Skip to main content

หน้าหลัก

การรับรองประมวลแนวปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า ของที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญ ILO

การรับรองประมวลแนวปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า ของที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญ ILO

 

ที่มา

                   ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔-๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ ณ นครเจนีวา อันประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มลูกจ้างและจากกลุ่มนายจ้าง ฝ่ายละ ๘ คน และผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มรัฐบาล ๗ ประเทศ ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ บราซิล จีน เอธิโอเปีย เยอรมนี จอร์แดน ตุรกี โมร็อกโก และนิคารากัว ที่แต่งตั้งโดยคณะประศาสน์การ ประธานการประชุม คือ Mr. Jukka Sakari Takala ประธาน International Commission on Occupational Health (ICOH)

                   ที่ประชุมตระหนักว่า ในทุก ๆ ปีได้มีคนงานประมาณ ๒.๘ ล้านคนเสียชีวิตจากการทำงาน คนงานประมาณ ๑๖๐ ล้านคนทุกข์ทนกับการเป็นโรคอันเนื่องจากการทำงาน และคนงานประมาณ ๓๗๔ ล้านคนประสบอันตรายจากการทำงาน และที่ประชุมมีความเห็นว่า คนงานทุกคนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า ไม่ควรต้องเผชิญกับความเสี่ยงและอันตรายใด ๆ ในการทำงาน ทั้งนี้ ภาครัฐ กลุ่มนายจ้าง และกลุ่มคนงานควรมีแนวปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (Occupational Safety and Health: OSH) อันเป็นพื้นฐานเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การมีวัฒนธรรมเชิงป้องกันด้าน OSH ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า

                   ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาและรับรองแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า (Code of practice on safety and health in textiles, clothing, leather and footwear) เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขจัด ลด และควบคุม ความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรงต่าง ๆ รวมถึง สารเคมี สิ่งคุกคามทางกายภาพและการยศาสตร์ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ในการทำงานที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนงานกว่า ๖๐ ล้านคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้

วัตถุประสงค์

                   คณะผู้เชี่ยวชาญมุ่งหวังว่า ประมวลแนวปฏิบัติฉบับนี้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า เพื่อ

  • ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยเชิงป้องกัน ในอุตสาหกรรมดังกล่าว
  • คุ้มครองคนงานทุกคนในอุตสาหกรรมดังกล่าวจากอันตรายในสถานที่ทำงาน
  • ป้องกันหรือลดเหตุอันตราย โรค และอุบัติเหตุจากการทำงาน
  • ออกแบบนโยบายแห่งชาติและแผนงานต่าง ๆ ด้าน OSH และสวัสดิการแรงงาน และด้านการคุ้มครองสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • ส่งเสริมการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นายจ้างและองค์กรของนายจ้าง ลูกจ้างและองค์กรของลูกจ้าง และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงด้าน OSH ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว
  • กำหนดบทบาท พันธกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ด้าน OSH ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ให้กับหน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคีที่เกี่ยวข้อง
  • เกิดการปรับปรุงการบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงด้าน OSH ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่ง
  • ปรับปรุงขีดความสามารถและความรู้ด้าน OSH ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว

องค์ประกอบของประมวลแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า

  • บทที่ ๑ นำเสนอภาพรวมของประมวลแนวปฏิบัติฯ อันได้แก่ วัตถุประสงค์ ขอบเขตการนำไปปรับใช้ และตราสารที่ใช้ในการอ้างอิง
  • บทที่ ๒ นำเสนอถึงสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และภารกิจ ของรัฐบาล องค์กรของนายจ้าง และองค์กรของลูกจ้าง ตลอดจน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • บทที่ ๓ นำเสนอถึงระบบการจัดการด้าน OSH อันประกอบด้วย นโยบาย มาตรการเชิงป้องกันและคุ้มครอง การจัดการการเปลี่ยนแปลง และการเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • บทที่ ๔ นำเสนอถึงการแจ้ง การบันทึก และการรายงาน เกี่ยวกับการเกิดอันตราย สุขภาพที่เสื่อมโทรม การเกิดโรคและการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการทำงาน
  • บทที่ ๕ นำเสนอถึงการจัดโครงสร้างความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย อันประกอบด้วย บริการด้านอาชีวอนามัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย ผู้แทนด้าน OSH ของลูกจ้าง คณะกรรมการความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย คณะกรรมการไตรภาคีในอุตสาหกรรม
  • บทที่ ๖ นำเสนอถึงความปลอดภัยในอาคารสถานที่และการป้องกันอัคคีภัย ซึ่งความปลอดภัย ในอาคารสถานที่ประกอบด้วย การประเมินโครงสร้างอาคารสถานที่ และมาตรการควบคุม โดยการป้องกันอัคคีภัยประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และมาตรการควบคุมและลดความเสี่ยงดังกล่าว
  • บทที่ ๗ นำเสนอถึงมาตรการคุ้มครองและป้องกันทั่วไป ซึ่งเกี่ยวกับ การกำหนดพื้นที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้า การควบคุมความร้อน ความเย็น และการระบายอากาศ การดูแลความสะอาดและความเรียบร้อย สถานที่จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ การจัดการพื้นที่อับอากาศ การดูแลลิฟต์และบันไดเลื่อน การระวังการตกจากที่สูงของบุคคลหรือวัสดุอุปกรณ์ และการทำสัญลักษณ์ รหัสสี และการแจ้ง เพื่อเตือนภัย
  • บทที่ ๘ นำเสนอถึงอันตรายทางชีวภาพ อันประกอบด้วย ลักษณะของอันตรายทางชีวภาพ การประเมินความเสี่ยง มาตรการควบคุม การจัดการพิเศษเกี่ยวกับโรคติดต่อ เชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดได้ง่าย และโควิด-๑๙ การจัดการพิเศษเกี่ยวกับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ และเชื้อที่ติดต่อทางโลหิต
  • บทที่ ๙ นำเสนอเกี่ยวกับสารอันตราย ในประเด็นลักษณะการเกิดอันตราย การประเมินความเสี่ยง กลยุทธการควบคุม การขนส่ง การจัดเก็บ และการทำลาย การกำกับควบคุมสารอันตรายในสถานที่ทำงาน การเฝ้าระวังสุขภาพ และการเกิดอันตรายจากการระเบิดของสารกัดกร่อนและซิลิกา จากฝุ่นละออง และจากแร่ใยหิน
  • บทที่ ๑๐ นำเสนอเกี่ยวกับสิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ พร้อมด้วย การประเมินความเสี่ยง และมาตรการควบคุม
  • บทที่ ๑๑ นำเสนอเกี่ยวกับสิ่งคุกคามทางกายภาพ อันได้แก่ แสงสว่าง เสียง ความสั่นสะเทือน ไฟฟ้า สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า รังสี ความร้อนและความชื้น ความเย็น และการลื่น การสะดุด และ การตกจากที่สูง
  • บทที่ ๑๒ นำเสนอเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ พร้อมด้วยการประเมินความเสี่ยง กลยุทธการควบคุม และมาตรการควบคุมเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ บางประเภท อันได้แก่ เครื่องเย็บผ้า เตารีดและเครื่องบีบอัด เครื่องตัด เครื่องย้อมสีอุณหภูมิสูง เครื่องซักผ้าหรือเครื่องอบแห้งอุตสาหกรรม ภาชนะรับแรงดัน เลเซอร์ หุ่นจักรกล และเทคโนโลยีแบบอัตโนมัติขั้นสูง
  • บทที่ ๑๓ นำเสนอเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการขนส่งในสถานที่ทำงาน ประกอบด้วย ความปลอดภัยในพื้นที่ ความปลอดภัยของยานพาหนะ ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการ ความปลอดภัยในการขนส่งสิ่งของมีน้ำหนักมาก
  • บทที่ ๑๔ นำเสนอเกี่ยวกับความสามารถในหน้าที่และการฝึกอบรม อันประกอบด้วย คุณสมบัติของผู้จัดการและผู้ควบคุมงาน คุณสมบัติลูกจ้างและการฝึกอบรมลูกจ้าง และคุณสมบัติของผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง และบุคคลที่สาม
  • บทที่ ๑๕ นำเสนอเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล อันประกอบด้วย ชุดป้องกันอันตราย อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ อุปกรณ์ป้องกันตาและใบหน้า อุปกรณ์ป้องกันแขน ลำตัว และเท้า อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง
  • บทที่ ๑๖ นำเสนอเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองกรณีพิเศษ อันประกอบด้วย ความมั่นคงทางสังคม การคุ้มครองความเป็นมารดา ชั่วโมงการทำงานและการทำงานล่วงเวลา การทำงานกลางคืน การทำงานเพียงลำพัง ช่วงเวลาพัก ความเหนื่อยล้า ความรุนแรงและการล่วงละเมิด และเครื่องดื่ม   มืนเมาและสารเสพติดในสถานที่ทำงาน
  • บทที่ ๑๗ นำเสนอเกี่ยวกับสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดี อันประกอบด้วย น้ำดื่ม เครื่องสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ชำระล้าง ที่เก็บและเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่เก็บอาหารและเครื่องดื่ม การอำนวยความสะดวกด้าน การดูแลเด็กเล็ก และพื้นที่พัก
  • บทที่ ๑๘ นำเสนอเกี่ยวกับการจัดการของเสียและการปล่อยก๊าซ อันประกอบด้วย การประเมิน ความเสี่ยง มาตรการควบคุม การปล่อยควันและสารเคมี ขยะมูลฝอย น้ำเสีย และขยะอันตราย

ประเด็นภาพรวมที่สำคัญในประมวลแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า

การกำหนดนโยบายด้าน OSH ในสถานประกอบการ

                   ประมวลแนวปฏิบัติฉบับนี้เสนอให้นายจ้างปรึกษาหารือกับลูกจ้างและผู้แทนของลูกจ้างเพื่อจัดทำนโยบายด้าน OSH ในสถานประกอบการเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนโยบายนั้นควร

  • กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะให้เหมาะสมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลักษณะการทำงานด้านสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องหนัง หรือรองเท้า รวมถึง ขนาดของแต่ละกิจการ
  • มีข้อความที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ระบุวันที่กำหนดนโยบายและวันที่เริ่มใช้นโยบาย พร้อมลงนามกำกับโดยนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุดของสถานประกอบการ
  • แจ้งให้บุคลากรทุกคนได้ทราบอย่างทั่วถึง
  • ทบทวนความเหมาะสมของนโยบายดังกล่าวอยู่เป็นระยะ และ
  • ให้ภาคีภายนอกองค์กรที่สนใจได้ทราบถึงนโยบายดังกล่าวด้วย ตามความเหมาะสม

                   นโยบายดังกล่าวควรมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

  • เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของลูกจ้างทุกคน โดยการป้องกันอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย และการได้รับบาดเจ็บ ที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน
  • เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับด้าน OSH ภายในประเทศ ข้อตกลงร่วมด้าน OSH และข้อบังคับอื่น ๆ ของสถานประกอบการ
  • เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า มีการปรึกษาหารือกับลูกจ้างและผู้แทนของลูกจ้างในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับระบบการจัดการด้าน OSH ร่วมถึงมีการส่งเสริมให้ลูกจ้างและผู้แทนของลูกจ้างมีส่วนร่วมในระบบการจัดการด้าน OSH ดังกล่าว และ
  • เพื่อให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการจัดการด้าน OSH อย่างต่อเนื่อง

                   ทั้งนี้ ระบบการจัดการด้าน OSH ควรสอดคล้องหรือบูรณาการเข้าไว้กับระบบจัดการอื่น ๆ ภายในสถานประกอบการ

การบ่งชี้ถึงอันตราย การประเมินความเสี่ยง และมาตรการเชิงป้องกันและคุ้มครอง

                   ในงานซึ่งลูกจ้างมีความเสี่ยงว่าจะได้รับอันตรายหรือลูกจ้างต้องเผชิญกับอันตราย นายจ้างควรจัดให้มีการบ่งชี้ถึงลักษณะของอันตรายที่มีหรือที่อาจเกิดขึ้น และมีการประเมินอันตรายดังกล่าวและผลของอันตรายที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยอยู่เป็นระยะ นายจ้างควรกำหนดมาตรการเชิงป้องกันและคุ้มครองที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายนั้นอยู่ในระดับต่ำสุดตามที่กฎหมายและข้อบังคับภายในประเทศอนุญาต นอกจากนั้น นายจ้างควรมีระบบเพื่อบ่งชี้อันตราย ประเมินความเสี่ยง และมาตรการเชิงป้องกันและคุ้มครอง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้   

  • ขจัดอันตรายทุกลักษณะ
  • ควบคุมความเสี่ยงอันตรายที่ต้นตอ เช่น เปลี่ยนไปใช้สารที่มีอันตรายน้อยกว่าเดิม หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่มีความปลอดภัยกว่าเดิม เป็นต้น
  • ลดความเสี่ยงอันตรายให้มีน้อยที่สุด
  • หากยังคงมีความเสี่ยงอยู่ นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะกับขนาดร่างกายให้แก่ลูกจ้างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และดำเนินมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกจ้างใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่จัดให้

                   ในการบ่งชี้ถึงอันตรายในสถานที่ทำงานนั้นต้องคำนึงถึง

  • ทุกสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือสภาพการณ์ ที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยได้
  • ลักษณะของการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องมาจากกิจกรรม การผลิต หรือการให้บริการ
  • วิธีการจัดโครงสร้างงาน การบริหารจัดการงาน การดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน
  • พื้นที่และโครงสร้างของสถานที่ทำงาน อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการทำงาน และพื้นที่ที่ใช้อุปกรณ์และวัสดุดังกล่าว
  • การติดตั้ง การควบคุม การใช้งาน และการกำจัด วัสดุและอุปกรณ์ในการทำงาน
  • การได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ
  • การทำข้อตกลงเกี่ยวกับโรงผลิต อุปกรณ์ การให้บริการ และแรงงาน รวมถึง การทำข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้รับเหมาและผู้รับเหมาช่วง และ
  • การตรวจตรา การบำรุงรักษา การทดสอบ การซ่อมแซม การเปลี่ยนทดแทน โรงผลิตและอุปกรณ์

                   การประเมินความเสี่ยงควรถูกนำมาใช้เพื่อพิจารณาระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยที่เกิดจากอันตรายในแต่ละลักษณะ เพื่อประโยชน์ด้านการจัดลำดับความสำคัญในการควบคุม ในการพิจารณาระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยนั้นควรคำนึงถึงปัจจัยประกอบต่าง ๆ ด้วย เช่น เพศ อายุ ความพิการ และอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นต้น ทั้งนี้ การประเมิน  ความเสี่ยงประกอบด้วย ๕ ขั้นตอนสำคัญ คือ (ก) การบ่งชี้ถึงอันตราย (ข) การบ่งชี้ผู้ที่อาจได้รับอันตรายและวิธีที่ได้รับอันตรายนั้น (ค) การประเมินค่าความเสี่ยงและวิธีการควบคุมความเสี่ยง (ง) การบันทึกผลการประเมินและการจัดลำดับความสำคัญเพื่อทำการปรับปรุง และ (จ) การทบทวนและปรับปรุงวิธีการประเมินให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตามความจำเป็น

——————————————–

 

อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

 

 

ประมวลแนวปฏิบัติ https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_dialogue/—sector/documents/normativeinstrument/wcms_828429.pdf

 

 


969
TOP