Skip to main content

หน้าหลัก

ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ต่อการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)

ผลกระทบจากโควิด-๑๙ ต่อการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ส่งผลให้คนทำงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานในสถานประกอบการไปเป็นการทำงานจากที่บ้าน จำนวนผู้ทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบตลาดแรงงานหรือระบบโครงสร้างทั่วไปของแรงงานที่มีอยู่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านในรูปแบบ ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน การกำหนดสภาพการทำงาน และเงื่อนไขการจ้างงาน

ขอบเขตของการทำงานจากที่บ้าน

ILO ไม่มีการกำหนดนิยามหรือขอบเขตของ “การทำงานจากที่บ้าน (work from home)” ไว้เป็นการเฉพาะ แต่โดยลักษณะแล้วสามารถจัดเป็นการรับงานไปทำที่บ้านได้ ซึ่ง “งานรับไปทำที่บ้าน (home work)” ตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๗ ว่าด้วยการงานรับไปทำที่บ้าน ค.ศ. ๑๙๙๖ หมายถึง งานที่ (ก) ทำในบ้านหรือในสถานที่อื่นที่ผู้ทำงานเลือกเอง โดยไม่ใช่สถานที่ของนายจ้าง (ข) ทำเพื่อรับค่าตอบแทนการทำงานจากนายจ้าง และ (ค) มีผลผลิตหรือให้บริการ ตามที่นายจ้างกำหนด โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ วัสดุ หรือเครื่องมือในการทำงาน ทั้งนี้ “งานรับไปทำที่บ้าน” ไม่หมายรวมถึง ผู้ที่ทำผลผลิตหรือให้บริการโดยอิสระ และไม่หมายรวมถึง ผู้ที่นำงานจากที่ทำงานกลับมาทำที่บ้านเป็นครั้งคราว  ซึ่งสามารถแบ่ง “งานรับไปทำที่บ้าน” ออกได้ ๓ ประเภท คือ

–   “งานที่รับจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้าน (industrial home work)” หมายถึง การผลิตสินค้าไม่ว่าจะเป็นบางส่วนของสินค้าหรือสินค้าทั้งชิ้นส่งให้กับภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงาน อันรวมถึง งานศิลปะหรืองานฝีมือต่าง ๆ

–   “งานทางไกล (telework)” หมายถึง งานซึ่งผู้ทำงานใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (information and communication technology: ICT) ในการรับและส่งงานหรือการให้บริการจากสถานที่อื่นเป็นประจำหรือถาวร

–   “งานรับงานไปทำที่บ้านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล (home-based digital platform work)” หมายถึง งานหรือบริการต่าง ๆ ที่ผู้ทำงานทำผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แก่นายจ้างหรือคนกลาง โดยผู้ทำงานหรือที่เรียกว่า crowdworker จะทำงานอยู่ที่ใดก็ได้

สถานการณ์งานรับไปทำที่บ้านในช่วงก่อนการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙

ในอดีตนั้น “งานรับไปทำที่บ้าน” มีอยู่อย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ต่อมางานที่รับจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้านในยุโรปและอเมริกาเหนือลดลงและไปเพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากไปตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตโลกของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ภายในบ้าน ต่อมาเริ่มมีงานรับไปทำที่บ้านในภาคบริการอย่างแพร่หลาย เนี่องจากความก้าวหน้าทาง ICT โดยในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๗๐-๗๙ นายจ้างบางรายริเริ่มให้ลูกจ้างในสำนักงาน (white-collar) ทำงานทางไกล จนกระทั่งในช่วงปลายปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาไปอย่างมาก    จนเกิดการทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้น ซึ่งสามารถทำที่ใดก็ได้ที่สามารถเข้าถึงระบบดิจิทัล ทั้งนี้ งานรับไปทำที่บ้านช่วยลดต้นทุนการผลิต (เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ) ของผู้ประกอบการได้อย่างมาก

ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ มีผู้ทำงานอยู่ที่บ้าน (ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับเหมาช่วงงานอิสระ และผู้ประกอบกิจการส่วนตัว) ทั่วโลกประมาณ ๒๖๐ ล้านคน หรือร้อยละ ๗.๙ ของการมีงานทำทั่วโลก เป็นเพศหญิงประมาณ ๑๕๗ ล้านคนและเพศชายประมาณ ๑๑๓ ล้านคน โดยผู้ทำงานอยู่ที่บ้านร้อยละ ๖๕ อยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ประมาณ ๑๖๖ ล้านคน) ส่วนใหญ่ของผู้ทำงานอยู่ที่บ้านในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย คือ ผู้ประกอบกิจการส่วนตัว ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้ทำงานอยู่ที่บ้านในประเทศรายได้สูง คือ ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างในระดับบริหาร หรือในสายอาชีพทางวิชาการหรือทางเทคโนโลยี

ILO คาดการณ์ว่า จำนวนผู้รับงานไปทำที่บ้านทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-๑๙ แต่ไม่สามารถระบุจำนวนทั่วโลกได้อย่างชัดเจน เนื่องจากหลายประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากจนไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลแรงงานได้

ประเด็นเสี่ยงของการรับงานไปทำที่บ้าน

ผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย คือ มีตั้งแต่ผู้รับงานในลักษณะที่ใช้แรงกายเป็นหลักในการทำงาน ไปจนถึงผู้รับงานที่มีทักษะระดับสูงหรืองานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

การรับงานไปทำที่บ้านมีความยืดหยุ่นด้านเวลาและชั่วโมงการทำงานมากกว่างานในสถานประกอบการ ทำให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ที่ดีได้หากมีความสามารถในการจัดสรรเวลา แต่หากผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดปัญหาด้านความไม่ชัดเจนของการใช้เวลาสำหรับทำงานหรือสำหรับใช้ชีวิต ส่งผลให้ใช้เวลาในการทำงานน้อยเกินไปจนผลการทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือการใช้เวลาในการทำงานมากเกินไปจนกระทบต่อการใช้ชีวิต นอกจากนี้ งานที่รับจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้านยังมีปริมาณงานและความเร่งด่วนของงานที่ไม่แน่นอน

การคุ้มครองแรงงานในหลายประเทศไม่ครอบคลุมถึงการรับงานไปทำที่บ้าน ส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับการคุ้มครองทางสังคมด้อยกว่าลูกจ้างในสถานประกอบการ หรือไม่ได้รับการคุ้มครองเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานอยู่บ้านยังทำให้เกิดการห่างเหินจากสังคมแรงงาน ไม่มีการสมาคมหรือร่วมตัวใด ๆ ระหว่างกันหรือกับคนทำงานอื่น ๆ ผู้รับงานไปที่ทำบ้านจำนวนมากมีความรู้สึกว่า ตนเป็นผู้ทำงานอิสระจึงไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ตระหนักถึงสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของตน

แนวทางการสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับการรับงานไปทำที่บ้าน

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ เปลี่ยนให้คนงานส่วนใหญ่ทั่วโลกต้องทำงานจากที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อ หากความรุนแรงของการระบาดไม่บรรเทาลง การทำงานจากที่บ้านจะมีความสำคัญต่อโลกแห่งการทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น รัฐบาล องค์กรผู้แทนของนายจ้าง และองค์กรผู้แทนของลูกจ้าง ต้องร่วมกันหามาตรการรองรับสถานการณ์ ซึ่งการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๗[1] และ  ข้อแนะที่ ๑๘๔ ว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน ค.ศ. ๑๙๙๖ ข้อแนะฉบับที่ ๒๐๔ ว่าด้วยการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นในระบบ ค.ศ. ๒๐๑๕[2] และข้อแนะฉบับที่ ๑๙๘ ว่าด้วยความสัมพันธ์ในการจ้างงาน ค.ศ. ๒๐๐๖[3] จะช่วยให้รัฐบาลสามารถคุ้มครองสิทธิแรงงานของคนงานที่ทำงานจากที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงื่อนไขการจ้างงาน สภาพการทำงาน ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน และการให้ความคุ้มครองทางสังคม   


 

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

 

 

ข้อมูลจากเอกสารของสำนักงานแรงงาระหว่างประเทศเรื่อง Working from home: From invisibility to decent work

https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_protect/—protrav/—travail/documents/publication/wcms_765896.pdf

 

 

 

 

 

 

[1] อนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๗ กำหนดเกี่ยวกับการส่งเสริมการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้มีรายได้อื่น ๆ โดยการส่งเสริมนั้นต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของการรับงานไปทำที่บ้าน

[2] ข้อแนะฉบับที่ ๒๐๔ ให้แนวทางแก่ประเทศสมาชิกด้าน (ก) การอำนวยความสะดวกให้คนงานและสถานประกอบการในภาคเศรษฐกิจนอกระบบสามารถปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบเศรษฐกิจในระบบได้ (ข) การส่งเสริมให้เกิดงานที่มีคุณค่าและความยั่งยืนของกิจการที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจในระบบ และ (ค) การป้องกันไม่ให้กิจการที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจในระบบกลายเป็นกิจการที่อยู่นอกระบบ

[3] ข้อแนะฉบับที่ ๑๙๘ ให้แนวทางการคุ้มครองคนงานที่มีปัญหาเกี่ยวกับ (ก) ความไม่ชัดเจนในสถานะความเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย (ข) ความคลุมเครือระหว่างการจ้างทำของและการจ้างแรงงาน (ค) นายจ้างจงใจอำพรางความสัมพันธ์ในการจ้างแรงงาน และ (ง) การไม่สามารถระบุตัวนายจ้างที่แท้จริงได้


2881
TOP