Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงานในสวิตเซอร์แลนด์ปี 2556

สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นลำดับ 8 ของโลก คือ  43,508 เหรียญสหรัฐ (IMF,2554) และเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันติดอันดับ 1 ถึงสามปีติดต่อกันคือ ประจำปี 2553–2554, 2554-2555 และ 2555-2556ตามรายงานของ World Economic Forum (WEFเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเป็นเป้าหมายของนักลงทุนเนื่องจากมีนโยบายทางการเงินและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ปี 2555 มีมูลค่า 672 ล้านฟรังส์สวิส เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีมูลค่า 607 ล้านฟรังส์สวิส ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ มกราคม 2556 คือ 636,059 ล้านเหรียญสหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ 1.02 ของเศรษฐกิจโลก สภาวะเศรษฐกิจ ณ ไตรมาสสามปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.5  โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ณ สิ้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2556  GDP จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 1.9 จากปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเศรษฐกิจพื้นฐานด้านอื่น ๆ ที่มีการฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวดีต่อเนื่องไปอีกสองปีข้างหน้าซึ่งคาดว่า GDP ปี 2557 จะขยายตัวถึงร้อยละ 2.3 และปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 

 
 
ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2556 ประชากรของสวิตเซอร์แลนด์รวม 8,112,200 คน เป็นชาวสวิส 6,192,400 คน เป็นชาวต่างชาติ 1,919,800 คน อัตราการขยายตัวของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ต่อปี เมืองที่มีประชากรหนาแน่นสุดของ 26 มณฑล คือ ซูริค เบิร์น โวด์ สำหรับเจนีวา เป็นลำดับที่ 6   สวิตเซอร์แลนด์ประสบปัญหาการมีบุตรน้อยเนื่องจากอัตราเฉลี่ยการมีบุตรของสตรีอยู่ที่ 1.5 คน ซึ่งเป้าหมายที่เหมาะสมในด้านประชากรศาสตร์ควรอยู่ที่ 2.1 คนต่อสตรีหนึ่งคน ดังนั้น ปัญหากำลังแรงงานขาดแคลนและปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มจำนวน อาจเป็นปัญหาสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ในอนาคตเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก
 
 
ระหว่างไตรมาสสามปี 2555 – ไตรมาสสามปี 2556 อัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6  โดยมีผู้มีงานทำจำนวน 4.8 ล้านคน เป็นชาวสวิส 3.4 ล้านคน เป็นต่างชาติ 1.4 ล้านคน  แรงงานต่างชาติเป็นชาวอิตาลีมากที่สุด รองลงมาเป็นเยอรมนี โปรตุเกส เซอร์เบียมอนเตอเนโกร ฝรั่งเศส ตุรกี สเปน อังกฤษ ออสเตรีย ตามลำดับ ทั้งนี้ มีแนวโน้มของแรงงานต่างชาติจากกลุ่มนอกยุโรปเพิ่มสูงขึ้นโดยปัจจุบันกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ15   สองในสามของแรงงานต่างชาติมาจากประเทศในกลุ่ม EU และกลุ่ม European Free Trade Association (EFTA) ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติประมาณร้อยละ 36.8 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม และร้อยละ 26.1 อยู่ในภาคบริการ
 
 
ในกลุ่มผู้ทำงานชาวต่างชาติ แยกเป็น กลุ่มพำนักถาวร (C permit) จำนวน 6.8 แสนคน กลุ่มพำนักชั่วคราว (B-EC permit) จำนวน 3.7 แสนคน กลุ่มแรงงานไปกลับข้ามแดน (G permit) จำนวน 2.7 แสนคน กลุ่มพำนักระยะสั้น (L permit/ B permit) จำนวน 49,000 คน และกลุ่มนักการทูต ผู้ลี้ภัย และอื่นๆ อีกประมาณ 27,000 คน
 
 
เดือนตุลาคม 2556 สวิตเซอร์แลนด์มีผู้ว่างงาน 137,200 คน คิดเป็นร้อยละ 3.1 มีผู้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากการประกันการว่างงาน 2,580 คน (เมษายน 2556) ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เคยประสบปัญหาการว่างงานสูงสุดเมื่อพฤษภาคม 2540 คิดเป็นร้อยละ 5.40 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในสองปีข้างหน้า ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าอัตราการว่างงานในปี 2557 จะไม่สูงไปกว่าร้อยละ 3.1 และในปี 2558 อัตราการว่างงานจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.8 
 
————————- 
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวร ฯ ณ นครเจนีวา
มกราคม 2557

10587
TOP