กลไกการทบทวนมาตรฐานแรงงานเกี่ยวกับการส่งเสริมอนุสัญญาฉบับที่เป็นปัจจุบัน
กลไกการทบทวนมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ด้านแนวทางการส่งเสริมอนุสัญญาฉบับที่เป็นปัจจุบัน (the promotion of up-to-date Conventions) ส่งผลต่อการพิจารณาเลือกอนุสัญญาที่จะให้สัตยาบันของประเทศสมาชิก และแนวปฏิบัติสำหรับประเทศสมาชิกเมื่อมีอนุสัญญาที่ได้ให้สัตยาบันแล้วแต่ต่อมาถูกยกเลิกโดยมติของที่ประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ที่มาของกลไกการทบทวนมาตรฐานแรงงาน
๑. ที่ประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body: GB) สมัยที่ ๓๑๒ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔) มีมติให้จัดทำกลไกการทบทวนมาตรฐานแรงงานของ ILO ขึ้น เพื่อให้มาตรฐานแรงงานที่มีอยู่ของ ILO ได้รับการพัฒนาและแก้ไขปรับปรุงให้มีความชัดเจน รัดกุม และเข้ากับยุคสมัย สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งการทำงาน โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ประกอบกิจการด้วย
๒. ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๒๕ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๘) มีมติให้แต่งตั้งองค์คณะไตรภาคีขึ้น เพื่อขับเคลื่อนกลไกการทวนมาตรฐานแรงงานของ ILO เรียกว่า Standards Review Mechanism Tripartite Working Group (SRM TWG) ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาลจำนวน ๑๖ คน (ตามสัดส่วนภูมิภาคได้แก่ บราซิล แคนาดา แคเมอรูน จีน โคลัมเบีย อินเดีย อิหร่าน เคนยา เกาหลีใต้ ลิทัวเนีย มาลี เม็กซิโก นามิเบีย เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย และสวีเดน) ผู้แทนฝ่ายนายจ้างจำนวน ๘ คน และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจำนวน ๘ คน โดยให้ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลจากประเทศเยอรมนีเป็นประธาน มีรองประธานจากฝ่ายนายจ้าง ๑ คน และจากฝ่ายลูกจ้าง ๑ คน หน้าที่หลักของ SRM TWG คือ
(ก) ตรวจสอบสถานะของมาตรฐานแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการแก้ไข การเพิกถอน หรือการยกเลิก มาตรฐานแรงงานดังกล่าว ทั้งนี้ การเพิกถอน (withdrawal) ใช้กับอนุสัญญาที่ยังไม่มีการให้สัตยาบัน อันจะส่งผลให้อนุสัญญาฉบับดังกล่าวหมดสถานะ การเป็นมาตรฐานแรงงาน และไม่เปิดให้สัตยาบันอีกต่อไป ส่วนการยกเลิก (abrogation) ใช้กับอนุสัญญาที่มีการให้สัตยาบันแล้ว อันจะส่งผลให้อนุสัญญาฉบับดังกล่าวหมดสถานะการเป็นมาตรฐานแรงงาน สิ้นผลผูกพันใด ๆ ที่มีกับประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ และไม่เปิดให้สัตยาบันอีกต่อไป และ
(ข) ตรวจสอบประเด็นแรงงานที่ยังไม่มีมาตรฐานรองรับ เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกมาตรฐานฉบับใหม่รองรับประเด็นแรงงานดังกล่าว โดยมาตรฐานฉบับใหม่นั้นอาจมีลักษณะเชิงส่งเสริมและไม่มีสภาพบังคับ เช่น คู่มือ (Guidance) แนวทาง (Guideline) ข้อแนะ (Recommendation) เป็นต้น หรือเป็นอนุสัญญา (Convention) หรือพิธีสาร (Protocol) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีสภาพบังคับ สำหรับนำเสนอให้ GB พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ที่มาของการจัดทำแนวทางการส่งเสริมอนุสัญญาฉบับที่เป็นปัจจุบัน
ในการทำหน้าที่ของ SRM TWG เกี่ยวกับการพิจารณาตรวจสอบเนื้อหาของอนุสัญญาและข้อแนะที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน (outdated) เพื่อขอความเห็นชอบจาก GB สำหรับนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ ILC มีมติยกเลิก นั้น SRM TWG พบว่า การยกเลิกอนุสัญญาฉบับที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับดังกล่าวไปแล้วมีช่องว่างในการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศสมาชิกดังกล่าวหลายประเทศไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบัน (up-to-date) ทดแทนฉบับที่ถูกยกเลิกไป ดังนั้น SRM TWG จึงเห็นควรดำเนินการส่งเสริมอนุสัญญาฉบับที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งที่ประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ ๓๒๘ (เดือนตุลาคม ๒๕๕๙) ได้มีมติเห็นชอบและให้ SRM TWG หาแนวทางให้ประเทศสมาชิกพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไป
แนวทางการส่งเสริมอนุสัญญาฉบับที่เป็นปัจจุบัน
SRM TWG ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมอนุสัญญาฉบับที่เป็นปัจจุบันไว้ ๓ ลำดับ ดังนี้
ก. การส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาซึ่งถูกยกเลิกไปได้พิจารณาให้สัตยาบันอย่างเร่งด่วนต่ออนุสัญญาฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อทดแทนกัน โดย SRM TWG จะทำการตรวจสอบว่า อนุสัญญาที่ถูกยกเลิกนั้นมีประเทศใดให้สัตยาบันอยู่แล้ว จากนั้นจึงมีจดหมายเพื่อสอบถามถึงความพร้อมในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใหม่ทดแทน หากประเทศสมาชิกดังกล่าวยังไม่มีความพร้อม สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO Office) จะเข้าให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการโดยทันที
ข. การสำรวจว่า มีประเทศสมาชิกใดให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอให้ถูกยกเลิกต่อไปในอนาคต เพื่อเข้าไปส่งเสริมอนุสัญญาฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบัน สำหรับพิจารณาให้สัตยาบันทดแทนอนุสัญญาฉบับที่จะถูกยกเลิก
ค. การส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกพิจารณาให้สัตยาบันเฉพาะอนุสัญญาที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบัน
ความเห็นของฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
๑. เนื่องจากประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ไปแล้ว จำนวน ๑๙ ฉบับ (ยกเลิกการให้สัตยาบัน ๒ ฉบับ) และพิธีสารจำนวน ๑ ฉบับ โดยในจำนวนนี้มี ๒ ฉบับที่อยู่ในสถานะรอการตรวจสอบต่อไปว่า มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ได้แก่
(ก) อนุสัญญาฉบับที่ ๑๙ ว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน (เงินทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุ) ค.ศ. ๑๙๒๕ อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทนแก่คนงานต่างชาติกรณีประสบอุบัติเหตุจากการทำงานให้เท่าเทียมกับที่จ่ายให้แก่คนงานที่เป็นคนชาติ (national worker) ซึ่งหากในอนาคตอนุสัญญานี้ได้รับพิจารณาว่า มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและถูกยกเลิกไป SRM TWG อาจพิจารณาส่งเสริมการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๑๘ ว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน (ความมั่นคงทางสังคม) ค.ศ. ๑๙๖๒ ทดแทน เนื่องจากอนุสัญญาฉบับที่ ๑๑๘ มีสถานะเป็นอนุสัญญาที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบัน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ประโยชน์ทดแทนอย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนต่างชาติและคนชาติ ใน ๙ กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร ประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ประโยชน์ทดแทนแก่ทายาท ประโยชน์ทดแทนกรณีได้รับบาดเจ็บจากการการทำงาน ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน และประโยชน์ทดแทนสำหรับสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีขอบเขตเนื้อหาที่ครอบคลุมมากกว่าอนุสัญญาฉบับที่ ๑๙
(ข) อนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๗ ว่าด้วยน้ำหนักสูงสุด ค.ศ. ๑๙๖๗ อันมีเนื้อหาให้ประเทศสมาชิกต้องตั้งข้อจำกัดในการมอบหมายให้คนงานหญิงและคนงานผู้เยาว์ทำงานขนส่งสิ่งของด้วยแรงกาย และสิ่งของที่คนงานหญิงและคนงานผู้เยาว์ขนส่งด้วยแรงกายได้นั้น ต้องมีน้ำหนักต่ำกว่าสิ่งของที่อนุญาตให้คนงานชายที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งขนส่งด้วยแรงกาย โดยไม่มีการระบุจำนวนน้ำหนักไว้ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะของ ILO มีความเห็นว่า น้ำหนักสูงสุดของสิ่งของที่คนงานหญิงอายุระหว่าง ๑๙-๔๕ ปี สามารถขนส่งด้วยแรงกายได้ คือ ๑๕ กิโลกรัม และสำหรับคนงานชายอายุระหว่าง ๑๙-๔๕ ปี คือ ๕๕ กิโลกรัม โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของ ILO ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจมีการเสนอให้ออกอนุสัญญาฉบับใหม่เพื่อแก้ไขหรือใช้ทดแทนอนุสัญญาฉบับที่ ๑๒๗
๒. ในการพิจารณาเสนอให้สัตยาบันอนุสัญญาเพิ่มเติมนั้น รัฐบาลควรคำนึงถึงความเป็นปัจจุบันของอนุสัญญาดังกล่าวร่วมด้วย โดยหรือสามารถตรวจสอบสถานะอนุสัญญาได้ทาง
https://www.ilo.org/dyn/normlex/en/f?p=NORMLEXPUB:12030:0::NO:::
อังคณา เตชะโกเมนท์
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา