ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. 1976
อนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาแล้ว ต้องทำการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศของ ILO ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันแล้วจำนวน 151 ประเทศ
ประเด็นที่ต้องทำการปรึกษาหารือไตรภาคี
อนุสัญญากำหนดให้ต้องทำการปรึกษาหารือไตรภาคีใน 5 ประเด็น ดังนี้
ก) การตอบข้อสนเทศต่าง ๆ และการให้ความเห็นต่อร่างเอกสารต่าง ๆ ที่จะนำเข้าสู่การอภิปรายหรือพิจารณาในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ข) การจัดทำรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับอนุสัญญาที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันและข้อแนะ ตามที่ ILO ร้องขอ รวมถึง การนำเสนออนุสัญญาและข้อแนะฉบับใหม่ต่อหน่วยงานผู้ทรงอำนาจภายในประเทศ
ค) การทบทวนเกี่ยวกับอนุสัญญาที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการให้สัตยาบัน และเกี่ยวกับข้อแนะ เพื่อพิจารณานำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติภายในประเทศ
ง) การจัดทำรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วและข้อแนะ รวมถึง การชี้แจงหรือตอบข้อซักถามของ ILO เกี่ยวกับรายงานฉบับดังกล่าว
จ) การเสนอบอกเลิกอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้ว
ที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง
ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่ภาครัฐทำการปรึกษาหารือด้วยนั้น ต้องได้รับเลือกหรือเสนอชื่อโดยองค์กรของตนเองอย่างเสรี ไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก ในการปรึกษาหารือไตรภาคีแต่ละครั้งอาจมีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ทำการปรึกษาหารือ โดยไม่คำนึงถึงจำนวนสมาชิกที่มี
ลักษณะของการปรึกษาหารือ
– การปรึกษาหารือต้องมุ่งเน้นการรับฟังความเห็นจากผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ไม่ใช่การนำเสนอข้อมูลเพื่อทราบ
– ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างทำหน้าที่ของตนอย่างมีสถานะเท่าเทียมกัน
– รูปแบบการปรึกษาหารือไตรภาคีทำได้หลายลักษณะแล้วแต่การพิจารณาของภาครัฐ ทั้งการจัดประชุมเพื่อหารือ หรือการหารือเป็นหนังสือ โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นองค์คณะต่าง ๆ (คณะทำงาน หรือคณะกรรมการ) เสมอไป ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล
– ความเห็นที่ได้จากผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบตัดสินใจขั้นสุดท้ายในประเด็นต่าง ๆ ที่นำมาปรึกษาหารือ
การจัดทำรายงานประจำปี
ภาครัฐต้องจัดทำรายงานประจำปีเรื่อง การดำเนินงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการปรึกษาหารือภายใต้อนุสัญญานี้ ดังนั้น แม้อนุสัญญาจะไม่กำหนดจำนวนการปรึกษาหารือ แต่ภาครัฐควรทำการปรึกษาหารืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เช่น ในประเด็นการทบทวนเกี่ยวกับอนุสัญญาที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการให้สัตยาบัน หรือประเด็นการนำเสนออนุสัญญาและข้อแนะฉบับใหม่ต่อหน่วยงานผู้ทรงอำนาจภายในประเทศ
ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามอนุสัญญา
– รัฐบาลและองค์กรของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างต้องพิจารณาสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือไตรภาคีได้รับการอบรมตามที่จำเป็น
– การปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับ
– อนุสัญญาฉบับนี้อยู่ในหมวดอนุสัญญาด้านการบริหารจัดการที่มีความสำคัญอันดับต้น ดังนั้น ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว ต้องจัดทำรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาทุกรอบ 3 ปี
– นอกเหนือจากประเด็น 5 ข้อที่อนุสัญญากำหนดให้ต้องทำการปรึกษาหารือร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างแล้ว ภาครัฐสามารถนำประเด็นตามข้อแนะฉบับที่ 152 ไปทำการปรึกษาหารือได้ แล้วแต่การพิจารณา ซึ่งได้แก่
(ก) กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการกับ ILO
(ข) การพิจารณานำข้อมติหรือข้อสรุปที่ได้จากการประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO มาปฏิบัติ
(ค) การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของ ILO
– การปรึกษาหารือหรือการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับประเด็นแรงงานภายในประเทศไม่อยู่ภายใต้บริบทของอนุสัญญานี้
——————————————————–
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา