Skip to main content

หน้าหลัก

ข้อมูลแรงงานไทยในสมาพันธรัฐสวิส

สมาพันธรัฐสวิส Confoederatio Helvetica)

           สวิตเซอร์แลนด์ (อังกฤษ: Switzerland, เยอรมัน: die Schweiz, ฝรั่งเศส: la Suisse, อิตาลี: Svizzera, โรมานช์: Svizra) หรือชื่อทางการคือ สมาพันธรัฐสวิส (Swiss Confederation) เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออก สู่ทะเล ปกครองแบบสหพันธ์ และตั้งอยู่ทวีปยุโรปกลาง โดยมีพรมแดนติดกับประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศ อิตาลี ประเทศออสเตรีย และประเทศลิกเตนสไตน์ นอกจากจะมีความเป็นกลางทางการเมืองแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ นับว่ามีการร่วมมือกันระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งขององค์กรนานาชาติ หลายแห่ง Confoederatio Helvetica เป็นชื่อทางการของประเทศในภาษาละติน และหลีกเลี่ยงการใช้หนึ่งใน 4 ภาษาทางการ คำย่อ คือ CH 
ขนาดพื้นที่ 41,285 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งน้ำ 4.2% ของพื้นที่ ประชากรประมาณ 7.8 ล้านคน ความหนาแน่นประชากร 188 คน ต่อตางรางกิโลเมตร
สวิตเซอร์แลนด์แบ่งการปกครองตามลักษณะพื้นที่ออกเป็น 26 รัฐ (Canton) ประกอบด้วย
 
     • อาร์เกา
     • อัพเพนเซลล์อินเนอร์-โรเดิน
     • อัพเพนเซลล์เอาเซอร์-โรเดิน
     • บาเซิล-ชตัดท์
     • บาเซิล-ลันด์ชาฟท์
     • เบิร์น
     • ฟรีบูร์ก
     • เจนีวา (เชอแนฟว์)
      • กลารุส
     • เกราบึนเดิน
     • ชูรา
     • ลูเซิร์น
     • เนอชาแตล
     • นิดวัลเดิน
     • ออบวัลเดิน
     • ชาฟฟ์เฮาเซิน
     • ชวีซ
     • โซโลทูร์น
     • ซังท์กาลเลิน
     • ทูร์เกา
     • ทีชีโน
     • อูรี
     • วาเล
     • โว
     • ซุก
     • ซูริก 

การเมืองการปกครอง 

          สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยทางตรง ลักษณะพิเศษของระบบ ประชาธิปไตยแบบสวิส คือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่สภาแต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตาม รัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่ม (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ 90 วันเสียก่อน ในระหว่างนั้นประชาชนจะมีสิทธิคัดค้านโดยจะต้องเข้าชื่อร่วมกัน ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีการจัด referendum ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชนจะสามารถใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชน ต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 100,000 คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ

          แต่ละ Canton มีรัฐธรรมนูญและ Cantonal Government ของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการ ของส่วนกลาง อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯอยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสภา แห่งชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน National Council ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละ Canton จะมีจำนวนผู้แทน ของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละ Canton จะมีผู้แทน 1 คน Council of States มีจำนวนสมาชิก 46 คน โดยแต่ละ Canton มีผู้แทน 2 คน การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ กระทำผ่าน standing committees ด้านต่างๆ อาทิ การคลัง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การทหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน ฯลฯ ในการบริหารราชการส่วนกลาง อำนาจบริหารจะอยู่ ที่คณะรัฐมนตรีเรียกว่า the Federal Council ซึ่งมีสมาชิกเรียกว่า Federal Councillor (มนตรีแห่งสมาพันธ์) มีทั้งหมด 7 คน ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานในหน่วยงานระดับกระทรวง 7 แห่ง รัฐสภาแห่งสมาพันธ์เป็นผู้เลือก มนตรีแห่งสมาพันธ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และในจำนวนมนตรีแห่งสมาพันธ์ทั้ง 7 คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภา แห่งสมาพันธ์ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละหนึ่งคน เพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยมีสถานะเป็น “the first among equals” ดังนั้น ประธานาธิบดีสวิสจึงไม่มีการเยือนต่างประเทศในฐานะ State Visit นับตั้งแต่ ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา
           ด้านตุลาการ  ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของ Canton โดยใช้กฎหมายสมาพันธ์ร่วมด้วย และประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มี ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วย ผู้พิพากษาประมาณ 30 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์

 

 

 ด้านเศรษฐกิจและสังคม

           สวิตเซอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศร่ำรวยอันดับต้นๆของโลก จากการสำรวจเมื่อปี 2553 สวิตเซอร์แลนด์มี ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 512,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เป็นอันดับที่ 19 ของโลก) รายได้ต่อหัวต่อปี เฉลี่ยคนละ 69,838 ดอลลาร์สหรัฐ (เป็นอันดับ 4 ของโลก)  อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา Global Wealth Report ในปี 2553 โดยสถาบันวิจัยด้านการเงิน Credit Suisse Research Institute พบว่า สวิตเซอร์แลนด์มีรายได้เฉลี่ย ของประชากร ผู้ใหญ่สูงที่สุดในยุโรป และสูงกว่าญี่ปุ่นและสิงคโปร์ รายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สำรวจเมื่อปี 2548) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำเพียงร้อยละ 0.7 (ปี 2553) ประกอบกับ การมีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ

 

 ด้านกำลังแรงงาน

          สวิตเซอร์แลนด์มีกำลังแรงงานประมาณ 4.6 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคบริการ (รวมการเงินการธนาคาร) ร้อยละ 73.2  ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 23.4 และภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 3.4 และส่วนใหญ่มีทักษะฝีมือแรงงานสูง
อัตราการว่างงานของสวิสเซอร์แลนด์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คือเพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้น

 

 ค่าจ้างขั้นต่ำ

          ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ ระดับค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับสัญญาจ้างที่มี กำหนดจากการเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของธนาคาร UBS ในปี 2000 (พ.ศ.2543) พบว่า ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แรงงานไร้ฝีมือจะได้รับค่าจ้างแรงงานประมาณ เดือนละ 2,200 – 4,200 ฟรังก์สวิส (66,000 – 126,000 บาท) และแรงงานมีฝีมือจะได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 2,800 – 5,300 ฟรังก์สวิส (84,000 – 159,000 บาท) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพในแต่ละเมือง ซึ่งซูริคและเจนีวา เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพและค่าจ้างสูงที่สุดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และในโลก

 ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ : ค่าจ้างในเมืองเจนีวาและซูริค ต่อทำงานวันละ 8 ชม. สัปดาห์ละ 5 วัน
 –  พนักงานทำความสะอาดในสำนักงานเดือนละ 3,200 ฟรังก์สวิส
 –  พนักงานขับรถ เดือนละ 3,500 ฟรังก์สวิส 
 –  พนักงานบริการในร้านกาแฟและร้านอาหาร 4,000  – 4,200 ฟรังก์สวิส 
 –  คนงานก่อสร้างเดือนละประมาณ 4,000 -4,500 ฟรังก์สวิส
อนึ่ง งานที่มีความลำบากและใช้กำลังมาก จะได้รับค่าแรงที่สูงกว่า (เป็นข้อมูลที่ได้จากการสอบถามบุคคล ที่ทำงานดังกล่าวในปี พ.ศ.2553 โดยฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา)

 

 แรงงานไทยในสวิตเซอร์แลนด์

          ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา ไม่พบว่ามีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยตรง คนไทยที่ทำงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เกิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หรือมีบิดามารดาและคู่สมรส หรือญาติที่มีภูมิลำเนาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนักศึกษาที่ทำงานบางเวลา ทั้งนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีนโยบายนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ และการอนุญาตให้แรงงานในสหภาพยุโรปสามารถเข้ามาทำงานได้ค่อนข้าง เป็นอิสระ จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ประกอบกับข้อบังคับด้านแรงงานและสวัสดิการ ที่เข้มงวดทำให้การส่งคนงานเข้าไปทำงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง

จัดทำโดย 
นายอฑิตยา นวลศรี
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา
12 เมษายน 2554
 


57809
TOP