Skip to main content

หน้าหลัก

ข่าวแรงงานไทยในต่างแดน

เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป ดังนั้น ถึงแม้ว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังไม่ได้มีฐานะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union – EU) อันเนื่องมาจากการออกเสียงลงมติไม่เห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้ลงนามในข้อตกลงเชงเกน (Schengen Agreement) และข้อตกลงทวิภาคีอื่นๆ ซึ่งมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรและกำลังแรงงานระหว่างประเทศคู่สัญญาและสมาชิกสหภาพยุโรปทำได้สะดวกขึ้น ดังนั้น การที่จะพิจารณาในบริบทของการเคลื่อนย้ายแรงงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปด้วยเช่นกัน

สหภาพยุโรปกับนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานและแรงงานต่างด้าว

1.    ภูมิหลัง
สหภาพยุโรปเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศในยุโรป 27 ประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพ
ประชาธิปไตยและสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการรวมอำนาจอธิปไตยในนโยบายเศรษฐกิจสังคมไว้ที่ “ประชาคมยุโรป (European Community)” และการประสานงานอย่างใกล้ชิดด้านการต่างประเทศ ความมั่นคง และด้านมหาดไทย ในระหว่างประเทศสมาชิก องค์กรสหภาพยุโรป หรือ European Union – EU ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ( 3 pillars ) คือ
1)    เสาหลักที่ 1 : European Community เป็นการรวม”อำนาจอธิปไตย” ของประเทศสมาชิกไว้ใน
ประชาคม และบริหารอธิปไตยร่วมกัน ในด้านต่างๆ ได้แก่ นโยบายตลาดร่วม เช่นการค้าต่างประเทศ การแข่งขัน เศรษฐกิจและการเงิน การคุ้มครองผู้บริโภคและมาตรฐานสุขอนามัย  นโยบายอื่นๆ เช่น เกษตร ประมง เครือข่ายขนส่ง และมิติด้านการต่างประเทศ เช่น การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา/มนุษยธรรม/ภัยพิบัติ (อำนาจหน้าที่ในส่วนนี้กระทำโดยคณะกรรมาธิการยุโรป –European Commission ประเทศสมาชิกไม่สามารถมีนโยบายภายใต้ pillar นี้โดยอิสระ
2)    เสาหลักที่ 2 : Common Foreign and Security Policy เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศ
สมาชิกในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการลดอาวุธ
3)    เสาหลักที่ 3 : Police and Judicial Cooperation in Criminal Matters เป็นความร่วมมือระหว่าง
ประเทศสมาชิกในด้านมหาดไทย ตำรวจ และยุติธรรม เช่น ในเรื่องการต่อสู้กับการก่อการร้าย การต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรม อาชญากรรมต่อเด็กและการค้ามนุษย์
(pillar ที่ 2 และ 3 ประเทศสมาชิกมีอิสระในการดำเนินการ แต่จะมีการร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการประสานท่าทีอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน)

2.    สมาชิก EU ประกอบด้วย 27 ประเทศ ได้แก่
1)    สมาชิกก่อตั้ง (ตามสนธิสัญญาโรม เพื่อก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ปี 1957 – พ.ศ.2500) ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก
2)    ปี 1973 เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร
3)    ปี 1981 กรีซ
4)    ปี 1986 สเปน โปรตุเกส
5)    ปี 1995 ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน ( 15 ประเทศข้างต้นเรียกว่าเป็นกลุ่ม EU-15 หรือ EU ดั้งเดิม)
6)    ปี 2004 ฮังการี โปแลนด์ เอสโตเนีย เช็ค สโลวีเนีย ไซปรัส สโลวัค ลัตเวีย ลิธัวเนีย มอลตา
7)    ปี 2007 บัลกาเรีย โรมาเนีย
ประเทศที่สมัครเข้าร่วมและรอการรับรอง ได้แก่  โครเอเชีย ตุรกี และมาซีโดเนีย 
ประเทศที่มีศักยภาพจะเข้าเป็นสมาชิก ได้แก่ บอสเนีย-เฮอเซโกวีนา มอนเตนีโกร อัลแบเนีย เซอร์เบีย และ โคโซโว
สำหรับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีความพยายามจากรัฐบาลและพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมสหภาพยุโรปเช่นกัน แต่ไม่ผ่านการลงมติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

3.    สามสถาบันหลักของสหภาพยุโรปและบทบาทหน้าที่
1)    คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย
องค์คณะกรรมาธิการ เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี 27 คน  ได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีและสภายุโรป ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี สำนักงานตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีบทบาทหลักในการเสนอร่างกฎหมาย การตรวจสอบติดตามว่าสนธิสัญญา/กฎหมายได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเหมาะสมในประเทศสมาชิกหรือไม่และมีอำนาจดำเนินมาตรการได้ทั้งต่อรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศสมาชิก และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารดำเนินนโยบายร่วมของ EU  การควบคุมงบประมาณของ EU การเจรจาการค้า การเกษตร และเจรจาความร่วมมือกับ third party
2)    สภายุโรป (European Parliament)  ทำหน้าที่ร่วมกับคณะมนตรีในการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย/
สนธิสัญญา โดยจะมีบทบาทเพียงการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แต่ในทางปฏิบัติ คณะมนตรและคณะกรรมาธิการจะรับฟังและให้ความสำคัญต่อข้อคิดเห็นของสภายุโรป สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากพลเมืองของประเทศสมาชิก โดยมีโควตาตามสัดส่วนประชากรของแต่ละประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกสภายุโรปจำนวน 736 คน (เยอรมนีมากที่สุด 99 คน) เมื่อพิจารณาจากกลุ่มการเมืองในสภา(พรรค) จะเห็นได้ว่าสมาชิกสภามีแนวทางอนุรักษนิยมมากเป็นอันดับหนึ่ง 36%  รองลงมาคือแนวทางสังคมนิยม 25% เสรีนิยม  11%  และอื่นๆ 28%
3)    คณะมนตรียุโรป (Council of the European Union) ประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกในระดับ
รัฐมนตรี เป็นที่ประชุมรัฐมนตรีรายสาขาของประเทศสมาชิก มีหน้าที่พิจารณาและผ่านกฎหมายสหภาพยุโรปและอนุมัติงบประมาณ(ร่วมกับสภายุโรป) และเป็นเวทีประสานงานนโยบายเศรษฐกิจ แนวนโยบายด้านการเมืองและความมั่นคง กำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป และการประสานงานเรื่องอื่นๆในระหว่างประเทศสมาชิก
นอกจากนั้นยังมีศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) เป็นศาลสูงสุดทำหน้าที่คล้ายศาลฎีกาพิจารณาประเด็นปัญหาที่อยู่ในขอข่ายอำนาจของประชาคมยุโรป
4.    ข้อตกลงเชงเกน (Schengen Agreement) กับ EU
ในปี พ.ศ.2528 กลุ่มประเทศ EU  5ประเทศ ได้แก่ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และ
ลักเซมเบิร์ก ได้ลงนามข้อตกลงเชงเกน เพื่อก่อตั้งชายแดนร่วมกัน คือการมีเขตแดนที่ไม่มีการตั้งจุดตรวจ ณ เขตชายแดนประเทศสมาชิก เพื่อให้ทุกคน(ทั้งที่เป็นพลเมืองและไม่ใช่พลเมือง)มีสิทธิที่จะเดินทางได้อย่างเสรีภายในบริเวณเชงเกน แต่ต่อมาได้มีประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป สหภาพยุโรป และประเทศยุโรปอื่นๆทยอยเข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว และต่อมาพบว่าการมีชายแดนร่วมกันจำเป็นต้องมีความร่วมมือในด้านอื่นๆนอกเหนือจากการมีวีซ่าท่องเที่ยวร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการอพยพลี้ภัย ความร่วมมือด้านตำรวจและศาล เป็นต้น ดังนั้นจึงได้ย้ายกรอบงานและมาตรการส่วนใหญ่ของข้อตกลงเชงเกนมาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป(ปรากฏในสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม ) ปัจจุบันมีสมาชิก 25 ประเทศ
สาระของข้อตกลงเชงเกนครอบคลุมสาระสำคัญ 5 ประการ คือ 1) การควบคุมดูแลชายแดนร่วมกัน
การยกเลิกจุดตรวจชายแดนระหว่างประเทศสมาชิก(แต่ยังสามารถสุ่มตรวจได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย) 
2) การมีวีซ่าร่วมกัน ทั้งนี้เฉพาะวีซ่าท่องเที่ยวไม่เกิน 3 เดือน (Schengen Visa)  3) การมีนโยบายด้านผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยร่วมกัน 4) ความร่วมมือด้านตำรวจและตุลาการ เช่นตำรวจของประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะตรวจตราและไล่ล่าผู้ต้องสงสัยในประเทศสมาชิกอื่นได้  5) การมีระบบฐานข้อมูลร่วมกัน (Schengen Information System – SIS)

5.    แรงงานอพยพจากประเทศสมาชิกใหม่ในยุโรป
จากความร่ำรวยและมาตรฐานการดำรงชีวิตของกลุ่มประเทศ EU ดั้งเดิม (EU-15) และการอนุญาตให้มีการ
เคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของ EU ทำให้มีแรงงานจากประเทศสมาชิก EU ใหม่ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอดีตคอมมิวนิสม์ในยุโรปตะวันออก) ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า จำนวนมากเคลื่อนย้ายเข้าไปหางานทำในกลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งได้นำปัญหาต่างๆไปด้วย ทำให้กลุ่มประเทศ EU ดั้งเดิมจึงต้องนำมาตรการ “ข้อจำกัดในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period)” เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี มาใช้เพื่อสกัดการทะลักเข้ามาของแรงงานไร้ฝีมือและประชาชนอันไม่เป็นที่ต้องการของประเทศ EU ดั้งเดิม โดยกำหนดแผนออกเป็น 3 ระยะ (2+3+2 ปี) คือ ประเทศ EU-15 จะต้องประกาศเมื่อเวลาสมาชิกใหม่เข้าร่วมครบ 2 ปีว่าจะเปิดตลาดแรงงานของตนให้สมาชิกใหม่หรือไม่ จากนั้น เมื่อครบ 3 ปี ก็ต้องประกาศเช่นนี้อีก แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการข้องจำกัดในระยะเปลี่ยนผ่านจะมีอายุเพียง 7 ปี นับจากวันที่ประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีจะต้องจบลง แต่สมาชิก EU หลายประเทศก็ยังลังเลที่จะเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีให้กับประเทศสมาชิกใหม่ 2 ประเทศ คือ บุลกาเรียและโรมาเนีย (โดยเฉพาะประเทศโรมาเนียซึ่งมีกลุ่มชนยิปซีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและรัฐบาลโรมาเนียได้ให้สิทธิพลเมืองแก่กลุ่มชนดังกล่าวแล้ว)

6.    แรงงานต่างชาติที่ EU ต้องการ
1)    ถึงแม้ว่าพลเมืองและรัฐบาลของสมาชิก EU หลายประเทศมองว่า การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวเป็น
การเบียดเบียนทรัพยากร สวัสดิการ และโอกาสการมีงานทำซึ่งจำกัดอยู่แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงที่ว่า ยุโรปกำลังประสบปัญหาด้านโครงสร้างประชากร เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเกิดต่ำลงเรื่อยๆ โดยคาดการว่า ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ยุโรปจะมีสัดส่วนคนทำงานเพียง 2 คน ต่อผู้รับบำนาญ 1 คน (ปัจจุบัน 4 : 1) นอกจากนั้น ยุโรปยังประสบภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในบางภาค โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค ทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงที่จะล้าหลังในการพัฒนาด้านนวัตกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งยุโรปถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญอันดับต้น (ในขณะที่แรงงานต่างด้าวในยุโรปปัจจุบันร้อยละ 85 จะเป็นแรงงานไร้ฝีมือจากยุโรปตะวันออกและจากการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากอาฟริกา)  ดัวยสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ EU ต้องการกำลังแรงงานจากประเทศนอกกลุ่ม EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แรงงานต่างด้าวที่ EU ต้องการจะต้องไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือ แต่เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูง (professional/ highly-qualified/ highly skilled) เพื่อช่วยให้ยุโรปสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันกับมหาอำนาจคู่แข่งเช่นสหรัฐอเมริกาและจีนได้  แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องอยู่ภายใต้การจัดการที่ดี
2)    ในปี 2007 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างระเบียบว่าด้วยการรับแรงงานทักษะสูงจากประเทศ
ที่สาม (draft direction on admission of  highly qualified migrants)  หรือที่เรียกสั้นๆว่า  EU Blue Card และร่างระเบียบว่าด้วยกระบวนการเบ็ดเสร็จในการสมัครเข้าพำนักและขอใบอนุญาตทำงานด้วยสิทธิโดยชอบของแรงงานจากประเทศที่สามที่พำนักอยู่ใน EU อย่างถูกกฎหมาย หรือที่เรียกสั้นๆว่า the Single Permit เพื่อลดค่าใช้จ่ายของแรงงานทักษะสูงที่จะเข้าไปทำงานในประเทศ EU ซึ่งขณะนี้ EU Blue Card ผ่านความเห็นชอบของคณะมนตรียุโรปและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกนำร่างระเบียบดังกล่าวเข้าสู่สภาและโอนเป็นกฎหมายแห่งชาติภายในเดือนมิถุนายน 2554 นี้ (2 ปีหลังจาก EU ผ่านร่าง)
3)    Blue Card ของ EU มีข้อจำกัดมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ Green Card ของสหรัฐ เช่นมีอายุสั้นกว่า
คือ 2 ปี ในขณะที่ Green Card มีอายุ 10 ปี ผู้ถือบัตรไม่มีสิทธิในการพำนักถาวร ผู้สมัครจะต้องได้รับเงินเดือนมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนในประเทศนั้นๆถึง 3 เท่า (ลดเหลือ 1.5 เท่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันดึงดูดแรงงานทักษะสูงมากขึ้น)

7.    ในการประชุมคณะมนตรีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่น (International Organization for
Migration – IOM)  เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 นาง Cecilia Malmstrom สมาชิกคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป ผู้รับผิดชอบงานด้านมหาดไทย (Home Affairs) ได้กล่าวคำปราศรัยต่อคณะมนตรีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายของ EU เกี่ยวกับการ ย้ายถิ่นและการจ้างงานที่น่าสนใจ โดยสรุป คือ
1)    การย้ายถิ่นฐานของประชากรโลกในปัจจุบันเกิดขึ้นมากกว่าในอดีตมาก สาเหตุสำคัญ
เนื่องมาจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศทำให้เกิดตลาดแรงงานใหม่ๆขึ้นมากมาย และในขณะเดียวกันก็มีความต้องการแรงงานที่ มีทักษะใหม่ๆ หรือทักษะเฉพาะด้านที่มีระดับสูงมากขึ้น ประเทศที่มีการขยายตัวด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน อย่างไรก็ตาม กระบวนการโลกาภิวัฒน์ดังกล่าวก็ทำให้เกิดการพึ่งพิงซึ่งกันและกันมากขึ้น การตัดสินใจ เชิงนโยบายของประเทศหนึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆด้วย ดังนั้น การทำความเข้าใจร่วมกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น
2)    นาง Cecilia Malmstrom ได้ประกาศจุดยืนของตนว่า การย้ายถิ่นที่มีการจัดการอย่างเป็น
ระบบที่ดีเป็นปรากฏการณ์ในเชิงบวกของสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ    ผู้ย้ายถิ่นจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาการว่างงานในประเทศต้นทาง ในขณะที่ประเทศปลาย ทางจะได้รับกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือในสาขาที่ขาดแคลน และเน้นว่า การย้ายถิ่นฐานของกำลังแรงงานไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเพียงประเทศเดียวจะสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง แต่จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศหรือกลุ่มประเทศจึงจะประสบผลสำเร็จ ดังนั้น การเจรจาทางสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น
3)    แนวนโยบายด้านการย้ายถิ่นของกลุ่มประเทศ EU
(1)    จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนประชากรโลกที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มมาก
ขึ้น โดยอายุเฉลี่ยของพลเมืองของโลกเพิ่มขึ้นจาก 26 ปี ในปี 2543 กำลังปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนคาดว่า ในปี 2593 อายุเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 37 ปี   ทำให้กำลังแรงงานที่ทำงานได้เต็มที่ (active workforce) มีสัดส่วนลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มประเทศ EU ก็ประสบปัญหาด้านสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จากการประมาณการ ประเทศในกลุ่มสมาพันธ์ยุโรปจะมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านคนในปี 2593 (อีก 50 ปี) ในขณะที่กำลังแรงงานจะลดลงถึง 50 ล้านคน ด้วยข้อมูลดังกล่าว EU จำเป็นต้องรับแรงงานย้ายถิ่นถึง 58 ล้านคนในช่วงเวลา 50 ปีข้างหน้า
(2)    ขณะนี้ กลุ่มประเทศ EU กำลังประสบปัญหาการว่างงานสูง แต่ในขณะ เดียวกันก็มี
ตำแหน่งงานว่างเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า EU จะประสบปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่ต้องการในอนาคตอันใกล้นี้
(3)    มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EU จะประสบภาวะชะงักงันเนื่องจาก
การขาดแคลนกำลังแรงงานระดับวิชาชีพในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่ง อาจจะมากถึง 400,000 – 700,000 อัตราในช่วง 4 – 9 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558 – 2563) และมีแนวโน้มจะขาดแคลนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขประมาณ 1 – 2 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ยังมีความต้องการกำลังแรงงานประเภทช่างซ่อม/ประกอบเครื่องยนต์ (fitters) ช่างเชื่อมและช่างประปาอีกเป็นจำนวนมาก
(4)    เนื่องจากปัญหาการว่างงานกำลังเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆในกลุ่มประเทศยุโรป 
ซึ่งได้บรรจุเป็นประเด็นสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ยุโรป 2020 ที่ได้กำหนดมาตรการใหม่ๆที่จะลดปัญหาการว่างงานและสนองความต้องการของตลาดแรงงาน  แต่ถึงแม้ว่าจะกำหนดนโยบายเรื่องดังกล่าวได้ดีเพียงใด แต่เมื่อพิจารณาถึงทรัพยากรบุคคลและทักษะฝีมือที่มีอยู่ในยุโรปก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ทางออกเดียวที่เป็นไปได้ คือการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้
(5)    ตามแผนงานสตอล์คโฮล์ม (Stolkholm Programme) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะ
กลาง 5 ปี ( คศ.2010-2014) ว่าด้วยกรอบการความร่วมมือและการพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการย้ายถิ่นและระบบการตรวจลงตรา ซึ่งประเทศสมาชิก EU ให้การรับรองเมื่อเดือนธันวาคม 2552 ได้ระบุแผน/กิจกรรมสำคัญในการประกันความปลอดภัยของพลเมืองที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองยุโรป และได้ระบุถึงความต้องการแรงงานย้ายถิ่นจากต่างชาติเข้าไปทำงานในยุโรป ทั้งนี้ จะเปิดเสรีให้กับประเทศสมาชิกได้กำหนดจำนวนผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศได้ตามความต้องการของแต่ละประเทศ โดยจะไม่มีการควบคุมในภาพรวมของ EU
(6)    คณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป (European Commission) เห็นพ้องว่า ยุโรป
จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้กำลังแรงงานที่ต้องการได้เข้าไปทำงานในยุโรป นั่นหมายถึงการกำหนดกรอบการปฏิบัติร่วมกันที่ลดหย่อนกฎระเบียบในการอนุญาตให้เดินทางเข้ายุโรป กำลังแรงงานที่ยุโรปต้องการคือกลุ่มที่มีทักษะฝีมือสูงทั้งนี้ ได้มีการกำหนดข้อแนะนำในการขออนุญาตทำงานระดับทักษะสูง ( EU Blue Card Directive) ในปี 2552 และได้มีการจัดทำร่างข้อแนะนำสำหรับแรงงานระดับทักษะฝีมือต่ำเพื่อเข้ามาทำงานตามฤดูกาลซึ่งได้เสนอเพื่อพิจารณาไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 นี้ และในขณะเดียวกัน  ก็ได้ลดหย่อนข้อบังคับในการเข้า EU สำหรับบริษัทลงทุนระหว่างชาติที่จะนำบุคลากรของตนเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศ EU

(7)    นอกจากนั้น EU ยังได้กำหนดนโยบายใหม่ๆเพื่อป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของ
แรงงานย้ายถิ่นและผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก เช่น
–    การปรับปรุงเรื่องการบรรจุงาน (labour matching) โดยจะเสริมสร้างศักยภาพใน
การตอบสนองระหว่างความต้องการของตลาดแรงงานและการเสริมสร้างทักษะฝีมือ โดยจะสร้างฐานข้อมูลงานและกำลังแรงงานในยุโรป (EU Skills Panorama) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2555 โดยฐานข้อมูลดังกล่าวจะสามารถพยากรณ์ทักษะฝีมือแรงงานที่มีอยู่ (skill supply) และความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ผู้หางานและบริษัทเอกชนสามารถเข้าใช้บริการได้ด้วยตนเอง
–    การป้องกันความสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการเสียเปล่าของทักษะ
ฝีมือ หรือที่เรียกว่า ความเสียเปล่าของสมอง (brain waste) ดังเช่นปรากฏในหลายๆประเทศซึ่งผู้มีทักษะฝีมือต้องไปทำงานต่ำระดับเพื่อความอยู่รอด เช่นผู้จบวิศวกรไปทำงานเป็นคนทำความสะอาด หรือผู้จบแพทย์ต้องไปขับรถรับจ้าง  นโยบายดังกล่าวก็เพื่อเป็นการประกันว่า ผู้ย้ายถิ่นเข้าไปทำงานในยุโรปควรจะได้รับงานที่เหมาะสมกับทักษะฝีมือ
–    การสร้างเวบไซต์เพื่อการย้ายถิ่นไปทำงานในกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อให้ข้อมูลกับ
ผู้ที่ต้องการย้ายถิ่นไปทำงานในกลุ่มประเทศยุโรป เวบไซต์ดังกล่าวจะใช้งานได้ในปี พ.ศ. 2554 
–    สร้างระบบตรวจสอบบุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศกลุ่มยุโรปและตรวจสอบ
การค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป ตลอดจนการดำเนินการเพื่อป้องกันการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเพื่อมิให้หาประโยชน์โดยมิชอบจากผู้อพยพย้ายถิ่น (กรณีนี้ คาดว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการสร้างระบบควบคุมผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศ EU)
–    EU ได้มีการประชุม/เจรจาความร่วมมือกับประเทศ/กลุ่มประเทศ ใกล้เคียง เช่น
กลุ่มยุโรปตะวันออก(นอก EU) กลุ่มประเทศแอฟริกา เป็นต้น เกี่ยวกับการเดินทางข้ามแดนโดยไม่ต้องมีวีซ่า ทั้งนี้ ในอนาคตก็อาจจะพิจารณาความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวกับกลุ่มประเทศอเมริกาใต้และเอเชียด้วย

สมาพันธรัฐสวิส Confoederatio Helvetica)

สวิตเซอร์แลนด์ (ภาษาอังกฤษ: Switzerland, ภาษาเยอรมัน: die Schweiz, ภาษาฝรั่งเศส: la Suisse, ภาษาอิตาลี: Svizzera, ภาษาโรมานช์: Svizra) หรือชื่อทางการคือ สมาพันธรัฐสวิส (Swiss Confederation) เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ปกครองแบบสหพันธ์ และตั้งอยู่ทวีปยุโรปกลาง โดยมีพรมแดนติดกับประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศอิตาลี ประเทศออสเตรีย และประเทศลิกเตนสไตน์ นอกจากจะมีความเป็นกลางทางการเมืองแล้ว สวิตเซอร์แลนด์นับว่ามีการร่วมมือกันระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งขององค์กรนานาชาติหลายแห่ง Confoederatio Helvetica เป็นชื่อทางการของประเทศในภาษาละติน และหลีกเลี่ยงการใช้หนึ่งใน 4 ภาษาทางการ คำย่อ คือ CH
ขนาดพื้นที่ 41,285 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งน้ำ 4.2% ของพื้นที่ ประชากรประมาณ 7.8 ล้านคน ความหนาแน่นประชากร 188 คน ต่อตางรางกิโลเมตร
สวิตเซอร์แลนด์แบ่งการปกครองตามลักษณะพื้นที่ออกเป็น 26 รัฐ (Canton) ประกอบด้วย
•    อาร์เกา
•    อัพเพนเซลล์อินเนอร์-โรเดิน
•    อัพเพนเซลล์เอาเซอร์-โรเดิน
•    บาเซิล-ชตัดท์
•    บาเซิล-ลันด์ชาฟท์
•    เบิร์น
•    ฟรีบูร์ก
•    เจนีวา (เชอแนฟว์)
•    กลารุส
•    เกราบึนเดิน
•    ชูรา
•    ลูเซิร์น
•    เนอชาแตล
•    นิดวัลเดิน
•    ออบวัลเดิน
•    ชาฟฟ์เฮาเซิน
•    ชวีซ
•    โซโลทูร์น
•    ซังท์กาลเลิน
•    ทูร์เกา
•    ทีชีโน
•    อูรี
•    วาเล
•    โว
•    ซุก
•    ซูริก

การเมืองการปกครอง
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยทางตรง ลักษณะพิเศษของระบบประชาธิปไตยแบบสวิสคือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่สภา แต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตามรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่มกฎหมาย (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ 90 วันเสียก่อน ในระหว่างนั้นประชาชนจะมีสิทธิคัดค้านโดยจะต้องเข้าชื่อร่วมกัน ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีการจัด referendum ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชนจะสามารถใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 100,000 คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ
แต่ละ Canton มีรัฐธรรมนูญและ Cantonal Government ของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการของส่วนกลาง อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯ อยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน National Council ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละ Canton จะมีจำนวน ผู้แทนของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละ Canton จะมีผู้แทน 1 คน Council of States มีจำนวนสมาชิก 46 คน โดยแต่ละ Canton มีผู้แทน 2 คน การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ กระทำผ่าน standing committees ด้าน ต่าง ๆ อาทิ การคลัง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การทหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน ฯลฯ ในการบริหารราชการส่วนกลาง อำนาจบริหารจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเรียกว่า the Federal Council ซึ่งมีสมาชิกเรียกว่า Federal Councillor (มนตรีแห่งสมาพันธ์) มีทั้งหมด 7 คน ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานในหน่วยงานระดับกระทรวง 7 แห่ง รัฐสภาแห่งสมาพันธ์เป็นผู้เลือกมนตรีแห่งสมาพันธ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และในจำนวนมนตรีแห่งสมาพันธ์ทั้ง 7 คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละหนึ่งคน เพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยมีสถานะเป็น “the first among equals” ดังนั้น ประธานาธิบดีสวิสจึงไม่มีการเยือนต่างประเทศในฐานะ State Visit นับตั้งแต่ ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา
ด้านตุลาการ  ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของ Canton โดยใช้กฎหมายสมาพันธ์ร่วมด้วย และประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มี ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วยผู้พิพากษาประมาณ 30 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์

ด้านเศรษฐกิจและสังคม
สวิตเซอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศร่ำรวยอันดับต้นๆของโลก จากการสำรวจเมื่อปี 2553 สวิตเซอร์แลนด์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP ราคาปัจจุบัน) 512,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เป็นอันดับที่ 19 ของโลก) รายได้ต่อหัวต่อปี เฉลี่ยคนละ 69,838 ดอลลาร์สหรัฐ (เป็นอันดับ 4 ของโลก)  อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา Global Wealth Report ในปี 2553 โดยสถาบันวิจัยด้านการเงิน Credit Suisse Research Institute พบว่า สวิตเซอร์แลนด์มีรายได้เฉลี่ยของประชากรผู้ใหญ่สูงที่สุดในยุโรป และสูงกว่าญี่ปุ่นและสิงคโปร์ รายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สำรวจเมื่อปี 2548) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำเพียงร้อยละ 0.7 (ปี 2553) ประกอบกับการมีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ

ด้านกำลังแรงงาน
สวิตเซอร์แลนด์มีกำลังแรงงานประมาณ 4.6 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคบริการ(รวมการเงินการธนาคาร) ร้อยละ 73.2  ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 23.4 และภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 3.4 และส่วนใหญ่มีทักษะฝีมือแรงงานสูง
อัตราการว่างงานของสวิสเซอร์แลนด์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คือเพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้น

ค่าจ้างขั้นต่ำ
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ ระดับค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับสัญญาจ้างที่มีกำหนดจากการเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของธนาคาร UBS ในปี 2000 (พ.ศ.2543) พบว่า ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แรงงานไร้ฝีมือจะได้รับค่าจ้างแรงงานประมาณเดือนละ 2,200 – 4,200 ฟรังก์สวิส (66,000 – 126,000 บาท) และแรงงานมีฝีมือจะได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 2,800 – 5,300 ฟรังก์สวิส (84,000 – 159,000 บาท) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพในแต่ละเมือง ซึ่งซูริคและเจนีวา เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพและค่าจ้างสูงที่สุดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และในโลก


 นโยบายด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานของสมาพันธรัฐสวิส
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า สมาพันธรัฐสวิส มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อันเนื่องมากจากการออกเสียงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลในการเข้าร่วม EU แต่ในขณะเดียวกัน สวิตเซอร์แลนด์ได้ลงนามข้อตกลง Schengen ซึ่งเปิดพรมแดนให้มีการเดินทางในระหว่างรัฐสมาชิกโดยไม่ต้องใช้วีซ่าและพาสปอร์ต และสวิตเซอร์แลนด์เปิดรับแรงงานต่างชาติในกลุ่มประเทศ EU เข้าไปทำงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศที่กำหนด ได้แก่ อิตาลี่ สเปน และปอร์ตุเกส และระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับสหภาพยุโรป ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการแรงงานระดับทักษะสูงเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการแรงงานพื้นฐานเพื่อการทำงานหนักที่คนสวิสไม่ต้องการทำหรือขาดแคลน ทำให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราประชากรต่างชาติสูงถึงร้อยละ 20.1
นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์เป็นความขัดแย้งระหว่างความต้องการทางเศรษฐกิจและแรงกดดันทางการเมืองของกลุ่มหวาดระแวงคนต่างชาติ (Xenophobic Group) อันจะนำมาซึ่งการเหยียดผิวและลัทธินาซีใหม่ (neo-nazi) อันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคมสวิสโดยรวม ผลของความขัดแย้งดังกล่าวปรากฏออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาลในความพยายามที่จะกำหนดจุดเหมาะสมของความต้องการแรงงานต่างชาติของนายจ้างและความต้องการของประชาชนทั่วไป เพื่อออกกฎหมาย/ระเบียบที่สร้างความสมดุลระหว่างความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อที่จะควบคุมจำนวนคนต่างชาติในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 การออกเสียงโวตของประชาชนในการปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นจุดหักเหสำคัญของนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นประเด็นหลักของการโวตดังกล่าว เนื่องจากในปี 2002 ข้อตกลงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกลุ่มประเทศ EU จะมีผลบังคับใช้และจะทำให้ประเทศสมาชิกไม่สามารถออกนโยบายดังกล่าวได้ด้วยตนเองอีกต่อไป (และมีผลให้ประชาธิปไตยโดยตรงที่ประชาชนเป็นผู้ใช้สิทธิออกเสียงโวตในเรื่องดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำได้อีก)
เป้าหมายหลักของนโยบายแรงงานต่างด้าวของประเทศสวิตเซอร์แลนด์อยู่ที่คนงานที่ประสงค์ที่จะมีถิ่นพำนักถาวรในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือที่เรียกว่า ประชากรต่างด้าว ซึ่งรวมถึงผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศตลอดระยะเวลา 1 ปี เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะถือใบอนุญาตประเภทใด ทั้งนี้รวมทั้งบุตรที่เกิดมา (เด็กที่เกิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะไม่ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติเหมือนกับหลายประเทศ) ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การกำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวจึงมุ่งเน้นว่า จะทำอย่างไรที่จะให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจโดยไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดระแวงคนต่างชาติ
ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1960 สวิตเซอร์แลนด์ยังไม่มีนโยบายควบคุมจำนวนคนต่างด้าว  ผู้ที่มีสัญยาจ้างงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์สามารถเข้ามาและมีสิทธิพำนักถาวรอยู่ในประเทศได้ทันที ดังนั้น ความต้องการแรงงานจึงเป็นปัจจัยหลักของการหลังไหลเข้ามาของแรงงานต่างด้าวในยุคนั้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันตก และต่อมาก็มีผู้ย้ายถิ่นมาจากยุโรปตอนใต้ ได้แก่อิตาลี สเปน และปอร์ตุเกส ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ดังนั้น จึงได้มีการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานกับประเทศอิตาลีเป็นชาติแรก และตามมาด้วยประเทศสเปน และปอร์ตุเกส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่นตามฤดูกาล (มีสิทธิพำนักครั้งละไม่เกิน 9 เดือน) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ย้ายเข้ามาพำนักถาวรก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยตลอดจนกระทั่งใกล้ถึงจุด 1 ล้านคน ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลสวิสดำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเป็นจุดที่มีปัญหา จึงได้ออกมาตรการจำกัดการรับผู้อพยพย้ายถิ่นมาพำนักถาวร ทำให้จำนวนผู้ย้ายถิ่นเริ่มลดลง
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1990 สวิตเซอร์แลนด์เริ่มนโยบายกำหนดโควต้าผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตทำงานใหม่สำหรับคนงานต่างด้าวโดยพิจารณาจากจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานกลับประเทศต้นทาง และสร้างระบบควบคุมการจดทะเบียนจากรัฐบาลกลาง และกำหนดให้นายจ้างแจ้งกำหนดการสิ้นสุดสัญญาจ้างของลูกจ้างต่างด้าวแต่ละคนต่อสำนักงานท้องถิ่น และให้เจ้าของบ้านเช่าที่ให้คนงานต่างด้าวเช่าบ้านทำเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ระบบโควต้าก็ประสบความล้มเหลวในการควบคุมคนงานต่างด้าวที่ได้รับสิทธิพักพิงถาวร สาเหตุใหญ่เนื่องมาจากการรับผู้ลี้ภัยสงครามและความไม่สงบจากประเทศตุรกี ซาอีร์ ชิลี และศรีลังกา ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ในช่วงปี 1881 – 1990 
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ได้มีการเสนอให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ และโดยเฉพาะ การเข้าร่วมเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) หรือไม่ การถกเถียงกันในประเด็นการเคลื่อนย้านแรงงานเสรีหากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรปเป็นประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ เนื่องจากผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก EU อยู่แล้ว และในที่สุดก็มีประชามติไม่ให้สวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิก EU เพื่อยุติข้อกังวลดังกล่าวของประชาชน


ประเภทของใบอนุญาตทำงานประประเทศสวิตเซอร์แลนด์
1.    ใบอนุญาตทำงานระยะสั้น (Permit A) ให้กับผู้ทำงานตามฤดูกาล ไม่เกินปีละ 9 เดือน ผู้ได้รับใบอนุญาตทำงานประเภทนี้จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเมื่อใบอนุญาตหมดอายุ และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประเภทนี้ติดต่อกัน 10 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับใบอนุญาตทำงานรายปี หลังจากปี 1995 ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประเภทนี้จะมีแต่พลเมืองจากประเทศในกลุ่ม EU/EFTA เท่านั้น แต่ใบอนุญาตประเภทดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้วในปี 2002 และใช้ใบอนุญาตประเภท Permit L สำหรับการทำงานระยะสั้นกว่า 1 ปี แทน ใบอนุญาตประเภทนี้ไม่อนุญาตให้นำครอบครัวมาพักอาศัย
2.    ใบอนุญาตรายปี (Permit B) ให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีสัญญาจ้างรายปีหรือมากกว่า ซึ่งจะต่อใบอนุญาตในปีต่อไปโดยอัตโนมัติตราบเท่าที่ยังมีสัญญาจ้างงานต่อเนื่องและอยู่ในรัฐเดียวกัน หลังจากถือครองใบอนุญาตชนิดนี้ครบ 10 ปี ก็จะมีสิทธิขอใบอนุญาตทำงานถาวร (Permit C)  อนึ่ง ใบอนุญาตประเภทนี้สามารถออกให้กับครอบครัวของผู้ถือครองที่มาพำนักอยู่ด้วยกับเจ้าของใบอนุญาตหลัก
3.    ใบอนุญาตถาวร (Permit C) ออกให้กับผู้ที่ถือครอง Permit B ครบตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ออกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นานเกินกว่าที่กำหนด ใบอนุญาตประเภทนี้สามารถทำงานและพำนักอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด สมาชิกครอบครัวสามารถมาพำนักอยู่ด้วยได้ทันที และในบางรัฐได้ให้สิทธิในการโวตแก่ผู้ถือใบอนุญาตประเภทนี้ด้วย
4.    ใบอนุญาตผ่านแดน (Permit G) ออกให้กับแรงงานจากประเทศที่มีอยู่ในรัฐเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน (เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี) และเข้ามาทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ มีอายุ 1 ปีและสามารถต่อได้ทุกปี แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ถือใบอนุญาตประเภทนี้จะต้องอยู่ในวิสัยที่สามารถเดินทางกลับไปพักที่ภูมิลำเนาของตนเองทุกวัน
———————-

 

ที่มา :    
    1. รายงานของฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา ที่ 52111/109 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2553
2. เวบไซต์ Thaieurope.net กรองยุโรปเพื่อไทย
    3. ข้อมูลจากโครงการติดตามพัฒนาการในยุโรป ปีงบประมาณ 2552 กรมยุโรป โดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    4. เวบไซต์กระทรวงการต่างประเทศ กรมยุโรป
    5. งานวิจัย Immigration Policy and Foreign Population in Switzerland โดย Dominique M. Gross มหาวิทยาลัย Simon Fraser University ประเทศแคนาดา

 

จัดทำโดย
นายอฑิตยา นวลศรี
อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา
 

TOP