ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ที่มีต่อภาคการก่อสร้าง
ภาคการก่อสร้างเป็นกิจการที่สร้างกิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจหลายประการและสร้างตำแหน่งงานได้เป็นจำนวนมาก กิจกรรมในภาคการก่อสร้างหมายรวมถึง การปลูกสร้าง การบูรณะซ่อมแซม การบำรุงรักษา การรื้อถอนทำลาย ตลอดจน งานวิศวกรรมโยธาต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน หรือระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น ภาคการก่อสร้างสามารถสร้างงานต่อเนื่องอื่น ๆ ได้มากมาย เช่น งานออกแบบโครงสร้าง งานตกแต่งภายใน งานผลิตวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง งานขนส่งคนงานและวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่มักใช้วิธีให้กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในท้องถิ่นรับเหมาช่วงงานไปทำ ซึ่งนับเป็นกิจการที่สามารถสร้างรายได้และลดความยากจนได้เป็นอย่างดี ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ภาคการก่อสร้างมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ ๑๓.๔
อย่างไรก็ตาม ภาคการก่อสร้างมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจเมื่อใด ภาคการก่อสร้างก็จะหยุดชะงักหรือชะลอตัวโดยทันที ขณะเดียวกันภาคการก่อสร้างก็เป็นกิจการจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแม้จะยังไม่กลับมาดีดังเดิมก็ตาม
มาตรการปิดเมือง (lockdown) อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้โครงการก่อสร้างที่จำเป็นเร่งด่วนต่าง ๆ เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาล ฯลฯ หยุดชะงัก ถึงแม้ในบางประเทศจะยกเว้นไม่ใช้มาตรการปิดเมืองกับโครงการก่อสร้างที่จำเป็นเร่งด่วน แต่มาตรการดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ เนื่องจากไม่สามารถทำการผลิตหรือขนส่งได้ หรือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากคนงานไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้
ในหลายประเทศที่มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองแล้วนั้น ภาคการก่อสร้างเป็นกิจการแรกที่เริ่มกลับดำเนินการต่อเนื่องโดยทันที ต่างจากภาคส่วนทางเศรษฐกิจอีกหลายประเภทที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ประเทศที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การสร้างถนน การสร้างสนามบิน การสร้างท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ ที่กลับมาดำเนินการต่อได้ในทันทีหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองสามารถฟื้นตัวดีได้กว่าประเทศที่ไม่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เนื่องจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่สร้างงานได้จำนวนมากและกระตุ้นกิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในทางตรงกันข้าม กิจการด้านการก่อสร้างขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินมาตรการปิดเมืองติดต่อกันเป็นเวลานาน ต่างประสบปัญหาทางการเงิน และหลายแห่งไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ต้องปิดกิจการลง
อุปสรรคสำคัญที่ภาคการก่อสร้างต้องเผชิญในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ แม้จะอยู่ในประเทศที่ไม่ดำเนินมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดหรือยกเว้นการใช้มาตรการกับภาคการก่อสร้าง ก็คือ การขาดแคลนวัสดุและอุปกรณ์ในการก่อสร้าง มาตรการปิดเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งทางด้านกำลังการผลิตที่ลดน้อยลงและการไม่สามารถขนส่งสินค้าให้ไปถึงผู้บริโภคได้ ปัญหาที่ตามมา คือ ผู้ประกอบการก่อสร้างไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนด จนเหตุให้ถูกปรับเนื่องจากส่งมอบงานล่าช้า รัฐบาลหลายประเทศได้เข้ามาช่วยเหลือโดยการขยายระยะเวลาส่งมอบงานในกรณีที่เป็นโครงการก่อสร้างของรัฐ เช่น อินเดีย เยอรมนี และสหรัฐฯ เป็นต้น หรือช่วยเจรจากับธนาคารหรือแหล่งกู้เงินของโครงการก่อสร้างให้ขยายเวลาการชำระหนี้ เช่น แอฟริกา หรือสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ อัตราการมีงานทำทั่วโลกร้อยละ ๗.๗ อยู่ในภาคการก่อสร้าง โดยร้อยละ ๖๔ ของคนงานก่อสร้างเป็นผู้รับจ้างอิสระหรืออยู่ในกิจการขนาดย่อมที่มีลูกจ้างน้อยกว่า ๑๐ คน คนงานเหล่านี้เปราะบางอย่างยิ่งต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงในการจ้างงาน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ถือครองทรัพย์สินน้อย และไม่ค่อยได้รับผลประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ มีคนงานก่อสร้างในหลายประเทศไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอ เพราะมีลักษณะเป็นการทำงานตามฤดูกาลหรือทำงานชั่วคราว มีการย้ายสถานที่ทำงานอยู่เสมอ เป็นคนงานรับเหมาค่าแรง หรือเป็นคนงานต่างด้าว ซึ่งระบบความคุ้มครองทางสังคมในหลายประเทศครอบคลุมเฉพาะผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลาเท่านั้น
ไม่ว่าจะในสภาพเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นเช่นไร ปัญหาใหญ่ที่คนงานก่อสร้างเผชิญมาโดยตลอด คือ อันตรายจากการทำงาน โดยลักษณะของงานทำให้คนงานก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน (Occupational safety and health: OSH) การเกิดโควิด-๑๙ สร้างความเสี่ยงด้าน OSH ของคนงานก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ก่อสร้างขนาดเล็กที่มีคนงานหลายคนทำงานอยู่ด้วยกัน หรือในกรณีที่คนงานหลายคนโดยสารในยานพานะร่วมกันอย่างแออัดเพื่อเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ส่วนใหญ่แล้วผู้รับเหมาหรือผู้ประกอบการก่อสร้างขนาดกลางและขนาดเล็กมักไม่จัดอุปกรณ์ป้องกันพื้นฐาน เช่น หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอร์ล้างมือ ให้กับคนงานก่อสร้าง รวมถึง ไม่มีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง อีกทั้ง คนงานก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อ แม้แต่ในประเทศซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจ เนื่องจากคนงานก่อสร้างมักรับค่าจ้างเป็นรายวัน การลาเพื่อไปตรวจหาเชื้อทำให้ขาดรายได้ในวันดังกล่าวไป
คนงานต่างด้าวเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสที่สุดในกลุ่มคนงานก่อสร้าง และได้รับผลกระทบมากสุดจากมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ คนงานต่างด้าวตกอยู่ในสถานการณ์ที่เดินทางกลับไปประเทศต้นทางไม่ได้ ต้องพำนักในประเทศปลายทางโดยไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้ และมีคนงานต่างด้าวจำนวนมากที่จำต้องพำนักจนเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ทำให้กลายเป็นผู้พำนักภายในประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ข้อเสนอแนะจากสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ
สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศแนะนำให้ประเทศสมาชิก ILO พิจารณานำแนวทางและมาตรฐานแรงงานด้าน OSH ของ ILO มาปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองคนงานก่อสร้าง ดังนี้
- อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๘ และข้อแนะฉบับที่ ๑๗๕ ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในงานก่อสร้าง ค.ศ. ๑๙๘๘ ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐาน OSH ในงานก่อสร้าง
- ประมวลแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในงานก่อสร้าง (ILO Code of Practice on Safety and Health in Construction) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้าง คนงาน และองค์คณะต่าง ๆ ด้าน OSH
- อนุสัญญาฉบับที่ ๙๔ ว่าด้วยข้อบทแรงงาน (สัญญาภาครัฐ) ค.ศ. ๑๙๔๙ เพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในงานก่อสร้างที่ทำสัญญากับภาครัฐ
- อนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๒ ว่าด้วยการประกันสังคม (มาตรฐานขั้นต่ำ) ค.ศ. ๑๙๕๒ ข้อแนะฉบับที่ ๒๐๒ ว่าด้วยการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน ค.ศ. ๒๐๑๒ เพื่อสร้างช่องทางในการได้รับการคุ้มครองทางสังคม การดูรักษาพยาบาลที่จำเป็น และการประกันรายได้พื้นฐาน ให้กับคนงานก่อสร้าง
- ข้อแนะฉบับที่ ๒๐๔ ว่าด้วยการเปลี่ยนจากภาคเศรษฐกิจนอกระบบเป็นในระบบ ค.ศ. ๒๐๑๓ เพื่อเป็นแนวทางในการนำคนงานก่อสร้างที่รับจ้างอิสระ ผู้รับเหมาช่วงงานรายเล็ก หรือกิจการก่อสร้างขนาดเล็ก หลุดพ้นจากการอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ
- คู่มือการเปลี่ยนรูปแบบอย่างเป็นธรรมเพื่อนำมาซึ่งเศรษฐกิจและสังคมที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคน (ILO’s Guidelines for a just transition towards environmentally sustainable economies and societies for all) เพื่อส่งเสริมให้ภาคการก่อสร้างฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ อย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
- ข้อแนะฉบับที่ ๒๐๕ ว่าด้วยการจ้างงานและงานที่มีคุณค่าเพื่อสันติภาพและความสามารถในการฟื้นตัว ค.ศ. ๒๐๑๗ เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-๑๙ โดยใช้การเจรจาทางสังคม การคุ้มครองการมีงานทำ และการคำนึงถึงสิทธิต่าง ๆ
- คู่มือทางเทคนิคและจริยธรรมเพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของคนงาน (Technical and ethical guidelines for workers’ health surveillance) เพื่อให้สถานประกอบการใช้เป็นแนวทางในการควบคุมให้มี การกลับมาทำงานอย่างปลอดภัยหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การทำ checklist ด้านการป้องกันการแพร่เชื้อโควด-๑๙ การจัดทำรายงานสุขภาพ การทำ timeline ของคนงานที่ติดเชื้อ การติดตามควบคุมเพื่อระบุผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ที่มา: ILO Sectoral Brief: Impact of COVID-19 on the construction sector
เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๔
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_dialogue/—sector/documents/briefingnote/wcms_767303.pdf