ILO เสนอผลสำรวจสภาพการทำงานของแรงงานประมงทะเลของไทย
2 กันยายน 2556 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นำเสนอผลการสำรวจสภาพการทำงานในภาคประมงทะเลของไทย ซึ่งเป็นผลงานวิชาการที่ ILO ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย (Asian Research Center on Migration) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจแรงงานประมง 596 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ระนอง ระยอง สมุทรสาคร และสงขลา ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน 2555
ผลการสำรวจปรากฏว่า แรงงานประมงส่วนใหญ่ทำงานโดยสมัครใจ มีร้อยละ 5.4 หรือ 32 คนถูกหลอกลวงหรือถูกบังคับโดยกลุ่มนี้เป็นพวกทำการประมงระยะไกล ทั้งนี้ แรงงานถูกหลอกจาก 3 ช่องทางคือนายหน้าประเทศต้นทาง นายหน้าในประเทศไทยและจากสมาชิกในครอบครัวหรือญาติ
ในกลุ่มไม่สมัครใจ มีการข่มขู่จากนายจ้างทั้งเรื่องเงินค่าจ้างและการทำร้ายร่างกายทำให้ไม่สามารถออกจากงานได้ โดยการบีบบังคับมีความรุนแรงขึ้นหากเป็นแรงงานที่ออกทะเลมากกว่า 1 เดือน นอกจากนี้ พบมีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวน 7 คนซึ่งขัดกับกฎหมายในประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศ
ต้นตอของปัญหาต่าง ๆ มาจากการไม่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีถึงร้อยละ 94 สถานภาพทางกฎหมายของแรงงานซึ่งมักเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายทำให้ขาดการต่อรอง กลุ่มแรงงานขาดการรวมตัวเพื่อมีตัวแทนในการเจรจาต่อรอง และเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบและให้ความคุ้มครองไม่ทั่วถึง
ได้มีความพยายามดำเนินการกับปัญหาโดยรัฐบาลไทย อาทิ การแก้ไขกฎกระทรวงแรงงาน ฯ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล การจัดตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมงทะเล การปรับปรุงมาตรการคุ้มครองที่เข้มแข็งในการจัดหางานและการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ระดับปัญหาที่แท้จริงยังต้องการการหาหลักฐานเชิงประจักษ์ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาของทุกฝ่าย
รายงานดังกล่าว ไม่ช่วยมากนักในการปรับเปลี่ยนภาพเชิงลบต่ออุตสาหกรรมด้านนี้ของไทย แม้ว่าสิ่งที่นำเสนอสะท้อนจากแรงงานประมงส่วนน้อยที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง แต่ในประเทศพัฒนาแล้วกรณีต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับให้เกิดไม่ว่าจะมากหรือน้อย
เมื่อ 20 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 ของ ILO เริ่มมีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิกทั้งที่ให้สัตยาบันและยังไม่ให้สัตยาบัน ส่งผลให้หลายหน่วยงานของไทยทั้งรัฐและเอกชนเร่งกระบวนการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เนื่องจากเรือที่ชักธงชาติไทย (flag state) อาจถูกกักหรือไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจหากประเทศเจ้าของท่าเรือ (port state) ตรวจพบว่ามีสภาพการทำงานบนเรือที่ผิดจากอนุสัญญาดังกล่าว
ดังนั้น จึงเป็นความหวังว่า ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล องค์กรเจ้าของเรือ องค์กรตัวแทนคนประจำเรือ ในการปรับปรุงสภาพการทำงานบนเรือประมงทะเลที่ครอบคลุมหลายด้านภายใต้อนุสัญญา ฯ จะสามารถกู้ภาพลักษณ์เชิงลบของธุรกิจประมงทะเลของไทยได้ในระดับหนึ่ง
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นครเจนีวา
2 กันยายน 2556