Skip to main content

หน้าหลัก

ประวัติความเป็นมา

จากการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2462 และกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักด้านการทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลในการดำเนินการต่าง ๆ ในฐานะประเทศสมาชิกตามที่รัฐธรรมนูญ ILO กำหนด พันธกิจที่สำคัญในฐานะประเทศสมาชิก ILO มีดังนี้

(ก) การจ่ายค่าบำรุงสมาชิก คิดตามสัดส่วนจำนวนประเทศสมาชิก ซึ่งคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

(ข) การยอมรับและส่งเสริมหลักการที่ปรากฏในปฏิญญาฉบับต่าง ๆ ของ ILO โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ซึ่งครอบคลุมอนุสัญญาพื้นฐาน 8 ฉบับ และปฏิญญาแห่งศตวรรษของ ILO

(ค) การปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO ฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันแล้ว

(ง)   การจัดทำรายงาน จัดทำคำชี้แจง ให้ข้อมูล หรือตอบข้อสนเทศ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน อนุสัญญาที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และ/หรือข้อแนะ ตามที่ ILO ร้องขอ

(จ)  การจัดทำรายงาน จัดทำคำชี้แจง ให้ข้อมูล หรือตอบข้อสนเทศ ต่าง ๆ เกี่ยวกับอนุสัญญาและพิธีสารที่ให้สัตยาบันแล้ว

(ฉ) การแต่งตั้งผู้แทนเข้าการร่วมประชุมต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กร ทั้งในทางการบริหารจัดการและทางวิชาการเพื่อพัฒนามาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

(ช)  การให้ความร่วมมือดำเนินกิจกรรม โครงการ หรือแผนงาน ร่วมกับ ILO

                   ดังนั้น เพื่อให้การทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงานจึงได้ตั้งฝ่ายแรงงาน ประจำคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ  นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขึ้น เมื่อ พ.ศ.2542 โดยมีภารกิจในการทำงานกับ ILO ร่วมถึง องค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ และคณะผู้แทนถาวรของประเทศต่าง ๆ ประจำสหประชาชาติ ในลักษณะพหุภาคี


4865
TOP