Skip to main content

หน้าหลัก

“การปรับกลยุทธเพื่อรับมือ COVID-19 (COVID-19 Strategy Update)” ขององค์การอนามัยโลก

“การปรับกลยุทธเพื่อรับมือ COVID-19 (COVID-19 Strategy Update)” ขององค์การอนามัยโลก

 

เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ปรับกลยุทธการด้านการสาธารณสุขทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของ COVID-19 สำหรับเป็นแนวทางให้ประเทศต่าง ๆ นำไปดำเนินการ โดยมุ่งหวังให้มีการเปลี่ยนสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรง ไปเป็นการระบาดในระดับต่ำอย่างคงที่ หรือไม่มีการระบาดเลย

สถานการณ์ปัจจุบันและความเข้าใจเชิงลึก

หลายประเทศยับยั้งการระบาดโดยใช้มาตรการเว้นระยะระหว่างบุคคล และการจำกัด       การเดินทาง (movement restrictions) ซึ่งมีทั้งระดับการปิดพื้นที่บางแห่งและการจำกัดเข้าถึงบางพื้นที่ (lock downs) ไปจนถึงระดับการปิดพื้นที่และการห้ามทำกิจกรรม (shut downs) ซึ่งส่งผลดีในแง่ของระบาดวิทยา แต่ส่งผลเสียหายต่อความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล ชุมชน และสังคม ตลอดจน เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ได้แก่ คนยากจน คนต่างด้าว ผู้พลัดถิ่น และผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ ประเทศที่ใช้มาตรการจำกัด   การเดินทางจนสามารถชะลอหรือยับยั้งการระบาดได้แล้ว ต้องดำเนินแผนเร่งด่วนเพื่อผ่อนคลายการจำกัดดังกล่าวให้ความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล ชุมชน และสังคม ตลอดจน เศรษฐกิจ กลับคืนสู่สภาพปกติโดยควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก สำหรับประเทศที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันต้องเร่งเรียนรู้และนำบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการระบาดของไวรัสมาใช้โดยเร็ว

ในช่วงแรก หลายประเทศมุ่งเน้นที่การคัดกรอกกลุ่มเสี่ยง การตรวจหาเชื้อ และการรักษาผู้ติดเชื้ออาการหนัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือบุคคลที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ในตอนนี้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับการตรวจหาเชื้อ การวินิจฉัยอาการ การแยกตัวเพื่อสังเกตอาหาร การสืบประวัติการเดินทางของผู้ติดเชื้อ และการกักตัวเพื่อรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็วในวงกว้าง และทั่วถึง

 

กลยุทธระดับโลกเพื่อรับมือกับ COVID-19

ทุกประเทศต้องควบคุมการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยทำให้การแพร่เชื้อเกิดขึ้นช้าลงและลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งการจะบรรลุผลสำเร็จได้นั้นต้องดำเนินการ ดังนี้

  • ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนและทุกชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือและป้องกันระบาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการล้างมืออย่างถูกวิธี การปฏิบัติตนเมื่อพูด ไอ หรือจาม และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
  • ควบคุมการแพร่ไปยังคนที่ไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อและในกลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และป้องกัน การแพร่เชื้อในชุมชน โดยการค้นหาผู้ติดเชื้อให้พบอย่างเร่งด่วนและทำการแยกตัวผู้ติดเชื้อทุกคน เพื่อทำการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม สืบหาบุคคลที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และการกักตัวบุคคลที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
  • ระงับการแพร่เชื้อในชุมชน โดยใช้มาตรการด้านการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  • ลดอัตราผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โดยให้การรักษาพยาบาลที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของบุคลาการทางแพทย์ และกลุ่มเปราะบาง
  • คิดค้นวัคซีนและวิธีการรักษาโรค ที่สามารถใช้ได้ทั่วไปในวงกว้าง และมีให้กับผู้ที่ต้องการทุกคนอย่างทั่วถึง

 

การดำเนินการตามกลยุทธระดับโลกนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทุกฝ่ายในทุกระดับ ได้แก่

  • ระดับบุคคล ที่ต้องปรับพฤติกรรมด้านสุขลักษณะ การเดินทาง การเข้าชุมชน เพื่อป้องกันตัวเองและผู้อื่น การให้ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างเป็นจริงต่อบุคลากรทางการแพทย์
  • ระดับชุมชน ที่ต้องช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนตามความจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
  • รัฐบาล ที่ต้องกำหนดทิศทางอย่างถูกต้องให้กับประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ รวมถึงต้องสนับสนุนระบบสุขภาพต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถ
  • บริษัทเอกชนที่เป็นกิจการจำเป็นต้องให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดหาอาหาร บริการที่เป็น สาธารณุปโภค การผลิตหรือการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัยและคิดค้นเครื่องมือและวัคซีนรักษาโรค เป็นต้น

 

กลยุทธระดับประเทศเพื่อรับมือกับ COVID-19

                   แต่ละประเทศต้องมีแผนปฏิบัติการแห่งชาติที่ยึดเอาสังคมโดยรวมในประเทศเป็นหลัก และต้องมีวิธิปฏิบัติที่ทำได้จริงเพื่อชะลอหรือยับยั้งการระบาดของไวรัส และต้องมีวิธีที่จะฟื้นคืนกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งแผนปฏิบัติการแห่งชาตินี้ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรค โดยให้มีความยึดโยงกับกลยุทธระดับโลก

                   แผนปฏิบัติการแห่งชาติอย่างน้อยต้องกำหนดเกี่ยวกับประเด็นดังต่อไปนี้

การประสานงานและการวางแผน

                   การประสานงานและการวางแผนร่วมกันของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีกลไกการจัดการเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณะสุข โดยอาจจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ หรือให้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีอำนาจจัดการกับวิกฤติของประเทศ

การให้ชุมชนร่วมจำกัดการสัมผัสกับไวรัส

                   การทำให้ชุมชนยอมรับพฤติกรรมด้านสุขอนามัยที่ถูกต้องและการจำกัดการเดินทางอย่างเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเครือข่ายด้านการป้องกันการระบาดที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ชุมชนต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และไม่ชี้นำ เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อประเด็นเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ เช่น การกักตุนอาหารเกินความต้องการ การกักตุนหน้ากากอนามัยและน้ำยาล้างมือจนขาดตลาด เป็นต้น

การค้นหากลุ่มที่ต้องสงสัย การตรวจหาเชื้อ การแยกตัวสังเกตอาการ การรักษา และการกักตัวเพื่อป้อง   การแพร่เชื้อ

                   การค้นหากลุ่มที่ต้องสงสัยให้พบและตรวจหาเชื้อให้ครบทุกคน จากนั้นจึงแยกตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา ๑๔ วัน หากพบว่าติดเชื้อให้ทำการรักษาพร้อมกับกักตัวผู้ป่วยเพื่อป้องการแพร่เชื้อ อันจะยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้ ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุด คือ การหากลุ่มที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อให้พบและครบทุกราย   ทั้งยังต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อให้สัมผัสกับบุคคลอื่นๆ น้อยที่สุด ทำให้ต้องระดมผู้ซึ่งไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์มาช่วยในการค้นหาและส่งข่าว และต้องสร้างระบบการรายงานตัวเองให้กับผู้ที่สงสัยว่าตนติดเชื้อด้วย ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อตรวจพบผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ต้องทำการสืบประวัติการเดินทางเพื่อหาบุคคลที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในทันที

การรักษาทางการแพทย์และการให้บริการดูแลสุขภาพที่จำเป็นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

                   การมีผู้ป่วยพร้อมกันเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถให้การรักษาอย่างทั่วถึงและทันควันได้ และเป็นเหตุให้อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันมีไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จำนวนมากในคราวเดียวกัน รัฐบาลต้องวางแผนเผชิญเหตุด้านบุคลากร อุปกรณ์ และวิธีการ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ (extreme scenarios) เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต โดยต้องไม่มองข้ามความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และต้องปกป้องให้บุคคลเหล่านี้ไม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ

การปรับกลยุทธให้เข้ากับความเสี่ยง ขีดความสามารถ และจุดด้อยที่มี

                   แต่ละประเทศต่างมีความสามารถในการระดมสรรพกำลังจากชุมชน การการค้นหา การตรวจหาเชื้อ การกักตัวดูอาการ การรักษาพยาบาล และการให้บริการด้านสุขอนามัย ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการรับมือกับการระบาดต่างกัน ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อ ลักษณะของกลุ่มผู้ติดเขื้อ กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ และระบบสาธารณสุขภายในประเทศ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามทุกประเทศต้องดำเนินมาตรการสาธารณสุขเพื่อให้มีการติดเชื้อในระดับต่ำหรือไม่มีเลย ในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อขึ้นในชุมชน รัฐบาลต้องเร่งปรับมาตรการที่มุ่งระงับการแพร่ระบาดก่อน โดยให้ฝ่ายปกครองในระดับท้องถิ่นดำเนินการ เพื่อให้มาตรการที่จะดำเนินการนั้นมีรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์และขีดความสามารถของแต่ละชุมชนที่เกิดการแพร่ระบาด เพื่อให้เกิดผลดังนี้

การระงับการแพร่เชื้อในชุมชน

                    ถึงแม้จะได้นำมาตรการด้าoสาธารณสุขแบบครอบคลุมทุกส่วนมาดำเนินการเชิกรุกอย่างไรก็ตาม การแพร่เชื้อในชุมชนก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในประเทศที่เกิดการแพร่เชื้อในชุมชนหรือเสี่ยงว่าจะเกิดการแพร่เชื้อในชุมนั้น ภาครัฐต้องเร่งปรับมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและการจำกัดการเดินทาง และมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึง

  • มาตรการส่วนบุคคล เช่น การล้างมืออย่างถูกวิธี พฤติกรรมการพูด ไอ จาม ที่ถูกต้อง เพื่อลดการแพร่เชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อ
  • มาตรการระดับชุมชน เช่น การห้ามรวมตัวกันในที่สถานที่อับอากาศ การกำหนดจำนวนคนที่สามารถรวมตัวกันได้ในที่สาธารณะ เพื่อลดการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • มาตรการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การห้ามเดินทางภายใน หรือระหว่างประเทศ
  • มาตรการคุ้มครองสุขภาพของบุคลาการทางการแพทย์ และกลุ่มเปราะบาง

                   มาตรการเหล่านี้ต้องกำหนดกลุ่มคนหรือพื้นที่เป้าหมายและมีกำหนดระยะเวลา โดยดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับระบบสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจและสังคม

การเข้าสู่ระยะที่ควบคุมการแพร่เชื้อให้คงที่อยู่ในระดับต่ำได้ หรือเข้าสู่ระยะที่ไม่มีการแพร่เชื้อ

                   ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าสู่ระยะที่ควบคุมการแพร่เชื้อให้คงที่อยู่ในระดับต่ำ หรือเข้าสู่ระยะที่ไม่มีการแพร่เชื้อได้ หากบรรลุเกณฑ์มาตรฐาน ๖ ประการ ดังต่อไปนี้

๑.   ควบคุมการแพร่เชื้อ COVID 19 ได้ โดยพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งคราว หรือมีการติดเชื้อแต่ในกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ สามารถสืบหาผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้ครบทุกคน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจำนวนที่ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสุขภาพภายในประเทศ และอยู่ในอาการที่สามารถรักษาให้หายได้

๒.   มีระบบสุขภาพและขีดความสามารถด้านสาธารณสุขที่เพียงพอ จนสามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่เน้นค้นหาผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักเพื่อทำการรักษา มาเป็นสถานการณ์ที่ทำการค้นหากลุ่มต้องสงสัย และนำมาแยกตัวสังเกตอาการได้ทุกราย โดยไม่ต้องคำนึงถึงความรุนแรงของอาการ หรือต้นตอของการติดเชื้อ ในลักษณะ ดังนี้

  • การค้นหา: สามารถค้นหาผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อพบอย่างรวดเร็ว โดยใช้วิธีการออกค้นหาเชิกรุก การใช้แบบรายงานด้วยตนเอง การเข้ารับการตรวจคัดแยก และอื่น ๆ
  • การตรวจหาเชื้อ: สามารถตรวจหาเชื้อให้กับผู้ต้องสงสัยได้ทุกราย และรู้ผลการตรวจภายใน ๒๔ ชั่วโมง ตลอดจน สามารถตรวจยืนยันการปลอดเชื้อของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นได้
  • การแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ: สามารถแยกตัวผู้เข้าข่ายว่าติดเชื้อเพื่อสังเกตอาการได้ทุกรายอย่างรวดเร็ว และสามารถทำการแยกตัวไว้ได้ (ในโรงพยาบาลหรือที่พักชั่วคราว หรือที่บ้านของผู้เข้าข่ายฯ หากโรงพยาบาลหรือที่พักชั่วคราวมีไม่เพียงพอ โดยต้องจัดหาสิ่งของที่จำเป็นให้) จนกระทั้งพ้นระยะการแพร่เชื้อ
  • การกักตัว: สามารถติดตามตัวผู้ติดเชื้อทุกรายมากักตัวและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ๑๔ วัน ซึ่งสามารถกักตัวไว้ได้ทั้งในที่พักชั่วคราว หรือให้ผู้ติดเชื้อกักตัวเอง ซึ่งการเฝ้าดูอาการสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังเกตโดยอาสาสมัคร หรือการโทรศัพท์ติดตามอาการ

๓.   สามารถทำให้ความเสี่ยงต่อการระบาดในกลุ่มเปราะบางมีน้อยที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องระบุปัจจัยการแพร่เชื้อให้ได้ และนำมาตรการที่เหมาะกับปัจจัยดังกล่าวมาดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดครั้งใหม่ และการแพร่เชื้อในสถานพยาบาล

๔.   มีการกำหนดมาตรการป้องกันในสถานที่ทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึง การมีคำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้อง และส่งเสริมมาตรการป้องกัน COVID-19 ในสถานที่ทำงานด้านการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การล้างมือ พฤติกรรมการพูด ไอ จาม อย่างถูกวิธี และการตรวจอุณหภูมิร่างกาย

๕.   มีการจัดการกับผู้ติดเชื้อที่เป็นพาหะ โดยการวิเคราะห์หาแหล่งที่ติดเชื้อและเส้นทางของผู้ติดเชื้อ และค้นหาผู้ที่อยู่ในเส้นทางการเดินทางของผู้ติดเชื้อให้พบอย่างรวดเร็ว (รวมถึงการกักตัวผู้ที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดในชุมชน)

๖.   ชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ และมีความเข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องมีการใช้มาตรการควบคุมพฤติกรรมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และเข้าใจว่า ทุก ๆ คนในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนสถานการณ์จากการค้นหาผู้ติดเชื้ออาการหนักเพื่อรักษามาเป็นการค้นหาและแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ

 

การรับมือ COVID-19 ของชุมชนระหว่างประเทศ

                   การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น กลุ่มการร่วมตัวระหว่างรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ควรเข้าช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ที่มีขีดความสามารถต่ำและมีระบบสุขภาพที่ไม่ดีพอ ในการรับมือกับการแพร่ระบาด โดยการประสานงานและติดตามการเตรียมความพร้อมในการรับมือของประเทศต่าง ๆ ในด้านที่ตนมีความเชี่ยวชาญ การประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์ด้านระบาดวิทยาตามเงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และทันการณ์ การประสานจัดการด้านห่วงโซ่อุปทานโลก เพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลนในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การส่งกำลังแพทย์ฉุกเฉินและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การเร่งทำการวิจัย สร้างนวัตกรรม และแบ่งปันความรู้ และการร่วมเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


อังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

ที่มา  https://bit.ly/2VER7yQ.


674
TOP