Skip to main content

หน้าหลัก

ILO ระดมหามาตรการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ

การขยายตัวของแรงงานนอกระบบที่มาพร้อมกับธุรกิจขนาดเล็ก  ธุรกิจในครอบครัว งานภาคเกษตร งานรับใช้ในบ้าน ลงไปถึงกลุ่มประกอบอาชีพอิสระไม่มีนายจ้างเช่น หาบเร่แผงลอย คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถสามล้อ  และอีกมากมาย  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยที่ขณะนี้ มีแรงงานนอกระบบอยู่ประมาณ 24 ล้านคน แต่เป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากเป็นธุรกิจเกิดง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง ไม่ถูกเข้มงวดจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษีหรือการจ้างงาน แรงงานนอกระบบเองก็เกิดง่ายเพราะแรงงานจำนวนมากหมดหวังจากการหางานในระบบ บางส่วนรักอิสระไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร บางส่วนมีความรู้ต่ำทำให้ไม่สามารถเลือกงาน  ซึ่งแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยอมรับสภาพเนื่องจากต้องการเพียงมีงานทำและมีรายได้
 
 
 
การประชุมหลายครั้งขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO)  มีข้อสนับสนุนว่าการขยายตัวทั้งธุรกิจนอกระบบและจำนวนแรงงานนอกระบบไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกและของประเทศในทุกภูมิภาค ซึ่งนอกจากทำให้ประเทศขาดรายได้ทางภาษีจากธุรกิจกลุ่มนี้ในขณะที่คนกลุ่มนี้ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเทียบเท่ากับผู้ประกอบธุรกิจในระบบ ยังมีผลถึงการบริหารจัดการกับปัญหาต่าง ๆที่ตามมาโดยเฉพาะปัญหาของแรงงานที่ทำงานในธุรกิจกลุ่มนี้ ทั้งเรื่องนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ตกงาน เปลี่ยนงานบ่อย รายได้ไม่แน่นอน ขาดความรู้ความชำนาญทำให้ยากจะมีผลิตภาพของงานที่ดี สภาพการทำงานไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัย ถูกกดขี่ เอาเปรียบ ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือการคุ้มครองทางสังคมในฐานะผู้ทำงานได้เหมือนแรงงานในระบบ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับภาครัฐในการคุ้มครอง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุการเข้าไม่ถึงตัวแรงงานนอกระบบเพราะความหลากหลายของงานและสถานที่ทำงาน หรือตัวกฎหมายไม่ครอบคลุมถึงแรงงานกลุ่มนี้ก็ตาม  ซึ่งหากปล่อยสถานการณ์ให้คงอยู่หรือขยายตัว จะทำให้เกิดปัญหาสะสมและยากที่จะแก้ไข
 
 
และด้วยมติของประเทศสมาชิก  การหามาตรการให้ธุรกิจนอกระบบและแรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจและกรอบตามกฎหมายจึงเป็นหัวข้อสำคัญที่จะมีการหารือเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การออกตราสาร (instrument) ระหว่างประเทศในการประชุมใหญ่ ILO สมัยที่ 103 เดือนมิถุนายน 2557 โดย ILO กำหนดจัดประชุมไตรภาคีระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อรวบรวมข้อมูลและแนวความคิดเบื้องต้นจากประเทศสมาชิกในระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 ณ สำนักงานใหญ่ ILO นครเจนีวา ก่อนที่จะจัดทำรายงานเสนอประเทศสมาชิกให้ร่วมอภิปรายในระหว่างการประชุมใหญ่กลางปีหน้า ซึ่งคาดว่ามาตรการที่เหมาะสมจะออกมาในรูป Recommendation (ข้อแนะ) ฉบับใหม่ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เสนอนายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมประชุมผู้เชี่ยวชาญตามคำเชิญของ ILO และนางพัฒนา พันธุฟัก อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์
 
 
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ : 28 สิงหาคม 2556

8483
TOP