสังคม เป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากโควิด-๑๙ มากกว่าและสามารถฟื้นตัวได้ยากกว่าประชาชนทั่วไป ทำให้ช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนในประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมสูงจะมีโอกาสขยับสถานะทางสังคม (social mobility) ต่ำ อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนความสมานฉันท์ในสังคมและเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความขัดแย้งและความไม่สงบในประเทศ ซึ่งมักจะตามมาด้วยการใช้ความรุนแรงในหมู่ประชาชน ความวุ่นวายทางการเมือง และความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ ในประเทศ
การได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่ไม่เท่ากัน
ถึงแม้การระบาดของโควิด-๑๙ ได้เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่มีผู้ได้รับผลกระทบในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการและคนทำงานในกิจการที่รัฐบาลพิจารณาว่า เป็น “กิจการที่ไม่จำเป็น” เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงแรม ร้านเสริมสวย ฯลฯ ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงกว่ากิจการอื่น ๆ จากการดำเนินมาตรการปิดกิจการที่ไม่จำเป็นชั่วคราวเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ซึ่งคนงานในกิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีได้รับค่าตอบแทนในการทำงานต่ำและเป็นกลุ่มที่มีเงินออมน้อยหรือไม่มีเลย นอกจากนั้น กิจการที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ยังเป็นกิจการที่มีการจ้างงานคนทำงานบางเวลา (Part-time worker) เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดกิจการชั่วคราวมากกว่ากลุ่มคนงานที่ทำงานเต็มเวลา
วิกฤตโควิด-๑๙ ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องเลิกจ้างคนงานเป็นบางส่วน โดยกลุ่มที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างมากที่สุด คือ คนงานหญิงและคนงานเยาวชน จากการศึกษาพบว่า คนงานหญิงและคนงานเยาวชนมักมีอายุงานน้อยและได้รับค่าจ้างต่ำกว่าคนงานชายในสถานประกอบการเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นายจ้างพิจารณาเลิกจ้างคนงานหญิงและคนงานเยาวชนมากกว่าคนงานชาย เนื่องจากนายจ้างรับภาระการจ่ายเงินชดเชยน้อยกว่า
ความด้อยโอกาสทางการศึกษาและทางการพัฒนาทักษะฝีมือของกลุ่มเชื้อชาติและกลุ่มคนผิวสีที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นายจ้างพิจารณาเลิกจ้างคนงานกลุ่มนี้ในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ มากกว่าคนงานที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่พบว่า คนงานผิวสีและคนงานต่างเชื้อชาติ เช่น เอเชีย สเปน เม็กซิกัน ฯลฯ ถูกเลิกจ้างมากกว่าคนงานผิวขาว และพบว่าในประเทศในกลุ่มละตินอเมริกามีอัตราการเลิกจ้างคนงานที่เป็นชนพื้นเมืองหรือชนเผ่ามากกว่าคนงานอื่น ๆ
คนงานต่างด้าวเป็นคนงานอีกกลุ่มที่ถูกนายจ้างพิจารณาเลิกจ้างก่อนคนงานกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งเมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว คนงานต่างด้าวต้องประสบกับความยากลำบากกว่าคนในชาติที่ถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนงานต่างด้าวที่เมื่อถูกเลิกจ้างแล้วไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากมาตรการปิดเมืองหรือมาตรการจำกัดการเดินทางของรัฐบาล
หลายประเทศใช้มาตรการปิดเมืองในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-๑๙ ทำให้กิจการทุกประเภทยกเว้นกิจการจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว กิจการบางประเภทสามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์ได้โดยการให้ลูกจ้างทำงานจากที่บ้าน (Work from home) หรือทำงานทางไกล (Telework) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านการเงิน งานด้านการประกัน และงาน IT ในขณะที่บางกิจการมีลักษณะการผลิตหรือบริการที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานทางไกลได้ เช่น งานทำความสะอาดสถานที่ งานในกิจการก่อสร้าง งานเกษตรกรรม เป็นต้น หรือบางกิจการไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะจัดหาเทคโนโลยีมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และกิจการขนาดย่อมหรือขนาดเล็ก อันจะเห็นได้ว่า งานที่มีค่าตอบแทนสูงในภาคเศรษฐกิจในระบบได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองน้อยกว่างานที่มีค่าตอบแทนต่ำในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ
การเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมให้เกิดความไม่เท่าเทียมในโลกแห่งการทำงาน ลักษณะทั่วไปของงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ คือ อยู่นอกขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (อาทิ กฎหมายแรงงาน กฎหมายด้านภาษี กฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) โดยทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ขาดการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ และเป็นแหล่งรวมของผู้ประกอบการที่ขาดเงินทุนสำรองและเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ ทั้งนี้ กิจการภาคเศรษฐกิจนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging countries) คนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเพียงพอและเป็นคนงานกลุ่มเปราะบาง (ผู้หญิงและเยาวชน) ที่มีรายได้น้อยจนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง และเข้าไม่ถึงระบบบริการของรัฐ ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ วิกฤติเศรษฐกิจ สังคม และระบบสุขภาพ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้กิจการในระบบหลายแห่งต้องออกนอกระบบ คนทำงานในระบบหลายล้านคนต้องออกจากงานประจำในระบบไปเป็นคนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ประเทศที่ยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีแรงงานนอกระบบจำนวนมากอยู่แล้วเข้าสู่ภาวะยากจนมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะเพื่อลดความไม่เท่าเทียมในโลกแห่งการทำงานหลังวิกฤตโควิด-๑๙
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลของประเทศสมาชิก ILO ดำเนินการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อลดความไม่เท่าเทียมในโลกแห่งการทำงานหลังวิกฤตโควิด-๑๙
- กระตุ้นให้เกิดการเป็นวิสาหกิจที่ยั่งยืน การมีผลิตภาพ การมีทักษะฝีมือ และการทำให้กิจการนอกระบบเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจในระบบ โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกิจการ SMEs ซึ่งเป็นกิจการที่มีคนทำงานรายได้ต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดวิสาหกิจที่ยั่งยืนโดย การลดกฎระเบียบที่มีความซับซ้อนอันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจหรือต่อการเริ่มต้นธุรกิจใหม่การกำหนดนโยบายด้านการเติบโตของผลิตภาพโดยคำนึงถึงความแตกต่างหรือช่องว่างด้านขีดความสามารถของแต่ละประเภทกิจการ การส่งเสริมการรวมกลุ่มของเจ้าของวิสาหกิจและการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยให้กิจการในภาคเศรษฐกิจนอกระบบกลายเป็นกิจการในระบบ การลงทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับผู้หญิง เยาวชน ผู้มีรายได้ต่ำ และกลุ่มด้อยโอกาสต่าง ๆ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการส่งเสริมให้คนทำงานได้รับการอบรมด้านการยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
- ทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์จากตลาดแรงงานอย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำของคนทำงาน การส่งเสริมกลไกการเจรจาต่อรองร่วมเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน การส่งเสริมให้มีการจัดทำข้อตกลงร่วมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของนายจ้างและคนทำงาน การมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม การขยายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมถึงคนทำงานทุกคน และการมีมาตรการด้านภาษีที่เหมาะสมสำหรับคนทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ
- ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยให้ความสำคัญกับการขจัดการเลือกปฏิบัติในการทำงานอันมีสาเหตุจากเพศสภาพ และการลดแนวคิดด้านการทำงานตามเพศสภาพ (เช่น พยาบาลต้องเป็นเพศหญิง วิศกร-โยธาต้องเป็นเพศชาย เป็นต้น)
- สนับสนุนกลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมระหว่างแรงงานคนชาติและแรงงานต่างด้าว การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่าและชนพื้นเมือง การสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้พิการ การกำหนดมาตรการเฉพาะสำหรับเยาวชน เป็นต้น
- เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการคุ้มครองทางสังคมและการให้บริการต่าง ๆ ของรัฐ โดยให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองทางสังคมและเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ การทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองทางสังคมและบริการต่าง ๆ ของรัฐอย่างเป็นธรรม (กลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางได้รับการคุ้มครองและบริการที่เหมาะสมกับความจำเป็น ซึ่งในบางกรณีอาจได้มากกว่าประชาชนทั่วไป)
———————————————–
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ที่มา: เอกสาร Inequalities and the World of Work
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_norm/—relconf/documents/meetingdocument/wcms_792123.pdf