การยกเลิกและเพิกถอนอนุสัญญาและข้อแนะ ILO จำนวน ๒๙ ฉบับ
โดยที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ ๑๐๙ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔)
ที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๑๐๙ (เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔[1] ให้ยกเลิก (obligation) และเพิกถอน (withdraw) อนุสัญญาและข้อแนะจำนวน ๒๙ ฉบับ เนื่องจากมีเนื้อหาล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและมีอนุสัญญาฉบับอื่นที่เป็นปัจจุบันกว่ามาทดแทนแล้ว ดังนี้
การยกเลิก (obligation)
“การยกเลิก” ใช้กับอนุสัญญาที่มีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันอยู่ ซึ่งเมื่อยกเลิกแล้วประเทศสมาชิกนั้นจะหมดข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา โดยอนุสัญญาที่ถูกยกเลิกจะหมดสภาพไปไม่สามารถให้สัตยาบันได้อีก ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ เห็นชอบให้ยกเลิกอนุสัญญาจำนวน ๘ ฉบับ ได้แก่
อนุสัญญาฉบับที่ ๘ ว่าด้วยสินไหมทดแทนกรณีว่างงาน (เรืออับปาง) ค.ศ. ๑๙๒๐
อนุสัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า คนประจำเรือจะได้รับสินไหมทดแทนกรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเรือเสียหายหรือเรือจม มีประเทศสมาชิกจำนวน ๖๐ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๔๖ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention: MLC) และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๘ จำนวน ๑๔ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่เป็นอนุสัญญาซึ่งออกมาภายหลังและมีเนื้อหาที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ด้านสินไหมทดแทนกรณีว่างงาน จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๘
อนุสัญญาฉบับที่ ๙ ว่าด้วยการบรรจุงานของคนเรือ ค.ศ. ๑๙๒๐
อนุสัญญานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการบรรจุงานคนประจำเรือในลักษณะที่หวังผลกำไร มีประเทศสมาชิกจำนวน ๔๑ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๓๐ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๙ ว่าด้วยการคัดเลือกและการบรรจุงานของคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๙๖ หรือ MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๙ จำนวน ๑๐ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคัดเลือกและการบรรจุงานของคนประจำเรือที่ครอบคลุม รัดกุม และเป็นปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๙
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๖ ว่าด้วยการตรวจสุขภาพของผู้เยาว์ (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๒๑
อนุสัญญานี้กำหนดเกี่ยวกับการออกใบรับรองสุขภาพโดยแพทย์ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่ทรงอำนาจ เพื่อแสดงถึงความพร้อมด้านร่างกายของคนประจำเรือที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่ถูกจ้างให้ทำงานบนพาหนะทางน้ำ เรือใหญ่ หรือเรือเล็ก มีประเทศสมาชิกจำนวน ๘๒ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๕๗ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖ จำนวน ๒๕ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานด้านการออกใบรับรองสุขภาพของคนประจำเรือที่ครอบคลุมกว่าและมีรายละเอียดมากกว่าบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖ ทั้งยังกำหนดเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติของบุคคลากรทางการแพทย์ที่สามารถออกใบรับรองสุขภาพได้และข้อยกเว้นเกี่ยวกับการออกและการแสดงใบรับรองสุขภาพในกรณีฉุกเฉิน ในประเทศสมาชิกจำนวน ๒๕ ประเทศที่ยังให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖ อยู่มีจำนวน ๒๐ ประเทศที่เข้าเป็นภาคี International Convention on Standard of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers (STCW), 1978 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวข้องที่คล้ายคลึงกัน จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖
อนุสัญญาฉบับที่ ๕๓ ว่าด้วยประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการทำงานในตำแหน่งของนายประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๓๖
อนุสัญญานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่า นายประจำเรือที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเรือเป็นผู้มีใบรับรองความรู้ความสามารถที่ออกให้โดยหน่วยงานที่ทรงอำนาจของประเทศเจ้าของสัญชาติหรือโดยหน่วยงานภาครัฐของรัฐเจ้าของธงเรือ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๓๗ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๒๕ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๕๓ จำนวน ๑๒ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่กำหนดมาตรฐานและเงื่อนไขอันเป็นปัจจุบันมากกว่า ซึ่งมาตรฐานและเงื่อนไขดังกล่าวนำแนวทางมาจาก STCW โดยที่ IMO เป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการกำหนดเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการออกใบรับรองความรู้ความสามารถของคนเรือทุกตำแหน่ง ยกเว้นตำแหน่งคนครัวซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ ILO ประกอบกับในบรรดาประเทศสมาชิกจำนวน ๑๒ ประเทศที่ยังให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖ อยู่ มีประเทศสมาชิกเพียงหนึ่งประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี STCW จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๕๓
อนุสัญญาฉบับที่ ๗๓ ว่าด้วยการตรวจสุขภาพ (คนประจำเรือ) ค.ศ. ๑๙๔๖
อนุสัญญานี้กำหนดเกี่ยวกับการออกใบรับรองสุขภาพของคนประจำเรือโดยบุคลากรทางการแพทย์ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๔๖ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๓๕ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๗๓ จำนวน ๑๑ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่มีบทบัญญัติที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยกำหนดให้มีระบบตรวจการออกใบรับรองสุขภาพของคนประจำเรือ ประกอบกับในบรรดาประเทศสมาชิกจำนวน ๑๑ ประเทศที่ยังให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๗๓ อยู่ มีประเทศสมาชิกเพียง ๓ ประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี STCW จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๗๓
อนุสัญญาฉบับที่ ๗๔ ว่าด้วยการออกประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการทำงานในตำแหน่งของคนเรือ ค.ศ. ๑๙๔๖
อนุสัญญานี้กำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมของคนประจำเรือ และห้ามคนประจำเรือที่ไม่มีความรู้ความสามารถประจำตำแหน่งและไม่มีใบรับรองความรู้ความสามารถขึ้นทำงานบนเรือ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๒๙ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๒๔ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๗๔ จำนวน ๕ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่กำหนดมาตรฐานและเงื่อนไขอันเป็นปัจจุบันมากกว่า ซึ่งมาตรฐานและเงื่อนไขดังกล่าวนำแนวทางมาจาก STCW โดยที่ IMO เป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการกำหนดเกี่ยวกับ การฝึกอบรมและการออกใบรับรองความรู้ความสามารถของคนเรือทุกตำแหน่ง ยกเว้นตำแหน่งคนครัวซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ ILO ประกอบกับในบรรดาประเทศสมาชิกจำนวน ๕ ประเทศที่ยังให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖ อยู่ มีประเทศสมาชิกเพียงหนึ่งประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี STCW จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๗๔
อนุสัญญาฉบับที่ ๙๑ ว่าด้วยการหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้าง (แก้ไข) ค.ศ. ๑๙๔๙
อนุสัญญานี้แก้ไขอนุสัญญาฉบับที่ ๗๒ ว่าด้วยการหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้าง ค.ศ. ๑๙๔๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเกี่ยวกับการคำนวณค่าตอบแทนที่จ่ายให้คนประจำเรือในช่วงวันหยุดพักผ่อน มีประเทศสมาชิกจำนวน ๒๕ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ มอนเตเนโกร ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๑๘ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๖ ว่าด้วยการลาหยุดประจำปีโดยได้รับค่าจ้างของคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๗๖ หรือ MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๙๑ จำนวน ๑๘ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองค่าจ้างของคนประจำเรืออันเป็นปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๙๑
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๕ ว่าด้วยการจ้างงานต่อเนื่อง (คนประจำเรือ) ค.ศ. ๑๙๗๖
อนุสัญญานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า คนประจำเรือที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะได้รับการจ้างงานอย่างต่อเนื่องหรือเป็นประจำ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๒ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยประเทศสุดท้าย คือ บราซิล ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๑๒ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC และล่าสุดเหลือประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๕ จำนวน ๕ ประเทศ
เนื่องจาก ILO มี MLC ที่กำหนดมาตรฐานอันเป็นปัจจุบันมากกว่า อีกทั้งยังได้รับฉันทามติในประเด็นการจ้างงานอย่างต่อเนื่องจากไตรภาคีที่เกี่ยวข้องในภาคแรงงานทางทะเล จึงเห็นควรให้ยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๕
เพิกถอน (withdraw)
“การเพิกถอน” ใช้กับข้อแนะซึ่งเป็นตราสารที่ให้แนวทางและไม่เปิดรับการให้สัตยาบันจึงไม่มีผลผูกพันในทางปฏิบัติกับประเทศสมาชิก และใช้กับอนุสัญญาที่ไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากไม่มีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันเลย หรือให้สัตยาบันไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ฯ สมัยที่ ๑๐๙ เห็นชอบให้เพิกถอนอนุสัญญาจำนวน ๑๐ ฉบับ และข้อแนะจำนวน ๑๑ ได้แก่
อนุสัญญาฉบับที่ ๗ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๒๐
อนุสัญญานี้บัญญัติข้อยกเว้นที่ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดให้อายุขั้นต่ำของการทำงานบนเรือ คือ ๑๔ ปี มีประเทศสมาชิกจำนวน ๕๓ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๕๒ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ ค.ศ. ๑๙๗๓ ประกอบกับบทบัญญัติในอนุสัญญาฉบับที่ ๗ ไม่เหมาะสมกับการนำมาเป็นมาตรฐานแรงงานสำหรับยุคปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับฉบับที่ ๗
อนุสัญญาฉบับที่ ๕๔ ว่าด้วยวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้าง (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๓๖
อนุสัญญานี้กำหนดให้นายเรือ (masters) และนายประจำเรือ (officers) มีวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้างจำนวน ๑๒ วันทำการ ในขณะที่คนประจำเรืออื่น ๆ มีวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้างจำนวน ๙ วันทำการ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๖ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๒ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน ทำให้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันไม่ครบ ๕ ประเทศตามเงื่อนไขการมีผลบังคับใช้อนุสัญญานี้ ประกอบกับ ILO มี MLC ที่ให้การคุ้มครองเรื่องวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้างของคนประจำเรือที่ดีกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๕๔
อนุสัญญาฉบับที่ ๕๗ ว่าด้วยชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลังคน (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๓๖
อนุสัญญานี้กำหนดให้คนประจำเรือมีชั่วโมงการทำงานสูงสุดไม่เกิน ๕๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่เกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน มีประเทศสมาชิกจำนวน ๓ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๒ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน ทำให้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบัน ไม่ครบ ๕ ประเทศตามเงื่อนไขการมีผลบังคับใช้อนุสัญญานี้ ประกอบกับ ILO มี MLC ที่กำหนดเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างได้เหมาะสมกับปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๕๗
อนุสัญญาฉบับที่ ๗๒ ว่าด้วยการหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้าง (คนประจำเรือ) ค.ศ. ๑๙๔๖
อนุสัญญานี้กำหนดเกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิของคนประจำเรือในการได้มีวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้าง มีประเทศสมาชิกจำนวน ๕ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมามีประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๔ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๙๑ ว่าด้วยการหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าจ้าง (แก้ไข) ค.ศ. ๑๙๔๙ ทำให้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันไม่ครบ ๙ ประเทศตามเงื่อนไขการมีผลบังคับใช้อนุสัญญานี้ ประกอบกับ ILO มี MLC ที่กำหนดเกี่ยวกับ การหยุดพักผ่อนประจำปีโดยได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๗๒
อนุสัญญาฉบับที่ ๗๖ ว่าด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลังคน (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๔๖
อนุสัญญานี้มีบทบัญญัติที่แก้ไขอนุสัญญาฉบับที่ ๕๗ ว่าด้วยชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลังคน (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยไม่มีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันเลย ประกอบกับ ILO มี MLC ที่มีข้อกำหนดอันเป็นปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๗๖
อนุสัญญาฉบับที่ ๙๓ ว่าด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลัง (งานในทะเล) (ฉบับแก้ไข) ค.ศ. ๑๙๔๙
อนุสัญญานี้มีบทบัญญัติที่แก้ไขอนุสัญญาฉบับที่ ๕๗ ว่าด้วยชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลังคน (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๓๖ และอนุสัญญาฉบับที่ ๗๖ ว่าด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลังคน (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๔๖ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๕ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งมีไม่ครบจำนวน ๙ ประเทศตามเงื่อนไขการมีผลบังคับใช้อนุสัญญานี้ ประกอบกับ ILO มี MLC ที่มีข้อกำหนดอันเป็นปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๙๓
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๙ ว่าด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และการจัดอัตรากำลัง (งานในทะเล) (ฉบับแก้ไข) ค.ศ. ๑๙๕๘
อนุสัญญานี้มีบทบัญญัติที่แก้ไขอนุสัญญาฉบับที่ ๙๓ ว่าด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และ การจัดอัตรากำลัง (งานในทะเล) (ฉบับแก้ไข) ค.ศ. ๑๙๔๙ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๕ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ โดยไม่มีประเทศสมาชิกตามรายชื่อที่กำหนดให้สัตยาบันครบ ๙ ประเทศ (อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม บราซิล แคนาดา ชิลี จีน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ อินเดีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน ตุรกี โซเวียต สหราชอาณาจักรไอร์แลนด์เหนือ สหรัฐฯ และยูโกสลาเวีย) ทำให้ไม่ตรงตามเงื่อนไขการมีผลบังคับใช้อนุสัญญานี้ ประกอบกับ ILO มี MLC ที่มีข้อกำหนดอันเป็นปัจจุบันมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๙
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๙ ว่าด้วยการคัดเลือกและการบรรจุคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๙๖
อนุสัญญานี้กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการบรรจุคนประจำเรือเพื่อแสวงหากำไร และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการดำเนินงานเพื่อคัดเลือกและบรรจุคนประจำเรือ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๐ ประเทศที่ให้ได้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมาประเทศดังกล่าวทั้งหมดได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC ประกอบกับ ILO มี MLC ที่มีบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าโดยการกำหนดให้มีการออกใบรับรองและการตรวจ จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๙
อนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๐ ว่าด้วยชั่วโมงการทำงานและการจัดอัตรากำลังประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๙๖
อนุสัญญานี้มีบทบัญญัติที่แก้ไขข้อกำหนดด้านชั่วโมงการทำงานและการจัดอัตรากำลังประจำเรือที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องทุกฉบับก่อนหน้า มีประเทศสมาชิกจำนวน ๒๑ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมาประเทศดังกล่าวทั้งหมดได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบัน MLC ประกอบกับ ILO มี MLC ที่มีบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๐
อนุสัญญาฉบับที่ ๓๔ ว่าด้วยหน่วยบริการจัดหางานโดยคิดค่าธรรมเนียม ค.ศ. ๑๙๓๓
อนุสัญญานี้ได้รับการแก้ไขโดยอนุสัญญาฉบับที่ ๙๖ ว่าด้วยหน่วยบริการจัดหางานโดยคิดค่าธรรมเนียม (แก้ไข) ค.ศ. ๑๙๔๙ ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขโดยอนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๑ และข้อแนะฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยหน่วยบริการจัดหางานของเอกชน ค.ศ. ๑๙๙๗ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๑ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกดังกล่าวจำนวน ๑๐ ประเทศได้บอกเลิกการให้สัตยาบัน อันเป็นผลโดยอัตโนมัติจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๙๖ หรือฉบับที่ ๑๘๑ จากนั้น คณะประศาสน์การ ได้มีมติปิดรับการให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับ ILO มีอนุสัญญาฉบับที่ ๑๘๑ ที่มีบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่า จึงเห็นควรให้เพิกถอนอนุสัญญาฉบับที่ ๓๔
ข้อแนะฉบับที่ ๒๗ ว่าด้วยการส่งตัวกลับ (นายเรือและผู้ฝึกงาน) ค.ศ. ๑๙๒๖
ข้อแนะนี้ให้แนวทางเกี่ยวกับการส่งตัวกลับของนายเรือและผู้ฝึกงานซึ่งไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาฉบับที่ ๒๓ ว่าด้วยการส่งตัวคนเรือกลับ ค.ศ. ๑๙๖๒ โดยต่อมา ILO ได้มีการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๖ และข้อแนะฉบับที่ ๑๗๔ ว่าด้วยการส่งตัวคนประจำเรือกลับ (ฉบับแก้ไข) ค.ศ. ๑๙๘๗ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๒๗
ข้อแนะฉบับที่ ๓๑ ว่าด้วยการป้องกันอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม ค.ศ. ๑๙๒๙
ข้อแนะนี้ให้แนวทางเกี่ยวกับหลักการและข้อบังคับที่ควรคำนึงถึงในการป้องกันอุบัติเหตุ ในภาคอุตสาหกรรม โดยต่อมา ILO ได้มีการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๕ ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. ๑๙๘๑ พิธีสาร ค.ศ. ๒๐๐๒ เสริมอนุสัญญาฉบับ ๑๕๕ และอนุสัญญาฉบับที่ ๑๖๑ และข้อแนะ ๑๗๔ ว่าด้วยบริการอาชีวอนามัย ค.ศ. ๑๙๘๕ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๓๑
ข้อแนะฉบับที่ ๔๙ ว่าด้วยชั่วโมงการทำงาน และการจัดอัตรากำลังคน (งานในทะเล) ค.ศ. ๑๙๓๖
ข้อแนะนี้ให้ข้อแนะนำว่า ควรทำการสอบหาข้อเท็จจริงเรื่องชั่วโมงการทำงานและการจัดอัตรากำลัง เพื่อป้องกันการกำหนดชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปและการจัดอัตรากำลังคนที่ไม่เพียงพอ ในเรือพาณิชย์ที่เดินเรือเลียบชายฝั่งภายประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๔๙
ข้อแนะฉบับที่ ๑๐๗ ว่าด้วยการมอบหมายหน้าที่คนประจำเรือ (เรือต่างชาติ) ค.ศ. ๑๙๕๘
ข้อแนะนี้ให้แนวทางว่า คนประจำเรือไม่ควรทำงานกับเรือที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๐๗
ข้อแนะฉบับที่ ๑๓๗ ว่าด้วยการฝึกอาชีพ (คนประจำเรือ) ค.ศ. ๑๙๗๐
ข้อแนะนี้ให้แนวทางเกี่ยวกับการรับรองนโยบายแห่งชาติด้านการฝึกอบรมคนประจำเรือ โดยต่อมา ILO ได้มีการรับรอง MLC ที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๓๗
ข้อแนะฉบับที่ ๑๓๙ ว่าด้วยการจ้างงานคนประจำเรือ (การพัฒนาทางเทคนิค) ค.ศ. ๑๙๗๐
ข้อแนะนี้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาการสูญหายของตำแหน่งงานคนประจำเรือ อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๓๙
ข้อแนะฉบับที่ ๑๕๓ ว่าด้วยการคุ้มครองคนประจำเรือที่เป็นเยาวชน ค.ศ. ๑๙๗๖
ข้อแนะนี้ให้แนวทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน การศึกษา การแนะแนว อาชีพและการฝึกอบรมวิชาชีพ ชั่วโมงการทำงาน และการส่งตัวกลับ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานของคนประจำเรือที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ถูกนำมาปรับปรุงไว้ใน MLC และตราสารฉบับอื่น ๆ ที่ออกมาในภายหลัง จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๕๓
ข้อแนะฉบับที่ ๑๕๔ ว่าด้วยการจ้างงานต่อเนื่อง (คนประจำเรือ) ค.ศ. ๑๙๗๖
ข้อแนะประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๑๔๕ ฉบับนี้ให้แนวทางเกี่ยวกับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อหาถูกนำมาปรับปรุงไว้ใน MLC แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับฉันทามติจากไตรภาคีที่เกี่ยวข้องในภาคแรงงานทางทะเล จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๕๔
ข้อแนะฉบับที่ ๑๗๔ ว่าด้วยการส่งตัวคนประจำเรือกลับ ค.ศ. ๑๙๘๗
ข้อแนะนี้ให้แนวทางปฏิบัติในกรณีที่เจ้าของเรือหรือรัฐเจ้าของธงเรือไม่รับภาระในการส่งตัวคนประจำเรือกลับ โดยเนื้อหาถูกนำมาปรับปรุงไว้ใน MLC แล้ว จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๗๔
ข้อแนะฉบับที่ ๑๘๖ ว่าด้วยการคัดเลือกและการบรรจุงานคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๙๖
ข้อแนะประกอบอนุสัญญาฉบับที่ ๑๗๙ ฉบับนี้ มีเนื้อหาส่วนใหญ่ถูกนำมาปรับปรุงไว้ใน MLC ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากได้กำหนดเกี่ยวกับการออกใบรับรองและการตรวจหน่วยบริการคัดเลือกและบรรจุงานคนประจำเรือเพิ่มเติมด้วย จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๘๖
ข้อแนะฉบับที่ ๑๘๗ ว่าด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และการจัดอัตรากำลัง ของคนประจำเรือ ค.ศ. ๑๙๙๖
ข้อแนะนี้ให้แนวทางเกี่ยวกับจำนวนค่าจ้าง จำนวนชั่วโมงการทำงาน และการจัดอัตรากำลังบนเรือ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ถูกนำมาปรับปรุงไว้ใน MLC แล้ว จึงเห็นควรให้เพิกถอนข้อแนะฉบับที่ ๑๘๗
—————————————-
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ที่มาของข้อมูลประกอบ
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_norm/—relconf/documents/meetingdocument/wcms_650823.pdf
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_norm/—relconf/documents/meetingdocument/wcms_728103.pdf
[1][1] ILC109 Texts adopted Abrogated and withdrawn (ilo.org)