สถานการณ์ของคนทำงานเพศหญิงและความรับผิดชอบต่อครอบครัวในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙
ใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ช่วงที่หลายประเทศต่างใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ นั้น นักเรียนจำนวนประมาณ ๑.๗ พันล้านคนทั่วโลกต้องอยู่กับบ้านและไม่สามารถไปโรงเรียนได้ โดยบางส่วนเรียนหนังสือในระบบทางไกลผ่านจอภาพจากที่บ้าน แม้ในปัจจุบันที่หลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ แล้ว แต่ก็ยังมีนักเรียนจำนวนประมาณ ๒๒๔ ล้านคนที่ยังคงเรียนหนังสือจากที่บ้าน ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องตัดสินใจให้บิดาหรือมารดาออกจากงานเพื่อมาดูแลครอบครัว ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจออกจากงานมาดูแลครอบครัวอยู่ที่บ้านมักจะเป็นผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงโดยส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนการทำงานน้อยกว่าและงานที่ทำมีความมั่นคงน้อยกว่าผู้ชาย
กล่าวได้ว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อโอกาสของผู้หญิงในตลาดแรงงาน จากข้อมูลที่มีในประเทศรายได้ปานกลางถึงสูงจำนวน ๕๕ ประเทศ พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๖๓ ถึงไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๔ มีผู้หญิงอายุตั้งแต่ ๒๕ ปีขึ้นไปจำนวนประมาณ ๒๙.๔ ล้านคนได้ออกจากงาน ส่วนประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกานั้น มีผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นกำลังแรงงานถึง ๘๓ ล้านคน เพิ่มขึ้นจากจำนวน ๖๖ ล้านคนในช่วงก่อนเกิดโควิด-๑๙ ในขณะที่มีผู้ชายที่ไม่ได้เป็นกำลังแรงงาน ๔๐ ล้านคน เพิ่มขึ้นจากจำนวน ๒๖ ล้านคนในช่วงก่อนการเกิดโควิด-๑๙
ผู้หญิงจำนวนมากต้องรับผิดชอบงานบ้านและงานดูแลสมาชิกครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ต้องรับภาระนี้เลย อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงผันแปรตามสถานะการสมรสและการมีบุตร ในขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวไม่ส่งผลใด ๆ ต่ออัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้ชาย
ข้อมูลจากสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นว่า ในช่วงแรกของการเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ (เดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๓) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กเล็กต่าง ๆ นั้น มีผู้หญิงในสหภาพยุโรปขาดงานมากกว่าผู้ชาย ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงในวัยทำงานจำนวน ๒,๐๐๐ คนในสหราช-อาณาจักร พบว่า ผู้หญิงมีความกังวลเรื่อง การเรียนจากที่บ้านของบุตรมากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงสูญเสียสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (work-life balance) มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงต้องแบ่งเวลาเพื่อดูแลบุตรที่เรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ถึงแม้ทั้งบิดาและมารดาต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) ในช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการปิดเมือง แต่ผู้ที่รับภาระการดูแลบุตร คือ มารดาเป็นส่วนใหญ่ โดยที่บิดาไม่ได้แบ่งเบาภาระดังกล่าว สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาด้วยเช่นกัน จากข้อมูลในประเทศบราซิล ชิลี คอสตาริกา และเม็กซิโก แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงอายุระหว่าง ๒๕-๔๙ ปีที่มีบุตรได้ออกจากการเป็นกำลังแรงงานจำนวนมากในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-๑๙
ส่วนในสหรัฐฯ นั้น หนึ่งในสามของกำลังแรงงาน หรือคิดเป็นจำนวนคนทำงานประมาณ ๕๐ ล้านคน มีบุตรอายุต่ำกว่า ๑๔ ปีที่ต้องดูแล โดยโรงเรียนเป็นสถานที่หลักในการดูแลบุตรอายุระหว่าง ๕-๑๔ ปี ให้กับคนทำงาน เมื่อโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กเล็กต้องปิดลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ ผู้หญิงจำนวนมากยุติการทำงานนอกบ้านเพื่ออยู่ดูแลบุตร ในเดือนกันยายน ๒๕๖๓ มีผู้หญิงออกจากการเป็นกำลังแรงงานมากกว่าผู้ชายถึงสี่เท่า โดยผู้หญิงจำนวนหนึ่งในสี่ที่ออกจากกำลังแรงงานนั้น มีสาเหตุจากการต้องรับผิดชอบดูแลบุตรอยู่ที่บ้าน กล่าวได้ว่า ภาระการดูแลบุตรอยู่ที่บ้านเนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้และความสำเร็จในหน้าที่การงานของผู้หญิง
รัฐบาลของหลายประเทศได้พยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาภาระด้านการดูแลงานบ้านหรือสมาชิกครอบครัว เช่น การขยายระยะเวลาการลาเพื่อทำหน้าที่บิดา/มารดา การจัดหาศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กในชุมชนที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าปกติ เป็นต้น และรัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มขยายความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ประกอบกิจการส่วนตัว คนงานชั่วคราว และคนงานทำงานบ้าน ซึ่งคนงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ขณะเดียวกัน นายจ้างในหลายประเทศจัดรูปแบบการทำงานใหม่เพื่อให้ลูกจ้างสามารถจัดการภารกิจครอบครัวได้โดยไม่กระทบกับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการให้ทำงานจากที่บ้านได้หรือการจัดเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ภาระด้านการดูแลบุตรจะยังคงเป็นปัญหาสำหรับคนทำงานต่อไป แม้สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จะดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการดูแลเด็กจะสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนลดลง
การระบาดของโควิด-๑๙ นอกจากจะส่งผลกระทบในทางร้ายต่อคนทำงานเพศหญิงที่มีบุตรแล้ว ยังก่อให้เกิดวิกฤตในอาชีพของคนทำงานในภาคการอภิบาลบุคคล (care-sector workers) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ (แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอื่น ๆ ด้านสุขภาพ) ที่เป็นเพศหญิงถึงร้อยละ ๗๐ โดยคนทำงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลที่ดีพอ รัฐบาลหลายประเทศไม่ได้จัดให้อาชีพนี้มีความสำคัญและไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนา ทำให้สายงานนี้มีสภาพการทำงานที่ ไม่ดีและขาดแคลนบุคลากรแม้อยู่ในสถานการณ์ปกติก็ตาม การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ เป็นตัวกระตุ้นให้วิกฤตต่าง ๆ ในสายงานสุขภาพรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลควรมุ่งแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า
- จะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างตำแหน่งงานในงานด้านการอภิบาลบุคคลและด้านสุขภาพ และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ
- งานในภาคการอภิบาลบุคคลและงานด้านสุขภาพจะมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
- เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ จะสามารถเข้าถึงบริการด้านการดูแล
- จะจัดให้มีระยะเวลาเพิ่มขึ้นสำหรับการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง
- จะมีการจัดรูปแบบการทำงานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตครอบครัวมากขึ้น อันรวมถึง การทำงานทางไกล การจัดเวลาทำงานให้มีความยืดหยุ่น และการสะสมเวลาทำงาน (time-banking หมายถึง การทำงานเกินเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์ เพื่อนำไปลดชั่วโมงการทำงานในวันที่มีภารกิจครอบครัว)
- จะเอื้อให้ผู้ประกอบการเพศหญิงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลได้โดยง่าย
- จะสนับสนุนให้ผู้หญิงได้รับตำแหน่งในระดับผู้นำและผู้บริหารมากขึ้น
- จะส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด
สิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างอนาคตของงานที่ดีขึ้นสำหรับคนทำงานทั้งเพศหญิงและชายที่มีภาระครอบครัว คือ การกำหนดเรื่องการดูแลสมาชิกครอบครัวของคนทำงานไว้ในนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
——————————————-
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ที่มา:
https://ilostat.ilo.org/fallout-of-covid-19-working-moms-are-being-squeezed-out-of-the-labour-force/
https://econofact.org/the-importance-of-childcare-in-reopening-the-economy