Skip to main content

หน้าหลัก

ข้อสังเกตของ CEACR ที่มีต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. 1976 ของสมาชิกอาเซียนที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาแล้ว

ข้อสังเกตของ CEACR ที่มีต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. 1976 ของสมาชิกอาเซียนที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาแล้ว

 

                   สมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 144 แล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะของ ILO (Committee of Experts on the Application of Conventions and Recommendations: CEACR) ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตใด ๆ (observation) ต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๔ ของสมาชิกอาเซียนทั้ง ๖ ประเทศ มีแต่เพียวคำร้องขอโดยตรง (direct request) ต่อสมาชิกอาเซียนดังกล่าว (เรียงลำดับตามการให้สัตยาบัน) ดังนี้

 

อินโดนีเซีย (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2533)

                   CEACR ขอให้รัฐบาลนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าในรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาตามรอบวาระต่อไป โดยขอให้ระบุถึงวิธีหรือรูปแบบการปรึกษาหารือแต่ละครั้งมาในรายงานฉบับต่อไปด้วย

ฟิลิปปินส์ (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2534)

                   CEACR ขอให้รัฐบาลนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าในรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาตามรอบวาระต่อไป

มาเลเซีย (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2545)

                   CEACR ร้องขอเมื่อ พ.ศ. 2556 ให้รัฐบาลมาเลเซียให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับ

(ก) ผลลัพธ์จากการปรึกษาหารือไตรภาคีที่รัฐบาลได้แจ้งมาก่อนหน้านี้ว่าได้จัดขึ้นไปแล้ว ในเรื่อง แนวโน้มการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 155 (ณ ปัจจุบัน มาเลเซียยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้) การตอบข้อสนเทศในเรื่องที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และการจัดทำรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้ว

(ข) ผลลัพธ์จากการปรึกษาหารือไตรภาคีในประเด็นการนำอนุสัญญาและข้อแนะฉบับใหม่ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศสมัยที่ 95 96 99 100 และ 101 เสนอต่อรัฐสภา

(ค) ผลลัพธ์จากการปรึกษาหารือไตรภาคีในประเด็นการเสนอบอกเลิกอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับที่ 50 60 และ 65 (ณ ปัจจุบัน มาเลเซียได้บอกเลิกอนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับนี้แล้วในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์แรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 108 พ.ศ. 2562)   

                   โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 CEACR ได้แสดงความกังวล (concern) ที่รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้จัดทำรายงานฉบับต่อมาตามรอบวาระ และขอให้รัฐบาลจัดทำรายงานตามรอบวาระและให้ข้อมูลโดยละเอียดตามที่เคยร้องขอไว้ในปี พ.ศ. 2556

เวียดนาม (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2551)

                   CEACR ขอให้รัฐบาลเวียดนามให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการปรึกษาหารือไตรภาคีที่มีขึ้นภายใต้อนุสัญญานี้ อันรวมถึง เนื้อหาที่นำมาปรึกษาหารือไตรภาคี และผลลัพธ์ที่ได้จากการปรึกษาหารือ และเนื่องจากรัฐบาลเคยให้ข้อมูลว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 88 98 105 และ 159 CEACR จึงขอให้รัฐบาลรายงานถึงการปรึกษาหารือไตรภาคีในเรื่องนี้ (ณ ปัจจุบัน เวียดนามให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 88 แล้ววันที่ 23 มกราคม 2563 ฉบับ 98 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 และฉบับที่ 159 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563)

สิงคโปร์ (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553)

                    ภายหลังจากได้รับรายงานฉบับแรกจากรัฐบาลสิงคโปร์แล้ว CEACR ได้ร้องขอเมื่อ พ.ศ. 2557 ว่า ในการจัดทำรายงานฉบับต่อมาตามรอบวาระ นั้น ขอให้รัฐบาลสิงคโปร์ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการปรึกษาหารือไตรภาคีที่มีขึ้นภายใต้อนุสัญญานี้ รวมถึง เนื้อหาที่นำมาปรึกษาหารือไตรภาคี และผลลัพธ์ที่ได้จากการปรึกษาหารือ

                   โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 CEACR ได้แสดงความผิดหวัง (regret) ที่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้จัดทำรายงานฉบับต่อมาตามรอบวาระเลย และขอให้รัฐบาลจัดทำรายงานตามรอบวาระและให้ข้อมูลโดยละเอียดตามที่เคยร้องขอไว้ในปี พ.ศ. 2557

ลาว (ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553)

                   CEACR ขอให้รัฐบาลลาว

(ก) ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการปรึกษาหารือไตรภาคีที่มีขึ้นภายใต้อนุสัญญานี้ อันรวมถึง เนื้อหาที่นำมาปรึกษาหารือไตรภาคี วิธีการปรึกษาหารือ และผลลัพธ์ที่ได้จากการปรึกษาหารือ

(ข) อธิบายถึงการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อจัดการอบรมที่จำเป็นแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือไตรภาคี ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 4 วรรค 2 ของอนุสัญญา

 

——————————————————–

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

มกราคม 2563

 

 

 

 

 

 

 

 


598
TOP