Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปผลการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 317 สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา วันที่ 6 – 28 มีนาคม 2556

สรุปสาระสำคัญจากการประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body : GB) สมัยที่ 317 6 – 28 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เจนีวา

 
1. กลุ่มประเทศในเอเชียและแปซิฟิก (ASPAG) มีข้อเสนอในด้านแผนงานและงบประมาณ ให้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนงานด้าน Occupational Safety and Health : OSH  เพิ่มการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งน้อยกว่าภูมิภาคอื่นในขณะที่ร้อยละ 60 ของประชากรโลกอยู่ในภูมิภาคนี้  ให้ ILO พิจารณาเรื่องการกระจายตัวแทนภูมิภาค (geographic) ในการปรับปรุงระเบียบการรับสมัครพนักงานของ ILO เพื่อเพิ่มสัดส่วนบุคลากรของ ILO ที่เป็นตัวแทนจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
 
 
2. เห็นชอบการแต่งตั้งรองผู้อำนวยการใหญ่คนที่สามเพื่อรับผิดชอบด้าน Field Operations and Partnerships (Mr. Gilbert Fossoun Houngbo) ชาว Togo   ซึ่งเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 
 
 
3. เห็นชอบร่างแผนงานและงบประมาณสองปี 2014-2015 ซึ่งเสนอในรูปแบบ  Zero Real Growth โดยคงฐานงบประมาณของงบประมาณสองปีของปีปัจจุบัน และมีการปรับลดงบประมาณด้านการบริหารที่สำนักงานใหญ่ลงและเพิ่มงบประมาณด้าน technical work ให้กับสำนักงานในภูมิภาคต่าง ๆ สานต่อกรอบของ strategic policy framework 2010-2015 ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้านหลัก (employment, social protection, social dialogue และstandards and fundamental principles and rights at work) ที่มีตัวชี้วัดทั้งหมด 19 outcomes และเพิ่มการให้ความสำคัญกับ 8 ด้าน (areas of critical importance) ที่พิจารณาว่ามีลำดับความสำคัญ ซึ่งงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบคือ 864,006,872 เหรียญสหรัฐ พร้อมปรับการจัดสรรงบประมาณโดยเพิ่มงบดำเนินงานให้ 5 ด้าน ตามข้อสังเกตจากที่ประชุม คือ ด้านสถิติ ด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มนายจ้าง ด้านข้อตกลงทางสังคม และด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ (OSH)
 
 
4. รับทราบความคืบหน้าโครงการปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่ ILO ซึ่งได้รับอนุมัติการดำเนินการจากที่ประชุม GB สมัยที่ 309 (พฤศจิกายน 2553) กำหนดเฟสแรกระหว่างปี 2554-2558 เฟสสองระหว่างปี 2559-2561 งบประมาณรวม 89.128 ล้านสวิสฟรังส์ โดยมีการตั้งรองผู้อำนวยการใหญ่ ILO ด้าน Management and Reform เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ตั้งผู้จัดการโครงการเริ่มปฏิบัติงาน 7 พฤศจิกายน 2555 ทั้งนี้ โครงการมีความคืบหน้าตามแผน และรายละเอียดความคืบหน้าเพิ่มเติมจะนำเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ 319 (ตุลาคม 2556) อีกครั้ง
 
 
5. รับทราบสัดส่วนการสมทบเงินค่าสมาชิกสำหรับปี 2557-2558 ที่อิงตามเกณฑ์การประเมินของ UN ซึ่งประเทศไทยอยู่ในยอดประเมินที่ต้องชำระคือ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วร้อยละ 0.030 เป็นชำระร้อยละ 0.239 ของยอดประเมินรวมทุกประเทศ ทั้งนี้ จำนวนเงินจะได้รับการคำนวณและแจ้งประเทศสมาชิกทราบในการประชุมใหญ่ ฯ ประจำปีในเดือนมิถุนายน 2556
 
 
6. เห็นชอบกรอบการจัดทำรายงานเพื่อเป็นข้อมูลการอภิปรายในหัวข้อ Recurrent discussion on the strategic objective of employment ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นวาระการประชุมใหญ่ ฯ สมัยที่ 103 (มิถุนายน 2557) ซึ่งเน้นให้มีความกระชับและไม่ย้ำจุดเดิมที่เคยมีการอภิปรายในหัวข้อนี้แล้วเมื่อปี 2553
 
 
7. รับทราบการเสนอข้อมูลเรื่องการป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งต้องการกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการอุบัติของโรคใหม่ ๆ ซึ่งบางโรคเห็นผลชัดเจน บางโรคผลจะเกิดภายหลังออกจากงานไปแล้ว ทำให้มีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิแก่ลูกจ้าง โดยสถานการณ์ปัจจุบันยังขาดการรวบรวมข้อมูลและขาดความจริงจังจากรัฐบาล เห็นได้จากขาดนโยบายระดับชาติ ละเลยการให้สัตยาบันอนุสัญญาหรือข้อแนะที่เกี่ยวข้องกับ Occupational Safety and Health ขาดการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการเพื่อพัฒนาการป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงาน ยังไม่ได้รับการบรรจุในวาระงานที่มีคุณค่า Decent Work Agenda
 
 
8. เห็นชอบหัวข้อการจัดทำ General Survey ปี 2557 ในเรื่องหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานด้านเสรีภาพในการสมาคมของแรงงานในชนบทและแรงงานภาคเกษตร ที่จะเสนอที่ประชุม ILC ในเดือนมิถุนายน 2558 เพื่อประกอบการหารือใน recurrent discussion ปี 2559 ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอนุสัญญาและข้อแนะเพื่อประกอบการจัดทำ Survey ตามมาตรา 19 ของธรรมนูญ ILO รวม 3 ฉบับ คือ The Right of Association (Agriculture) Convention, 1921 (No. 11), the Rural Workers’ Organizations Convention, 1975 (No. 141), Rural Workers’ Organizations Recommendation, 1975 (No.149) โดยจัดส่งแบบสอบถามกลับคืน ILO ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557
 
 
9. พิจารณาเลือกหัวข้อการประชุมใหญ่ ฯ สมัยที่ 103 (มิถุนายน 2557) อีก 2 หัวข้อที่ยังค้างการพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกเรื่อง 1) Supplementing the Forced Labour Convention, 1930 (No. 29), to address implementation gaps to advance prevention, protection and compensation measures, to effectively achieve the elimination of forced labour โดยให้เป็น standard setting, single discussion ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเป็นเพียงการออก Recommendation หรือ Protocal โดยจะไม่เป็นการเสนอออกอนุสัญญา (Convention) ใหม่ และหัวข้อที่ 2) Facilitating transitions from the informal to the formal economy โดยให้เป็น standard setting, double discussion ซึ่งได้รับการขานรับจากประเทศสมาชิกว่าควรได้รับการพิจารณากำหนด instrument เพื่อสนับสนุนการพัฒนา informal economy ให้เข้าสู่ระบบ formal economy 
 
 
10. รับทราบผลการประชุมของ Committee on Freedom of Association (CFA)  ซึ่งประชุมกันระหว่างวันที่ 6-7 มีนาคม 2556 มีข้อสรุปที่สำคัญคือ จำนวนข้อร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณารวม 178 กรณี คณะกรรมการพิจารณาและมีผลสรุปเสนอต่อที่ประชุม GB รวม 49 กรณี มีกรณีที่ถือว่าร้ายแรงและเรียกร้องความร่วมมือจากรัฐบาลให้เร่งดำเนินการจำนวน 3 กรณีเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมผู้นำแรงงาน มีกรณีใหม่ 17 กรณีซึ่งจะพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป สำหรับประเทศไทยมี 1 กรณี (2634 กรณีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในบริษัท Thai Summit Eastern Seaboard Auto-parts Industry) อยู่ในกลุ่มที่คณะกรรมการ ฯ ขอให้รายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
 
 
11. รับทราบรายงานของ Working Party on the Functioning of the Governing Body and the International Labour Conference ซึ่งเป็นวาระสืบเนื่องในการพิจารณาปรับปรุงการจัดประชุม  ใหญ่ ฯ ประจำปีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในแง่ระยะเวลา เนื้อหา รูปแบบและการประหยัดงบประมาณ โดยประเด็นที่ผ่านความเห็นชอบจะเริ่มทดลองใช้ในการประชุมใหญ่ ฯ สมัยที่ 102 (มิถุนายน 2556) และผลการทดลองจะสรุปเสนอที่ประชุม GB สมัยที่ 319 (ตุลาคม 2556) ต่อไป
 
 
12. อนุมัติจัดประชุม Tripartite Meeting of Experts on Facilitating Transitions from the Informal Economy to the Formal Economy ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 ณ นครเจนีวา เพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลและเนื้อหาสำหรับการหารือเรื่องนี้ในการประชุมใหญ่ ฯ สมัยที่ 103 ซึ่งหัวข้อดังกล่าวได้รับการคัดเลือกให้เป็นวาระการประชุมตามที่ได้กล่าวแล้วในข้อ 9 โดยองค์ประกอบผู้เข้าประชุมคือ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 12 คน ประเทศสมาชิกสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ งบประมาณเพื่อการจัดจำนวน 484,600 เหรียญสหรัฐ จากงบสำรองประจำปี 2012-2013
 
 
13. อนุมัติจัดประชุม Tripartite Meeting on Labour Migration ระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2556 ต่อเนื่องจากการประชุม GB สมัยที่ 319 (17-31 ตุลาคม 2556) เพื่อนำผลสรุปจากการประชุม High-Level Dialogue on International Migration and Development ในเดือนตุลาคม 2556 ที่นิวยอร์ก มาหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ILO ที่จะติดตามแผนงานหรือข้อเสนอในการประชุมดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบที่ประชุมคือ ผู้แทนรัฐบาล (คัดเลือกผ่านการหารือระหว่าง regional coordinators) ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ฝ่ายละ 12 คน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ 
 
 
14. เห็นชอบกำหนดการจัดประชุม GB ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2557 เป็นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับการเตรียมการด้านเอกสารและหลีกเลี่ยงการประชุมซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่น ๆ ในเจนีวา
 

 
สรุปการประชุมโดย
นางพัฒนา พันธุฟัก  
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
มีนาคม 2556 
 
 
 
 
 
Click เพื่อเปิดไฟล์  >>> สรุปผลการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 317 สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา วันที่ 6 – 28 มีนาคม 2556
 
*Tip  คุณสามารถ Click ที่หน้าสารบัญเพื่อเปิดอ่านวาระการประชุมที่สนใจได้*

ไฟล์แนบ:


8411
TOP