รายงานของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะของ ILO:
กรณีของประเทศไทย
เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๕๖๕)
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะของ ILO (Committee of Experts on the Application of Conventions and Recommendations: CEACR) ได้จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อแนะของประเทศสมาชิก สำหรับเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๕๖๕) โดยมีความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของประเทศไทย ดังนี้
การปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๐ ค่าตอบแทนที่เท่ากัน ค.ศ. ๑๙๕๑
(ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒)
ค่าตอบแทนที่เท่ากันสำหรับชายและหญิงที่ทำงานซึ่งมีคุณค่าเท่ากัน ตามข้อ ๑ (บี) และข้อ ๒
ตามที่ CEACR เคยให้ข้อสังเกตไปก่อนหน้านี้ว่า มาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ครอบคลุมเฉพาะประเด็นการได้รับค่าจ้างที่เท่ากันระหว่างลูกจ้างชายและหญิงที่ทำงานซึ่งมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณ เท่ากัน ซึ่งยังไม่สอดคล้องโดยสมบูรณ์ตามหลักการของอนุสัญญา และ CEACR ยังได้แจ้งต่อไปว่า (๑) หวังว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นโดยเร่งด่วน เพื่อแก้ไขมาตรา ๕๓ ให้ครอบคลุมถึงประเด็นการได้รับค่าจ้างที่เท่ากันสำหรับลูกจ้างชายและหญิงที่ทำงานซึ่งมีคุณค่าเท่ากัน (๒) ขอให้รัฐบาลรายงานความคืบหน้าใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ (๓) ขอข้อมูลกิจกรรมที่มีความร่วมมือกับองค์กรของนายจ้างและของลูกจ้างเพื่อส่งเสริมหลักการของอนุสัญญาต่อภาคเอกชนและภาครัฐต่าง ๆ นั้น ในครั้งนี้ CEACR มีความพึงพอใจอย่างยิ่งที่มาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ได้รับการแก้ไข โดยให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างชายและหญิงที่ทำงานอันมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกัน ในอัตราเท่ากัน
CEACR รับทราบถึงการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อรับรองสิทธิของคนงานนอกระบบในการได้รับค่าตอบแทนที่เท่ากันโดยไม่คำนึงความแตกต่างทางเพศ ซึ่ง CEACR มีความเห็นว่า มาตรา ๑๖ ของกฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครองแต่เพียงประเด็นค่าตอบแทนที่เท่ากันในงานที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกับและปริมาณเท่ากัน ซึ่งมีขอบเขตการคุ้มครองที่น้อยกว่าหลักการของอนุสัญญา
CEACR ยังรับทราบข้อมูลจากรายงานของรัฐบาลเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกับองค์กรของนายจ้างและของลูกจ้างเพื่อส่งเสริมหลักการของอนุสัญญาให้กับภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการกิจกรรมการกระตุ้นความตระหนักรู้ด้านแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ให้ภาคเอกชนได้รับทราบ
ในการนี้ CEACR ขอให้รัฐบาล
- ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ รวมถึง ข้อมูลคำพิพากษาของศาล การตรวจพบการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ของพนักงานตรวจแรงงาน บทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ และการเยียวยาใด ๆ ที่มี
- กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขให้มาตรา ๑๖ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกับมาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามหลักการแห่งค่าตอบแทนที่เท่ากันสำหรับชายและหญิงที่ทำงานซึ่งมีคุณค่าเท่ากัน
- ให้ข้อมูลที่มีเพิ่มเติมเรื่อง กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกับองค์กรของนายจ้างและของลูกจ้างเพื่อส่งเสริมหลักการของอนุสัญญาให้กับภาคเอกชนและภาครัฐ และเพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ในหลักการดังกล่าว
การพิจารณากำหนดค่าตอบแทน โดยการประเมินคุณค่างานอย่างเป็นธรรม ในภาครัฐ ตามข้อ ๒ และข้อ ๓
ในการตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ CEACR ขอให้รัฐบาลระบุถึงมาตรการเฉพาะที่นำมาดำเนินการเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า คำบรรยายลักษณะงานและการคัดเลือกปัจจัยในการประเมินคุณค่างานนั้นปราศจากอคติทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินคุณค่างานของลูกจ้างในภาครัฐซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ นอกจากนั้น CEACR ยังได้ขอสถิติข้อมูลจำแนกตามเพศด้านการกระจายตัวและค่าตอบแทนของบุคลากรภาครัฐกลุ่มต่าง ๆ ในตารางการจ่ายเงิน
ในครั้งนี้ CEACR รับทราบถึงการที่รัฐบาลแจ้งเกี่ยวกับคู่มือระบบการค่าตอบแทนข้าราชการพลเรือน (Remuneration System Manual for Civil Servants) ของสำนักงาน กพ. ซึ่งกำหนดปัจจัยในการพิจารณาอัตราค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึง “คุณค่าของงาน (value of the work)” แต่ไม่ได้ระบุถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา โดย CEACR ขอย้ำว่า ในการพิจารณาคุณค่าของงานที่ได้ปฏิบัติไปนั้น ต้องใช้เทคนิคที่เหมาะสมเพื่อให้การประเมินคุณค่างานมีความเป็นธรรม โดยใช้ปัจจัยเปรียบเทียบต่าง ๆ เช่น ทักษะ ความอุตสาหะ ความรับผิดชอบ และสภาพ-การทำงาน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เอกสาร 2012 General Survey on the fundamental Conventions ย่อหน้าที่ ๖๗๕)
ในการนี้ CEACR ขอให้รัฐบาล
- ระบุถึง (ก) วิธีการพิจารณาคุณค่างานที่ปฏิบัติโดยเพศชายและเพศหญิง เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนในภาครัฐ และ (ข) วิธีที่ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีความลำเอียงทางเพศในขั้นตอน การพิจารณาดังกล่าว
- ส่งสถิติข้อมูลจำแนกตามเพศด้านการกระจายตัวและค่าตอบแทนของบุคลากรภาครัฐกลุ่มต่าง ๆ ในตารางการจ่ายเงิน
การปฏิบัติเรื่อง โควิด-๑๙ และประเด็นแรงงานทางทะเล
CEACR ได้พิจารณาให้ความเห็นในภาพรวมต่อทุกประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention 2006: MLC) แล้ว โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
CEACR มีความกังวลอย่างยิ่งต่อประเด็นท้าทายและผลกระทบที่มีต่อการคุ้มครองสิทธิคนประจำเรือตามหลักการของ MLC อันเกิดจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ ที่รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาปฏิบัติ ซึ่ง the International Transport Workers’ Federation (ITF) และ the International Chamber of Shipping (ICS) ได้ให้ความเห็นเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ ว่า ทุกประเทศที่ให้สัตยาบัน MLC แล้ว ไม่สามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาได้ในหลายประเด็นในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ โดยมีเพียงรัฐบาลไม่กี่ประเทศที่ให้ข้อมูลและตอบกลับความเห็นของ ITF และ ICS อันได้แก่ ฝรั่งเศส ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย โมร็อคโค เมียนมา ปานามา ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ไทย และตุรกี ซึ่ง CEACR ขอย้ำให้ทุกประเทศพิจารณาปฏิบัติตามข้อสังเกตทั่วไปเรื่อง ประเด็นที่เกิดจากการปฏิบัติตาม MLC ระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ (General observation on matters arising from the application of the Maritime Labour Convention, 2006, as amended (MLC, 2006) during the COVID-19 pandemic, 2020)
CEACR ยอมรับว่า หลังจากเผยแพร่ข้อสังเกตทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์โดยทันที ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิคนประจำเรือตามหลักการของ MLC นอกจากนี้ CEACR ยังมีความยินดีที่เห็น ILO องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) องค์กรอื่น ๆ ภายใต้สหประชาชาติ ITF และ ICS ยังคงมีความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติต่าง ๆ ของคนประจำเรือ รวมถึงการรับรองข้อมติต่าง ๆ ในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีพิเศษภายใต้ MLC สมัยที่ ๔ ทั้งยังยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หลายประเทศซึ่งให้สัตยาบัน MLC แล้วประสบความสำเร็จในการกำหนดกลยุทธและมาตรการด้านสาธารณสุขในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-๑๙ ที่สอดคล้องกับแนวทางระหว่างประเทศ ซึ่งมาตรการเหล่านั้นได้รวมไปถึง
(๑) การเปลี่ยนตัวลูกเรือ ณ เมืองท่า อย่างมีความปลอดภัย
(๒) การให้คนประจำเรือได้รับการรักษาพยาบาล (รวมทันตกรรรม) บนเรือและบนฝั่ง
(๓) การป้องกันโควิด-๑๙ บนเรือเดินทะเล และการรักษาในโรงพยาบาลตามความจำเป็น
(๔) การเปิดพรมแดนเพื่อให้คนประจำเรือได้เดินทางผ่าน โดยการปฏิบัติตามข้อกำหนดภายในประเทศอย่างเข้มงวด
(๕) การปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติด้านการขยายข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ MLC
(๖) การกำกับดูแลให้การตรวจควบคุม ณ ท่าเรือ ให้ความสำคัญกับประเด็นการไม่ฝ่าฝืนข้อตกลงการจ้างงานและการจ่ายค่าจ้างอย่างถูกต้อง
(๗) การพัฒนาการให้บริการต่าง ๆ ทางออนไลน์เพื่อสนับสนุนเจ้าของเรือและคนประจำเรือ
(๘) การฟื้นฟูสวัสดิการต่าง ๆ ในท่าเรือ และการเปิดให้บริการสวัสดิการต่าง ๆ ในท่าเรือแก่คนประจำเรือภายใต้สถานการณ์ที่มีข้อจำกัด และ
(๙) การจัดลำดับความสำคัญอันดับต้นให้แก่คนประจำเรือในการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙
CEACR รับทราบว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐได้ร่วมปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมในการกำหนดมาตรการแห่งชาติเพื่อบรรเทาปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลบางประเทศได้มีการร่วมทำงานและการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมถึง กิจกรรมพหุภาคีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้คนประจำเรือมีสถานะเป็นคนงานหลัก (key workers) และเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งตัวคนประจำเรือกลับ อย่างไรก็ตาม ITF และ ICS ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐเจ้าของธงเรือ รัฐเจ้าท่า และรัฐผู้จัดส่งคนประจำเรือ จำนวนมากไม่ให้ความสนใจกับข้อสังเกตทั่วไปของ CEACR
CEACR ยังคงมีความกังวลว่า การตั้งข้อจำกัดของหลายรัฐบาลเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่จะส่งผลให้มีการฝ่าฝืนอนุสัญญาเพิ่มขึ้น และ CEACR มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต่อหลายเหตุการณ์ที่คนประจำเรือถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลบนฝั่ง แม้จะเป็นกรณีฉุกเฉินก็ตาม ต่อเหตุการณ์ที่ไม่อนุญาตให้คนประจำเรือที่เจ็บป่วยขึ้นฝั่งเพื่อเดินทางกลับ และต่อเหตุการณ์ที่ไม่อนุญาตให้นำร่างคนประจำเรือที่เสียชีวิตลงจากเรือที่เมืองท่าเพื่อส่งศพกลับ
ประเทศที่ให้สัตยาบัน MLC แล้วจำนวนมากนำเรื่องเหตุสุดวิสัยจากการระบาดของโควิด-๑๙ มาเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมรับสิทธิในการลาขึ้นฝั่งของคนประจำเรือ และขยายระยะเวลาการทำงานบนเรือออกไปเกินกว่ากำหนดในข้อตกลงและเกินกว่า ๑๑ เดือน อันเป็นระยะเวลาสูงสุดที่ทำงานบนเรือได้ การกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลร้ายต่อความปลอดภัยและสุขภาพของคนประจำเรือ แต่ยังก่อให้เกิดอันตรายในการเดินเรืออีกด้วย ทั้งยังพบว่า รัฐผู้จัดส่งคนประจำเรือจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับให้คนประจำเรือที่เป็นคนชาติเดินทางกลับเข้าประเทศ CEACR ขอย้ำว่า ไม่ควรมีการนำเหตุสุดวิสัยจากการระบาดของโควิด-๑๙ มาเป็นเหตุผลในการลิดรอนสิทธิคนประจำเรือ
CEACR ขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงข้อมติต่าง ๆ ที่รับรองโดยคณะกรรมการไตรภาคีพิเศษ (Special Tripartite Committee: STC) ภายใต้ MLC ข้อมติของ GB ว่าด้วยประเด็นแรงงานทางทะเลและการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ และข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติเรื่อง ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับประเด็นท้าทายของคนประจำเรือที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-๑๙ ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ในการนี้ CEACR เรียกร้องให้สมาชิก ILO ทุกประเทศปฏิบัติต่อคนประจำเรือ ในฐานะที่เป็นคนงานหลัก อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนตัวลูกเรือ จัดให้คนประจำเรือได้รับการรักษาพยาบาลบนฝั่งตามความจำเป็น และจัดลำดับความสำคัญอันดับต้นให้แก่คนประจำเรือด้าน การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙
กว่าร้อยละ ๙๐ ของการค้าโลกยังคงพึ่งพาการเดินเรือและคนประจำเรือในการขนส่งสินค้า อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนั้น CEACR จึงขอเรียกร้องให้ประเทศที่ให้สัตยาบัน MLC แล้ว เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยไม่ชักช้าเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนประจำเรือให้สอดคล้องโดยสมบูรณ์ตามที่อนุสัญญากำหนด
CEACR จะยังคงทำการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตาม MLC ในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ ต่อไป และในรอบรายงานการอนุวัติการ MLC ครั้งต่อไป ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระยะเวลาการดำเนินมาตรการนั้น และผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวต่อสิทธิของคนประจำเรือ สุดท้ายนี้ CEACR ขอแจ้งให้รัฐบาลทราบว่า สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมกับ IMO WHO และสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศ พร้อมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก
ที่มา
https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_836668/lang–en/index.htm
—————————————
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา