Skip to main content

หน้าหลัก

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ ที่มีต่อตลาดแรงงานเยาวชน

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ ที่มีต่อตลาดแรงงานเยาวชน

 

                   ILO ได้ติดตามผลกระทบของการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-๑๙ ที่มีต่อกลุ่มเยาวชนในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๓ แล้วพบว่า กลุ่มเยาวชนต้องเผชิญกับ (๑) การหยุดชะงักทางการศึกษา การอบรม และการฝึกอาชีพ (๒) ความยากลำบากในการหางานทำของเยาวชนที่ถูกเลิกจ้าง และในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของเยาวชนที่เป็นแรงงานรายใหม่ และ (๓) การตกงานและการสูญเสียรายได้ หรือการมีงานทำแต่เป็นงานที่มีสภาพการทำงานที่ไม่ดีและมีสิทธิประโยชน์จากการทำงานที่ต่ำ

          แรงงานเยาวชนที่ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเยาวชนหญิง ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานเยาวชนจำนวนมากยังอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงด้านการเลิกจ้างหรือการลดชั่วโมงทำงานอันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมือง

สภาพเศรษฐกิจในทั่วโลก

                   เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ IMF ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกว่า ในปี ๒๕๖๓ GDP ทั่วโลกติดลบร้อยละ ๓.๓ และติดลบร้อยละ ๓.๕ ในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยลงร้อยละ ๐.๑ ในปี ๒๕๖๓ และเกือบทุกประเทศทั่วโลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการสูญเสียตำแหน่งงาน อันเป็นผลมาจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่สองของปี ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่า ในปี ๒๕๖๔ นี้ สถานการณ์ทั่วไปในเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าหลายเขตจะกลับคืนสู่ปกติได้อย่างเข้มแข็ง แต่ประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางจะฟื้นคืนสู่สถานการณ์ปกติได้ช้าและไม่มั่นคง

                   เศรษฐกิจตกต่ำในปี ๒๕๖๓ ส่งผลต่อตลาดแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้ปานกลาง ชั่วโมงการทำงานทั่วโลกลดลงโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ ๘.๘ เทียบได้กับการสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลา ๒๕๕ ล้านตำแหน่ง โดยเกิดขึ้นในประเทศรายได้ปานกลางมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ ๒๙ การสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลาในครั้งนี้มีมากเป็นสี่เท่าของที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ๒๕๕๒ ทั้งนี้ ช่วงที่ชั่วโมงการทำงานลดลงมากที่สุด คือ ไตรมาสที่สองของปี ซึ่งลดลงร้อยละ ๑๘.๕ เทียบได้กับการสูญเสียตำแหน่งงานเต็มเวลา ๕๒๕ ล้านตำแหน่ง

ผลกระทบต่อการมีงานทำของเยาวชน

                   ในช่วง พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๓ อัตราการสูญเสียการมีงานทำของเยาวชนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ ๘.๗ ในขณะที่ผู้ใหญ่มีอัตราการสูญเสียการมีงานทำที่ร้อยละ ๓.๗ ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลในประเทศกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๕๘ ประเทศในช่วงไตรมาสที่สองของปี ๒๕๖๒ ถึงไตรมาสที่สองของปี ๒๕๖๓ พบว่า อัตราการมีงานทำของเยาวชนในประเทศรายได้สูงลดลงมากกว่าแรงงานผู้ใหญ่ถึงห้าเท่า ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางมีอัตราการมีงานทำของเยาวชนลดลงมากกว่าแรงงานผู้ใหญ่เพียงสองเท่า เนื่องจากประเทศรายได้สูงเลือกมุ่งเน้นการดำเนินมาตรการและการใช้งบประมาณเพื่อรักษาการมีงานทำของแรงงานผู้ใหญ่ ประกอบกับแรงงานเยาวชนส่วนใหญ่ทำงานชั่วคราวอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ได้รับ    ความช่วยเหลือจากรัฐบาล และยังพบอีกว่า เยาวชนเพศหญิงสูญเสียการมีงานทำมากกว่าเยาวชนชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกลุ่มตัวอย่างจากภูมิภาคละตินอเมริกา

 

                   สถานการณ์ของเยาวชนในช่วงวิกฤติโควิด-๑๙ มี ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ

  • เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของคนหางานรายใหม่ ไม่สามารถหางานทำได้ เนื่องจากกิจการภาคการผลิตและภาคบริการลดขนาดลงตามความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค คนหางานเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ในการเข้าถึงแหล่งงาน อันเนื่องมาจากมาตรการจำกัดการเดินทาง
  • แรงงานเยาวชนจำนวนมากถูกเลิกจ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานในกิจการที่ไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ง่ายต่อการให้ออกจากงาน อีกทั้ง แรงงานเยาวชนยังมีอัตราค่าชดเชยการทำงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ กรณีเลิกจ้างน้อยกว่าแรงงานผู้ใหญ่
  • เยาวชนที่ประกอบกิจการส่วนตัวต้องปิดกิจการลงมากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีเงินทุนสำรองเมื่อรัฐบาลใช้มาตรการปิดเมือง อีกทั้งยังเข้าไม่ถึงโครงการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่าง ๆ ของรัฐ

                   เยาวชนที่สูญเสียการมีงานทำเนื่องจากวิกฤตโควิด-๑๙ ส่วนใหญ่จะยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (inactivity)  คือ ออกจากตลาดแรงงานและไม่หางานทำ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดเยาวชนที่ว่างงานจึงไม่เข้ามาอยู่ในกลุ่มคนหางาน คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ มาตรการปิดเมืองหรือการจำกัดการเดินทางทำให้เยาวชนที่ว่างงานไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานหรือข้อมูลของตลาดแรงงานได้โดยสะดวกอีกต่อไป เยาวชนที่ว่างงานจึงออกจากตลาดแรงงานหรือยุติกิจกรรมใด ๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องติดตามดูแนวโน้มต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ที่หลายประเทศผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการปิดเมืองหรือจำกัดการเดินทางแล้ว

การเพิ่มขึ้นของเยาวชนกลุ่ม NEET

                   บางส่วนของเยาวชนที่ออกจากตลาดแรงงานหันกลับมาสู่การศึกษาในระบบอย่างเต็มรูปแบบ แต่บางส่วนกลายเป็นกลุ่มไม่มีงานทำ ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา และไม่เข้ารับการอบรม หรือที่เรียกว่า กลุ่ม NEET (Not in Employment, Education or Training) โดยสมบูรณ์ แม้ว่าระบบการศึกษาของหลายประเทศได้คืนสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเยาวชนหญิง เช่น ในไตรมาสที่สองของปี ๒๕๖๓ ประเทศแคนาดามีเยาวชนหญิงกลุ่ม NEET เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๒.๓ และมาซิโดเนียมีเยาวชนหญิงกลุ่ม NEET เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๑.๘ เป็นต้น

                   แนวคิดที่เชื่อกันมานานว่า การอยู่ในระบบการศึกษาที่นานกว่าจะได้รับความรู้ที่มากกว่าและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต อาจใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเยาวชนที่จบการศึกษาใหม่พบว่า ตลาดแรงงานไม่มีตำแหน่งงานรองรับตน วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัว รวมถึง ทำให้บางอาชีพหายไปจากตลาดแรงงาน เยาวชนจำนวนมากไม่สามารถหางานทำได้และไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่กลับไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย UNESCO ระบุว่า ในปัจจุบันมีเยาวชนจำนวนประมาณ ๒๔ ล้านคนที่เสี่ยงต่อการออกจากระบบการศึกษา และหากตลาดแรงงานไม่มีตำแหน่งงานรองรับ เยาวชนเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นกลุ่ม NEET ได้

                   ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ๒๗ ประเทศในช่วงไตรมาศที่ ๔ ของปี ๒๖๕๓ พบว่า การมีงานทำของแรงงานผู้ใหญ่ฟื้นตัวขึ้น ส่วนการมีงานทำของเยาวชนนั้น ไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัว ยกเว้น ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ที่อัตราการมีงานทำของเยาวชนฟื้นกลับมาเกือบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-๑๙

 

ข้อแนะนำ

                   รัฐบาลควรติดตามสถานการณ์ของกลุ่มเยาวชนอย่างใกล้ชิด และมีนโยบายโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนซึ่งได้ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ จนกลายมาเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนยังคงอยู่ในระบบการศึกษา การฝึกอาชีพ หรือตลาดแรงงาน (ไม่ว่าจะในฐานะผู้มีงานทำ หรือในฐานะคนหางาน) ซึ่งนโยบายดังกล่าวควรมีประเด็นดังต่อไปนี้รวมอยู่ด้วย ได้แก่

  • การส่งเสริมให้ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานเยาวชน
  • การสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่เยาวชนหญิงในแต่ละภาคกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • การส่งเสริมและจูงใจให้เยาวชนยังคงอยู่ในระบบการศึกษา รวมถึง การขจัดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบทางไกลหรือออนไลน์
  • การให้ความสำคัญกับมาตรการหรือโครงการต่าง ๆ ที่ชักจูงให้เยาวชนที่ไม่กระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอยู่นอกระบบการศึกษากลับคืนสู่ตลาดแรงงาน
  • การขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคม รวมถึง สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ให้ครอบคลุมแรงงานเยาวชน
  • การมีนโยบายหรือโครงการที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของเยาวชน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง

 

————————————

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

ที่มา:

https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_emp/documents/briefingnote/wcms_795479.pdf

 

 


1520
TOP