ข้อมูล ILO เรื่อง COVID 19 กับภาคการท่องเที่ยว
๑. ผลกระทบของ COVID 19
การท่องเที่ยว: กลไกการสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา การท่องเที่ยวมีความสำคัญในแง่ของกิจการที่มีการสร้างงานและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรม ให้กับท่องถิ่น ซึ่งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาชาติในเป้าหมายที่ ๘ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ ๑๒ รับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั้งยืน และเป้าหมายที่ ๑๔ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล การท่องเที่ยวช่วยให้เกิดการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสตรีและผู้เยาว์ ตลอดจน เอื้อหนุนให้วิสาหกิจขนาดย่อม เล็ก และกลาง (micro-, small and medium-sized enterprises: MSME) เจริญเติบโต
ใน พ.ศ. ๒๕๖๑ มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วทั้งโลกมาจากภาคการท่องเที่ยวและการเดินทาง ในทางตรงร้อยละ ๑๐.๔ และในทางอ้อมร้อยละ ๓.๒ โดยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนเกิดการระบาดของ COVID 19 ว่า ภายใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วทั้งโลกในทางตรงได้ร้อยละ ๑๑.๕ และในทางอ้อมได้ร้อยละ ๓.๕ โดยใน พ.ศ. ๒๕๖๑ การท่องเที่ยวสามารถสร้างงานได้โดยตรงและโดยอ้อมกว่า ๓๑๙ ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของการจ้างงานในโลกนี้
การระบาดใหญ่ทั่วโลกของ COVID 19 จึงเป็นประเด็นท้าทายอย่างยิ่งต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึง การเกษตร การขนส่ง หัตถกรรม และการจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม
บริการอาหารและที่พักอาศัยซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยของภาคการท่องเที่ยวและมีการจ้างคนงานกว่า ๑๔๔ ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง บริการเหล่านี้ในหลายประเทศต้องปิดตัวลง ในบางแห่งยังสามารถเปิดบริการต่อไปได้แต่ต้องประสบกับปัญหาการผู้มาใช้บริการลดลงอย่างรวดเร็ว คนงานกว่าร้อยละ ๕๐ ในบริการอาหารและที่พักอาศัยเป็นผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ MSME และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID 19
ความเสียหายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันเป็นผลกระทบจาก COVID 19
วิกฤต COVID 19 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในทั่วโลก หลังจาก COVID 19 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ก็ได้ระบาดต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กิจกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกต้องหยุดชะงัก
มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโดยการจำกัดการเดินทาง การยกเลิกเที่ยวบิน และการปิดธุรกิจท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานในภาคการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลงทันทีทันใดอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น การระงับเส้นทางเดินเรือของเรือสำราญหรือการห้ามเรือสำราญเทียบท่าในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประมาณการณ์ว่า ลูกเรือสำราญกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หรือสูญเสียรายได้
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ให้ข้อมูลว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกและความพยายามในการควบคุมการระบาดสามารถส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกหดตัวลงถึงร้อยละ ๔๕-๗๐ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาใน การระบาดใหญ่และระยะเวลาในการฟื้นตัวของกิจการด้านการท่องเที่ยว การจำกัดการเดินทางทั่วโลกที่ครอบคลุมถึงประชาชนกว่า ๓ พันล้านคน ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
คณะกรรมมาธิการยุโรปให้ข้อมูลว่า การท่องเที่ยวและการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการบิน เป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุดจากวิกฤต COVID 19 อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคการท่องเที่ยวสามารถปรับตัวได้ดีในวิกฤติและสถานการณ์พลิกผันทางเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวจึงอาจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงการระบาดอย่างรุนแรงของโรคซาร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ และช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๒ ในอนาคต ภาคการท่องเที่ยวอาจมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจโลกหลังพ้นวิกฤต ดังนั้น “การกลับคืนมาได้ดีกว่าเดิม” ที่จะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดการระบาดใหญ่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถบรรลุเป้าหมายตาม SDG ได้มากขึ้น
ผลกระทบของการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่มีต่อบางภูมิภาคและบางประเทศ
ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ระบุว่า เป้าหมายการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกลดลงร้อยละ ๙-๑๒ ซึ่งผิดจากที่คาดการณ์ไว้ว่า จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕-๖ อันมีสาเหตุจากเดินทางที่น้อยลงของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน คือ ลูกค้าหลักของภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศ
ตลาดในเอเชียพึ่งพากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงใน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม ที่พบว่า อัตราการจองห้องพักลดลงอย่างมาก ในประเทศที่มีการฟื้นคืนทางเศรษฐกิจได้น้อย รวมถึง กัมพูชา เมียนมา และปาเลา ก็พบความเสียหายในเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวจากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลง ในประเทศญี่ปุ่นช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒ มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๕ ดังนั้น การมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงอย่างกะทันหันทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ในประเทศแถบเอเชียนั้น นอกจากจีนแล้ว เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อ COVID 19 จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและเกาหลีใต้ต่างผ่านพ้นช่วงวิกฤตสูงสุดจากการระบาดของ COVID 19 มาแล้ว และได้เปิดให้บริการทางธุรกิจบางประเภทอีกครั้ง ซึ่งรวมถึง โรงแรมและร้านอาหาร
การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของ COVID 19 เกิดขึ้นในยุโรปต่อจากประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิก ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสหภาพยุโรปสูญเสียรายได้ไปประมาณ ๑ พันล้านยูโรต่อเดือน ภาคการท่องเที่ยวในอียูประสบปัญหานักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และภายในอียูด้วยกันเอง การปิดภาคธุรกิจและสถานบริการที่ไม่จำเป็นส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักไปด้วย
อิตาลีและสเปนได้รับผลกระทบที่น่าเศร้าจากการระบาดของ COVID 19 โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อย่างอิตาลีได้ตั้งเป้าว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาประมาณ ๖๕ ล้านคน แต่การยกเลิกการเดินทางมาอิตาลีในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้อิตาลีต้องสูญเงินไปประมาณ ๒๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อถึงกลางเดือนมีนาคมก็ไม่มีเข้าพักในโรงแรมของอิตาลีเลย ซึ่งโรงแรมและร้านอาหารในอิตาลีกว่าร้อยละ ๘๐ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว หากการระบาดของ COVID 19 ยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อน สเปนจะสูญเสียนักท่องเที่ยวไปกว่า ๖ ล้านคน เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่ต้องเผชิญกับความเสียหายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
COVID 19 เกิดการระบาดในทวีปแอฟริกาช้ากว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ทำให้ยังประเมินระดับความรุนแรงไม่ได้ แต่หากอัตราการระบาดในทวีปแอฟริกาอยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ก็เชื่อได้ว่า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวก็จะประสบความเสียหายเช่นเดียวกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ประเทศในแอฟริกาที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุด คือ โมร็อคโค (๑๒.๓ ล้านคน) อียิปต์ (๑๑.๓ ล้านคน) แอฟริกาใต้ (๑๐.๕ ล้านคน) และตูนีเซีย (๘.๓ ล้านคน) ในจำนวนประเทศเหล่านี้ แอฟริกาใต้ได้ออกมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสแล้ว หากนักท่องเที่ยวในอิยิปต์ลดลงจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวที่ยากจน
ในทวีปอเมริกานั้น สหรัฐฯ มีการระบาดของไวรัสหนักที่สุด ตามมาด้วยแคนาดา บราซิล ชิลี เปรู และเอกวาดอร์ ในช่วงสองถึงสามปีมานี้ การท่องเที่ยวของสหรัฐฯ มีการเติบโตจนติด ๑ ใน ๑๐ ของตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งหมายความว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกของ COVID 19 จะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นกัน
จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID 19 ในละตินอเมริกามีจำนวนมากจนส่งผลให้การเติบโตของภูมิภาคลดลง โดย GDP ส่วนใหญ่ของบราซิลมาจากการท่องเที่ยว ดังนั้นการห้ามเดินทางและมาตรการควบคุมการระบาดที่ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวลดลงจึงส่งผลเสียหายกับบราซิล หลายประเทศในแถบคาริเบียนพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจำกัดการเดินทางเป็นเวลานานจึงส่งผลเสียหายต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้ง COVID-19 Caribbean Tourism Task Force ขึ้นเพื่อกระตุ้นการทำงานร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว
ในกลุ่มประเทศอาหรับนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศถึง ๑๕.๙ ล้านคน ซึ่งขณะนี้ สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในอาบูดาบีและดูไบได้ปิดตัวลง ซาอุดิอารเบียมีแผนเป็นประธานจัดการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 และคูเวตมีแผนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ ๖๕ รายการในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งคาดหวังไว้ว่า การจัดกิจกรรมเหล่านี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญเติบโตมากขึ้น แต่ก็เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เนื่องจากการระบาดของ COVID 19
ผลกระทบของ COVID 19 ต่อการมีงานทำในภาคการท่องเที่ยว
บริการที่พักและอาหารเป็นภาคส่วนย่อยของภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของ COVID 19 เนื่องจากเป็นบริการที่ใช้แรงงานจำนวนมากและจ้างแรงงานทักษะต่ำที่ค่าจ้างไม่สูงไว้จำนวนหลายล้านตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนงานเหล่านี้ในหลาย ๆ ประเทศถูกลดชั่วโมงการทำงาน ถูกลดค่าจ้าง และมีโอกาสตกงานสูง
ภาคบริการที่พักและอาหารทุกกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดไหน ล้วนต่างดิ้นรนให้อยู่รอดไปได้ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น MSMEs มีความเปราะบางอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรับมือกับ COVID 19 ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการทำงานและการดำเนินมาตรการป้องกันต่าง ๆ ทำให้ MSMEs ประสบปัญหามากขึ้น เนื่องจากมีทรัพยากรที่จำกัดและมีความยากลำบากในการเข้าถึงเงินทุน
ภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศจำเป็นต้องลดกิจกรรมหลายกิจกรรมลงชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันหลายรัฐบาลก็มีคำสั่งให้ปิดธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นลงด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ มาตรการ lockdown ในฝรั่งเศสเมื่อกลางเดือนมีนาคมส่งผลให้มีการปิดร้านอาหาร ๗๕,๐๐๐ ร้าน คลับ ๓,๐๐๐ แห่ง และคาเฟ่ ๔๐,๐๐๐ แห่ง ส่งผลให้คนงาน ๑ ล้านคนว่างงาน ในสหรัฐฯ มีการเลิกจ้างจำนวนมาก จากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ พบว่า ในวันที่ ๒๑ มีนาคม มีคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมากถึง ๓.๒๘ ล้านกรณี และเพิ่มขึ้นเป็น ๖.๖ ล้านกรณีเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม
ภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงสูงที่จะเลิกจ้างคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจการขายปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ผลการสำรวจอุตสาหกรรมในนิวซีแลนด์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม เปิดเผยว่า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่มีแผนจะลดตำแหน่งงาน ๔,๘๙๐ ตำแหน่งในเร็ว ๆ นี้ โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว STR ได้ทำการรวบรวมข้อมูลใน ๑๑ ประเทศ (เช็ก อิตาลี กรีส ออสเตรีย เลบานอน โปแลนด์ โรมาเนีย อิสลาเอล บัลแกเรีย ฮังการี และเซอร์เบีย) และพบว่า อัตราการจองห้องพักใน ๑๑ ประเทศนี้ ลดลงถึงร้อยละ ๙๐ เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ ๑๕-๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ สายการบินต่าง ๆ ปรับการจัดอัตรากำลังคนใหม่ รวมถึงการขอให้พนักงานลาหยุดทั้งแบบได้รับค่าจ้างและไม่ได้รับค่าจ้าง หรือขอให้ลดชั่วโมงการทำงานลง
ภาคการท่องเที่ยวมีการจ้างงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจ้างงานเป็นกะ งานตามฤดูกาล งานชั่วคราว งานบางเวลา รับเหมาค่าแรงงาน รับเหมาช่วงงาน และการจ้างงานที่ไม่มีรูปแบบมาตรฐานอื่น ๆ หลายตำแหน่งงานในภาคการท่องเที่ยวเป็นงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน มีอัตราการเปลี่ยนงานสูง และได้รับการคุ้มครองทางสังคมไม่เต็มรูปแบบ บางกิจกรรมไม่มีการจัดรูปแบบการทำงานให้เป็นระบบ ไม่มีข้อบังคับการทำงานที่เข้มงวด และไม่มีองค์กรแรงงานที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นท้าทายต่อการสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคการท่องเที่ยว และประเด็นท้าทายนี้มีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID 19 ไปจนกระทั้งหลังการระบาดใหญ่
คนงานต่างด้าว คนงานผู้เยาว์ และแรงงานหญิง มีสัดส่วนจำนวนมากในกำลังแรงงานของภาคการท่องเที่ยว โดยมีความเสี่ยงที่สูงที่ทำงานโดยขาดซึ่งงานที่มีคุณค่า รวมถึงการได้รับค่าจ้างต่ำ ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ และถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ คนงานนอกระบบมักไม่ค่อยมีสิทธิในการลาป่วยหรือในการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม และมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ มาตรการส่งเสริมธุรกิจและการคุ้มครองรายได้และตำแหน่งงานจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSMEs ผ่านพ้นวิกฤติ ครั้งนี้ไปได้
๒. การรับมือของประเทศต่าง ๆ
คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออุดหนุนภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย และดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในมาตรการดังกล่าว คือ การนำเงินจำนวน ๓๗ พันล้านยูโรมาใช้ในการลงทุนเพื่อรับมือกับ COVID 19 โดนนำมาทำให้เกิดสภาพคล่องในวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และกิจการเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ นอกจากนั้น Tourism Task Force ของรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปยังมีจดหมายเรียกร้องให้มีการวางแผนปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือการท่องเที่ยว โดยให้ดำเนินมาตรการระยะกลางและระยะสั้นที่เป็นรูปธรรม
ประเทศสมาชิกอียูมีโครงการความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจแก่ภาคการท่องเที่ยวและการขนส่ง ซึ่งรวมถึง การพักชำระภาษีชั่วคราว การขยายกำหนดการส่งเงินสมทบด้านการประกันสังคม การอุดหนุนค่าจ้าง การให้เงินกู้ และให้หลักประกันเงินกู้แก่คนงาน หลายประเทศในอียูพิจารณาซื้อกิจการเอกชนที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงมาเป็นของรัฐ
แคนาดาออกนโยบายคุ้มครองคนงานจากการเลิกจ้าง ทำโครงการแบ่งส่วนการทำงาน และให้เงินอุดหนุนค่าจ้างแก่ธุรกิจขนาดเล็ก โครงการแบ่งส่วนการทำงานจัดสิทธิประโยชน์เป็นระยะเวลาไม่เกิน ๗๖ สัปดาห์ ให้แก่คนงานที่ตกลงลดชั่วโมงการทำงานปกติลงในช่วงวิกฤติ COVID 19 ส่วนการอุดหนุนค่าจ้างเป็นการจ่ายเงินให้แก่นายจ้างในธุรกิจขนาดเล็กเป็นระยะเวลา ๓ เดือน ในจำนวนร้อยละ ๑๐ ของค่าตอบแทน การทำงานที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างแต่ละคน แต่ไม่เกิน ๑,๓๗๕ ดอลลาร์แคนาดาต่อลูกจ้างหนึ่งคน โดยจำกัดให้นายจ้างแต่ละคนได้รับไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์แคนาดา นอกจากนั้น แคนาดายังมีโครงการสินเชื่อทางธุรกิจเพื่อจัดสรรเงินกู้ให้แก่วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น บริการน้ำมันเชื้อเพลิงและแกซ การขนส่ง และการท่องเที่ยว
จีนออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเริ่มต้นกิจการอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมทางออนไลน์ การให้แนวทางส่งเสริมด้านการกลับเข้ามาทำงานและเริ่มการผลิตอีกครั้ง การช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึง การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเขตเมืองหูเป่ย การลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ ๓ ลงเหลือร้อยละ ๑ ในเมืองอื่น ๆ ระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ยิ่งไปกว่านั้น ยังลดเบี้ยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เบี้ยประกันการว่างงาน เบี้ยประกันการได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน และเงินสมทบประกันสังคม ทั้งยังยกเว้นการลงโทษกรณีจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ล่าช้า ในช่วงวันที่ ๒๕ มกราคม – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓
อียิปต์อุดหนุนเงินจำนวน ๕๐ พันล้านปอนด์อิยิปต์เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและใช้ช่วยกิจการโรงแรมให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤต COVID 19 ไปได้ กระทรวงความมั่นคงทางสังคมขยายโครงการมอบเงินสดให้ครอบคลุมเพิ่มเติมอีก ๑๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน รัฐบาลประกาศเลื่อนการเก็บค่าเช่าพื้นที่ของรัฐจากธุรกิจบริการด้านอาหารและการท่องเที่ยว กระทรวงโบราณวัตถุสถานและการท่องเที่ยวจัดตั้งสายด่วนเพื่อรับคำร้องทุกข์จากคนงานในภาคการท่องเที่ยวที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
กระทรวงแรงงานของฝรั่งเศสกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID 19 รวมถึง กิจการที่เปิดให้บริการภายในโรงแรม บริการจัดหาอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวพร้อมที่จะฟื้นตัวหลังวิกฤติผ่านพ้นไป รวมถึงมีการประกาศเกี่ยวกับการลดชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทนการทำงาน โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในจำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดิมต่อไป ส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในจำนวนที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้นายจ้างจ่ายร้อยละ ๘๔ ของอัตราค่าจ้างเดิม และไม่เกิน ๔.๕ เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
อิตาลีได้ออก Cura Italia Decree ซึ่งเป็นกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับวิกฤติ COVID 19 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลได้ขยายกองทุนเงินช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าจ้างจำนวนร้อยละ ๘๐ ของอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และขยายสิทธิวันลาเพื่อดูแลบุตรเพิ่มอีก ๑๕ วันสำหรับผู้ใช้สิทธิในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และให้สิทธิลูกจ้างลาดูแลสมาชิกครอบครัวที่ทุพพลภาพ โดยได้รับค่าจ้าง เป็นเวลาไม่เกิน ๑๒ วัน รัฐบาลอนุญาตให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการเลื่อนการนำส่งเงินสมทบการประกันสังคมและการประกันภาคบังคับได้ เลื่อนการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนมีนาคม และจ่ายเงินชดเชยเดือนมีนาคมจำนวน ๖๐๐ ยูโร ให้แก่คนงานตามฤดูกาลในภาคการท่องเที่ยวที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการระบาดใหญ่ทั่วโลก
องค์การการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติของไอร์แลนด์ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจช่วยเหลือภาคธุรกิจขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสนอข้อแนะนำและมาตรการต่าง ๆ ด้านการส่งเสริมธุรกิจแบบยั่งยืน การมีงานทำ และการกระตุ้นอุปสงค์ในตลาด ให้แก่รัฐบาล ในเปรูนั้น ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ รัฐบาลเปรูจ่ายเงินจำนวนประมาณ ๑๐๘ ดอลล่าสหรัฐฯ แก่ทุกครอบครัวที่จะมีสมาชิกที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งรวมถึง ในภาคการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวในเกาหลีถูกจัดให้เป็นกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษด้านการจ้างงาน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินจำนวนร้อยละ ๙๐ ของเบี้ยยังชีพเป็นเวลาไม่เกิน ๖ เดือน ให้แก่ลูกจ้างในภาคการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง
รัฐบาลสเปนจัดสรรเงินจำนวน ๔๐๐ ล้านยูโร เพื่อเป็นเงินกู้ให้วิสาหกิจทุกแห่ง และสำหรับผู้ประกอบกิจการส่วนตัวในภาคการขนส่ง การบริการรับรองนักท่องเที่ยว และร้านอาหาร นอกจากนี้ รัฐบาลยังช่วยจ่ายเงินสมทบการประกันทางสังคมรายเดือนในจำนวนครึ่งหนึ่ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน ๒๕๖๓ แก่นายจ้างที่มีการทำสัญญาจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างกับลูกจ้าง รัฐบาลสเปนอยู่ระหว่าง การจัดทำรูปแบบของรายได้พื้นฐานเพื่อการดำรงชีพแบบให้เปล่ารายเดือน (Universal Basic Income) ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือคนงานภาคการท่องเที่ยวได้
รัฐบาลกลางของสวิตเซอร์แลนด์จัดสรรเงินจำนวน ๔๒ พันล้านฟรังก์ เพื่อใช้ในการคุ้มครองตำแหน่งงาน ประกันค่าจ้าง และช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการส่วนตัว มณฑลเจนีวามีแผนการจะออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาช่วยเหลืออวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤต ซึ่งรวมถึง กิจการโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ก็ได้จัดสรรเงินจำนวน ๙๕ ล้านฟรังก์สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการ ผ่านทางมูลนิธิส่งเสริมธุรกิจแห่งมณฑลเจนีวา
๓. คำแนะนำและเครื่องมือของ ILO
ILO ให้คำแนะนำว่า ประเทศสมาชิกควรมีการกำหนดนโยบายในภาพกว้างและสร้างกลไกบรรเทาผลกระทบของ COVID 19 ที่มีต่อภาคการท่องเที่ยว และควรนำกรอบงานการรับมือกับ COVID 19 ของ ILO มาเป็นฐานในการกำหนดนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกของ COVID 19 ซึ่งกรอบงานดังกล่าวประกอบด้วย ๔ เสาหลัก คือ
- การกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีงานทำ
- การสนับสนุนวิสาหกิจ ตำแหน่งงาน และรายได้
- การคุ้มครองคนงานในสถานที่ทำงาน
- การใช้การเจรจาทางสังคมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
โดยสามารถนำ ILO Guidelines on decent work and socially responsible tourism, 2017 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่ง ILO Guidelines ฉบับนี้ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ
- การส่งเสริมการมีงานทำเต็มอัตราอย่างมีผลิตภาพ
- การส่งเสริมวิสาหกิจการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน
- การลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- การนำมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมาปฏิบัติ และการบังคับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับ
- การเสริมสร้างความเข้มแข้งด้านการคุ้มครองแรงงาน
การมีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมตำแหน่งงานที่มีคุณค่าสำหรับสตรีและผู้เยาว์เป็นสิ่งขาดไม่ได้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงทางเศรษฐกิจ
ภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ควรปรึกษาหารือกันเพื่อดำเนินการแก้ไขวิกฤติ โดยให้คำนึงถึงอนุสัญญาและข้อแนะ ILO ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง อนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๒ และข้อแนะฉบับที่ ๑๗๙ ว่าด้วยสภาพการทำงาน (โรงแรมและร้านอาหาร) ค.ศ. ๑๙๙๑ ทั้งนี้ ควรนำปฏิญญาแห่งศษวรรษเพื่ออนาคตของงาน ค.ศ. ๒๐๑๙ มาประกอบการพิจารณาดำเนินการรับมือกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกทุกกรณี อันรวมถึง COVID 19 เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ยาวนาน และยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งควรคำนึงถึงด้วย ได้แก่ , Occupational safety and health in public health emergencies: A manual for protecting health workers and responders, 2018 ของ WHO ร่วมกับ ILO และ Operational considerations for COVID-19 management in the accommodation sector, 2020 ของ WHO
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ที่มา https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_dialogue/—sector/documents/briefingnote/wcms_741468.pdf