Skip to main content

หน้าหลัก

ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์

ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์

                   อุตสาหกรรมยานยนต์ป็นภาคการผลิตที่สร้างกิจการอันเป็นห่วงโซ่อุปทานขึ้นจำนวนมากและมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก จากข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ พบว่า มีลูกจ้างทำงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ ๑๔ ล้านคน ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้การลงทุนและคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงอย่างกะทันหันและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ประสบวิกฤตร้ายแรง

การจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ หยุดชะงัก รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของหลาย ๆ ประเทศ โดยประมาณการณ์ว่า โควิด-๑๙ ทำให้เกิดการยุติการผลิตรถโดยสารจำนวน ๒.๕ ล้านคัน อย่างกะทันหันในยุโรปและอเมริกาเหนือ อันเป็นเหตุให้สถานประกอบกิจการด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สูญเสียรายได้รวมแล้วมากกว่า ๗๗.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หลายประเทศได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการหยุดชะงักในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น แคนาดา จีน เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก โมร็อคโค แอฟริกาใต้ และสหรัฐฯ  ซึ่งการหยุดชะงักในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียหายต่อกิจการอันเป็นห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเท่านั้น แต่ยังก่อความเสียหายในกิจการต่อเนื่องต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาค  การขนส่งและบริการ และสิ่งที่ตามอย่างแน่นอน คือ การว่างงาน และการปิดกิจการอย่างถาวรของสถาน-ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่เป็นห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ อัตราการจำหน่วยรถใหม่ในจีนลดต่ำลงกว่าเดิมถึงร้อยละ ๙๒ และจากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งยุโรป (European Automotive Manufacturers’ Association) แสดงให้เห็นว่า ยอดการจำหน่ายรถใหม่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ในยุโรปลดลงร้อยละ ๗.๔ จากที่เคยขายได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๒ โดยตลาดรถยนต์หลัก ๔ แห่งของยุโรปมียอดการสั่งซื้อลดลง ดังนี้ เยอรมนีลดลงร้อยละ ๙ ฝรั่งเศสลดลงร้อยละ ๗.๘ อิตาลีลดลงร้อยละ ๗.๓ และสเปนลดลง ๖.๘ ตามลำดับ ทั้งนี้ สถาบันจัดลำดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน Moody ประมาณการณ์ว่าการจำหน่ายยานยนต์ทั่วโลกในรอบปี ๒๕๖๓ ลดลงร้อยละ ๑๔ และอุตสาหกรรมยานยนต์จะประสบกับสถานการณ์ยากลำบากยิ่งกว่าที่เคยมีในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๒ การที่จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักด้านอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับผู้ผลิตทั่วโลก ไม่สามารถส่งอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ออกนอกประเทศได้ ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ในการนี้ the United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) ประเมินว่า ปริมาณการส่งออกอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนไปยังภาคการผลิตยานยนต์ในยุโรป อเมริกาใต้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเขตเศรษฐกิจอื่นที่เป็นฐานการผลิตหลัก ที่ลดลงเพียงร้อยละ ๒ ก็สามารถสร้างความเสียหายให้แก่การส่งออกยานยนต์ของประเทศดังกล่าวได้ถึง ๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังกระทบถึงอุตสาหรรมยานยนต์ในโมร็อคโค ซึ่งร้อยละ ๘๐ มีตลาดใหญ่อยู่ในยุโรป โดยการส่งออกยานยนต์ของโมร็อคโคมีอัตรามากถึงร้อยละ ๒๗ ของสินค้าส่งออกทั้งหมด

                   การปิดโรงงานเนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ ในเมือง Wuhan ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องยนต์ให้กับรถยี่ห้อต่าง ๆ ส่งผลกระทบให้โรงงานผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในเอเชียต้องปิดตัวลง และตามมาด้วยโรงงานในภูมิภาคยุโรปและอเมริกา การปิดตัวของโรงงานผลิตยานยนต์ต่าง ๆ ในยุโรปเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ถึง ๑.๑ ล้านตำแหน่ง ซึ่งเกินกว่าครึ่งเป็นคนงานชาวเยอรมนี นอกจากนั้น บริษัท General Motors บริษัท Ford Motor และบริษัท Fiat Chrysler Automobiles ยังได้ประกาศปิดโรงงานทุกแห่งในสหรัฐฯ อย่างไม่มีกำหนด คนงานในภาคภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ มากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานครั้งนี้  บริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวยังได้ปิดโรงงานเพิ่มเติมอีกหลายแห่งในอาร์เจนตินาและบราซิล ไม่เพียงเท่านั้น กิจการอันเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ด้วย โดยได้รับ   ความเสียหายประมาณ ๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกิจการเหล่านี้มีลูกจ้างเกินกว่าครึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรง อันเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่าลูกจ้างโดยตรงของเจ้าของกิจการ

                   รัฐบาลของประเทศที่เป็นแหล่งที่ตั้งของกิจการอันเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์ และที่เป็นตลาดยานยนต์ ควรพิจารณาหามาตรการระยะยาวเพื่อคุ้มครองคนงาน ช่วยเหลือภาคธุรกิจ ส่งเสริมตำแหน่งงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิตต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ที่ใช้เพียงพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนด้วย

                   ทั้งนี้ ILO ไม่มีอนุสัญญาหรือข้อแนะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นการเฉพาะ แต่ขอให้รัฐบาลพิจารณาปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ อนุสัญญาและข้อแนะต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน การคุ้มครองค่าจ้าง การเลิกจ้าง และสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังสามารถพิจารณานำแนวทางต่าง ๆ ที่ปรากฏในเอกสารเกี่ยวกับการรับมือกับโควิด-๑๙ ตามรายการต่อไปนี้ มาปฏิบัติกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ อันได้แก่

  • Occupational Safety and Health Tips for Workplaces
  • Social protection responses to the COVID-19 crisis around the world
  • COVID-19: What role for workers’ organizations?
  • COVID-19 Employers and business membership organizations
  • The six-step COVID-19 business continuity plan
  • Enterprise survey tool: Assessing the needs of enterprises resulting from COVID-19
  • An employers’ guide on managing your workplace during COVID-19

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

ที่มา: https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_dialogue/—sector/documents/briefingnote/wcms_741343.pdf

 


3390
TOP